แนวทางการพัฒนาบุคลากรภาครัฐ พ.ศ. 2563 – 2565
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Thursday, 29 October 2020 12:14
- Hits: 3321
แนวทางการพัฒนาบุคลากรภาครัฐ พ.ศ. 2563 – 2565
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบแนวทางการพัฒนาบุคลากรภาครัฐ พ.ศ. 2563 – 2565 ตามที่สำนักงาน ก.พ. เสนอ เพื่อเป็นกรอบแนวทางสำคัญให้บุคลากรภาครัฐ ส่วนราชการและหน่วยงานภาครัฐนำไปดำเนินการด้านการพัฒนาบุคลากรภาครัฐให้เป็นทิศทางเดียวกันตอบเป้าประสงค์ของการเป็นบุคลากรและหน่วยงานภาครัฐที่ได้รับความเชื่อถือไว้วางใจจากประชาชนในฐานะ “ภาครัฐของประชาชนเพื่อประชาชนและประโยชน์ส่วนรวม” ที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี มีขนาดเล็กและโปร่งใส และสร้างผลผลิตและนวัตกรรม เพื่อการพัฒนาประเทศและยกระดับชีวิตของประชาชน
สาระสำคัญของเรื่อง
สำนักงาน ก.พ. รายงานว่า
1. ประเทศไทยได้ให้ความสำคัญกับการกำหนดทิศทางการพัฒนาประเทศที่ชัดเจน โดยการพัฒนาและปฏิรูปการบริหารจัดการภาครัฐเป็นหนึ่งในประเด็นการดำเนินการปฏิรูปประเทศที่สำคัญตามที่ปรากฏในยุทธศาสตร์ชาติ (พ.ศ. 2561 - 2580) แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติดังกล่าว และแผนการปฏิรูปประเทศ (พ.ศ. 2561 - 2565) ประกอบกับปัจจุบันมีปัจจัยหลายประการที่ส่งผลต่อการทำงานของภาครัฐ เช่น (1) บริบทการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ความเชื่อมโยงของโลกและสภาวะวิกฤตต่างๆ ที่ส่งผลกระทบในวงกว้าง และ (2) กรอบทิศทางการพัฒนาระบบราชการในอนาคต (ช่น ระบบราชการมีขนาดเล็กและมีลำดับการบังคับบัญชาที่สั้นลง การใช้เทคโนโลยีมาช่วยขับเคลื่อนการทำงานภาครัฐ) ดังนั้น ภาครัฐต้องทบทวนการเรียนรู้และพัฒนาของบุคลากรภาครัฐ โดยกำหนดแนวทางการพัฒนาบุคลากรภาครัฐที่สนับสนุนให้บุคลากรพัฒนาตนเองเพื่อการปฏิบัติงานที่มีประสิทธิภาพ เป็นไปตามยุทธศาสตร์ชาติฯ และแผนการปฏิรูปประเทศฯ รวมทั้งรองรับความท้าทายในเรื่องต่างๆ เช่น การเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 และการรับมือหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019
2. คณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ในการประชุมครั้งที่ 6/2563 เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2563 ได้มีมติเห็นชอบแนวทางการพัฒนาบุคลากรภาครัฐ พ.ศ. 2563 - 2565 ตามข้อเสนอของ อ.ก.พ. วิสามัญเกี่ยวกับการสร้างและพัฒนากำลังคนภาครัฐ เพื่อใช้เป็นกรอบแนวทางในการพัฒนาบุคลากรภาครัฐ โดยมีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
2.1 สำนักงาน ก.พ. ได้จัดทำแนวทางการพัฒนาบุคลากรภาครัฐฯ โดยนำกรอบทักษะเชิงยุทธศาสตร์ 4 ทักษะ [ได้แก่ (1) ทักษะดิจิทัล (2) ทักษะการสื่อสารโน้มน้าว (3) ทักษะการคิดอย่างเป็นระบบและสร้างสรรค์ และ (4) ทักษะการคิดวิเคราะห์และวิพากษ์] และทักษะด้านภาวะผู้นำ 6 ทักษะ [ได้แก่ (1) การยึดมั่นในมาตรฐานจริยธรรมและความเป็นมืออาชีพ (2) การกำหนดวิสัยทัศน์และกลยุทธ์ (3) การพัฒนาตนเองและผู้อื่น และสร้างการมีส่วนร่วมในองค์กร (4) การสร้างและส่งเสริมให้เกิดการทำงานอย่างบูรณาการและความร่วมมืออย่างเต็มที่ (5) การผลักดันให้เกิดนวัตกรรมและการเปลี่ยนแปลง และ (6) การผลักดันให้เกิดการปฏิบัติและผลสัมฤทธิ์] มาประยุกต์ใช้ในการกำหนดแนวทางการดำเนินการต่างๆ โดยแบ่งออกเป็น 3 ประเด็น สรุปได้ ดังนี้
ประเด็นการพัฒนาที่ 1 : ระบบนิเวศในการทำงานที่ส่งเสริมและสนับสนุนการเรียนรู้และการพัฒนาบุคลากรอย่างต่อเนื่อง เพื่อส่งเสริมให้หน่วยงานภาครัฐมีสภาพแวดล้อมและระบบการทำงานที่เอื้อต่อการเรียนรู้และการพัฒนากรอบความคิดและกรอบทักษะสำหรับการทำงาน และการดำเนินชีวิตในยุคดิจิทัลและศตวรรษที่ 21
- พัฒนากลไกในระบบการบริหารและพัฒนาทรัพยากรบุคคล (HRM & HRD) ให้เชื่อมโยง สนับสนุน สอดคล้องซึ่งกันและกัน
- กำหนดการพัฒนาเครื่องมือและเทคโนโลยีเพื่อสนับสนุนการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับความต้องการในการเรียนรู้ของบุคลากรภาครัฐ
- สร้างวัฒนธรรมองค์กรที่ส่งเสริมให้บุคลากรภาครัฐเรียนรู้เพื่อพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง
ประเด็นการพัฒนา ที่ 2 : การพัฒนากรอบทักษะ เพื่อการทำงานในยุคดิจิทัลและศตวรรษที่ 21 และการสร้างนวัตกรรมที่ตอบสนองต่อการขับเคลื่อนภารกิจตามแผนการปฏิรูปประเทศ แผนยุทธศาสตร์ชาติ ตลอดจนการพัฒนาระบบราชการในอนาคต เพื่อให้บุคลากรภาครัฐมีทักษะที่จำเป็นในการขับเคลื่อนการปฏิรูปภาครัฐ สร้างผลลัพธ์เชิงนวัตกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อภาครัฐและประชาชน และการผสานการทำงานและการใช้ชีวิตอย่างมีประสิทธิภาพ - กำหนดแนวทางการพัฒนาบุคลากรของหน่วยงานที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์องค์กร ทิศทางการพัฒนาประเทศ และการปฏิรูปภาครัฐ
- พัฒนาบุคลากรภาครัฐทุกระดับให้มีทักษะที่จำเป็นในการขับเคลื่อนการปฏิรูปภาครัฐสอดรับการทำงานและการใช้ชีวิตในยุคดิจิทัล และศตวรรษที่ 21
- ส่งเสริมให้บุคลากรภาครัฐทั้งส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่นได้เรียนรู้และทำงานร่วมกันเพื่อพัฒนาทักษะการปฏิบัติงานแบบบูรณาการ
ประเด็นการพัฒนาที่ 3 : ปลูกฝังบุคลากรภาครัฐให้มีกรอบความคิดในการเรียนรู้และพัฒนาตนเอง การมุ่งเน้นประโยชน์ส่วนรวมและทำงานบนหลักคุณธรรม ประยุกต์หลักสากลอย่างเหมาะสม และทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพในบริบทที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อให้บุคลากรภาครัฐมีคุณลักษณะ เป็นผู้ใฝ่เรียนรู้และพัฒนา ให้ความสำคัญกับประโยชน์ส่วนรวม ทำงานด้วยความเป็นธรรมไม่เลือกปฏิบัติ ยึดมั่นในมาตรฐานจริยธรรม และมีทัศนคติแบบสากลที่สอดรับกับยุคดิจิทัล
- ปลูกฝังกระบวนการทางความคิด ความเชื่อ ค่านิยม อุดมการณ์ในการทำงานเพื่อประชาชนและประโยชน์ส่วนรวม (เช่น กรอบความคิดแบบมุ่งเน้นส่วนรวม และกรอบความคิดในการทำงานในยุคดิจิทัล) ภายใต้มาตรฐานจริยธรรมตั้งแต่เริ่มปฏิบัติงานจนถึงตำแหน่งระดับสูง
- ส่งเสริมผู้นำให้เป็นต้นแบบทางความคิดและพฤติกรรมในการทำงาน เพื่อประชาชนและประโยชน์ส่วนรวม และสามารถถ่ายทอด โน้มน้าวให้บุคลากรในหน่วยงานปฏิบัติตาม
- ส่งเสริม ประชาสัมพันธ์ และกระตุ้นให้บุคลากรภาครัฐยึดมั่นในค่านิยมการทำงานเพื่อประโยชน์ส่วนรวม รวมทั้งต้องปฏิบัติตามมาตรฐานคุณธรรมจริยธรรม หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและหลักธรรมาภิบาล
หมายเหตุ : แนวทางการดำเนินการตามแนวทางการพัฒนาบุคลากรภาครัฐฯ จะเริ่มดำเนินการตั้งแต่บุคลากรแรกบรรจุจนถึงตำแหน่งประเภทบริหาร ซึ่งการนำทักษะเชิงยุทธศาสตร์และทักษะด้านภาวะผู้นำมาใช้ หน่วยงานอาจปรับรายละเอียดให้เหมาะสมตามบริบทของหน่วยงานได้
2.2 ผลลัพธ์ที่คาดหวัง มุ่งหวังที่จะนำไปสู่การที่หน่วยงาน และบุคลากรภาครัฐได้รับความเชื่อถือไว้วางใจจากประชาชนในฐานะ “ภาครัฐของประชาชน เพื่อประชาชนและประโยชน์ส่วนรวม” ที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี มีขนาดเล็กและโปร่งใส และสร้างผลผลิตและนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาประเทศและยกระดับชีวิตของประชาชน โดยบุคลากรภาครัฐในอนาคต เป็นผู้ที่ “มองภาพใหญ่และเข้าใจภารกิจขององค์กร” “เป็นนวัตกรที่เน้นสร้างผลสัมฤทธิ์” ยึดมั่นในมาตรฐานจริยธรรม” และ “ให้ความสำคัญกับการทำงานบูรณาการ” รวมทั้งหน่วยงานภาครัฐมีระบบนิเวศในการทำงานที่เหมาะสม และสอดรับกับบริบท สามารถส่งเสริมให้บุคลากรภาครัฐเกิดการเรียนรู้และพัฒนาอย่างต่อเนื่อง
2.3 หน้าที่ของผู้เกี่ยวข้องในการดำเนินการ โดยแนวทางการพัฒนาบุคลากรภาครัฐฯ จะสามารถบรรลุเป้าหมายได้ด้วยการร่วมมือกันของทุกฝ่าย เช่น ผู้บังคับบัญชาทุกระดับ ผู้บริหารส่วนราชการ และสำนักงาน ก.พ. ซึ่งแต่ละฝ่ายมีบทบาทหน้าที่และความรับผิดชอบที่แตกต่างกัน
2.4 การนำแนวทางการพัฒนาไปสู่การปฏิบัติ โดยมีการกำหนดตัวชี้วัดความสำเร็จ ดังนี้
2.4.1 ตัวชี้วัดสำนักงาน ก.พ. สามารถวัดผลสำเร็จจากการดำเนินการในปี 2565 เช่น (1) ความสำเร็จของการพัฒนา นโยบาย/หลักเกณฑ์/ระบบ/เครื่องมือ/กลไก ที่เป็นต้นแบบในการพัฒนาบุคลากรภาครัฐ และ (2) ความสำเร็จในการส่งเสริมให้ส่วนราชการจัดทำแผนการพัฒนาบุคลากรที่สอดคล้องกับแนวทาง การพัฒนาบุคลากรภาครัฐ พ.ศ. 2563 - 2565 และยุทธศาสตร์องค์กรของหน่วยงาน
2.4.2 ตัวชี้วัดส่วนราชการและหน่วยงานภาครัฐ ตามบทบาทของส่วนราชการและหน่วยงานภาครัฐที่กำหนดไว้ โดยสามารถวัดผลสำเร็จการดำเนินการระหว่างปี 2563 – 2565 เช่น (1) หน่วยงานมีแผนพัฒนาบุคลากรที่สอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาบุคลากรภาครัฐ พ.ศ. 2563 - 2565 และยุทธศาสตร์ขององค์กร (2) ระดับความสำเร็จในการออกแบบกรอบการพัฒนาสมรรถนะเฉพาะที่ครอบคลุมบุคลากรทุกระดับของหน่วยงาน และ (3) ร้อยละของบุคลากรในหน่วยงานที่มีการจัดทำแผนและดำเนินการตามแผนพัฒนารายบุคคล ทั้งนี้ สำนักงาน ก.พ. เป็นผู้ติดตามและประเมินผลการดำเนินการพัฒนาบุคลากรภาครัฐเป็นรายปี
2.5 แผนปฏิบัติการในการดำเนินการขับเคลื่อนแนวทางการพัฒนาบุคลากรภาครัฐฯ ของสำนักงาน ก.พ. ครอบคลุมประเด็นต่างๆ เช่น (1) กำหนดนโยบาย หลักเกณฑ์มาตรฐาน แนวทาง และวิธีการพัฒนาบุคลากรภาครัฐ และ (2) จัดทำ “คู่มือแนวทางการพัฒนาบุคลากรภาครัฐ พ.ศ. 2563 – 2565” และดำเนินการชี้แจงให้ส่วนราชการและหน่วยงานภาครัฐรับรู้ เข้าใจ และนำแนวทางการพัฒนาบุคลากรภาครัฐฯ ไปใช้
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 28 ตุลาคม 2563
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A10720
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ