แผนการดำเนินงานโครงการลงทุนพัฒนาด้านคมนาคมขนส่ง ปี พ.ศ. 2558
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 22 October 2014 22:56
- Hits: 3499
แผนการดำเนินงานโครงการลงทุนพัฒนาด้านคมนาคมขนส่ง ปี พ.ศ. 2558
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบแผนการดำเนินงานโครงการลงทุนพัฒนาด้านคมนาคมขนส่ง ปี พ.ศ. 2558 ตามที่ กระทรวงคมนาคม (คค.) เสนอ
สาระสำคัญของเรื่อง คค. รายงานว่า
1. คค. ได้จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการ (Workshop) ร่วมกับหน่วยงานในสังกัดเพื่อแก้ไขปัญหาด้านการขนส่งทางบกทางน้ำ และทางอากาศ ระหว่างวันที่ 27 กันยายน-11 ตุลาคม 2557 และได้จัดทำ สรุปแผนการดำเนินงานโครงการลงทุนพัฒนาด้านคมนาคมขนส่งที่สำคัญในปี พ.ศ. 2558 อันจะแสดงให้เห็นถึงการขับเคลื่อนอย่างเป็นรูปธรรมในการพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งของประเทศในภาพรวม โดยสรุปได้ ดังนี้
1.1 การพัฒนารถไฟทางคู่
คค. โดยสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) และการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ได้เตรียมการสำหรับการก่อสร้างรถไฟทางคู่ขนาดความกว้าง 1 เมตร และขนาดทางมาตรฐาน 1.435 เมตร ทั้งในเรื่องการศึกษาความเหมาะสม ออกแบบรายละเอียด การประกวดราคา การจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน และการก่อสร้าง โดยมีรายละเอียด ดังนี้
1.1.1. รถไฟทางคู่ขนาดความกว้าง 1 เมตร (Meter Gauge)
(1) ประกวดราคา 3 เส้นทาง ได้แก่ เส้นทางฉะเชิงเทรา-คลองสิบเก้า-แก่งคอย ระยะทาง 106 กิโลเมตร ชุมทางถนนจิระ-ขอนแก่น ระยะทาง 185 กิโลเมตร และประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร ระยะทาง 167 กิโลเมตร
(2) รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม 3 เส้นทาง ได้แก่ เส้นทางลพบุรี-ปากน้ำโพ ระยะทาง 148 กิโลเมตร มาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ ระยะทาง 132 กิโลเมตร และนครปฐม-หัวหิน ระยะทาง 165 กิโลเมตร
(3) ศึกษาออกแบบรายละเอียด 8 เส้นทาง ได้แก่ เส้นทางหัวหิน-ประจวบคีรีขันธ์ ระยะทาง 90 กิโลเมตร ปากน้ำโพ-เด่นชัย ระยะทาง 285 กิโลเมตร ชุมทางถนนจิระ-อุบลราชธานี ระยะทาง 309 กิโลเมตร ขอนแก่น-หนองคาย ระยะทาง 174 กิโลเมตร ชุมพร-สุราษฎร์ธานี ระยะทาง 167 กิโลเมตร สุราษฎร์ธานี-สงขลา ระยะทาง 339 กิโลเมตร หาดใหญ่-ปาดังเบซาร์ ระยะทาง 45 กิโลเมตร และเด่นชัย-เชียงใหม่ ระยะทาง 217 กิโลเมตร
1.1.2 การพัฒนาโครงข่ายรถไฟทางคู่ขนาดทางมาตรฐาน 1.435 เมตร (Standard Gauge) ได้ดำเนินการศึกษาทบทวน ออกแบบกรอบรายละเอียด และรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม เส้นทางหนองคาย-ขอนแก่น-นครราชสีมา-แก่งคอย-ฉะเชิงเทรา-แหลมฉบัง-มาบตาพุด ประกอบด้วย
(1) เส้นทางกรุงเทพฯ-นครราชสีมา และนครราชสีมา-มาบตาพุด ศึกษาทบทวน ปรับแบบกรอบรายละเอียด รวมทั้งรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ระยะเวลาดำเนินการ 12 เดือน
(2) เส้นทางกรุงเทพฯ-ระยอง ขออนุมัติเห็นชอบรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ระยะทาง 193 กิโลเมตร
(3) เส้นทางนครราชสีมา-หนองคาย ศึกษาออกแบบกรอบรายละเอียด ระยะเวลาดำเนินการศึกษา 14 เดือน
1.2 การพัฒนารถไฟฟ้าขนส่งมวลชนในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล
1.2.1 เร่งรัดก่อสร้าง 4 เส้นทาง ได้แก่ เส้นทาง (1) รถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงบางใหญ่-บางซื่อ ระยะทาง 23 กิโลเมตร (2) รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ช่วงหัวลำโพง-บางแค และบางซื่อ- ท่าพระ ระยะทาง 27 กิโลเมตร (3) รถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ ระยะทาง 12.80 กิโลเมตร และ (4) รถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต ระยะทาง 26 กิโลเมตร
1.2.2 ประกวดราคา 1 เส้นทาง คือ เส้นทางรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต –สะพานใหม่ – คูคต ระยะทาง 18.40 กิโลเมตร
1.2.3 โครงการและเตรียมการประกวดราคา 6 เส้นทาง ได้แก่ เส้นทาง (1) รถไฟฟ้าสาย สีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย – มีนบุรี ระยะทาง 21.2 กิโลเมตร (2) รถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย – มีนบุรี ระยะทาง 34.5 กิโลเมตร (3) รถไฟฟ้าสายสีเหลืองช่วงลาดพร้าว – สำโรง ระยะทาง 29.1 กิโลเมตร (4) รถไฟฟ้าเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ช่วงดอนเมือง – บางซื่อ – พญาไท ระยะทาง 21.8 กิโลเมตร (5) รถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดงอ่อน ช่วงบางซื่อ – พญาไท – มักกะสัน– หัวหมาก และสายสีแดงเข้ม ช่วงบางซื่อ – หัวลำโพง ระยะทาง 25.5 กิโลเมตร และ (6) รถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดงเข้ม ช่วงรังสิต – มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ศูนย์รังสิต ระยะทาง 10 กิโลเมตร
1.2.4 ศึกษาออกแบบรายละเอียด 1 เส้นทาง คือ เส้นทางรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ช่วงบางแค – พุทธมณฑลสาย 4 ระยะทาง 8 กิโลเมตร
1.3 การพัฒนาทางหลวงสายหลัก
1.3.1 จัดกรรมสิทธิ์ที่ดินเพื่อการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง(Motorway) สายพัทยา – มาบตาพุด ระยะทาง 32 กิโลเมตร ซึ่งได้รับงบประมาณปี 2558
1.3.2 เร่งรัดก่อสร้างขยายทางหลวง 4 ช่องจราจร ประกอบด้วย 5 เส้นทางสำคัญ ซึ่งสามารถเริ่มก่อสร้างได้ภายในปี 2558 ได้แก่ เส้นทาง (1) ทล.304 อำเภอกบินทร์บุรี – อำเภอวังน้ำเขียว ตอน 3 ระยะทาง 15.51 กิโลเมตร (2) ทล.304 กบินทร์บุรี – อำเภอปักธงชัย (ทางเชื่อมผืนป่า) ระยะทาง 3 กิโลเมตร (3) ทล.4 กระบี่ – อำเภอห้วยยอด ระยะทาง 16.45 กิโลเมตร (4) ทล.3138 อำเภอบ้านบึง – อำเภอบ้านค่าย ตอน 3 ระยะทาง 18.23 กิโลเมตร และ (5) ทล.314 อำเภอบางปะกง – ฉะเชิงเทรา ตอน 2 ระยะทาง 3.25 กิโลเมตร
1.3.3 ก่อสร้างโครงข่ายทางหลวงเชื่อมโยงระหว่างประเทศ ประกอบด้วย 4 เส้นทางสำคัญ ซึ่งสามารถเริ่มก่อสร้างได้ภายในปี 2558 ได้แก่ เส้นทาง (1) ทล.212 อำเภอโพนพิสัย – บึงกาฬ ตอน 1 ระยะทาง 30 กิโลเมตร (2) ทล.12 ตาก – แม่สอด ตอน 3 ระยะทาง 25.50 กิโลเมตร (3) ทล.12 กาฬสินธุ์ – อำเภอสมเด็จ ตอน 2 ระยะทาง 11.00 กิโลเมตร และ (4) ทล. 3 ตราด – หาดเล็ก ตอน 2 จังหวัดตราด ระยะทาง 35 กิโลเมตร
1.4 การพัฒนาโครงข่ายการขนส่งทางน้ำ
1.4.1 เสนอคณะรัฐมนตรีขออนุมัติโครงการ 2 โครงการ ได้แก่ (1) การก่อสร้างท่าเทียบเรือชายฝั่ง (ท่าเทียบเรือ A) ที่ท่าเรือแหลมฉบัง และ (2) การก่อสร้างศูนย์การขนส่งตู้สินค้าทางรถไฟที่ท่าเรือแหลมฉบัง (SRTO) (ระยะที่ 1)
1.4.2 ดำเนินการก่อสร้างระบบป้องกันตลิ่งเพื่อพัฒนาร่องน้ำทางเรือเดิน (ระยะที่ 1) ในแม่น้ำป่าสัก
1.5 การเพิ่มขีดความสามารถการให้บริการขนส่งทางอากาศ
1.5.1 ทบทวน สำรวจ ออกแบบ และก่อสร้าง ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ
(1) ทางวิ่งสำรองด้านทิศตะวันตก ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ จะดำเนินการสำรวจ ออกแบบเพื่อรองรับการขึ้น – ลงของอากาศยานในกรณีที่เกิดเหตุฉุกเฉิน หรือทางวิ่งเส้นที่ 1 หรือเส้นที่ 2 ปิดทำการซ่อมบำรุง
(2) งานระบบพื้นที่ปฏิบัติการด้านการบิน (Airside) จะดำเนินการทบทวนวงเงินงบประมาณให้มีความเหมาะสม ตามความจำเป็นต่อการใช้งาน โดยคาดว่าจะสามารถก่อสร้างได้ภายในปี 2558
(3) งานอาคารที่พักผู้โดยสารอเนกประสงค์ (Multi – Terminal) ด้านทิศเหนือ พร้อมสะพานเทียบเครื่องบิน ลานจอดอากาศยาน ระบบขนส่งผู้โดยสารเพื่อเชื่อมกับอาคารผู้โดยสารหลัก (Main Terminal) รวมทั้งที่จอดรถยนต์ ทั้งนี้ เป็นการก่อสร้างเพื่อทดแทนการขยายอาคารผู้โดยสารหลัก ไม่ให้กระทบต่อการบริการประชาชน
(4) งานระบบสาธารณูปโภค (ระบบไฟฟ้า ประปา และระบบบำบัดน้ำเสีย) จะดำเนินการทบทวนวงเงินงบประมาณให้มีความเหมาะสมตามความจำเป็นต่อการใช้งาน เพื่อเริ่มก่อสร้างได้ภายในปี 2558
1.5.2 ดำเนินการก่อสร้างขยายท่าอากาศยานภูเก็ต เพื่อรองรับผู้โดยสารจาก 8 ล้านคน เป็น 12.5 ล้านคนต่อปี และเพิ่มสิ่งอำนวยความสะดวกให้บริการแก่ผู้โดยสาร
1.5.3 ท่าอากาศยานอู่ตะเภา คค. ได้จัดให้มีคณะทำงานโดยมีปลัดกระทรวงคมนาคมเป็นประธาน และมีผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง [สนข. กรมการบินพลเรือน บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด และ รฟท.] เป็นคณะทำงาน โดยคณะทำงานได้หารือร่วมกับกองทัพเรือในการเตรียมการวางแผนพัฒนาท่าอากาศยานอู่ตะเภาให้เป็นท่าอากาศยานพาณิชย์แห่งที่ 3 เพื่อรองรับการขนส่งสินค้า ผู้โดยสาร รวมทั้งวางแผนการเชื่อมโยงโครงข่ายระหว่างท่าอากาศยานสุวรรณภูมิกับท่าอากาศยานอู่ตะเภา ซึ่งคาดว่าจะได้สรุปแผนการดำเนินงานและแผนการเตรียมการในส่วนที่เกี่ยวข้องแต่ละหน่วยงานในเดือนกุมภาพันธ์ 2558
1.6 การพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะ
เร่งรัดจัดซื้อรถโดยสารประจำทางใช้เชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ NGV จำนวน 3,183 คัน โดยคาดว่าจะสามารถส่งมอบรถปรับอากาศ 5 คันแรกภายในเดือนมกราคม 2558 เพื่อทดลองวิ่งดำเนินการ และภายในเดือนมีนาคม 2558 จะได้รับมอบรถตามสัญญาจำนวน 489 คัน ส่วนที่เหลือ 2,694 คัน ได้รับมอบภายในปี 2558
2. ขณะนี้ คค. อยู่ระหว่างการประมวลสรุปผลการประชุมเชิงปฏิบัติการ (Workshop) เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2557 วันที่ 4 ตุลาคม 2557 และวันที่ 11 ตุลาคม 2557 และคำแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรีที่แถลงต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติเพื่อจัดทำเป็นแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของไทย พ.ศ. 2558-2567 (ระยะ 10 ปี) รวมทั้งจัดทำแผนปฏิบัติการระยะเร่งด่วน พ.ศ. 2558 (Action Plan) เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบในหลักการของแผนพัฒนาโครงการพื้นฐานฯ และแผนปฏิบัติการระยะเร่งด่วนฯ ดังกล่าวข้างต้นในโอกาสต่อไป เพื่อหน่วยงานได้ใช้เป็นกรอบแนวทางการดำเนินงานให้บรรลุผลสำเร็จตามเป้าหมายที่กำหนดไว้
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 21 ตุลาคม 2557