สรุปมติการประชุมคณะกรรมการพืชน้ำมันและน้ำมันพืช ครั้งที่ 1/2563
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 21 October 2020 10:28
- Hits: 6877
สรุปมติการประชุมคณะกรรมการพืชน้ำมันและน้ำมันพืช ครั้งที่ 1/2563
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบและเห็นชอบตามที่คณะกรรมการพืชน้ำมันและน้ำมันพืชเสนอ ดังนี้
1. รับทราบสรุปมติคณะกรรมการพืชน้ำมันและน้ำมันพืช ครั้งที่ 1/2563 เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2563
2. เห็นชอบการเปิดตลาดและบริหารการนำเข้าสินค้ากากถั่วเหลืองพิกัดอัตราศุลกากร 2304.00.90 รหัสย่อย .02 เฉพาะที่นำเข้ามาเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมผลิตเพื่อมนุษย์บริโภค (รหัสสถิติ 002/KGM) และรหัสย่อย 29 เฉพาะที่นำเขามาเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมอื่นๆ (รหัสสถิติ 090/KGM) (ไม่รวมกากถั่วเหลืองที่นำเข้ามาเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตอาหารสัตว์) คราวละ 3 ปี คือ ปี 2564 - 2566
3. เห็นชอบมาตรการปกป้องพิเศษ (Special Safeguard Measure : SSG) (มาตรการ SSG) ภายใต้ความตกลงองค์การการค้าโลก (WTO) และความตกลงการค้าเสรีอาเซียน (AFTA) สำหรับสินค้ามะพร้าว ปี 2563
สาระสำคัญของเรื่อง
คณะกรรมการพืชน้ำมันและน้ำมันพืชรายงานว่า
1. เนื่องจากการเปิดตลาดและการบริหารการนำเข้าสินค้ากากถั่วเหลืองเฉพาะที่นำเข้ามาเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมผลิตเพื่อมนุษย์บริโภค (รหัสสถิติ 002/KGM) และใช้ในอุตสาหกรรมอื่นๆ (รหัสสถิติ 090/KGM) ปี 2561 - 2563 (ไม่รวมกากถั่วเหลืองที่นำเข้ามาเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตอาหารสัตว์) จะสิ้นสุดลงในวันที่ 31 ธันวาคม 2563 และการดำเนินการมาตรการ SSG ต้องมีการออกประกาศที่เกี่ยวข้องของกระทรวงพาณิชย์ (พณ.) และกระทรวงการคลัง (กค.) รวมทั้งเพื่อให้ผู้ประกอบการที่ใช้กากถั่วเหลืองและมะพร้าวเป็นวัตถุดิบในการผลิตมีวัตถุดิบป้อนโรงงานได้อย่างสม่ำเสมอและเกษตรกรผู้ปลูกถั่วเหลืองไม่ได้รับผลกระทบจากนโยบายเปิดตลาด คณะกรรมการพืชน้ำมันและน้ำมันพืชจึงได้มีมติในคราวประชุม ครั้งที่ 1/2563 เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2563 สรุป ดังนี้
1.1 เห็นชอบการเปิดตลาดและบริหารการนำเข้าสินค้ากากถั่วเหลืองเฉพาะที่นำเข้ามาเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมผลิตเพื่อมนุษย์บริโภคและใช้ในอุตสาหกรรมอื่นๆ เป็นคราวละ 3 ปี คือ ปี 2564 - 2566 ดังนี้
1.1.1 การเปิดตลาดและบริหารการนำเข้าภายใต้กรอบความตกลง WTO ปริมาณ 230,559 ตัน อัตราภาษีในโควตาร้อยละ 10 นอกโควตาร้อยละ 133 โดยมีการบริหารการนำเข้า ดังนี้
1) เป็นนิติบุคคลที่ใช้กากถั่วเหลืองเป็นวัตถุดิบในการผลิตในกิจการของตนเองและดำเนินกิจการอยู่ในปัจจุบัน
2) ให้นำเข้าเฉพาะด่านศุลกากรที่มีด่านพืชและด่านอาหารและยาเท่านั้น
3) ผู้นำเข้ากากถั่วเหลืองเฉพาะที่นำเข้ามาเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมผลิตเพื่อมนุษย์บริโภคจะต้องแสดงใบรับรอง Non - GMO จากประเทศผู้ผลิตต้นทาง
1.1.2 การเปิดตลาดและบริหารการนำเข้าภายใต้กรอบการค้าอื่น
1) ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน (AFTA)
- ไม่จำกัดปริมาณการนำเข้า
- อัตราภาษี ร้อยละ 0
- แสดงหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า (Form D) เพื่อประกอบการนำเข้า
2) ความตกลงการค้าเสรีไทย - ออสเตรเลีย (TAFTA) / 3) ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจที่ใกล้ชิดยิ่งขึ้นไทย - นิวซีแลนด์ (TNZCEP)
- ได้รับการยกเว้นการกำหนดปริมาณนำเข้า
- อัตราภาษี ร้อยละ 0
- ไม่ต้องขออนุญาตนำเข้าและไม่ต้องปฏิบัติตามมาตรการบริหารการนำเข้า
4) ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย - ญี่ปุ่น (JTEPA) / 5) ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน - สาธารณรัฐเกาหลี (AKFTA) / 6) ความตกลงการค้าเสรีไทย - ชิลี (TCFTA)
- เป็นไปตามกรอบความตกลง WTO (230,559 ตัน)
- ในโควตาร้อยละ 0 นอกโควตา ร้อยละ 133
- เป็นผู้ได้รับสิทธิการนำเข้าตามความตกลง WTO
1.1.3 การนำเข้าจากประเทศนอกความตกลง ภาษีร้อยละ 6 และค่าธรรมเนียมพิเศษ ตันละ 2,519 บาท
1.1.4 มอบหมายให้กรมศุลกากร กค. จัดทำร่างประกาศกระทรวงการคลังที่เกี่ยวข้อง (เกี่ยวกับอัตราภาษี) เพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป
1.2 เห็นชอบการปรับหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการจัดสรรปริมาณการนำเข้าสินค้ากากถั่วเหลืองที่นำเข้ามาเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมผลิตเพื่อมนุษย์บริโภคและใช้ในอุตสาหกรรมอื่นๆ ตามความตกลงการเกษตรภายใต้ WTO โดยให้กรมการค้าต่างประเทศพิจารณาเรื่องกำลังการผลิตและการผลิตจริงในปัจจุบันของผู้ประกอบการที่ขอรับการจักสรรการนำเข้าเพื่อนำมาใช้เป็นข้อมูลประกอบการจัดสรรโควตาการนำเข้าได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
1.3 เห็นชอบการกำหนดกฎระเบียบการนำเข้ามะพร้าวทั้งกะลามะพร้าวอ่อน และมะพร้าวอื่นๆ (พิกัดอัตราศุลกากร 0801.12.00 0801.19.10 และ 0801.19.90 ตามลำดับ) ให้เป็นแนวทางเดียวกันทั้งกรอบความตกลง WTO และ AFTA ตามข้อเรียกร้องเครือข่ายเกษตรกรผู้ปลูกมะพร้าวจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ดังนี้
1.3.1 กำหนดช่วงเวลานำเข้ามะพร้าวภายใต้กรอบความตกลง WTO ในโควตา และ AFTA ในช่วงเดือนมกราคม - กุมภาพันธ์ และเดือนกันยายน - ธันวาคม (รวม 6 เดือน) (จากเดิมเดือนมกราคม - พฤษภาคม และเดือนพฤศจิกายน - ธันวาคม) สำหรับกรอบความตกลง WTO นอกโควตา ไม่กำหนดช่วงเวลานำเข้า
1.3.2 กรณีที่นำมะพร้าวนำเข้าภายใต้กรอบความตกลง WTO ไปกะเทาะนอกโรงงาน ให้ผู้ประกอบการแปรรูปมะพร้าวจัดทำทะเบียนเครือข่ายผู้กะเทาะมะพร้าว (รายย่อย) และระบุทะเบียนรถที่ใช้ในการขนส่งที่รับมะพร้าวผลนำเข้าไปกะเทาะและรายงานให้พาณิชย์จังหวัดใช้เป็นข้อมูลประกอบการตรวจสอบย้อนกลับกับเอกสารใบขนย้ายมะพร้าว เพื่อไม่ให้มะพร้าวนำเข้าที่นำไปกะเทาะนอกโรงงานออกไปหมุนเวียนในตลาดภายในประเทศ (เป็นการบริหารการนำเข้ามะพร้าวภายใต้กรอบความตกลง WTO เพิ่มเติมจากที่มีอยู่)
1.4 การบริหารการนำเข้ามะพร้าวผลตามความตกลง AFTA ปี 2563
1.4.1 เห็นชอบช่วงเวลานำเข้ามะพร้าวผลตามความตกลง AFTA ปี 2563 ในช่วงเดือนกันยายน - ธันวาคม 2563 (รวม 4 เดือน) โดยจัดสรรปริมาณนำเข้าให้แก่ผู้มีสิทธินำเข้า ในอัตรา 1 : 2.5 (นำเข้า 1 ส่วน ต่อการรับซื้อมะพร้าวผลในประเทศ 2.5 ส่วน) (เดิมสัดส่วน 1 : 2)
1.4.2 เห็นชอบให้คณะอนุกรรมการบริหารจัดการสินค้ามะพร้าวพิจารณาจัดสรรปริมาณการนำเข้ามะพร้าวผลให้แก่ผู้มีคุณสมบัติและผู้มีสิทธินำเข้า (ตามข้อ 1.4.1) แล้วให้รายงานผลการพิจารณาให้คณะกรรมการพืชน้ำมันและน้ำมันพืชทราบ และแจ้งกรมการค้าต่างประเทศดำเนินการประกาศเกี่ยวกับช่วงเวลาการนำเข้าต่อไป
1.5 มาตรการ SSG ภายใต้ความตกลง WTO และ AFTA สำหรับสินค้ามะพร้าว ปี 2563
1.5.1 เห็นชอบมาตรการ SSG ภายใต้ความตกลง WTO และ AFTA สำหรับสินค้ามะพร้าว ปี 2563 โดยมะพร้าวทั้งกะลา มะพร้าวอ่อน และมะพร้าวอื่นๆ ที่นำเข้ามาในประเทศไทยรวมกันเกินกว่าปริมาณ Trigger Volume* ให้กรมศุลกากรจัดเก็บอากรการนำเข้า ดังนี้
• ภายใต้ความตกลง WTO นอกโควตา อัตราการเก็บอากร ร้อยละ 72 (คำนวณจากอากรเดิมนอกโควตา
ร้อยละ 54 รวมกับเก็บอากรที่เพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 18)
• ภายใต้ความตกลง AFTA อัตราการเก็บอากร ร้อยละ 72 (เดิมนอกโควตาร้อยละ 0)
1.5.2 เห็นชอบปริมาณ Trigger Volume สำหรับปี 2563 จำนวน 335,926 ตัน โดยใช้ข้อมูลปริมาณการนำเข้ามะพร้าวทั้งกะลา มะพร้าวอ่อน และมะพร้าวอื่นๆ เฉลี่ยย้อนหลัง 3 ปี (ปี 2560 - 2562) ทั้งนี้ เมื่อปริมาณการนำเข้าถึง Trigger Volume แล้ว หากพบว่า ปริมาณมะพร้าวในประเทศไม่เพียงพอต่อความต้องการและการนำเข้ามะพร้าวไม่กระทบต่อราคาที่เกษตรกรได้รับ อาจพิจารณาไม่บังคับใช้มาตรการ SSG
1.5.3 เห็นชอบแนวทางการปฏิบัติของมาตรการ SSG สินค้ามะพร้าว ปี 2563 ดังนี้
1) กรมศุลกากรดำเนินการส่งข้อมูลปริมาณการนำเข้าสินค้ามะพร้าวให้สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรทราบเป็นรายสัปดาห์ หากปริมาณการนำเข้าถึง Trigger Volume แล้ว ให้กรมศุลกากรดำเนินการจัดเก็บอากรในอัตราที่เพิ่มขึ้น
2) กรมศุลกากรปรับอัตราอากรสำหรับสินค้ามะพร้าวที่นำเข้ามาตั้งแต่วันที่คณะกรรมการพืชน้ำมันและน้ำมันพืชกำหนดเป็นวันเริ่มใช้อัตราอากรสำหรับมาตรการ SSG หากนำเข้ามาก่อนวันที่คณะกรรมการพืชน้ำมันและน้ำมันพืชกำหนดให้ใช้มาตรการ SSG และยังไม่ได้จัดทำใบขนสินค้าขาเข้า ให้จัดเก็บอากรในอัตราเดิม
3) กรณีเรือลอยลำ สินค้าที่นำเข้ามาตั้งแต่วันที่กำหนดวันเริ่มใช้มาตรการ SSG ให้ผู้นำเข้าชำระอากรในอัตราใหม่ แต่หากพิสูจน์ได้ว่ามีการส่งออกจากท่าเรือต้นทางและมีการทำสัญญาระหว่างผู้ส่งและผู้รับไว้ก่อนหน้าวันที่กำหนดใช้มาตรการ SSG ให้ยกเว้นการขึ้นอากรตามมาตรการ SSG และให้สามารถขอคืนอากรในส่วนที่ชำระเกินไว้ได้
1.5.4 มอบหมายให้กรมศุลกากร กค. จัดทำร่างประกาศกระทรวงการคลังที่เกี่ยวข้อง (เกี่ยวกับอัตราภาษี) เพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรีพิจารณาโดยเร็ว
________________________
หมายเหตุ : * Trigger Volume คือ แนวทางในการใช้มาตรการปกป้องพิเศษสำหรับสินค้าเกษตรโดยใช้ปริมาณเป็นเกณฑ์ในการพิจารณา หากปริมาณสินค้าที่นำเข้าเกินกว่า Trigger Volume ประเทศผู้นำเข้าจะสามารถขึ้นภาษีเพื่อชะลอปริมาณการนำเข้าได้
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 20 ตุลาคม 2563
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A10520
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ