WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

ขออนุมัติโครงการสินเชื่อเพื่อเสริมสภาพคล่องผู้ประกอบการประมง

GOV4ขออนุมัติโครงการสินเชื่อเพื่อเสริมสภาพคล่องผู้ประกอบการประมง

       คณะรัฐมนตรีพิจารณาเรื่องขออนุมัติโครงการสินเชื่อเพื่อเสริมสภาพคล่องผู้ประกอบการประมงตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) เสนอ แล้วมีมติอนุมัติตามความเห็นของสำนักงบประมาณ (สงป.) ดังนี้

  1.       เห็นชอบโครงการสินเชื่อเพื่อเสริมสภาพคล่องผู้ประกอบการประมง วงเงินสินเชื่อรวม 10,300 ล้านบาท และกรอบวงเงินงบประมาณในการดำเนินโครงการ จำนวน 2,164.1 ล้านบาท ประกอบด้วย ค่าชดเชยดอกเบี้ย จำนวน 2,163 ล้านบาท ให้ผู้ประกอบการประมงกู้ในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 7 ต่อปี โดยรัฐบาลชดเชยดอกเบี้ยร้อยละ 3 ต่อปี และผู้ประกอบการประมงสมทบร้อยละ 4 ต่อปี เป็นระยะเวลา 7 ปี นับแต่วันที่กู้ แบ่งเป็น (1) ธนาคารออมสิน ให้ผู้ประกอบการประมงที่มีเรือประมงขนาดตั้งแต่ 60 ตันกรอสขึ้นไป วงเงินสินเชื่อ 5,000 ล้านบาท รวมเป็นวงเงินชดเชยดอกเบี้ย จำนวน 1,050 ล้านบาท และ (2) ธ.ก.ส. ให้ผู้ประกอบการประมงที่มีเรือประมงขนาดต่ำกว่า 60 ตันกรอส วงเงินสินเชื่อ 5,300 ล้านบาท รวมเป็นวงเงินชดเชยดอกเบี้ย จำนวน 1,113 ล้านบาท

        โดยให้ธนาคารออมสิน และ ธ.ก.ส. จัดทำแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณเพื่อเสนอขอรับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีตามภาระค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริงตามขั้นตอนต่อไป สำหรับค่าใช้จ่ายในการชี้แจง ประชาสัมพันธ์ และติดตามโครงการ จำนวน 1.1 ล้านบาท นั้น เห็นสมควรให้ กษ. โดยกรมประมงพิจารณาโอนเงินจัดสรร เปลี่ยนแปลงเงินจัดสรร หรือปรับแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 เพื่อดำเนินการตามขั้นตอนแล้วแต่กรณีไป

  1. ให้ กษ. โดยกรมประมงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งปฏิบัติตามขั้นตอนของกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ และมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องให้ถูกต้องครบถ้วน รวมถึงการตรวจสอบรายละเอียดคุณสมบัติผู้ประกอบการประมงในการขอสินเชื่อให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนดอย่างเคร่งครัด โดยคำนึงถึงความเสี่ยงและความเสียหายที่จะเกิดขึ้นอย่างรอบคอบ มีความโปร่งใส และสามารถตรวจสอบได้ในทุกขั้นตอน ตลอดจนมีการประเมินผลสัมฤทธิ์และประโยชน์ที่ได้รับจากการดำเนินโครงการเป็นรายปี เพื่อให้มีข้อมูลในการบริหารงานอย่างถูกต้องครบถ้วน สำหรับประกอบการกำหนดนโยบายของภาครัฐที่เหมาะสมและยั่งยืนต่อไป ตามความเห็นของสำนักงบประมาณ

                   

สาระสำคัญของเรื่อง

กษ. รายงานว่า

  1.      จากการประชุมหารือฟื้นฟูและพัฒนาศักยภาพการประมงไทย 6 ครั้งที่ประชุมได้นำประเด็นปัญหาการทำประมงจากสมาคมประมงต่าง ๆ และจากชาวประมง จัดลำดับความเร่งด่วนของปัญหาต่างๆ เช่น ปัญหาเรื่องสินเชื่อเพื่อเสริมสภาพคล่องของผู้ประกอบการปัญหาเรื่องแรงงานขาดแคลน ปัญหาเรื่องข้อกฎหมาย และอื่นๆ ซึ่งรวมถึงเรื่องการชดเชยเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการแก้ไขปัญหาการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (Illegal, unreported and unregulated fishing - IUU) โดยที่ประชุมได้หารือกำหนดแนวทางแก้ไขปัญหาเพื่อฟื้นฟูและพัฒนาศักยภาพการประมงไทย สรุปได้ ดังนี้

       1.1 จัดหาแหล่งสินเชื่อเพื่อเสริมสภาพคล่องในการประกอบอาชีพ โดยผลการสำรวจความต้องการสินเชื่อของสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย วงเงินสินเชื่อทั้งหมดที่ต้องการ 10,048.44 ล้านบาท เจ้าของเรือที่แจ้งความต้องการ 2,820 ราย เรือประมง 4,822 ลำ แบ่งเป็นเรือประมงพาณิชย์ 4,384 ลำ และเรือประมงพื้นบ้าน 438 ลำ ซึ่งกรมประมงได้ร่างโครงการสินเชื่อเพื่อเสริมสภาพคล่องผู้ประกอบการประมง และอยู่ระหว่างการดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง (รวมถึงการเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติในคราวนี้)

       1.2 เร่งรัดโครงการนำเรือออกนอกระบบ โดยกรมประมงได้ดำเนินการตรวจสอบเรือประมงที่จะนำออกนอกระบบเพื่อจัดทำงบประมาณโดยใช้เกณฑ์ในการชดเชยตามเกณฑ์การประเมินราคาเรือประมง รวม 2,768 ลำ เป็นเงินทั้งสิ้น 7,143.85 ล้านบาท

       1.3 แก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานในภาคกิจการประมงทะเลตามมาตรา 83 แห่งพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 กษ. โดยกรมประมงได้ดำเนินการทำหนังสือเสนอต่อกระทรวงแรงงาน (รง.) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว เพื่อนำเข้าคณะกรรมการนโยบายการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว (คบต.) และเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไปโดยทำควบคู่กับการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์สร้างภาพลักษณ์ที่ดีเกี่ยวกับแรงงานที่ทำงานในเรือประมง

       1.4 พิจารณาทบทวน ปรับปรุง แก้ไขกฎหมายพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 และที่แก้ไขเพิ่มเติม โดยกรมประมงดำเนินการประชุมหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ประมงพาณิชย์ ประมงพื้นบ้าน และประมงนอกน่านน้ำ เพื่อพิจารณาทบทวนปรับปรุงกฎหมายหลัก กฎหมายลำดับรอง และกฎหมายเกี่ยวข้องกับการทำประมงนอกน่านน้ำด้วย ในกรอบระยะเวลา 1 เดือน เพื่อนำเสนอต่อ กษ.

       1.5 รวบรวมปัญหาความเดือดร้อนของชาวประมง ดำเนินการรวบรวมประเด็นปัญหาความเดือดร้อนของชาวประมง จำนวน 32 ประเด็น เช่น การแก้ไขปัญหาการทำประมงนอกน่านน้ำ การพิจารณาการทำประมงแมงกระพรุนในเขตทะเลชายฝั่ง การขอลดความห่างซี่คราดหอย ความเดือดร้อนในเรื่องการเปิดระบบการติดตามตำแหน่งเรือประมง (Vessel Monitoring System - VMS) ของเรือที่มีใบอนุญาตถูกกฎหมาย แต่ไม่ได้ออกไปทำการประมงเป็นเวลาหลายปี เป็นต้น

  1.      การปฏิรูปภาคการประมงไทยในช่วงที่ผ่านมาเป็นการบริหารจัดการด้านการประมงและการอนุรักษ์ทรัพยากรสัตว์น้ำ ปกป้องคุ้มครองและให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบอาชีพการประมงแบบมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการทรัพยากร การใช้ประโยชน์จากสัตว์น้ำเพื่อนำไปสู่การพัฒนาระบบเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน และดำเนินการตามพันธกรณีระหว่างประเทศในส่วนที่เกี่ยวกับการอนุรักษ์และบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำ อันจะนำไปสู่การรักษาและฟื้นฟูทรัพยากรสัตว์น้ำให้อยู่ในระดับที่สามารถก่อให้เกิดผลผลิตสูงสุดของสัตว์น้ำที่สามารถทำการประมงได้อย่างยั่งยืน

        โดยได้มีการประกาศใช้พระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2558 และพระราชกำหนดการประมง (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560 เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2560 เพื่อจัดระเบียบการประมงของไทยให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของการปฏิรูปภาคการประมงไทย ซึ่งส่งผลให้ผู้ประกอบการประมงรับภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นในการปรับปรุงเรือ เครื่องมือ และอุปกรณ์ทำการประมง รวมทั้งค่าใช้จ่ายในการจ้างแรงงาน เป็นเหตุให้ผู้ประกอบการประมงประสบปัญหาเรื่องสภาพคล่องทางการเงิน ขาดเงินทุนหมุนเวียนในการประกอบอาชีพและบางรายอาจต้องใช้สินเชื่อนอกระบบเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการทำการประมง เนื่องจากผู้ประกอบการประมงไม่สามารถนำเรือประมงมาใช้เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันการกู้เงินจากสถาบันการเงินได้ แต่อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันมีความเป็นไปได้มากขึ้นในการนำเรือมาเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน เนื่องจากมีระบบในการควบคุมเรือ เช่น มีการขึ้นทะเบียนเรือกับกรมเจ้าท่า และมีการติดตั้งระบบติดตามตำแหน่งเรือ (Vessel Monitoring System - VMS) ตามพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งสามารถทำให้ทราบตำแหน่งเรือได้

  1.       ในระยะเร่งด่วน กษ. ได้พิจารณาถึงแนวทางในการช่วยเหลือผู้ประกอบการทั้งประมงพาณิชย์และประมงพื้นบ้านเพื่อเสริมสภาพคล่องในการประกอบอาชีพด้วยการจัดหาแหล่งสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ ซึ่งจะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ประกอบการประมงให้สามารถกลับมาประกอบอาชีพประมงเพื่อให้เกิดความยั่งยืนในอาชีพต่อไป โดยจากการสำรวจข้อมูลความต้องการสินเชื่อโดยสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย ในเบื้องต้นพบว่าผู้ประกอบการประมงมีความต้องการสินเชื่อ ประมาณ 10,048 ล้านบาท กษ. จึงได้จัดทำโครงการสินเชื่อเพื่อเสริมสภาพคล่องผู้ประกอบการประมง ซึ่งได้ผ่านการประชุมหารือฟื้นฟูและพัฒนาศักยภาพการประมงไทย 6 ครั้ง (ตามข้อ 1) และได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการฟื้นฟูและพัฒนาศักยภาพการประมงไทย ในคราวประชุมครั้งที่ 1/2562 เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2562 ด้วยแล้ว
  2. โครงการสินเชื่อเพื่อเสริมสภาพคล่องผู้ประกอบการประมง มีรายละเอียดดังนี้

        4.1 วัตถุประสงค์ : เพื่อเสริมสภาพคล่องในการประกอบอาชีพการทำการประมงโดยสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำให้แก่ผู้ประกอบการประมงพาณิชย์และประมงพื้นบ้าน

       4.2 เป้าหมาย : สนับสนุนสินเชื่อให้แก่ผู้ประกอบการประมงพาณิชย์และประมงพื้นบ้านที่ประสบปัญหาขาดสภาพคล่องในการประกอบอาชีพ วงเงินสินเชื่อรวม 10,300 ล้านบาท

        4.3 ระยะเวลาดำเนินการ :

               (1) ระยะเวลาโครงการ 8 ปี นับจากวันที่คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติโครงการ

               (2) ระยะเวลาการยื่นความประสงค์เข้าร่วมโครงการ 1 ปี หรือภายในกรอบวงเงินสินเชื่อตามที่กำหนด

               (3) กำหนดชำระคืนเงินกู้ให้แล้วเสร็จภายใน 7 ปี นับแต่วันกู้

       4.4 หลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการขอรับการสนับสนุนสินเชื่อ : ให้ผู้ประกอบการประมงที่ประสงค์ขอรับการสนับสนุนสินเชื่อ ติดต่อขอสินเชื่อกับธนาคารออมสิน หรือ ธ.ก.ส. ตามขนาดเรือประมง กรณีเจ้าของเรือที่มีขนาดเรือประมงทั้ง 2 ประเภท ให้สามารถขอรับการสนับสนุนสินเชื่อจากธนาคารได้เพียงแห่งเดียว ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไข ดังนี้

หลักเกณฑ์และเงื่อนไข          กรณีผู้ประกอบการที่มีเรือประมง

ขนาดตั้งแต่ 60 ตันกรอส ขึ้นไป            ขนาดต่ำกว่า 60 ตันกรอส

ธนาคารผู้ให้กู้     ธนาคารออมสิน   ธ.ก.ส.

คุณสมบัติของ

ผู้ประกอบการประมง             (1) เป็นบุคคลธรรมดาอายุไม่ต่ำกว่า 20 ปีบริบูรณ์ มีสัญชาติไทย หรือเป็นนิติบุคคลที่จดทะเบียนตามกฎหมายไทย

(2) เป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ หรือสิทธิครอบครองในเรือประมงที่มีทะเบียนเรือไทย

(3) เป็นผู้ประกอบการประมงที่มีประสบการณ์ในการประกอบอาชีพมาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ปี

(4) เป็นผู้ประกอบการประมงที่มีใบอนุญาตทำการประมงพาณิชย์     (4) กรณีผู้ประกอบการประมงพาณิชย์ต้องมีใบอนุญาตทำการประมงพาณิชย์

ประเภทสินเชื่อ  

(1) เงินกู้ระยะสั้น ตามตั๋วสัญญาใช้เงิน หรืออื่นๆ ตามที่ธนาคารกำหนด เพื่อเป็นทุนหมุนเวียนในการประกอบอาชีพ

(2) เงินกู้ระยะยาว เพื่อเป็นเงินทุนในการปรับปรุงเรือประมง ปรับเปลี่ยนเครื่องมือและอุปกรณ์ทำการประมง

วงเงินสินเชื่อ          สูงสุดไม่เกินรายละ 10 ล้านบาท          สูงสุดไม่เกินรายละ 5 ล้านบาท

อัตราดอกเบี้ย         ธนาคารออมสินและ ธ.ก.ส. ให้กู้ในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 7 ต่อปี โดยเรียกเก็บจากผู้กู้ ร้อยละ 4 ต่อปี และรัฐบาลชดเชยดอกเบี้ยให้ธนาคารออมสินและ ธ.ก.ส อัตราร้อยละ 3 ต่อปี นับแต่วันกู้ เป็นระยะเวลา 7 ปี

ระยะการชำระคืนเงินกู้          ไม่เกิน 7 ปี นับแต่วันกู้

หลักประกันการกู้เงิน             ให้ใช้อย่างใดอย่างหนึ่ง หรือหลายอย่างรวมกัน ดังนี้

(1) ที่ดิน ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง ที่มีหนังสือแสดงเอกสารสิทธิสามารถจดทะเบียนจำนองได้ หรืออาคารชุด

(2) เรือประมง

(3) บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.)

(4) บุคคลค้ำประกัน

(5) หลักประกันอื่น ๆ ตามที่ธนาคารประกาศกำหนด

หลักเกณฑ์การให้สินเชื่อ   ตามเงื่อนไขของธนาคารออมสิน     ตามเงื่อนไขของ ธ.ก.ส.

การค้ำประกันสินเชื่อ โดย บสย.     

       บสย. ควรพิจารณาคุณสมบัติของผู้ประกอบการประมง ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของโครงการค้ำประกันสินเชื่อ และวิธีปฏิบัติในการค้ำประกันสินเชื่อของ บสย.                    

         4.5 วงเงินสินเชื่อโครงการ : รวม 10,300 ล้านบาท ดังนี้

       (1) วงเงินสินเชื่อของธนาคารออมสิน จำนวน 5,000 ล้านบาท ให้ผู้ประกอบการประมงที่มีเรือประมงตั้งแต่ 60 ตันกรอสขึ้นไป กู้เพื่อเสริมสภาพคล่องในการประกอบอาชีพการทำประมง

       (2) วงเงินสินเชื่อของ ธ.ก.ส. จำนวน 5,300 ล้านบาท ให้ผู้ประกอบการประมงที่มีเรือประมงต่ำกว่า 60 ตันกรอส กู้เพื่อเสริมสภาพคล่องในการประกอบอาชีพการทำการประมง

         4.6 วงเงินงบประมาณและแหล่งที่มา : 2,164.1 ล้านบาท ดังนี้

       (1) วงเงินชดเชยดอกเบี้ยของธนาคารออมสิน อัตราร้อยละ 3 ต่อปี นับแต่วันกู้ เป็นระยะเวลา 7 ปี จากวงเงินสินเชื่อ 5,000 ล้านบาท ปีละ 150 ล้านบาท รวมเป็นวงเงินชดเชยดอกเบี้ย 1,050 ล้านบาท โดยให้ธนาคารออมสินขอรับจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีจากสำนักงบประมาณ (สงป.) ตามที่เกิดขึ้นจริงจากการดำเนินการโครงการ

       (2) วงเงินชดเชยดอกเบี้ยของ ธ.ก.ส. อัตราร้อยละ 3 ต่อปี นับแต่วันกู้ เป็นระยะเวลา 7 ปี จากวงเงินสินเชื่อ 5,300 ล้านบาท ปีละ 159 ล้านบาท รวมเป็นวงเงินชดเชยดอกเบี้ย 1,113 ล้านบาท โดยให้ ธ.ก.ส. ขอรับจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีจาก สงป. ตามที่เกิดขึ้นจริงจากการดำเนินการโครงการ

       (3) ค่าใช้จ่ายในการดำเนินการโครงการของกรมประมงเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการประชุมชี้แจง ประชาสัมพันธ์โครงการ และติดตามโครงการ รวมเป็นวงเงินดำเนินงาน 1.1 ล้านบาท

       4.7 การแยกบัญชีธุรกรรมนโยบายรัฐ : ธนาคารออมสินและ ธ.ก.ส. สามารถนำค่าใช้จ่ายในการกันสำรองที่เกิดขึ้นจากโครงการนี้เพื่อบวกกลับเป็นรายได้ของธนาคาร และเป็นส่วนหนึ่งในการปรับตัวชี้วัดทางการเงินที่เกี่ยวข้องตามบันทึกข้อตกลงประเมินผลการดำเนินงานรัฐวิสาหกิจได้ และให้แยกบัญชีการดำเนินงานตามโครงการนี้ออกจากการดำเนินงานปกติ เป็นบัญชีธุรกรรมนโยบายรัฐ (Public Service Account - PSA)

(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2563

สำนักโฆษก   สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396  

COREHOON

******************************************

line logotwitterLike1 Share3Like1 Share1กด Like - Share  เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ

 Click Donate Support Web

SAM720x100px bgGC 790x90

SME720 x 100banpu 720x90 new1 1

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!