ร่างกฎกระทรวงกำหนดสิ่งอำนวยความสะดวกในอาคารสำหรับผู้พิการหรือทุพพลภาพและคนชรา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Saturday, 13 June 2020 21:46
- Hits: 3814
ร่างกฎกระทรวงกำหนดสิ่งอำนวยความสะดวกในอาคารสำหรับผู้พิการหรือทุพพลภาพและคนชรา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดสิ่งอำนวยความสะดวกในอาคารสำหรับผู้พิการหรือทุพพลภาพและคนชรา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยให้รับความเห็นของกระทรวงคมนาคม กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาไปประกอบการพิจารณาด้วย แล้วดำเนินการต่อไปได้ และให้กระทรวงมหาดไทยร่วมกับกระทรวงคมนาคมและกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ไปพิจารณาดำเนินการตามข้อสังเกตของกระทรวงคมนาคมต่อไป
สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง
- กำหนดนิยาม 'สิ่งอำนวยความสะดวก''พื้นที่หลบภัย' และ 'มาตรฐาน'
- กำหนดอาคารประเภทและลักษณะดังต่อไปนี้ ต้องจัดให้มีสิ่งอำนวยความสะดวกตามที่กำหนดในกฎกระทรวงนี้
2.1 อาคารที่ให้บริการสาธารณะ เช่น โรงมหรสพ หอประชุม โรงแรม สถานศึกษา หอสมุด อาคารประกอบของสนามกีฬากลางแจ้งหรือสนามกีฬาในร่ม
2.2 สถานพยาบาลตามกฎหมายว่าด้วยสถานพยาบาล เช่น โรงพยาบาล ศูนย์บริการสาธาณสุข โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล
2.3 อาคารที่ทำการของราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจ องค์กรของรัฐที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายฯลฯ
ทั้งนี้ กรณีที่อาคารสูงหรืออาคารขนาดใหญ่พิเศษต้องจัดให้มีพื้นที่หลบภัย (Area of Refuge) ระบบการเตือนภัย และการขอความช่วยเหลือกรณีฉุกเฉินเป็นไปตามมาตรฐาน หากระดับพื้นภายในอาคาร หรือระดับพื้นภายในอาคารกับภายนอกอาคาร หรือระดับพื้นทางเดินภายนอกอาคาร มีความต่างระดับกันเกิน 1.3 เซนติเมตร ให้มีทางลาดระหว่างพื้นที่ต่างระดับกัน แต่ถ้ามีความต่างระดับกันตั้งแต่ 6.4 มิลลิเมตร แต่ไม่เกิน 1.3 เซนติเมตร ต้องปาดมุมพื้นที่ส่วนที่ต่างระดับกันให้มีอัตราส่วนความชัน 1 : 2
กรณีที่มีบันได พื้นผิวของบันไดต้องใช้วัสดุที่ไม่ลื่น มีราวมือจับบันไดทั้งสองข้าง ในกรณีที่พื้นมีความต่างระดับกันตั้งแต่ 60 เซนติเมตร ขึ้นไป โดยให้ราวมือจับและขั้นบันไดแต่ละช่วงมีลักษณะตามที่กำหนด
กำหนดให้อาคารดังกล่าวต้องจัดให้มีที่จอดรถยนต์สำหรับคนพิการและผู้สูงอายุ ดังนี้
ที่จอดรถยนต์ทั้งหมด (จำนวน/คัน) ที่จอดรถยนต์สำหรับคนพิการและผู้สูงอายุ (จำนวน/คัน)
ไม่เกิน 25 ไม่น้อยกว่า 1
ตั้งแต่ 26 แต่ไม่เกิน 50 ไม่น้อยกว่า 2
ตั้งแต่ 51 แต่ไม่เกิน 75 ไม่น้อยกว่า 3
ตั้งแต่ 76 แต่ไม่เกิน 100 ไม่น้อยกว่า 4
ตั้งแต่ 101 แต่ไม่เกิน 150 ไม่น้อยกว่า 5
ตั้งแต่ 151 แต่ไม่เกิน 200 ไม่น้อยกว่า 6
ทั้งนี้ ให้เพิ่มขึ้นอีก 1 คันต่อจำนวนที่จอดรถยนต์ทุก 100 คัน ที่เพิ่มขึ้น เศษของ 100 คัน ถ้าเกินกว่า 50 คัน ให้คิดเป็น 100 คัน นอกจากนี้ ที่จอดรถยนต์สำหรับคนพิการและผู้สูงอายุให้จัดไว้ใกล้ทางเข้าออกอาคารให้มากที่สุด มีพื้นผิวเรียบ มีระดับเสมอกัน และมีสัญลักษณ์รูปคนพิการนั่งวีลแชร์ (wheelchair) อยู่บนพื้นของที่จอดรถ หากมีธรณีประตู ความสูงและความกว้างของธรณีประตูให้เป็นไปตามที่กำหนด
- กำหนดให้ป้ายแสดงสิ่งอำนวยความสะดวก ป้ายสัญลักษณ์สิ่งอำนวยความสะดวก ป้ายหรือเครื่องหมายแสดงทิศทางไปสู่สิ่งอำนวยความสะดวก ต้องมองเห็น สัมผัส รับรู้ มีความชัดเจน อยู่ในตำแหน่งที่ไม่ทำให้สับสน และเป็นไปตามมาตรฐาน
- กำหนดลักษณะทางลาด ดังนี้
4.1 ให้มีความกว้างสุทธิไม่น้อยกว่า 90 เซนติเมตร ในกรณีเป็นทางลาดแบบ 2 ทางสวนกันให้มีความกว้างสุทธิไม่น้อยกว่า 1.50 เมตร
4.2 ต้องมีความลาดชันไม่เกิน 1:12 และมีความยาวช่วงละไม่เกิน 9 เมตร ในกรณีที่ทางลาดยาวเกิน 9 เมตร ต้องจัดให้มีชานพักยาวไม่น้อยกว่า 1.50 เมตร คั่นระหว่างแต่ละช่วงของทางลาด
4.3 ทางลาดด้านที่ไม่มีผนังกั้นให้ยกขอบสูงจากพื้นผิวของทางลาดไม่น้อยกว่า 15 เซนติเมตร และต้องมีราวมือจับและราวกันตกตามมาตรฐาน
4.4 ทางลาดที่มีความยาวตั้งแต่ 1.80 เมตรขึ้นไป ต้องมีราวมือจับทั้งสองด้าน และทางลาดที่มีความกว้างตั้งแต่ 3 เมตรขึ้นไป ต้องมีราวจับมือห่างกันไม่เกิน 1.50 เมตร โดยราวมือจับให้มีลักษณะทำด้วยวัสดุเรียบ มีความมั่นคงแข็งแรง ไม่เป็นอันตรายในการจับ มีลักษณะกลม โดยมีเส้นผ่านศูนย์กลางไม่น้อยกว่า 3 เซนติเมตร แต่ไม่เกิน 4 เซนติเมตร หรือมีลักษณะอื่นตามมาตรฐาน สูงจากพื้นไม่น้อยกว่า 75 เซนติเมตร แต่ไม่เกิน 90 เซนติเมตร ราวมือจับด้านที่อยู่ติดผนังให้มีระยะห่างจากผนังไม่น้อยกว่า 4 เซนติเมตร มีความสูงจากจุดยึดไม่น้อยกว่า 10 เซนติเมตร
และผนังบริเวณราวมือจับต้องเป็นผนังเรียบหรือเป็นไปตามมาตรฐานราวมือจับต้องยาวต่อเนื่องกันหรือให้มีระยะห่างไม่เกิน 5 เซนติเมตร และส่วนที่ยึดติดกับผนังจะต้องไม่กีดขวางหรือเป็นอุปสรรคต่อการใช้ของคนพิการทางการเห็น และปลายของราวมือจับให้เป็นไปตามที่กำหนด
- กำหนดลักษณะห้องลิฟต์สำหรับผู้พิการหรือทุพพลภาพ และคนชราต้องมีความกว้างไม่น้อยกว่า 1.35 เมตร ยาวไม่น้อยกว่า 1.40 เมตร และสูงไม่น้อยกว่า 2.30 เมตร มีระบบชุดไฟฟ้าสำรองเพื่อป้องกันกรณีกระแสไฟฟ้าปกติดับ มีระบบไฟฟ้าแสงสว่างฉุกเฉินและระบบพัดลมระบายอากาศซึ่งสามารถทำงานได้อย่างต่อเนื่องไม่น้อยกว่า 1 ชั่วโมง ในกรณีไฟฟ้าปกติดับ
- กำหนดให้สถานีบริการน้ำมันและเชื้อเพลิงตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมน้ำมันเชื้อเพลิงต้อง จัดให้มีห้องส้วมสำหรับผู้พิการหรือทุพพลภาพ และคนชรา สามารถเข้าใช้ได้ตลอดเวลาทำการอย่างน้อย 1 ห้อง มีโถส้วมชนิดนั่งราบ สูงจากพื้นไม่น้อยกว่า 40 เซนติเมตร และที่ปล่อยน้ำเป็นชนิดคันโยกหรือปุ่มกดขนาดใหญ่หรือชนิดอื่นที่สามารถใช้ได้อย่างสะดวก
- กำหนดให้โรงมหรสพหรือหอประชุมต้องจัดให้มีพื้นที่สำหรับวีลแชร์ (wheelchair) อย่างน้อยจำนวน 2 ที่นั่ง ต่อจำนวนที่นั่งไม่เกิน 100 ที่นั่ง และเพิ่มขึ้น 1 ที่นั่ง ต่อจำนวน 50 ที่นั่ง เป็นพื้นที่ราบอยู่ในตำแหน่งที่เข้าออกได้สะดวก
- กำหนดให้โรงแรมต้องจัดให้มีห้องพักที่มีสิ่งอำนวยความสะดวกทุกชั้น ชั้นละไม่น้อยกว่า 1 ห้อง สำหรับโรงแรมที่มีลักษณะเป็นอาคารชั้นเดียวต้องจัดให้มีห้องพักที่มีสิ่งอำนวยความสะดวก ไม่น้อยกว่า 1 ห้องต่อจำนวนห้องพักไม่เกิน 10 ห้อง และเพิ่มขึ้นอีก 1 ห้อง ต่อจำนวนห้องพักทุก 10 ห้อง โดยห้องพักดังกล่าวต้องอยู่ใกล้บันไดหรือบันไดหนีไฟหรือลิฟต์ดับเพลิง ต้องจัดให้มีสัญญาณบอกเหตุหรือเตือนภัยทั้งสัญญาณที่เป็นเสียงและ แสงและระบบสั่นสะเทือน
- กำหนดให้อาคารอยู่อาศัยรวม หอพักตามกฎหมายว่าด้วยหอพักหรืออาคารชุดตามกฎหมายว่าด้วยอาคารชุด จัดสิ่งอำนวยความสะดวกบริเวณพื้นที่ส่วนกลางตลอดจนพื้นที่บริการสาธารณะ เช่น ร้านสะดวกซื้อ ร้านอาหาร สำหรับศาสนสถานหรือฌาปนสถานอย่างน้อยต้องมีทางลาดหรือลิฟต์หรืออุปกรณ์ขึ้นลงทางดิ่งที่ทุกคนสามารถเข้าใช้ได้
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 2 มิถุนายน 2563
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ