การกำหนดเขตพื้นที่จัดการน้ำเสียเพิ่มเติมให้ครอบคลุมทุกจังหวัดของประเทศไทย ขององค์การจัดการน้ำเสีย
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 23 September 2020 14:49
- Hits: 11430
การกำหนดเขตพื้นที่จัดการน้ำเสียเพิ่มเติมให้ครอบคลุมทุกจังหวัดของประเทศไทย ขององค์การจัดการน้ำเสีย
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบการกำหนดเขตพื้นที่จัดการน้ำเสียเพิ่มเติมให้ครอบคลุมทุกจังหวัดของประเทศไทย ขององค์การจัดการน้ำเสีย (อจน.) ตามที่กระทรวงมหาดไทย (มท.) เสนอ และให้ มท. (อจน.) รับความเห็นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปพิจารณาดำเนินการต่อไป
สาระสำคัญของเรื่อง
มท. รายงานว่า
1. ปริมาณน้ำเสียชุมชนของประเทศไทยในปัจจุบันมี 9.50 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน โดยมีน้ำเสียที่ (1) ผ่านการบำบัดด้วยระบบบำบัดน้ำเสียที่ติดตั้งตามกฎหมายควบคุมอาคาร และแหล่งรองรับน้ำที่สามารถฟื้นฟูและบำบัดได้เองตามกระบวนการตามธรรมชาติ (self-purification) ปริมาณ 4.60 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน (คิดเป็นร้อยละ 48) และ (2) ผ่านระบบบำบัดน้ำเสียรวมชุมชน จำนวน 105 แห่ง ซึ่งอยู่ในพื้นที่และความรับผิดชอบของ 91 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ใน 56 จังหวัด (รวมกรุงเทพมหานคร) และมีความสามารถในการบำบัดน้ำเสีย 3.20 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน (คิดเป็นร้อยละ 34) ทำให้เหลือปริมาณน้ำเสียที่ไม่ได้รับการบำบัด จำนวน 1.70 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน (คิดเป็นร้อยละ 18) ที่กลายเป็นปัญหามลพิษทางน้ำของประเทศส่งผลให้แหล่งน้ำมีคุณภาพเสื่อมโทรม กระทบต่อสุขอนามัยของประชาชน คุณภาพสิ่งแวดล้อม และภาพลักษณ์การท่องเที่ยว
2. อจน. ได้ให้บริการรับบริหารหรือจัดการระบบบำบัดน้ำเสียให้แก่ อปท. ที่รับผิดชอบระบบบำบัดน้ำเสียดังกล่าว จำนวน 26 แห่ง (จาก 105 แห่ง) ซึ่งตั้งอยู่ทั้งในและนอกเขตพื้นที่จัดการน้ำเสีย จากจำนวน อปท. ที่มีจำนวนทั้งสิ้น 7,852 แห่งทั่วประเทศ จะเห็นได้ว่าประเทศไทยควรต้องเร่งดำเนินการวางระบบบริหารจัดการน้ำเสียในพื้นที่ อปท. อีกเป็นจำนวนมาก แต่โดยที่ผ่านมา อจน. มีข้อจำกัดในการเข้าดำเนินการจัดการน้ำเสียให้กับ อปท. เนื่องจากส่วนใหญ่ที่อยู่นอกเขตพื้นที่จัดการน้ำเสีย ทำให้ไม่สามารถเข้าไปดำเนินการก่อสร้างระบบบำบัดน้ำเสียรวมและบริหารจัดการระบบบำบัดน้ำเสียเพื่อสนับสนุน อปท. ในการแก้ไขปัญหาน้ำเสียชุมชนได้อย่างเต็มรูปแบบ ดังนั้น การกำหนดพื้นที่จัดการน้ำเสียเพิ่มเติมให้ครอบคลุมทุกจังหวัดของประเทศไทยของ อจน. จะมีส่วนสำคัญในการเร่งรัดการพัฒนาระบบบริหารจัดการน้ำเสียของประเทศให้ดำเนินไปอย่างมีมาตรฐานและมีประสิทธิภาพ ตลอดจนเพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมในการป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษทางน้ำที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยและคุณภาพชีวิตของประชาชน เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมของประเทศได้อย่างทันสถานการณ์
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 22 กันยายน 2563
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A9540
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ