แผนการดำเนินโครงการรถไฟทางคู่ ปีงบประมาณ พ.ศ. 2558
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 22 October 2014 22:53
- Hits: 3615
แผนการดำเนินโครงการรถไฟทางคู่ ปีงบประมาณ พ.ศ. 2558
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบแผนการดำเนินโครงการรถไฟทางคู่ ปีงบประมาณ พ.ศ. 2558 ตามที่กระทรวงคมนาคม (คค.) เสนอ
สาระสำคัญของเรื่อง คค. รายงานว่า
1. คค. ได้ดำเนินการประเมินสถานการณ์ด้านคมนาคมขนส่งในปัจจุบันแล้วพบว่า ประเทศไทยมีความจำเป็นต้องพัฒนาโครงข่ายคมนาคม เพื่อรองรับการเดินทางของประชาชน การท่องเที่ยว การขนส่งสินค้าชายแดน และรองรับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน คค. จึงได้จัดทำยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของไทย พ.ศ. 2558-2565 ซึ่งมีเป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์ 4 เป้าหมาย ประกอบด้วย 1) เสริมสร้างรากฐานความมั่นคงทางสังคม 2) เสริมสร้างรากฐานความมั่นคงทางเศรษฐกิจ 3) เสริมสร้างความมั่นคง ความปลอดภัย และ 4) สร้างโอกาสสำหรับการแข่งขันและให้ประเทศได้ประโยชน์สูงสุดจากการเป็นประชาคมอาเซียน และ 5 แผนงาน ประกอบด้วย 1) การพัฒนาโครงข่ายรถไฟระหว่างเมือง 2) การพัฒนาโครงข่ายขนส่งสาธารณะเพื่อแก้ไขปัญหาจราจรในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล 3) การเพิ่มขีดความสามารถทางหลวงเพื่อเชื่อมโยงฐานการผลิตที่สำคัญของประเทศ และเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน 4) การพัฒนาโครงข่ายการขนส่งทางน้ำ และ 5) การเพิ่มขีดความสามารถในการให้บริการขนส่งทางอากาศ
2. คค. ได้จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการ (Workshop) ร่วมกับหน่วยงานในสังกัดเพื่อแก้ไขปัญหาด้านการขนส่งทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ ระหว่างวันที่ 27 กันยายน – 11 ตุลาคม 2557 โดยได้จัดทำรายละเอียดแผนปฏิบัติการ (Action Plan) สำหรับโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งทางรถไฟประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2558 ซึ่งสถานะในการดำเนินงานโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ขนาดความกว้าง 1.00 เมตร และรถไฟทางคู่ขนาดทางมาตรฐาน 1.435 เมตร มีดังนี้
2.1 สถานะรถไฟทางคู่ขนาดความกว้าง 1.00 เมตร (Meter Gauge) ในปัจจุบัน
ปัจจุบันประเทศไทยมีโครงข่ายทางรถไฟระยะทาง 4,043 กิโลเมตร ให้บริการครอบคลุมเพียง 47 จังหวัด ประกอบด้วย ทางเดี่ยว ระยะทาง 3,685 กิโลเมตร หรือร้อยละ 91.1 ทาง สามระยะทาง 107 กิโลเมตร หรือร้อยละ 2.7 (ช่วงรังสิต-ชุมทางบ้านภาชี) ระยะทาง 61 กิโลเมตร และช่วงหัวหมาก – ฉะเชิงเทรา ระยะทาง 46 กิโลเมตร) ที่เหลือเป็นทางคู่ระยะทาง 251 กิโลเมตร หรือร้อยละ 6.2 ประกอบด้วย
ที่ ช่วงสถานี ระยะทาง (กิโลเมตร)
1. กรุงเทพฯ-รังสิต 29.7
2. บ้านภาชี-ลพบุรี 42.4
3. บ้านภาชี-มาบกะเบา 44.0
4. บางซื่อ – นครปฐม 56.2
5. ฉะเชิงเทรา – แหลมฉบัง 78.7
รวม 251
2.2 แผนการดำเนินการในปีงบประมาณ 2558 ภายใต้แผนยุทธศาสตร์ฯ
2.2.1 โครงการที่พร้อมดำเนินการก่อสร้าง 1 โครงการ คือ โครงการรถไฟทางคู่ ช่วงฉะเชิงเทรา – คลองสิบเก้า – แก่งคอย ระยะทาง 106 กิโลเมตร ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างประกวดราคา [ได้รับความเห็นชอบรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) และร่างพระราชกฤษฎีกาเวนคืนที่ดินแล้ว]
2.2.2 โครงการที่อยู่ระหว่างนำเสนอขออนุมัติโครงการ [ได้รับความเห็นชอบรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) และร่างพระราชกฤษฎีกาเวนคืนที่ดินแล้ว] จำนวน 2 โครงการ ได้แก่
ที่ โครงการ รายละเอียด
1 โครงการรถไฟทางคู่ ช่วงชุมทางถนนจิระ – ขอนแก่น ระยะทาง 185 กิโลเมตร อยู่ระหว่าง
นำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อขออนุมัติโครงการ
คาดว่าจะเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาได้ใน
ไตรมาสที่ 1 และประกวดราคาได้ในไตรมาส
ที่ 2 ของปีงบประมาณ พ.ศ. 2558
2 โครงการรถไฟทางคู่ ช่วงประจวบคีรีขันธ์ – ชุมพร ระยะทาง 167 กิโลเมตร เตรียมนำเสนอ
คณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติโครงการในไตรมาสที่ 2 และประกวดราคาได้ ในไตรมาสที่ 3 ของปีงบประมาณ พ.ศ. 2558
2.2.3 โครงการอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมด้านคมนาคมของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือโครงการร่วมกับเอกชน ภายใต้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ จำนวน 3 โครงการ ได้แก่
ที่ โครงการ รายละเอียด
1. ช่วงลพบุรี-ปากน้ำโพ ระยะทาง 148 กิโลเมตร
2. ช่วงมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ ระยะทาง 132 กิโลเมตร
3. ช่วงนครปฐม-หัวหิน ระยะทาง 165 กิโลเมตร
โดยคาดว่าจะพิจารณาแล้วเสร็จประมาณปลายปี 2557 ก่อนเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติโครงการเพื่อการประกวดราคาต่อไป ทั้งนี้ ภายหลังดำเนินโครงการรถไฟทางคู่แล้วเสร็จ จำนวน 6 เส้นทางดังกล่าว จะทำให้มีโครงข่ายรถไฟทางคู่เพิ่มขึ้นระยะทาง 903 กิโลเมตร อันจะก่อให้เกิดประโยชน์ในการแก้ไขปัญหาการเดินรถที่คับคั่งและรองรับการขนส่งสินค้าและโลจิสติกส์ของประเทศ ลดระยะเวลาการเดินทาง ลดอุบัติเหตุ เพิ่มความปลอดภัยและเพิ่มคุณภาพชีวิตในการเดินทางของประชาชนทั่วประเทศ
2.2.4 ดำเนินการศึกษาและออกแบบรายละเอียดในปีงบประมาณ 2558 จำนวน 8 เส้นทางได้แก่
ที่ เส้นทางการศึกษาและออกแบบ ระยะทาง (กิโลเมตร)
1. หัวหิน-ประจวบคีรีขันธ์ 90
2. ปากน้ำโพ-เด่นชัย 285
3. ชุมทางถนนจิระ-อุบลราชธานี 309
4. ขอนแก่น-หนองคาย 174
5. ชุมพร-สุราษฎร์ธานี 167
6. สุราษฎร์ธานี-สงขลา 339
7. หาดใหญ่-ปาดังเบซาร์ 45
8. เด่นชัย-เชียงใหม่ 217
โดยเส้นทางทั้งหมดอยู่ระหว่างการศึกษาออกแบบรายละเอียดและจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม คาดว่าจะพิจารณาแล้วเสร็จประมาณปลายปี พ.ศ. 2558 ก่อนเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติโครงการเพื่อการประกวดราคาต่อไป
2.3 การพัฒนาโครงข่ายรถไฟทางคู่ขนาดความกว้าง 1.435 เมตร (Standard Gauge)
2.3.1 สถานะรถไฟทางคู่ขนาดความกว้าง 1.435 เมตร (Standard Gauge) ในปัจจุบันยังไม่มีโครงข่ายทางรถไฟขนาดทางมาตรฐาน
2.3.2 แผนการพัฒนาโครงข่ายรถไฟทางคู่ขนาดความกว้าง 1.435 เมตร
คค. ได้ดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาลตามกรอบยุทธศาสตร์ฯ ในการพัฒนาโครงข่ายรถไฟทางคู่ ขนาดทางมาตรฐาน เส้นทางหนองคาย-นครราชสีมา-ท่าเรือแหลมฉบัง ดังนี้
ที่ โครงการ รายละเอียด
1 ช่วงกรุเทพฯ นครราชสีมาและนครราชสีมา-มาบตาพุด ระยะทาง 512 กิโลเมตร อยู่ระหว่างเตรียม
การศึกษาทบทวนปรับแบบกรอบรายละเอียด
รวมทั้งเสนอขออนุมัติเห็นชอบรายงานการ
วิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ระยะเวลา
ดำเนินการ 12 เดือน
2 ช่วงกรุงเทพฯ –ระยอง ระยะทาง 193 กิโลเมตร ได้ศึกษาและออกแบบ
แล้วเสร็จอยู่ระหว่างดำเนินการขออนุมัติ
เห็นชอบรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม
3 ช่วงนครราชสีมา- หนองคาย ระยะทาง 355 กิโลเมตร อยู่ระหว่างศึกษา
ออกแบบกรอบรายละเอียด รวมทั้งเสนอขอ
อนุมัติเห็นชอบรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบ
สิ่งแวดล้อม ระยะเวลาดำเนินการ 14 เดือน
ทั้งนี้ เมื่อการศึกษาออกแบบกรอบรายละเอียดแล้วเสร็จ ผ่านการเห็นชอบจากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ และออกพระราชกฤษฎีกาเวนคืนที่ดินเพื่อนำไปสู่การขออนุมัติโครงการและก่อสร้าง ซึ่งคาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2562 – 2563 ตามลำดับ จะทำให้ประเทศไทยมีโครงข่ายรถไฟทางคู่ขนาดทางมาตรฐาน ระยะทาง 1,060 กิโลเมตร
2.4 ภาพรวมการพัฒนารถไฟทั้งระบบ
เมื่อดำเนินโครงการรถไฟทางคู่ ปีงบประมาณ พ.ศ. 2558 ตามยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของไทย พ.ศ. 2558-2565 แล้วเสร็จ จะทำให้โครงข่ายทางรถไฟทางคู่ เพิ่มขึ้นจากเดิมที่มีระยะทางเพียง 251 กิโลเมตร เพิ่มขึ้นเป็นระยะทาง 3,589 กิโลเมตร
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 21 ตุลาคม 2557