สรุปผลการประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) (ศบค.) ครั้งที่ 13/2563
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Thursday, 29 October 2020 10:37
- Hits: 8897
สรุปผลการประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) (ศบค.) ครั้งที่ 13/2563
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบสรุปผลการประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) (ศบค.) ครั้งที่ 13/2563 เมื่อวันพุธที่ 21 ตุลาคม 2563 ตามที่ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ดังนี้
สรุปสถานการณ์ ปัญหาอุปสรรค ข้อเสนอแนะ
1. รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดและผู้ติดเชื้อ ที่ประชุมรับทราบรายงานสถานการณ์ฯ ดังนี้
1) สถานการณ์การแพร่ระบาดทั่วโลก ณ วันที่ 21 ตุลาคม 2563 มีจำนวนผู้ติดเชื้อรวมทั้งสิ้น 41,018,201 ราย โดยประเทศที่พบผู้ติดเชื้อมาก 3 ลำดับแรกของโลก ได้แก่ สหรัฐอเมริกา อินเดีย และบราซิล
2) สถานการณ์การแพร่ระบาดในประเทศไทย ณ วันที่ 21 ตุลาคม 2563 พบผู้ป่วยรายใหม่ 9 ราย ปัจจุบันมีผู้ป่วยยืนยันสะสม จำนวน 3,709 ราย เป็นผู้ป่วยที่เดินทางมาจากต่างประเทศ 1,259 ราย (ร้อยละ 33.94) หายป่วยแล้ว 3,495 ราย (ร้อยละ 94.23) เสียชีวิต 59 ราย (ร้อยละ 1.59) และกำลังรักษาตัวในโรงพยาบาล 155 ราย (ร้อยละ 4.18)
2. ความคืบหน้าการพัฒนาและผลิตวัคซีนโรคโควิด - 19 ที่ประชุมรับทราบรายงานความคืบหน้าการพัฒนาวัคซีนโควิด - 19 ทั่วโลกและแนวทางการดำเนินการเพื่อให้คนไทยเข้าถึงวัคซีนโควิด - 19 โดยได้มีการทำความร่วมมือด้านการวิจัยกับต่างประเทศ จัดสรรงบประมาณจำนวน 600 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนการวิจัยพัฒนาและการรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีในการผลิต โดยสนับสนุน บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด ให้ได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตวัคซีนโควิด - 19 รวมถึงการลงนามหนังสือแสดงเจตจำนงการผลิตและจัดสรรวัคซีนวิจัยป้องกันโควิด - 19 ชนิด Adenoviral vector (AZD1222) ซึ่งพัฒนาโดยมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2563
3. การป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ตามแนวชายแดน ที่ประชุมรับทราบรายงานฯ ดังนี้
1) การสกัดกั้นและจับกุมบุคคลต่างด้าวที่หลบหนีเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย
2) การตรวจกิจกรรมและสถานประกอบการที่ได้รับการผ่อนคลาย
3) การกำหนดมาตรการตรวจสอบแรงงานต่างด้าวเมียนมาในสถานประกอบการในลักษณะบูรณาการ โดยกรุงเทพมหานครและจังหวัด 70 จังหวัด ได้ดำเนินการตรวจสอบสถานประกอบการทั้งหมดที่มีการจ้างแรงงานชาวเมียนมา มีจำนวนทั้งสิ้น 106,208 แห่ง ดำเนินการออกตรวจแล้วจำนวน 963 แห่ง (ข้อมูลสะสมจำนวน 1,882 แห่ง) ดำเนินการตรวจคัดกรองโรคโควิด - 19 แรงงานชาวเมียนมาแล้ว จำนวน 9,231 คน (ข้อมูลสะสมจำนวน 12,068 คน) ดำเนินการสุ่มตรวจโรคโควิด -19 ของแรงงานชาวเมียนมาแล้ว จำนวน 1,496 คน ทั้งนี้ ไม่พบผู้ติดเชื้อ
4) การป้องกันและแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด - 19) ตามแนวชายแดน ซึ่งได้มีมาตรการสำหรับจังหวัดชายแดนที่มีช่องทางขนส่งสินค้า 27 จังหวัด และรับทราบประกาศคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดตาก ฉบับที่ 31/2563 ลงวันที่ 17 ตุลาคม 2563 เรื่อง มาตรการป้องกัน ควบคุมโรคโควิด - 19 โดยได้มีคำสั่งระงับการนำเข้า - ส่งออกสินค้าใน 2 จังหวัด คือ จังหวัดตากและกาญจนบุรี เนื่องจากพบการแพร่ระบาดของโรคโควิด - 19
4. รายงานความคืบหน้าการดำเนินมาตรการผ่อนคลายการบังคับใช้กฎหมาย ที่ประชุมรับทราบรายงานความคืบหน้าฯ ดังนี้
1) การเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรของคณะมนตรีแห่งรัฐและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนและคณะ
2) การอนุญาตให้ลูกเรือสัญชาติบริติชและสัญชาติเช็กเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรทางน้ำ
3) การกำหนดประเทศและเมืองต้นทางที่ได้รับการผ่อนผันให้เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร โดยการขอรับการตรวจลงตราประเภทนักท่องเที่ยวประเภทพิเศษ Special Tourist Visa (STV)
4) การอนุญาตให้สายการบินทำการบินแบบมีผู้โดยสารเปลี่ยนลำ (Transfer Passenger)
5) การอนุญาตให้เรือยอร์ชเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร
6) การอนุญาตให้ลูกเรือต่างชาติเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อขึ้นเรือออกจากราชอาณาจักร (sign on)
7) การผ่อนผันให้กลุ่มบุคคลเข้าประเทศไทยโดยเข้าสู่การกักกันตัวแบบ Wellness Quarantine
ข้อสังเกตที่ประชุม
เห็นควรให้ศูนย์ปฏิบัติการ ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด - 19 และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาหาแนวทางการบริหารจัดการขั้นตอน กระบวนการสำหรับการอนุมัติ อนุญาตในการเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรของนักธุรกิจต่างชาติ ให้มีความคล่องตัวยิ่งขึ้น โดยให้พิจารณาจัดกลุ่มนักธุรกิจและพิจารณามาตรการในการคัดกรอง กักตัวให้ชัดเจนและเหมาะสม ทั้งนี้ เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกในด้านการค้าการลงทุนและเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศด้วย
5. ที่ประชุมเห็นควรให้เสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร (คราวที่ 7) ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2563 ถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2563
6. การขอเพิ่มจำนวนที่นั่งสำหรับผู้ชมกีฬา ที่ประชุมเห็นชอบในหลักการตามที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาเสนอการเพิ่มจำนวนที่นั่งสำหรับผู้ชมในสนามกีฬา โดยกำหนดสัดส่วนจำนวนที่นั่งสำหรับผู้ชมกีฬา ดังนี้
7. การใช้ Smart Band สำหรับนักท่องเที่ยวเพื่อการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด - 19 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมรายงานความคืบหน้า โดยกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมได้จัดเตรียม Smartband ในรูปแบบ Wristband ร่วมกับ Startup ของไทย ซึ่งสามารถใช้งานได้ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2563 โดยมีคุณลักษณะการใช้งานเป็นอุปกรณ์สำหรับการใช้ติดตามตัวนักท่องเที่ยวที่เดินทางมายังประเทศไทย โดยอุปกรณ์นี้สามารถทำให้ทราบสถานที่อยู่ของผู้สวมใส่ (Tracking) ได้ตลอดเวลา มีระบบการตรวจวัดอุณหภูมิร่างกาย ความดันโลหิต อัตราการเต้นของหัวใจ และอื่นๆ หากนักท่องเที่ยวมีอุณหภูมิเกิน 37.5 องศาเซลเซียส ระบบจะแจ้งเตือนไปยังผู้ดูแลและทีมแพทย์เพื่อเข้าดูแลเบื้องต้น ทำการตรวจเชื้อและเฝ้าดูอาการต่อไป และสามารถนำไปใช้ขอรับบริการภายในโรงแรมหรือขอความช่วยเหลือได้ เช่น การขอความช่วยเหลือกรณีหลงทาง เป็นต้น
ข้อสั่งการนายกรัฐมนตรี
1. ให้ดำเนินการประชาสัมพันธ์และสร้างการรับรู้เกี่ยวกับผลการดำเนินงานของศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด - 19 ในทุกมิติ ผ่านโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี โฆษก ศบค. หรือสื่อโซเชียลมีเดีย รวมทั้งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาการพัฒนาการสร้างการรับรู้ในลักษณะ ศบค. Digital ต่อไป
2. ให้กองบัญชาการกองทัพไทย กระทรวงมหาดไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สร้างแหล่งข่าวประชาชนตามแนวชายแดน ให้แจ้งเบาะแสแก่เจ้าหน้าที่ในประเด็นต่างๆ เช่น ยาเสพติด การลักลอบค้ามนุษย์ การลักลอบนำเข้าสินค้าและแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายตามแนวชายแดน เป็นต้น ทั้งนี้ กรณีการปิดด่านสินค้าชายแดน ให้พิจารณาบริหารจัดการตามความจำเป็นและเหมาะสมต่อไป
3. ให้กระทรวงแรงงานทำการส่งตัวแรงงานต่างด้าวที่พ้นการกักตัว 14 วันแล้ว เพื่อดำเนินการจัดจ้างงานในประเทศต่อไป
4. ให้คณะกรรมการเฉพาะกิจพิจารณาการผ่อนคลายการบังคับใช้มาตรการในการป้องกันและยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด - 19) พิจารณาเกี่ยวกับมาตรการ Transit Passenger เพิ่มเติมเพื่อรองรับการเดินทางในระยะต่อไปด้วย โดยให้คำนึงถึงความปลอดภัยเป็นสำคัญ
5. ให้กระทรวงคมนาคม (กรมเจ้าท่า) กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พิจารณาดูแลควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด - 19 ในพื้นที่จุดจอดเรือ (เช่น เรือยอร์ช เรือสำราญ เป็นต้น) ที่เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร และปฏิบัติตามมาตรการป้องกันด้านสาธารณสุขที่กำหนดไว้อย่างเคร่งครัดเพื่อป้องกันมิให้มีการแพร่ระบาด โดยมอบหมายให้ศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล (ศรชล.) เป็นหน่วยงานในการอำนวยการและบูรณาการการปฏิบัติของส่วนราชการดังกล่าว
6. ให้คณะกรรมการเฉพาะกิจพิจารณาการผ่อนคลายการบังคับใช้มาตรการในการป้องกันและยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคโควิด - 19 พิจารณาศึกษาเพิ่มเติมและกำหนดแนวทางการกักตัวแบบ Wellness Quarantine รูปแบบ Sport
7. ให้กระทรวงสาธารณสุขร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พิจารณากำหนดเกณฑ์การจัดกลุ่มประเทศเสี่ยงสูง เสี่ยงปานกลาง และเสี่ยงต่ำให้ชัดเจน โดยพิจารณาจากจำนวนผู้ติดเชื้อและมาตรการในการป้องกันโรค ของแต่ละพื้นที่และให้พิจารณาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดที่มีการเปลี่ยนแปลงในแต่ละประเทศด้วย สำหรับบางประเทศที่มีพื้นที่ขนาดใหญ่ให้ใช้ข้อมูลในระดับมณฑลหรือเมืองประกอบการพิจารณา
8. ให้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประชาสัมพันธ์และเน้นย้ำให้ผู้ที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมด้านการกีฬาและด้านการแข่งขันกีฬาแบบมีผู้ชม ดำเนินการตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด - 19) อย่างเคร่งครัด
9. ให้กระทวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พิจารณาการส่งเสริมการวิจัยและนวัตกรรม แอปพลิเคชัน Smart band เพื่อพัฒนาต่อยอดและใช้งานในอนาคตต่อไป
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 28 ตุลาคม 2563
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A10714
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ