ร่างพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. ....
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 21 October 2014 22:53
- Hits: 3557
ร่างพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. ....
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณา ก่อนเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณาต่อไป
สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ
1. ยกเลิกกฎหมายว่าด้วยแร่ และกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราค่าภาคหลวงแร่ทุกฉบับ
2. ปรับปรุงบทนิยามคำว่า'แร่'ให้รวมถึง 'ลูกรัง'ที่ใช้ประโยชน์เพื่ออุตสาหกรรม เพื่อให้มีการใช้ประโยชน์อย่างคุ้มค่าเป็นไปตามหลักวิชาการธรณีวิทยาและวิศวกรรมเหมืองแร่ ส่วนการขุดเจาะน้ำเกลือใต้ดินนั้นมีกฎหมายว่าด้วยโรงงานกำกับดูแลอยู่แล้ว จึงไม่ได้กำหนดให้การขุดเจาะน้ำเกลือใต้ดินอยู่ภายใต้การกำกับดูแลตามกฎหมายแร่อีกต่อไป
3. กำหนดหลักเกณฑ์การอนุญาตและการควบคุมกำกับดูแลการทำเหมืองและกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการทำเหมืองที่เหมาะสมกับขนาดของเหมือง ส่งเสริมให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและชุมชนมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการแร่ จัดสรรแบ่งผลประโยชน์จากทรัพยากรแร่ให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและชุมชนอันเป็นที่ตั้งของพื้นที่ทำเหมืองและพื้นที่ซึ่งได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองเพิ่มมากขึ้น
4. ปรับเปลี่ยนองค์ประกอบของคณะกรรมการแร่ โดยกำหนดให้ครอบคลุมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งผู้ประกอบการ ผู้ทรงคุณวุฒิให้พิจารณาแต่งตั้งจากผู้มีประสบการณ์ด้านการเหมืองแร่ ด้านสิ่งแวดล้อมด้านสังคมศาสตร์ หรือสาขาอื่นที่เป็นประโยชน์ต่อกิจการเหมืองแร่ และให้มีคณะกรรมการจังหวัด เพื่อให้คำปรึกษาแนะนำแก่ผู้ว่าราชการจังหวัดในการพิจารณาอนุญาตประทานบัตร รวมถึงการบริหารจัดการแร่ในจังหวัดนั้น
5. แบ่งประเภทและการออกประทานบัตรการทำเหมืองแร่ออกเป็น 3 ประเภท ดังนี้
พระราชบัญญัติแร่ ร่างพระราชบัญญัติแร่
รัฐมนตรีเป็นผู้ออกประทานบัตร (1) การทำเหมืองประเภทที่ 1 ได้แก่ การทำเหมืองในเนื้อที่ไม่เกินหนึ่งร้อยไร่ ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดในเขตจังหวัดที่มีการทำเหมืองเป็นผู้ออกประทานบัตร
(2) การทำเหมืองประเภทที่ 2 ได้แก่ การทำเหมืองในเนื้อที่ไม่เกินหกร้อยยี่สิบห้าไร่ ให้อธิบดีเป็นผู้ออกประทานบัตร
(3) การทำเหมืองประเภทที่ 3 ได้แก่ การทำเหมืองในทะเลการทำเหมืองใต้ดินตามที่กำหนดในหมวด 5 การทำเหมืองที่ไม่ใช่การทำเหมืองประเภทที่ 1 หรือการทำเหมืองประเภทที่ 2 ให้
ปลัดกระทรวงเป็นผู้ออกประทานบัตร
6. กำหนดหลักการใหม่เกี่ยวกับการคืนสิทธิและสวมสิทธิการทำเหมืองตามประทานบัตร โดยกำหนดให้ผู้ถือประทานบัตรสามารถคืนสิทธิตามประทานบัตรทั้งหมดหรือเพียงบางส่วนของพื้นที่ประทานบัตรได้ หากไม่มีหน้าที่และข้อผูกพันตามกฎหมายที่ต้องปฏิบัติหรือได้ฟื้นฟูพื้นที่เรียบร้อยแล้ว รวมทั้งกำหนดให้มีการจัดทำแผนฟื้นฟูสภาพพื้นที่การทำเหมือง การพัฒนา การใช้ประโยชน์ การเฝ้าระวังผลกระทบสิ่งแวดล้อมทั้งภายหลังการทำเหมืองและการปิดเหมือง ทั้งนี้ แผนฟื้นฟูพื้นที่ถือเป็นเงื่อนไขในการออกประทานบัตร
7. กำหนดให้จัดตั้งกองทุนพื้นฟูสภาพพื้นที่ทำเหมืองเพื่อเยียวยาสิ่งแวดล้อมและผู้ได้รับผลกระทบจากการทำเหมือง
8. กำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการกำกับดูแลแร่นำเข้ามาในราชอาณาจักร หรือการส่งออกแร่ออกนอกราชอาณาจักร เพื่อให้สามารถควบคุมกำกับดูแลแร่นำเข้าในราชอาณาจักรทั้งชนิด สภาพ หรือคุณภาพของแร่ที่นำเข้ามา เพื่อไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และให้สามารถกำกับดูแลการส่งแร่ออกนอกราชอาณาจักรไม่ให้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศ
9. กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการเกี่ยวกับการบริหารจัดการพื้นที่พิเศษ
10. กำหนดหลักเกณฑ์ในการจัดเก็บค่าภาคหลวงแร่ ผลประโยชน์ตอบแทนพิเศษแก่รัฐ เงินบำรุงพิเศษ ค่าสิทธิสำรวจ โดยการเรียกเก็บเงินดังกล่าวได้คำนึงถึงหลักการที่ต้องทดแทนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นหลักประกันการเยียวยาความเสียหาย และเป็นมาตรการด้านความปลอดภัยอันเกิดจากผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมดำเนินการตามหลักผู้ก่อมลพิษเป็นผู้จ่าย (Polluter Pays Principle)
11. กำหนดกลไกของกฎหมายให้รองรับการที่ประเทศไทยเข้าสู่ประชาคมอาเซียน โดยกำหนดให้รัฐมนตรีมีอำนาจออกกฎกระทรวงเพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับคุณสมบัติของบุคคลในกลุ่มประเทศประชาคมอาเซียนที่จะเข้ามาประกอบกิจการลงทุน หรือรับจ้างทำงานเกี่ยวกับแร่ในประเทศไทย
12. ปรับปรุงบัญชีอัตราธรรมเนียมท้ายพระราชบัญญัติให้เหมาะสมกับสภาวการณ์
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 21 ตุลาคม 2557