การขยายระยะเวลาประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 01 July 2020 10:49
- Hits: 4004
การขยายระยะเวลาประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักรออกไปอีก 1 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 - 31 กรกฎาคม 2563 ตามที่สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เสนอ
เรื่องเดิม เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2563 นายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้ขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร (คราวที่ 2) ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2563 และสิ้นสุดในวันที่ 30 มิถุนายน 2563 เพื่อขยายระยะเวลาการบังคับใช้อำนาจตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ในการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ที่เกิดขึ้นในประเทศ
การดำเนินการที่ผ่านมา เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2563 สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติในฐานะสำนักงานประสานงานกลาง ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ได้เชิญหัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการตามพระราชกำหนดฯ ในด้านต่างๆ ผู้แทนส่วนราชการและประชาคมข่าวกรองเข้าร่วมการประชุม โดยมีเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ เป็นประธาน เพื่อประเมินผลการปฏิบัติของส่วนราชการต่างๆ ภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉิน และพิจารณากำหนดแนวทางปฏิบัติเพื่อลดการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 สรุปสาระสำคัญ ดังนี้
1. ปัจจุบันสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 ในภาพรวมทั่วโลกยังคงมีอยู่อย่างรุนแรงในหลายภูมิภาค และมีคนไทยจากต่างประเทศเดินทางกลับเข้ามาในราชอาณาจักรอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งมาตรการผ่อนคลายภายในประเทศในระยะที่ 5 ที่จะมีการดำเนินการต่อไป ถือเป็นกิจกรรมที่มีความเสี่ยงสูงต่อการแพร่ระบาดของโรค จึงมีความจำเป็นต้องมีอำนาจตามกฎหมายในการออกมาตรการกำกับดูแลโดยเจ้าหน้าที่รัฐอย่างเข้มงวดและต่อเนื่อง เพื่อดำเนินการเชิงรุกในการป้องกันและควบคุมมิให้มีการแพร่ระบาดของเชื้อโรคภายในประเทศในระลอกที่สอง
2. ที่ประชุมได้ให้ข้อเท็จจริงถึงข้อจำกัดในการบังคับใช้อำนาจตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 เนื่องจากเป็นกฎหมายในลักษณะการแก้ไขและเยียวยาสถานการณ์ภายหลังเกิดการแพร่ระบาดของโรคในลักษณะตั้งรับ และมีข้อจำกัดของเจ้าหน้าที่ในการปฏิบัติงานหลายประการ อาทิ 1) การขาดอำนาจในการสั่งให้บุคคลเข้าสู่สถานกักตัวของรัฐ 2) ข้อจำกัดเรื่องจำนวนของเจ้าหน้าที่ ในการปฏิบัติงานที่ไม่เพียงพอตามภารกิจ และ 3) อำนาจการควบคุมโรคที่สามารถบังคับใช้ได้เฉพาะพื้นที่ ที่เกิดเหตุ แต่ไม่ครอบคลุมในพื้นที่ข้างเคียงและกิจกรรมที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น ทั้งนี้ เนื่องจากเจตนารมณ์ ของกฎหมายบัญญัติขึ้นเพื่อรับมือกับการแพร่ระบาดของโรคในระดับการระบาดทั่วไป (Epidemic) ในขณะที่การแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 ถือเป็นการแพร่ระบาดของโรคในระดับการระบาดใหญ่ (Pandemic) ซึ่งการดำเนินการของประเทศไทยในปัจจุบันมีความจำเป็นยิ่งที่จะต้องมีมาตรการเชิงรุกที่มีประสิทธิภาพเพื่อป้องกันมิให้โรคติดเชื้อโควิด-19 กลับมาแพร่ระบาดได้อีกครั้ง
3. ที่ประชุมมีความเห็นสอดคล้องกันว่ายังมีความจำเป็นต้องบังคับใช้อำนาจ ตามพระราชกำหนดฯ ต่อไปเพื่อกำหนดมาตรการเชิงป้องกันในการแก้ไขปัญหาที่มีประสิทธิภาพ อาทิ 1) การควบคุมการเดินทางเข้า – ออกราชอาณาจักรในทุกช่องทาง 2) การจัดทำระบบติดตามตัว การกักตัว และการเฝ้าระวังบุคคลต้องสงสัย และ 3) การกำหนดมาตรการควบคุมโรคที่สามารถบังคับใช้ได้อย่างครอบคลุมในทุกกิจกรรม/กิจการที่เกี่ยวข้องและจะต้องมีระบบการบริหารจัดการวิกฤติการณ์ในลักษณะการรวมศูนย์ที่ปฏิบัติงานได้อย่างรวดเร็ว เป็นเอกภาพและมีประสิทธิภาพ รวมทั้งมีการบูรณาการกำลังพลเรือน ตำรวจ และทหารเข้าร่วมปฏิบัติงานได้อย่างเพียงพอตามภารกิจอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับปัจจุบันได้มีการเปิดให้บริการสถานบันเทิง สถานที่แข่งกีฬา แหล่งท่องเที่ยว และสถานที่อื่นๆ อีกทั้งยังจะมีวันหยุดราชการต่อเนื่องในหลายวัน ที่อาจส่งผลให้มีการเดินทางและมีการประกอบกิจกรรมที่มีการรวมกลุ่มของประชาชนอย่างหนาแน่นได้ จึงเป็นความเสี่ยงที่รัฐจะต้องมีการตรวจตราและเฝ้าระวังอย่างเหมาะสม เพื่อป้องกันมิให้เกิดการระบาดระลอกใหม่ดังเช่นที่เกิดขึ้นแล้วในหลายประเทศอีกด้วย
4. ที่ประชุมยังมีข้อสังเกตเพิ่มเติมในประเด็นด้านเศรษฐกิจว่าการขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร ควบคู่ไปกับการผ่อนคลายมาตรการบังคับใช้กฎหมาย จะไม่ส่งผลกระทบต่อวิถีการดำเนินชีวิตในแบบปกติของประชาชนเกินกว่าเหตุและไม่ถือเป็นอุปสรรคในการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจของประเทศ แต่จะเป็นการป้องกันไม่ให้ประเทศต้องเผชิญข้อจำกัดและความเสี่ยงจากการแพร่ระบาดระลอกใหม่ที่ส่งผลให้รัฐบาลไม่มีทรัพยากรที่เพียงพอในการบริหารจัดการเพื่อการแก้ไขปัญหาอีกต่อไป
5. สมช. ได้นำผลการประชุมส่วนราชการที่เกี่ยวข้องดังกล่าวเข้าพิจารณาในที่ประชุมคณะกรรมการศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ครั้งที่ 9/2563 เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2563 ซึ่งที่ประชุมได้ให้ความเห็นชอบผลการประชุม และมีมติให้นำเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบการขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักรต่อไป
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 30 มิถุนายน 2563
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
AO6648
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ
Click Donate Support Web