รายงานการเงินรวมภาครัฐประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2556
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 22 October 2014 22:58
- Hits: 5303
รายงานการเงินรวมภาครัฐประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2556
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ ดังนี้
1. รับทราบรายงานการเงินรวมภาครัฐ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2556
2. เพื่อให้การจัดทำรายงานการเงินรวมภาครัฐมีความครบถ้วนสมบูรณ์น่าเชื่อถือ สามารถใช้ข้อมูลเพื่อการวิเคราะห์และตัดสินใจเชิงนโยบายด้านการเงินการคลังได้อย่างถูกต้อง จึงเสนอแนะในประเด็นสำคัญเพิ่มเติม เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปพิจารณาดำเนินการ ดังนี้
2.1 รายงานการเงินรวมภาครัฐเป็นรายงานที่แสดงข้อมูลฐานะการเงินและการใช้จ่ายเงินของหน่วยงานภาครัฐ และเป็นข้อมูลสารสนเทศขั้นพื้นฐานของผู้บริหารระดับหน่วยงานและระดับรัฐบาลในการกำหนดนโยบายด้านการคลังที่มีประสิทธิภาพจำเป็นต้องมีความสมบูรณ์ จึงให้หน่วยงานภาครัฐที่ยังไม่ได้จัดส่งรายงานการเงินให้กรมบัญชีกลางจำนวน 210 หน่วยงาน ส่งรายงานการเงินให้กรมบัญชีกลาง เพื่อให้รายงานการเงินรวมภาครัฐมีความครบถ้วนสมบูรณ์
2.2 สินทรัพย์ของรัฐบาลกลางและหน่วยงานภาครัฐร้อยละ 54.45 เป็นที่ดิน อาคาร และอุปกรณ์ ดังนั้น เพื่อให้การบริหารทรัพย์สินของหน่วยงานภาครัฐเกิดประโยชน์สูงสุด เห็นควรให้ผู้บริหารของหน่วยงานให้ความสำคัญในการบริหารทรัพย์สินให้เกิดประสิทธิภาพและคุ้มค่าหรือเกิดประโยชน์ตอบแทน รวมถึงการทบทวนงบประมาณในการซื้อหรือเช่าอาคารและที่ดินของหน่วยงานภาครัฐ
2.3 การจัดสรรเงินงบประมาณอุดหนุนแก่กองทุนและเงินกองทุนหมุนเวียนควรพิจารณาตามความจำเป็นและเหมาะสม โดยพิจารณาฐานะการเงินและผลการดำเนินงานของหน่วยงาน เพื่อประโยชน์ในการบริหารงบประมาณของแผ่นดินในภาพรวม
2.4 ปัจจุบันองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) บันทึกบัญชีตามระเบียบกรมการปกครองว่าด้วยการบันทึกบัญชี การจัดทำทะเบียน และรายงานการเงินขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2543 ซึ่งยังไม่เป็นไปตามหลักการบัญชีที่ยอมรับทั่วไป เช่น ยังไม่มีการบันทึกสินทรัพย์ถาวรในระบบบัญชี ทำให้ไม่สามารถรายงานมูลค่าสินทรัพย์ถาวรของ อปท. ที่ถูกต้องได้ เห็นควรให้ อปท. บันทึกบัญชีให้เป็นไปตามระบบบัญชีที่ กค. กำหนด ซึ่งจะเป็นมาตรฐานเดียวกันกับหน่วยงานภาครัฐอื่น เพื่อให้เกิดความโปร่งใสและตรวจสอบได้ของข้อมูลทางการเงิน รวมทั้งข้อมูลการใช้จ่ายงบประมาณของ อปท. ตามประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 104/2557 เรื่อง การกำกับดูแลการใช้จ่ายงบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทั้งนี้ กรมบัญชีกลางอยู่ระหว่างการประสานความร่วมมือกับกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่นในการพัฒนาระบบบัญชีตามแนวทางดังกล่าว
2.5 ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2555-2556 อปท. มีค่าใช้จ่ายน้อยกว่ารายได้ ส่งผลให้มีเงินสะสมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งส่วนใหญ่เก็บอยู่ในรูปของเงินสดและเงินฝากธนาคาร ดังนั้น อปท. ควรมีการเร่งรัดการเบิกจ่ายตามแผนงาน/โครงการที่ได้กำหนดไว้ รวมถึงจัดทำงบประมาณรายจ่ายให้สอดคล้องกับรายได้ที่ได้รับการจัดสรร ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เพื่อให้เม็ดเงินที่รัฐบาลจัดสรรเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจในระดับท้องถิ่นอย่างแท้จริง
สาระสำคัญของเรื่อง
รายงานการเงินรวมภาครัฐสำหรับปีงบประมาณ พ.ศ. 2556 ประกอบด้วย งบแสดงฐานะทางการเงิน งบรายได้และค่าใช้จ่ายของรัฐบาลกลางและหน่วยงานภาครัฐ (ส่วนราชการ มหาวิทยาลัยของรัฐ จังหวัด กลุ่มจังหวัด หน่วยงานอิสระ องค์การมหาชนและมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ) กองทุนและเงินทุนหมุนเวียน รัฐวิสาหกิจ และ อปท. จำนวน 8,188 หน่วยงาน จากทั้งหมด 8,388 หน่วยงาน คิดเป็นร้อยละ 97.80 ซึ่งผลการวิเคราะห์พบว่า กลุ่มรัฐวิสาหกิจมีสินทรัพย์รวมมากที่สุด มูลค่ารวม 11.81 ล้านล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นสถาบันการเงินและธุรกิจพลังงาน สำหรับรัฐบาลกลางและหน่วยงานภาครัฐมีสินทรัพย์รวม 9.12 ล้านล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในรูปที่ดินราชพัสดุ เงินกู้ในภาพรวม 7.43 ล้านล้านบาท เป็นของรัฐบาลกลาง 3.72 ล้านล้านบาท รองลงมา เป็นของรัฐวิสาหกิจ 3.67 ล้านล้านบาท รายได้ในภาพรวมเป็นของรัฐวิสาหกิจ 4.98 ล้านล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นรายได้ของธุรกิจพลังงานและการไฟฟ้า รองลงมาเป็นรายได้ของรัฐบาลกลางและหน่วยงานภาครัฐ 2.80 ล้านล้านบาท ค่าใช้จ่ายส่วนใหญ่เป็นค่าใช้จ่ายต้นทุนขายและบริการในภาครัฐวิสาหกิจและค่าใช้จ่ายบุคลากรของรัฐบาลกลางและหน่วยงานภาครัฐ
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 21 ตุลาคม 2557