อนุมัติแผนยุทธศาสตร์พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมขนส่งปี 58-65
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 22 October 2014 23:06
- Hits: 3801
ครม.อนุมัติแผนยุทธศาสตร์พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมขนส่งปี 58-65
นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ รองผู้อำนวยการ สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร(สนข.) เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของไทย พ.ศ.2558-2565 ซึ่งกำหนดไว้ 5 แนวทางเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและพัฒนาการคมนาคมขนส่งทั้งระบบ ตั้งเป้าใช้วงเงินงบประมาณปี 58 สำหรับดำเนินการใน 5 แผน วงเงินรวม 68,000 ล้านบาท
สำหรับ 5 แผนงาน ประกอบด้วย 1.การพัฒนาโครงข่ายรถไฟระหว่างเมือง ซึ่งจะมีการดำเนินการใน 3 เรื่อง คือ การปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานรถไฟให้ใช้งานได้ดี และการพัฒนาระบบรางคู่ในระยะเร่งด่วน 6 เส้นทาง ระยะทางประมาณ 900 กม. และระยะที่ 2 จำนวน 8 เส้นทาง ระยะทางประมาณ 1,600 กม. และการพัฒนารถไฟทางคู่ขนาดทางมาตรฐาน 1.435 เมตร ระยะทางรวม 1,060 กม. ใน 3 เส้นทาง คือ 1.กรุงเทพฯ-นครราชสีมาและนครราชสีมา-มาบตาพุด ระยะทาง 512 กม. 2.กรุงเทพฯ-ระยอง ระยะทาง 193 กม. 3.นครราชสีมา-หนองคาย ระยะทาง 355 กม.
2. การพัฒนาโครงข่ายขนส่งสาธารณะเพื่อแก้ไขปัญหาจราจรในกรุงเทพมหานครและปริมลฑล ประกอบด้วย การเดินหน้าโครงการรถไฟฟ้า 10 สาย ซี่งในปี 58 จะเดินหน้าในสายสีส้ม สีเหลือง สีชมพู สีแดง(บางซื่อ-หัวลำโพง-หัวหมาก) สีแดง (รังสิต-มธ.ศูนย์รังสิต) และการจัดซื้อรถเมล์เอ็นจีวี โดยเตรียมรถเมล์เป็นของขวัญปีใหม่ให้กับประชาชน 489 คัน จากทั้งหมด 3,189 คัน โดยเตรียมส่งมอบล็อตแรกในเดือนม.ค.-มี.ค.58
3. การเพิ่มขีดความสามารถทางหลวงเชื่อมโยงการผลิตของประเทศและประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งจะมีการดำเนินการโครงการเร่งรัดก่อสร้างขยาย 4 ช่องจราจรทั่วประเทศ/พัฒนาโครงข่ายทางหลวงทั่วประเทศเชื่อมโยงไปทางหลวงตามด่านชายแดนเพื่อการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ และการพัฒนาทางหลวงพิเศษมอเตอร์เวย์ 4 เส้นทาง
4. การพัฒนาโครงข่ายการขนส่งทางน้ำจะมีการขยายท่าเรือแหลมฉบังในการรองรับสินค้า พัฒนาท่าเรือชุมพร และเพิ่มประสิทธิภาพแม่น้ำป่าสักรองรับการขนส่งสินค้าทางน้ำ
5. การเพิ่มขีดความสามารการให้บริการขนส่งทางอากาศ ในโครงการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ แผนพัฒนาท่าอากาศยานภูเก็ต
นายชัยวัฒน์ กล่าวว่า ยังไม่สามารถคาดการณ์มูลค่าโครงการทั้งหมดได้ว่าจะถึง 2.4 ล้านล้านบาทหรือไม่ โดยจำเป็นต้องมีการทบทวนรายละเอียดของโครงการทั้งหมดก่อน และทางกระทรวงคมนาคมจะไปจัดแผนที่ชัดเจนทั้งหมดอีกครั้ง
อย่างไรก็ตาม คาดหวังว่าการลงทุนในโครงการนี้จะมีส่วนช่วยพัฒนาประเทศ และช่วยเรื่องการขนส่งสินค้าทางรางมากขึ้นจาก 2.5% เป็น 5% ช่วยการขนส่งทางน้ำในประเทศเพิ่มขึ้น 15% เป็น 19% ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ลงได้ไม่น้อยกว่า 2% ส่วนการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะในส่วนของรถไฟฟ้า คาดว่าจะลดการใช้รถส่วนบุคคลลงได้ 40% จาก 60% โดยเป็นการประเมินภาพรวมตั้งแต่ปี 58-65
อินโฟเควสท์