มติคณะรัฐมนตรี แต่งตั้ง 8 กรกฎาคม 2563
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Thursday, 09 July 2020 00:24
- Hits: 7531
มติคณะรัฐมนตรี แต่งตั้ง 8 กรกฎาคม 2563
การสมัครรับเลือกตั้งตำแหน่งเลขาธิการองค์การที่ปรึกษากฎหมายแห่งเอเชียและแอฟริกา (Asian-African Legal Consultative Organization-AALCO)
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เสนอ ทั้ง 2 ข้อ ดังนี้
1. เห็นชอบให้เสนอ นายกมลินทร์ พินิจภูวดล เป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งจากประเทศไทยเพื่อดำรงตำแหน่งเลขาธิการองค์การที่ปรึกษากฎหมายแห่งเอเชียและแอฟริกา (Asian-African Legal Consultative Organization-AALCO)
2. ให้ กต. ดำเนินการรณรงค์หาเสียงเพื่อขอรับการสนับสนุนจากรัฐสมาชิกก่อนการเลือกตั้ง
สาระสำคัญของเรื่อง
กต. รายงานว่า
1) AALCO เป็นองค์การระหว่างประเทศที่จัดตั้งขึ้นเมื่อปี 2499 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้กลุ่มประเทศในเอเชียและแอฟริกามีบทบาทในการประมวลและพัฒนากฎหมายระหว่างประเทศให้สอดคล้องกับท่าทีและประโยชน์ของภูมิภาค โดยประเทศไทยได้เข้าเป็นรัฐสมาชิกของ AALCO ตั้งแต่ปี 2504 และเคยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมประจำปีของ AALCO สมัยที่ 8 (2509) และสมัยที่ 26 (2530) ทั้งนี้ ประเทศไทยให้ความสำคัญและใช้ประโยชน์จากเวทีดังกล่าว ซึ่งเป็นเวทีด้านกฎหมายระหว่างประเทศเวทีเดียวที่มีรัฐสมาชิกครอบคลุมสมาชิกของสหประชาชาติจากเอเชียและแอฟริกา จึงเป็นกลไกที่ไทยสามารถร่วมกับรัฐสมาชิกพิจารณากำหนดท่าทีที่สอดคล้องกับผลประโยชน์ของภูมิภาคทั้งสองและเป็นช่องทางสำคัญในการผลักดันวาระและผลประโยชน์ของไทยกับรัฐสมาชิกจากแอฟริกาด้วย
2) เลขาธิการ AALCO คนปัจจุบัน [ศาสตราจารย์ ดร. เคนเนดี แกสธอร์น (Professor Dr. Kennedy Gastorn)] ชาวแทนซาเนีย จะหมดวาระการดำรงตำแหน่งในวันที่ 14 สิงหาคม 2563 สำนักเลขาธิการ AALCO จึงได้มีหนังสือแจ้งเกี่ยวกับการเลือกตั้งเลขาธิการ AALCO คนใหม่ เพื่อดำรงตำแหน่งระหว่างปี 2563-2567 สำนักเลขาธิการ AALCO จึงขอให้รัฐสมาชิกในเอเชียเสนอชื่อบุคคลสัญชาติของตนที่มีคุณสมบัติ ดังนี้ (1) เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านนิติศาสตร์ หรือ (2) เป็นผู้มีความรู้และประสบการณ์ด้านการบริหารและกฎหมาย เพื่อสมัครรับเลือกตั้งตำแหน่งเลขาธิการ AALCO โดยคาดว่าการเลือกตั้งเลขาธิการ AALCO คนใหม่จะจัดขึ้นในการประชุมสมัยพิเศษภายในเดือนพฤศจิกายน 2563 ณ สาธารณรัฐอินเดีย
3) กต. แจ้งว่า ในระยะเวลา 64 ปีที่ผ่านมาตั้งแต่การจัดตั้ง AALCO นั้น ยังไม่เคยมีคนไทยดำรงตำแหน่งเลขาธิการของ AALCO รวมทั้งปัจจุบันยังไม่มีรัฐสมาชิกใดส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง จึงเป็นโอกาสดีที่ประเทศไทยจะพิจารณาเสนอชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งตำแหน่งเลขาธิการดังกล่าว รวมทั้งสนับสนุนให้บุคลากรไทยดำรงตำแหน่งบริหารในองค์การระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นการปฏิบัติตามแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ประเด็นการต่างประเทศ (5S) พ.ศ. 2561-2580 ที่ส่งเสริมให้ประเทศไทยมีบทบาทเชิงรุกในการร่วมกำหนดมาตรฐานสากลด้านกฎหมายระหว่างประเทศให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากลในทุกมิติ อีกทั้งยังเป็นโอกาสในการส่งเสริมความร่วมมือที่สร้างสรรค์ระหว่างประเทศไทยกับ AALCO และรัฐสมาชิกอื่นอีกด้วย
4) กต. ได้สอบถามความเห็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับภารกิจของ AALCO เช่น สำนักงานศาลยุติธรรม สำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงยุติธรรม และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา พบว่า ไม่มีหน่วยงานใดประสงค์ที่จะเสนอชื่อในการสมัครรับเลือกตั้งตำแหน่งดังกล่าว กต. จึงได้สรรหาบุคคลที่เหมาะสม ได้แก่ นายกมลินทร์ พินิจภูวดล เป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งจากประเทศไทยเพื่อดำรงตำแหน่งเลขาธิการ AALCO เนื่องจากเป็นผู้เชี่ยวชาญสาขานิติศาสตร์ โดยเฉพาะกฎหมายระหว่างประเทศด้านการค้าและการลงทุน และมีประสบการณ์ด้านการบริหาร ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่มีข้อขัดข้องกับการเสนอชื่อดังกล่าว
การให้ความเห็นชอบแต่งตั้งบุคคลเพื่อเข้าดำรงตำแหน่งรองหัวหน้าเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหาร (Deputy Chief Executive Officer, DCEO) ขององค์กรร่วมไทย-มาเลเซีย
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงพลังงาน (พน.) เสนอ ดังนี้
1. แต่งตั้งนายสุพัฒน์ นภานพรัตน์แก้ว วิศวกรปิโตรเลียมชำนาญการพิเศษ กองเทคโนโลยีการประกอบกิจการปิโตรเลียม สังกัดกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ให้ดำรงตำแหน่ง รองหัวหน้าเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหาร (Deputy Chief Executive Officer, DCEO) ขององค์กรร่วมไทย-มาเลเซีย
2. ในระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ที่องค์กรร่วมไทย-มาเลเซีย ให้นายสุพัฒน์ นภานพรัตน์แก้ว ได้รับการพิจารณาความดีความชอบจากทางราชการต้นสังกัดด้วย และในกรณีที่จำเป็น พน. อาจให้กลับมาปฏิบัติงานในหน่วยงานต้นสังกัดก่อนระยะเวลาที่สั่งให้ไปสิ้นสุดลงเพื่อประโยชน์แก่ราชการได้ ทั้งนี้ ในระหว่างที่ไปปฏิบัติงานให้ได้รับเงินเดือน ค่าตอบแทน และสวัสดิการจากองค์กรร่วมไทย-มาเลเซียโดยไม่รับเงินเดือนจากทางราชการ
สาระสำคัญของเรื่อง
พน. รายงานว่า
1) รัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งมาเลเซียได้ร่วมกันจัดตั้งองค์กรร่วมไทย-มาเลเซียขึ้น เพื่อร่วมกันแสวงประโยชน์จากทรัพยากรปิโตรเลียมในพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย โดยโครงสร้างการบริหารงานองค์กรร่วมไทย-มาเลเซียกำหนดให้มีการสลับหมุนเวียนตำแหน่งหัวหน้าและรองหัวหน้าเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหารขององค์กรร่วมไทย-มาเลเซียระหว่างคนไทยและคนมาเลเซียทุกๆ 4 ปี
2) เนื่องจากบุคคลที่ดำรงตำแหน่งรองหัวหน้าเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหารขององค์กรร่วมไทย-มาเลเซียที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้ความเห็นชอบการแต่งตั้ง จะดำรงตำแหน่งครบวาระ 4 ปี ในวันที่ 30 กันยายน 2563 จึงจะต้องมีการแต่งตั้ง นายสุพัฒน์ นภานพรัตน์แก้ว ให้ดำรงตำแหน่งรองหัวหน้าเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหารขององค์กรร่วมไทย-มาเลเซียวาระต่อไป วันที่ 1 ตุลาคม 2563-30 กันยายน 2567 โดยการแต่งตั้งหัวหน้าเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหารและรองหัวหน้าเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหาร จะต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐบาลทั้งสองก่อน องค์กรร่วมไทย-มาเลเซียจึงจะสามารถทำการแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ดังกล่าวได้
3) พน. พิจารณาแล้วเห็นว่านายสุพัฒน์ นภานพรัตน์แก้ว วิศวกรปิโตรเลียมชำนาญการพิเศษ กองเทคโนโลยีการประกอบกิจการปิโตรเลียม สังกัดกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เป็นผู้มีคุณสมบัติเหมาะสมที่จะดำรงตำแหน่งรองหัวหน้าเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหาร (Deputy Chief Executive Officer, DCEO) ขององค์กรร่วมไทย-มาเลเซีย เนื่องจากมีประสบการณ์ ความรู้ความเข้าใจ ในเรื่องการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมภายใต้ระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิต (Production Sharing Contract, PSC) รวมทั้งกฎหมายที่เกี่ยวข้องเป็นอย่างดี
การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ (กระทรวงสาธารณสุข)
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเสนอแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญ สังกัดกระทรวงสาธารณสุข ให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการ ระดับทรงคุณวุฒิ จำนวน 2 ราย ตั้งแต่วันที่มีคุณสมบัติครบถ้วนสมบูรณ์ ดังนี้
1. นางธีรพร สถิรอังกูร พยาบาลวิชาชีพเชี่ยวชาญ (ด้านการพยาบาล) กลุ่มที่ปรึกษาระดับกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่ง พยาบาลวิชาชีพทรงคุณวุฒิ (ด้านการพยาบาล) กลุ่มที่ปรึกษาระดับกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง ตั้งแต่วันที่ 13 มกราคม 2563
2. นายพงศธร พอกเพิ่มดี ผู้ช่วยปลัดกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่ง นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ (ด้านสาธารณสุข) กลุ่มที่ปรึกษาระดับกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง ตั้งแต่วันที่ 16 มีนาคม 2563
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป
เพิ่มเติมองค์ประกอบของคณะกรรมการอำนวยการเพื่อพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ (นโยบาย Medical Hub)
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอการเพิ่มเติมองค์ประกอบของคณะกรรมการอำนวยการเพื่อพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ (นโยบาย Medical Hub) ดังนี้
1. เพิ่มเติมองค์ประกอบกรรมการในคณะกรรมการอำนวยการเพื่อพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ (นโยบาย Medical Hub) ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติแต่งตั้งเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2562 จำนวน 3 ตำแหน่ง ได้แก่
1.1 อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก
1.2 อธิบดีกรมอนามัย
1.3 เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา
2. ขอเปลี่ยนชื่อกรรมการในคณะกรรมการดังกล่าว จากเดิม “ประธานสมาพันธ์สปาไทย” เป็น “ประธานสมาพันธ์สมาคมสปาแอนด์เวลเนสไทย”
โดยมีอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการคงเดิม ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 8 กรกฎาคม 2563 เป็นต้นไป
ขอปรับปรุงองค์ประกอบคณะกรรมการอำนวยการโครงการวิทยาลัยเทคโนโลยีฐานวิทยาศาสตร์
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงศึกษาธิการเสนอการปรับปรุงองค์ประกอบคณะกรรมการอำนวยการโครงการวิทยาลัยเทคโนโลยีฐานวิทยาศาสตร์ ดังนี้
1. รองเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษาที่ได้รับมอบหมาย จากเดิม ตำแหน่ง “กรรมการ” เป็นตำแหน่ง “กรรมการและเลขานุการ”
2. ผู้อำนวยการสำนักมาตรฐานการอาชีวศึกษาและวิชาชีพ จากเดิม ตำแหน่ง “กรรมการ” เป็นตำแหน่ง “กรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ”
3. ผู้แทนสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรมแห่งชาติ จากเดิมตำแหน่ง “กรรมการ” เป็นตำแหน่ง “กรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ”
4. เปลี่ยนตำแหน่งของกรรมการจากการระบุชื่อ “นางเจิดฤดี ชินเวโรจน์” เป็นตำแหน่ง “ที่ปรึกษาด้านมาตรฐานอาชีวศึกษาช่างอุตสาหกรรม”
โดยมีอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการคงเดิม ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 8 กรกฎาคม 2563 เป็นต้นไป
คำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 196/2563 เรื่อง แก้ไขเพิ่มเติมคำสั่งมอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่ประธานกรรมการ รองประธานกรรมการ และกรรมการในคณะกรรมการต่างๆ ตามกฎหมาย และระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 167/2562 เรื่อง แก้ไขเพิ่มเติมคำสั่งมอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่ประธานกรรมการ รองประธานกรรมการ และกรรมการในคณะกรรมการต่างๆ ตามกฎหมาย และระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี
ตามที่ได้มีคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 167/2562 เรื่อง มอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่ประธานกรรมการ รองประธานกรรมการ และกรรมการในคณะกรรมการต่างๆ ตามกฎหมาย และระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ลงวันที่ 30 กรกฎาคม 2562 นั้น
เพื่อให้การบริหารราชการแผ่นดินดำเนินไปด้วยความเรียบร้อย เหมาะสม อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 11 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 จึงแก้ไขเพิ่มเติมคำสั่งมอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่ประธานกรรมการ รองประธานกรรมการ และกรรมการในคณะกรรมการต่างๆ ตามกฎหมาย และระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 167/2562 ลงวันที่ 30 กรกฎาคม 2562 ดังนี้
ข้อ 1 ให้ยกเลิกข้อ 4.1.4 ข้อ 4.2.3 และข้อ 4.3.1
ข้อ 2 ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็น ข้อ 1.1.12
“ข้อ 1.1.12 คณะกรรมการประสานและกำกับการดำเนินงานป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์”
ข้อ 3 ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นข้อ 1.3.23
“ข้อ 1.3.23 คณะกรรมการป้องกันเจ้าหน้าที่ของรัฐมิให้เกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์”
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2563 เป็นต้นไป
การแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการบริหารกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เสนอแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการบริหารกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา จำนวน 3 คน ตามมาตรา 18 (3) แห่งพระราชบัญญัติกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา พ.ศ. 2561 เนื่องจากกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเดิมจะพ้นจากตำแหน่งในวันที่ 9 กรกฎาคม 2563 โดยวิธีการจับสลากตามมาตรา 20 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว ดังนี้
1. รองศาสตราจารย์ปัทมาวดี โพชนุกูล กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ภาควิชาการ
2. นายภัทระ คำพิทักษ์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ภาคเอกชน
3. นายเจด็จ ธรรมธัชอารี กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ภาคประชาสังคม
โดยให้มีวาระการดำรงตำแหน่งสี่ปี ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 8 กรกฎาคม 2563 เป็นต้นไป
การพิจารณาแต่งตั้งผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เสนอแต่งตั้ง นายทวีพงษ์ วิชัยดิษฐ เป็นผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ โดยให้ได้รับค่าตอบแทนคงที่เดือนละ 330,000 บาท ค่าตอบแทนผันแปรไม่เกินร้อยละ 30 ของผลตอบแทนรวมในแต่ละปี และร่างสัญญาจ้างผู้บริหารพร้อมสิทธิประโยชน์อื่นที่ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติจะได้รับตามเอกสารแนบท้ายสัญญา ทั้งนี้ ให้มีผลตั้งแต่วันที่ลงนามในสัญญาจ้าง เป็นต้นไป
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 8 กรกฎาคม 2563
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
AO7228
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ
Click Donate Support Web