รายงานผลการดำเนินงานการบริหารจัดการหน้ากากอนามัยของคณะกรรมการเฉพาะกิจเกี่ยวกับการบริหารจัดการพัสดุสำหรับการป้องกัน ควบคุม หรือรักษาโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19)
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Thursday, 20 August 2020 12:07
- Hits: 7431
รายงานผลการดำเนินงานการบริหารจัดการหน้ากากอนามัยของคณะกรรมการเฉพาะกิจเกี่ยวกับการบริหารจัดการพัสดุสำหรับการป้องกัน ควบคุม หรือรักษาโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19)
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบตามที่คณะกรรมการเฉพาะกิจเกี่ยวกับการบริหารจัดการพัสดุสำหรับการป้องกันควบคุม หรือรักษาโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) เสนอรายงานผลการดำเนินงานการบริหารจัดการหน้ากากอนามัยของคณะกรรมการเฉพาะกิจเกี่ยวกับการบริหารจัดการพัสดุสำหรับการป้องกัน ควบคุม หรือรักษาโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) และแนวทางการบริหารจัดการหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ในระยะต่อไป โดยปรับแนวทางและหลักเกณฑ์การบริหารจัดการหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ที่ผลิตในประเทศเข้าสู่ระบบปกติ ดังนี้
คณะกรรมการเฉพาะกิจเกี่ยวกับการบริหารจัดการพัสดุสำหรับการป้องกัน ควบคุม หรือรักษาโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) รายงานความก้าวหน้าผลการดำเนินการเกี่ยวกับหน้ากากอนามัยระหว่างวันที่ 1 พฤษภาคม – 31 กรกฎาคม 2563 ที่มีการรายงานในที่ประชุมคณะกรรมการเฉพาะกิจฯ ครั้งที่9/2563 เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2563 ครั้งที่ 10/2563 เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2563 และครั้งที่ 11/2563 เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2563 โดยสรุป ดังนี้
1. การจัดสรรหน้ากากอนามัยให้กระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงมหาดไทย ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2563 ดังนี้
(1) จัดสรรให้กระทรวงสาธารณสุข จำนวนไม่เกินวันละ 1,800,000 ชิ้น
(2) จัดสรรให้กระทรวงมหาดไทย จำนวนไม่เกินวันละ 1,200,000 ชิ้น
2. การกระจายหน้ากากอนามัยสะสม ตั้งแต่วันที่ 30 มีนาคม – 31 กรกฎาคม 2563 ดำเนินการจัดส่งหน้ากากอนามัยโดย บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด ให้ 3 หน่วยงาน ได้แก่ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย และกองบัญชาการกองทัพไทย รวม 281,161,500 ชิ้น ดังนี้
(1) จัดส่งให้กระทรวงสาธารณสุข จำนวนสะสม รวม 185,409,700 ชิ้นเพื่อกระจายต่อให้กับสถานพยาบาลต่างๆ และบุคลากรทางการแพทย์
(2) จัดส่งให้กระทรวงมหาดไทย จำนวนสะสม รวม 92,933,800 ชิ้น เพื่อส่งให้กรุงเทพมหานครและจังหวัดต่างๆ ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้กระจายลงไปยังกลุ่มเสี่ยง เช่น เจ้าหน้าที่ทำงานใกล้ชิดกลุ่มเสี่ยง อาสาสมัครประจำหมู่บ้าน (อสม.) พนักงานทำความสะอาดและเก็บขยะ รวมทั้งเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ ในพื้นที่เสี่ยงติดเชื้อโควิด-19 เป็นต้น
(3) จัดส่งให้ฝ่ายความมั่นคงโดยกองทัพไทยจำนวนสะสม รวม 2,818,000 ชิ้น เพื่อใช้สำหรับเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน ณ จุดตรวจควบคุมการแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ซึ่งมีการตั้งจุดตรวจของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และหน่วยงาน 3 เหล่าทัพ
3. การนำเข้าหน้ากากอนามัย
กรมศุลกากรมีรายงานการนำเข้าหน้ากากอนามัย ตั้งแต่เดือนมกราคม–31 กรกฎาคม 2563 มีจำนวนทั้งสิ้น 169,208,551 ชิ้น ประกอบด้วย 4 ประเภท
(1) หน้ากากชนิดที่ใช้ในห้องผ่าตัด จำนวน 31,610,239 ชิ้น
(2) หน้ากากกรองฝุ่น หมอกควัน หรือสารพิษ อุปกรณ์เพื่อความปลอดภัย จำนวน 82,387,373 ชิ้น
(3) หน้ากากทางการแพทย์ นอกจากหน้ากากชนิดที่ใช้ในห้องผ่าตัด จำนวน 1,514,396 ชิ้น
(4) อื่นๆ (หน้ากากผ้า) จำนวน 53,696,543 ชิ้น
4. การส่งออกหน้ากากอนามัยไปนอกราชอาณาจักร
กรมศุลกากรมีรายงานการส่งออกหน้ากากอนามัยไปนอกราชอาณาจักร ตั้งแต่เดือนมกราคม – 31 กรกฎาคม 2563 มีจำนวนทั้งสิ้น 110,854,101 ชิ้น ประกอบด้วย 4 ประเภท
(1) หน้ากากชนิดที่ใช้ในห้องผ่าตัด จำนวน 31,680,380 ชิ้น
(2) หน้ากากกรองฝุ่น หมอกควัน หรือสารพิษ อุปกรณ์เพื่อความปลอดภัย จำนวน 40,525,103 ชิ้น
(3) หน้ากากทางการแพทย์ นอกจากหน้ากากชนิดที่ใช้ในห้องผ่าตัด จำนวน 259,200 ชิ้น
(4) อื่นๆ (หน้ากากผ้าลิขสิทธิ์) จำนวน 38,389,418 ชิ้น
5. การบริหารจัดการหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ที่ผลิตภายในประเทศ คณะกรรมการเฉพาะกิจเกี่ยวกับการบริหารจัดการพัสดุฯ (โควิด-19) ได้มีการพิจารณาแนวทางการบริหารจัดการหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ที่ผลิตในประเทศ ส่วนที่เกินความต้องการของหน่วยงานภาครัฐที่มีภารกิจในการปฏิบัติหน้าที่เสี่ยงต่อการสัมผัสเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในการประชุม ครั้งที่ 9/2563 เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2563 ครั้งที่ 10/2563 เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2563 และครั้งที่ 11/2563 เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2563 โดยที่ประชุมได้มีมติ ดังนี้
(1) รับทราบสถานการณ์เกี่ยวกับหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ที่ผลิตในประเทศ ดังนี้
(1.1) สถานการณ์ด้านการผลิต
กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ รายงานว่า ปัจจุบันมีผู้ผลิตหน้ากากอนามัยเพิ่มขึ้นจาก 9 ราย เป็น 29 ราย (30 โรงงาน) ทำให้กำลังการผลิตหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ในประเทศมีเพิ่มขึ้นจาก 1,200,000 ชิ้นต่อวัน เป็น 4,500,000 ชิ้นต่อวัน มีสต็อกคงเหลือ ณ วันที่ 29 กรกฎาคม 2563 ประมาณ 12,000,000 ชิ้น รวมถึงมีปริมาณการนำเข้าหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ประมาณ 5,000,000 – 7,000,000 ชิ้นต่อเดือน
(1.2) สถานการณ์ด้านการจัดซื้อหน้ากากอนามัยฯ
(1.2.1) มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 7 เมษายน 2563 อนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ จำนวน 801,066,000 บาท (แปดร้อยหนึ่งล้านหกหมื่นหกพันบาทถ้วน) เพื่อดำเนิน “โครงการบริหารจัดการหน้ากากอนามัยในสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19)” โดยจัดซื้อหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ (Surgical Mask) ให้กระทรวงมหาดไทยกระจายให้กับประชาชนกลุ่มเสี่ยงในพื้นที่ทุกจังหวัดตามความเหมาะสม จำนวน 1,000,000 ชิ้นต่อวัน
(1.2.2) การจัดซื้อหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2563 จำนวน 3,000,000 ชิ้นต่อวัน แบ่งเป็น
1) กระทรวงสาธารณสุขจัดซื้อ จำนวนไม่เกิน 1,800,000 ชิ้นต่อวัน เบิกจ่ายจากงบประมาณในภาพรวมเพื่อจัดซื้อเวชภัณฑ์ทางการแพทย์ จำนวน 1,500 ล้านบาท ซึ่งงบประมาณดังกล่าวจัดซื้อหน้ากากอนามัยทางการแพทย์จนถึงสิ้นเดือนกรกฎาคม 2563 ไปแล้ว จำนวน 198,841,500 ชิ้น
2) กระทรวงพาณิชย์จัดซื้อให้กระทรวงมหาดไทย จำนวนไม่เกิน 1,200,000 ชิ้นต่อวัน เบิกจ่ายจากงบประมาณตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2563 จำนวน 801,066,000 บาท ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ได้รับอนุมัติการจัดสรรงบประมาณในระยะแรก (เมษายน - กรกฎาคม 2563) จำนวน 385,200,000 บาท จัดซื้อไปแล้วทั้งสิ้น 95,551,300 ชิ้น (วงเงิน 385,177,144 บาท) คงเหลืองบประมาณ จำนวน 22,856 บาท สำหรับการจัดซื้อในเดือนสิงหาคม - ตุลาคม 2563 อยู่ระหว่างการพิจารณาจัดสรรเพิ่มเติมจากสำนักงบประมาณ
3) ปริมาณการรับซื้อหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ของกระทรวงสาธารณสุข จำนวนไม่เกิน 1,800,000 ชิ้นต่อวัน และกระทรวงพาณิชย์จัดซื้อให้กระทรวงมหาดไทย จำนวนไม่เกิน 1,200,000 ชิ้นต่อวัน ดังกล่าวข้างต้น กรมการค้าภายในรายงานว่าจะทำให้มีกำลังการผลิตหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ในประเทศส่วนที่เหลือจากการรับซื้อของหน่วยงานภาครัฐ ประมาณ 1,500,000 ชิ้นต่อวัน
(1.3) สถานการณ์ความต้องการหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ฯ
กระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงมหาดไทย ได้รายงานการประมาณความต้องการใช้หน้ากากอนามัยทางการแพทย์ในปัจจุบันเพื่อใช้ในภารกิจที่เกี่ยวข้อง (ข้อมูล วันที่ 7 สิงหาคม 2563) ดังนี้ กระทรวงสาธารณสุขมีความต้องการ จำนวน 1,500,000 ชิ้นต่อวันและกระทรวงมหาดไทยมีความต้องการ จำนวน 1,000,000 ชิ้นต่อวัน โดยในปริมาณความต้องการนี้ หากมีสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนารุนแรงขึ้นอีกรอบในประเทศไทย กระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงมหาดไทยจะมีหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ฯ สำรองใช้ได้เป็นระยะเวลาประมาณ 2 เดือน
(1.4) สถานการณ์ด้านการกำหนดราคากลางในการจัดซื้อหน้ากากอนามัยทางการแพทย์
คณะกรรมการเฉพาะกิจเกี่ยวกับการบริหารจัดการพัสดุสำหรับการป้องกัน ควบคุม หรือรักษาโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ได้ประชุมเกี่ยวกับแนวทางการกำหนดราคากลางในการจัดซื้อสินค้าหน้ากากอนามัยและหน้ากากประเภทอื่น (ยกเว้นหน้ากากชนิด N95) ในการประชุมครั้งที่ 8/2563 เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2563 ได้มีการทบทวนราคากลางหน้ากากอนามัยทางการแพทย์จากโรงงานที่ผลิตในประเทศ มีมติ ดังนี้
(1.4.1) เห็นชอบกำหนดราคากลางในการจัดซื้อสินค้าหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ที่ 4.12 บาท/ชิ้น (เดิม 4.28 บาท/ชิ้น) โดยคำนวณจากฐานการต้นทุนปริมาณเฉลี่ย ซึ่งได้ข้อมูลจากผู้ผลิตระหว่างเกิดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) (มิถุนายน 2563) บวกเพิ่มกำไรร้อยละ 10 และภาษีมูลค่าเพิ่มร้อยละ 7 เป็นราคากลาง ให้กรมการค้าภายใน และองค์การเภสัชกรรม ใช้ในการจัดซื้อสินค้าหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2563 เป็นต้นไป ทั้งนี้ ราคากลางที่แนะนำในการจัดซื้อมีแนวโน้มลดลงอีกตามกำลังการผลิตภายในประเทศที่เพิ่มขึ้น
(1.4.2) ราคาที่จะจำหน่ายให้แก่หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนทั่วไป ให้จำหน่ายในราคาที่เหมาะสม สอดคล้องกับต้นทุนการผลิต รวมทั้งเป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี ระเบียบ และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
(2) เห็นชอบแนวทางการบริหารจัดการหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ในระยะต่อไป เนื่องจากปัจจุบันสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ในประเทศไทยอยู่ในสภาวะสามารถควบคุมได้ ขณะเดียวกันกรมการค้าภายในรายงานว่าปริมาณหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ที่ผลิตในประเทศและปริมาณหน้ากากผ้า มีเพิ่มขึ้นทั้งจากการที่มีจำนวนผู้ผลิตในประเทศมากขึ้น และจากการนำเข้าที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับประชาชนทั่วไปมีทางเลือกในการใช้หน้ากากผ้าเพิ่มขึ้น จึงดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2563 และ วันที่ 29 กรกฎาคม 2563 โดยปรับแนวทางและหลักเกณฑ์การบริหารจัดการหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ที่ผลิตในประเทศเข้าสู่ระบบปกติ ดังนี้
(2.1) การบริหารจัดการกลุ่มเสี่ยง การบริหารจัดการหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ที่ผลิตในประเทศ โดยจำแนกกลุ่มที่มีความต้องการใช้หน้ากากอนามัยทางการแพทย์ที่เป็นกลุ่มเสี่ยงสูง ซึ่งมีความต้องการประมาณ 3,000,000 ชิ้นต่อวัน แบ่งเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่
(2.1.1) กระทรวงสาธารณสุข บริหารจัดการสำหรับกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์หรือผู้ป่วย จำนวนไม่เกิน 1,500,000 ชิ้นต่อวัน
(2.1.2) กระทรวงมหาดไทย ในกรณีที่มีความจำเป็นต้องแจกจ่ายให้กับหน่วยงานรัฐที่ต้องใกล้ชิดกับกลุ่มเสี่ยง จำนวนไม่เกิน 1,000,000 ชิ้นต่อวัน
(2.1.3) หน่วยงานที่เป็นกลุ่มเสี่ยงอื่นๆ เช่น บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง กระทรวงศึกษาธิการ เป็นต้น จำนวนไม่เกิน 500,000 ชิ้นต่อวัน
(2.2) การปรับแนวทางและหลักเกณฑ์การบริหารจัดการหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ที่ผลิตในประเทศเข้าสู่ระบบปกติ โดยปรับให้มีการซื้อขายคล่องตัวและเสรีมากขึ้น และมีเงื่อนไข เพื่อสร้างความเชื่อมั่นว่าหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ที่ผลิตในประเทศมีเพียงพอใช้ในประเทศ ดังนี้
(2.2.1) ราคากลางในการการจัดซื้อและราคาจำหน่ายปลีกหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ที่ผลิตในประเทศ ให้กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พิจารณากำหนดราคาที่เหมาะสม สอดคล้องกับต้นทุนการผลิต รวมทั้งให้เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี ระเบียบและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
(2.2.2) ให้ผู้ผลิตจำหน่ายตามกลไกตลาดปกติ โดยให้กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ พิจารณากำหนดเงื่อนไขให้ผู้ผลิตพร้อมผลิตจำหน่ายให้ได้ทันที เมื่อภาครัฐมีความจำเป็นหรือเกิดวิกฤตเร่งด่วน และพิจารณาดำเนินการบริหารจัดการหน้ากากอนามัยฯ ตามระเบียบและกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป
(2.3) การบริหารจัดการและการกระจายหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ที่ผลิตในประเทศในระยะต่อไป ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ตามกฎหมายว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ มติคณะอนุกรรมการบูรณาการฯ มติคณะกรรมการเฉพาะกิจฯ หรือมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง โดยให้อธิบดีกรมการค้าภายใน ในฐานะรองประธานคนที่ 5 ฝ่ายการบริหารจัดการทั่วไปและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พิจารณาดำเนินการ และหากจะมีการเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไข ไปจากเดิม ให้นำเสนอคณะกรรมการเฉพาะกิจฯ พิจารณาต่อไป
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 18 สิงหาคม 2563
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
AO8551
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ