ของดการจัดสรรเงินส่งเข้ากองทุนสงเคราะห์เกษตรกร ตามมาตรา 29 แห่งพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Sunday, 14 June 2020 18:36
- Hits: 3136
ของดการจัดสรรเงินส่งเข้ากองทุนสงเคราะห์เกษตรกร ตามมาตรา 29 แห่งพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติให้งดการจัดสรรเงินส่งเข้ากองทุนสงเคราะห์เกษตรกร ตามมาตรา 29 แห่งพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527 ในทุกฤดูการผลิตเป็นการชั่วคราวจนกว่าการแก้ไขพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527 จะแล้วเสร็จตามที่กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) (คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย) เสนอ
สาระสำคัญของเรื่อง
อก. รายงานว่า
- ในฤดูการผลิตปี 2558/2559 (เฉพาะเขตคำนวณราคาอ้อยที่ 1 2 3 4 6 7 และ 9) และฤดูการผลิตปี 2559/2560 พบว่าเกิดผลต่างระหว่างรายได้สุทธิที่ได้จากการจำหน่ายน้ำตาลทรายในแต่ละฤดูการผลิต ตามมาตรา 54 แห่งพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527 และค่าอ้อยตามราคาอ้อยขั้นสุดท้ายรวมกับผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นสุดท้าย ซึ่งตามมาตรา 57 บัญญัติให้โรงงานน้ำตาลทรายนำส่งเงินเข้ากองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายเท่าจำนวนผลต่างดังกล่าว โดยในฤดูการผลิตปี 2558/2559 มีการหักเงินเข้ากองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย ในอัตราตันอ้อยละ 11 บาท (เฉพาะเขตคำนวณราคาอ้อยที่ 1 2 3 4 6 7 และ 9) ส่วนในฤดูการผลิตปี 2559/2560 มีการหักเงินเข้ากองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายในอัตราตันอ้อยละ 5 บาท
- ผลการเรียกเก็บเงินตามข้อ 1
2.1 ฤดูการผลิตปี 2558/2559 จากโรงงานน้ำตาล จำนวน 51 บริษัท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 1,031.68 ล้านบาท มีบริษัทโรงงานน้ำตาลนำเงินมาชำระ 50 บริษัท รวมเป็นเงินจำนวน 1,016.60 ล้านบาท และค้างชำระ 1 บริษัท เป็นเงินจำนวน 15.08 ล้านบาท
2.2 ฤดูการผลิตปี 2559/2560 จากโรงงานน้ำตาล จำนวน 54 บริษัท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 464.75 ล้านบาท มีโรงงานน้ำตาลนำส่งครบทุกบริษัท
- มาตรา 29 แห่งพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527 บัญญัติให้คณะกรรมการบริหารกองทุนจัดสรรเงินจำนวนร้อยละสิบของเงินที่กองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายได้รับตามมาตรา 57 ส่งเข้ากองทุนสงเคราะห์เกษตรกรตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนสงเคราะห์เกษตรกร โดยในกรณีจำเป็นเกี่ยวกับฐานะทางการเงินของกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย คณะรัฐมนตรีจะอนุมัติให้งดจัดสรรเงินดังกล่าวไว้เป็นการชั่วคราวก็ได้
- คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย ในคราวประชุมครั้งที่ 3/2563 เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2563 มีมติเห็นชอบให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาการของดการจัดสรรเงินส่งเข้ากองทุนสงเคราะห์เกษตรกร ตามมาตรา 29 แห่งพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527
- อก. ได้แจ้งเหตุผลความจำเป็นของการของดการจัดสรรเงินส่งเข้ากองทุนสงเคราะห์เกษตรกร ดังนี้
5.1 ประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง การกำหนดผลิตผลเกษตรกรรมขั้นต้น ออกตามความในพระราชบัญญัติกองทุนสงเคราะห์เกษตรกร พ.ศ. 2554 ลงวันที่ 1 ตุลาคม 2557 ได้ถอดอ้อยออกจากผลิตผลเกษตรกรรมขั้นต้นแล้ว เนื่องจากอ้อยเป็นพืชที่มีพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527 ซึ่งเป็นกฎหมายเฉพาะ โดยมีกองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายที่จัดตั้งขึ้นเพื่อรักษาเสถียรภาพของระบบอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายอยู่แล้ว
5.2 ประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง การกำหนดผลิตภัณฑ์อาหาร ออกตามความในพระราชบัญญัติกองทุนสงเคราะห์เกษตรกร พ.ศ. 2554 ลงวันที่ 15 ตุลาคม 2557 ได้ถอดอ้อยออกจากผลิตภัณฑ์อาหารแล้ว
5.3 ร่างพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย (ฉบับที่...) พ.ศ. .... ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2563 ได้ยกเลิกบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับการจัดสรรเงินกองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายเข้ากองทุนสงเคราะห์เกษตรกรตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนสงเคราะห์เกษตรกร
5.4 ปัจจุบันกองทุนสงเคราะห์เกษตรกรไม่ได้มีภารกิจที่เกี่ยวข้องกับอ้อยและน้ำตาลทราย และที่ผ่านมาไม่ปรากฏว่ามีการนำส่งเงินให้แก่กองทุนดังกล่าว (อก. แจ้งอย่างไม่เป็นทางการว่า ตั้งแต่พระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527 มีผลใช้บังคับจนถึงฤดูการผลิตปี 2557/58 ไม่เคยเกิดผลต่างระหว่างรายได้สุทธิตามมาตรา 54 และค่าอ้อยตามราคาอ้อยขั้นสุดท้ายรวมกับผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นสุดท้าย จึงไม่มีการนำส่งเงินให้แก่กองทุนสงเคราะห์เกษตรกร) อีกทั้งยังไม่เคยนำเงินจากกองทุนสงเคราะห์เกษตรกรมาใช้จ่าย
5.5 สถานะทางการเงินของกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย มีแนวโน้มขาดสภาพคล่อง ตามข้อ 6
- สถานะทางการเงินของกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย
6.1 สถานะเงินกองทุน
ณ วันที่ 31 มีนาคม 2563 ยอดเงินคงเหลือรวมทั้งสิ้น 2,357.63 ล้านบาท โดยมีภาระผูกพันที่ต้องจ่ายรวมโครงการต่าง ๆ จำนวน 1,359.63 ล้านบาท ส่งผลให้มีเงินสดคงเหลือปลอดภาระผูกพันที่สามารใช้จ่ายได้ จำนวน 997.99 ล้านบาท
6.2 เจ้าหนี้และลูกหนี้ ณ วันที่ 31 มีนาคม 2563 ดังนี้
6.2.1 เจ้าหนี้ ได้แก่ เงินกู้เพื่อช่วยเหลือชาวไร่อ้อยฤดูการผลิตปี 2558/2559 ต่อธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) จำนวน 2,085.16 ล้านบาท
6.2.2 ลูกหนี้ (เช่น ลูกหนี้โรงงานที่ค้างชำระ ลูกหนี้ชาวไร่อ้อยและโรงงานตามโครงการสินเชื่อสำหรับจัดซื้อรถตัดอ้อย เป็นต้น) รวมทั้งสิน 2,012.49 ล้านบาท
6.3 ภาระต้องจ่ายเงินชดเชยตามาตรา 56 แห่งพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527 คืนให้กับโรงงานน้ำตาล เนื่องจากราคาอ้อยขั้นสุดท้ายและผลตอบแทนการผลิตและการจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นสุดท้ายต่ำกว่าราคาอ้อยขั้นต้นและผลตอบแทนการผลิตและการจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นต้น ในฤดูการผลิตปี 2560/2561 และฤดูการผลิตปี 2561/2562 กรณีดังกล่าวจะทำให้กองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย มีภาระหนี้เงินชดเชยที่จะต้องชำระคืนให้แก่โรงงานน้ำตาลไปจนถึงปีงบประมาณ 2566 ซึ่งคาดว่ากองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายจำเป็นต้องชดเชยประมาณ 22,799.22 ล้านบาท
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 9 มิถุนายน 2563
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ