แนวทางการนำยางพารามาใช้เพื่อปรับปรุงเพิ่มความปลอดภัยทางถนน โดยใช้แผ่นยางธรรมชาติครอบกำแพงคอนกรีต (Rubber Fender Barrier : RFB) และหลักนำทางยางธรรมชาติ (Rubber Guide Post : RGP)
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Saturday, 30 May 2020 13:45
- Hits: 3115
แนวทางการนำยางพารามาใช้เพื่อปรับปรุงเพิ่มความปลอดภัยทางถนน โดยใช้แผ่นยางธรรมชาติครอบกำแพงคอนกรีต (Rubber Fender Barrier : RFB) และหลักนำทางยางธรรมชาติ (Rubber Guide Post : RGP) ของกรมทางหลวงและกรมทางหลวงชนบท
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบและอนุมัติตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ ดังนี้
- เห็นชอบให้กระทรวงการคลังดำเนินการปรับปรุงแก้ไขกฎกระทรวงกำหนดพัสดุและวิธีการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุที่รัฐต้องการส่งเสริมหรือสนับสนุน พ.ศ. 2563 โดยเพิ่มเติมแผ่นยางธรรมชาติครอบกำแพงคอนกรีต (Rubber Fender Barrier : RFB) และหลักนำทางยางธรรมชาติ (Rubber Guide Post : RGP) เป็นพัสดุที่รัฐต้องการส่งเสริมหรือสนับสนุน เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยางพาราตามนโยบายรัฐบาลในโครงการส่งเสริมการใช้ยางพาราของภาครัฐ
- อนุมัติให้กรมทางหลวงและกรมทางหลวงชนบท สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงสัญญาจ้างก่อสร้างผิวทางแบบพาราแอสฟัลต์ติกคอนกรีต (PARA AC) ที่ได้ลงนามในสัญญาจ้างไปแล้วในปีงบประมาณ 2563 เป็นผิวทางแบบแอสฟัลต์ติกคอนกรีต (AC) ภายในกรอบวงเงิน 2,500 ล้านบาท ประกอบด้วย กรมทางหลวง 1,250 ล้านบาท และกรมทางหลวงชนบท 1,250 ล้านบาท โดยมีการปรับลดวงเงินค่าก่อสร้างและไม่ทำให้ส่วนราชการเสียประโยชน์ ตามมาตรา 97 (2) แห่งพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 เพื่อนำไปใช้ในโครงการก่อสร้างกำแพงคอนกรีตหุ้มด้วยแผ่นยางธรรมชาติ (RFB) และหลักนำทางยางธรรมชาติ (RGP)
- เห็นชอบในหลักการให้กรมทางหลวงและกรมทางหลวงชนบทเสนอขอรับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 กรอบวงเงิน 39,175 ล้านบาท (กรมทางหลวง จำนวน 36,401 ล้านบาท และกรมทางหลวงชนบท จำนวน 2,774 ล้านบาท) และ ปี พ.ศ. 2565 กรอบวงเงิน 43,995 ล้านบาท (กรมทางหลวง จำนวน 39,934 ล้านบาท และกรมทางหลวงชนบท จำนวน 4,061 ล้านบาท) เพื่อดำเนินโครงการก่อสร้างกำแพงคอนกรีตหุ้มด้วยแผ่นยางธรรมชาติ (RFB) และหลักนำทางยางธรรมชาติ (RGP)
โดยในส่วนของงบประมาณให้เป็นไปตามความเห็นของสำนักงบประมาณ
สาระสำคัญ
กระทรวงคมนาคมได้รับรายงานจากกรมทางหลวงชนบทเสนอแนวทางการนำยางพารามาใช้เพื่อปรับปรุงเพิ่มความปลอดภัยทางถนน โดยใช้แผ่นยางธรรมชาติครอบกำแพงคอนกรีต (Rubber Fender Barrier : RFB) และหลักนำทางยางธรรมชาติ (Rubber Guide Post : RGP) สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
กระทรวงคมนาคมมีนโยบายในการนำยางพารามาใช้เพื่อปรับปรุงเพิ่มความปลอดภัยทางถนน โดยใช้แผ่นยางธรรมชาติครอบกำแพงคอนกรีต (Rubber Fender Barrier : RFB) และหลักนำทางยางธรรมชาติ (Rubber Guide Post : RGP) และสนับสนุนการใช้ยางพาราจากร้านสหกรณ์ที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์รับรองโดยตรง โดยจะบูรณาการความร่วมมือกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เพื่อช่วยยกระดับราคายางพารา เพิ่มรายได้ของเกษตรกรชาวสวนยางพารา และระบายผลผลิตยางพาราที่มีอยู่จำนวนมากอย่างเป็นรูปธรรม
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมได้เป็นประธานการประชุมเรื่อง การนำยางพารามาใช้ในงานภารกิจของกระทรวงคมนาคมเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยางพารา จำนวน 6 ครั้ง เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2562 วันที่ 20 กันยายน 2562 วันที่ 6 พฤศจิกายน 2562 วันที่ 30 มีนาคม 2563 วันที่ 16 เมษายน 2563 และวันที่ 7 พฤษภาคม 2563 ตามลำดับ โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม ได้แก่ กรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ซึ่งที่ประชุมได้ร่วมกันพิจารณาแนวทางการดำเนินการตามนโยบายเพื่อปรับปรุงเพิ่มความปลอดภัยทางถนนโดยใช้แผ่นยางธรรมชาติครอบกำแพงคอนกรีต (Rubber Fender Barrier : RFB) และหลักนำทางยางธรรมชาติ (Rubber Guide Post : RGP) เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยางพารา
- กระทรวงคมนาคมได้มอบหมายให้กรมทางหลวงชนบทเป็นหน่วยงานหลักดำเนินการตามนโยบายรัฐบาลในโครงการส่งเสริมการใช้ยางพาราของภาครัฐ และเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยาง ดังนั้น กรมทางหลวงชนบทจึงได้มีคำสั่ง ที่ 1890/2562 ลงวันที่ 2 กันยายน 2562 เรื่อง แต่งตั้งคณะทำงานศึกษาแนวทางการนำยางพารามาใช้ในงานก่อสร้าง และอุปกรณ์อำนวยความปลอดภัย และคำสั่งที่ 2160/2562 ลงวันที่ 30 กันยายน 2562 เรื่อง แต่งตั้งคณะทำงานศึกษาแนวทางการนำยางพารามาใช้ในงานก่อสร้าง และอุปกรณ์อำนวยความปลอดภัย (เพิ่มเติม) ร่วมกันศึกษาวิจัยนำยางพารามาพัฒนาเป็นอุปกรณ์อำนวยความปลอดภัยเพื่อป้องกันหรือลดความรุนแรงของอุบัติเหตุและเพิ่มความปลอดภัยทางถนน
- จากการศึกษาสภาพถนนของกรมทางหลวง และกรมทางหลวงชนบท พบว่า
มีเกาะกลางถนน รวมทั้งสิ้น ระยะทาง 11,643.454 กิโลเมตร ประกอบด้วย
- เกาะสี จำนวน 1,238.800 กิโลเมตร
- เกาะหลุม จำนวน 4,372.963 กิโลเมตร
- เกาะยก จำนวน 5,133.414 กิโลเมตร
- กำแพงคอนกรีต จำนวน 898.277 กิโลเมตร
โดยบริเวณช่วงเกาะกลางถนนแบบเกาะสีมีโอกาสที่จะเกิดอุบัติเหตุได้มาก เนื่องจากพฤติกรรมของผู้ขับขี่ไม่ปฏิบัติตามเครื่องหมายจราจร โดยการเลี้ยวหรือการกลับรถทับเส้นเกาะกลางในบริเวณจุดเสี่ยงอันตราย ทำให้เกิดอุบัติเหตุขึ้นหลายกรณี มีทั้งผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจำนวนมาก ดังนั้น จึงเห็นควรก่อสร้างกำแพงคอนกรีตเพื่อลดจำนวนอุบัติเหตุ อีกทั้งบริเวณทางโค้งได้มีการติดตั้งเสาหลักนำทางคอนกรีต เพื่อให้มองเห็น ในเวลากลางคืน แต่เมื่อเกิดอุบัติเหตุโดยเฉพาะรถจักรยานยนต์เสียหลักไปชนหลักนำโค้งคอนกรีต ผู้ขับขี่ หรือผู้ที่โดยสารมาด้วยอาจได้รับอันตราย จึงมีความจำเป็นต้องหาวิธีการแก้ไขหรือปรับปรุงเรื่องเกาะกลางถนนแบบเกาะสีและหลักนำทางคอนกรีต
จากผลการศึกษาและวิจัยพบว่า มี 2 ผลิตภัณฑ์ที่มีความเหมาะสมและมีปริมาณยางพาราเป็นส่วนผสมจำนวนมาก และสามารถลดความรุนแรงของการชนปะทะได้ คือ แผ่นยางธรรมชาติครอบกำแพงคอนกรีต (Rubber Fender Barrier : RFB) และหลักนำทางยางธรรมชาติ (Rubber Guide Post : RGP) โดยมีผลการทดสอบของอุปกรณ์อำนวยความปลอดภัย ดังนี้
1) แผ่นยางธรรมชาติครอบกำแพงคอนกรีต (RFB)
- ทดสอบการชนในประเทศไทย ดำเนินการโดยสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย
ผลการทดสอบ : ช่วยในการรับแรงกระแทก ทำให้ลดการบาดเจ็บและเสียชีวิตของคนขับได้
- นำไปทดสอบการชน ณ สถาบัน Korea Automobile Testing & Research Institute (KATRI) ประเทศเกาหลีใต้ ซึ่งเป็นสถาบันทดสอบรถยนต์โดยตรงและเป็นที่ยอมรับของผู้ผลิตรถยนต์ชั้นนำของโลกในวิธีการทดสอบที่มีความทันสมัย ถูกต้องตามหลักวิชาการ นอกจากนี้ การแสดงผลการทดสอบด้านวิศวกรรมยังเป็นที่ยอมรับตามมาตรฐาน EN - Euro Standard
ผลการทดสอบ : แผ่นยางธรรมชาติครอบกำแพงคอนกรีต (RFB) ที่ความเร็วในการชน 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เกิดแรงกระแทกต่ำกว่าค่ามาตรฐาน National Highway Traffic Safety Administration (NHTSA) ทำให้มีความปลอดภัยจากการบาดเจ็บรุนแรงและเสียชีวิต
2) หลักนำทางยางธรรมชาติ (RGP)
- ทดสอบการชนในประเทศไทย ดำเนินการโดย สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย
ผลการทดสอบ : ผลจากห้องทดสอบเปรียบเทียบความปลอดภัยในการติดตั้งหลักนำทางยางธรรมชาติ โดยนำรถจักรยานยนต์พร้อมหุ่นติดตั้งเซ็นเซอร์เข้าชน พบว่า หุ่นที่ใช้ทดสอบไม่ได้รับแรงกระแทกถึงขั้นได้รับบาดเจ็บสาหัสหรือเสียชีวิต เพราะมีความยืดหยุ่นของยางพารา และเมื่อนำไปทดสอบในห้องทดลอง พบว่า มีความคงทนต่อสภาพอากาศในประเทศไทย ไม่ติดไฟ และไม่สร้างปัญหาต่อสิ่งแวดล้อม
- กรมทางหลวงชนบทได้เปรียบเทียบราคาต้นทุนการผลิตกับผลประโยชน์ที่เกษตรกรได้รับของแผ่นยางธรรมชาติครอบกำแพงคอนกรีต (RFB) หลักนำทางยางธรรมชาติ (RGP) และผิวทางแบบพาราแอสฟัลต์ติกคอนกรีต (PARA AC) มีดังนี้
ผลิตภัณฑ์
ราคาต้นทุน
ผลประโยชน์
ที่เกษตรกรได้รับ
ผลประโยชน์
ที่เกษตรกรได้รับ
คิดเป็นร้อยละ
แผ่นยางธรรมชาติครอบกำแพงคอนกรีต
3,140 - 3,757บาท/เมตร 2,189.63 - 2,798.10บาท/เมตร 70 - 74
หลักนำทางยางธรรมชาติ
1,607 - 2,223บาท/ต้น 1,162.58 - 1,778.18บาท/ต้น 72 - 80
ทางแบบพาราแอสฟัลต์ติกคอนกรีต(PARA AC)
294.93
บาท/ตารางเมตร 15.04 บาท/ตารางเมตร 5.10
หมายเหตุ : ช่วงราคายางแผ่นรมควัน 35 - 60 บาท/กิโลกรัม และราคาน้ำยางพาราข้น 25 - 60 บาท/กิโลกรัม
ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบผลประโยชน์ที่เกษตรกรได้รับ พบว่า แผ่นยางธรรมชาติครอบกำแพงคอนกรีต (RFB)
และหลักนำทางยางธรรมชาติ (RGP) มีผลประโยชน์สูงกว่าผิวทางแบบพาราแอสฟัลต์ติกคอนกรีต (PARA AC) มาก
- กรมทางหลวงและกรมทางหลวงชนบท มีแนวทางในการดำเนินการตามนโยบาย
เพื่อปรับปรุงเพิ่มความปลอดภัยทางถนนโดยใช้ผลผลิตจากยางพารา ดังนี้
1) แผนการดำเนินโครงการก่อสร้างกำแพงคอนกรีตหุ้มด้วยแผ่นยางธรรมชาติ (RFB)และหลักนำทางยางธรรมชาติ (RGP) ของกรมทางหลวงและกรมทางหลวงชนบท ในปีงบประมาณ 2563 - 2565
มี RFB จำนวน 12,282.735 กิโลเมตร RGP จำนวน 1,063,651 ต้น งบประมาณรวม 85,623.774 ล้านบาท คิดเป็นผลประโยชน์ที่เกษตรกรได้รับ จำนวน 30,108.805 ล้านบาท ดังนี้
(หมายเหตุ : กรุณาดูรายละเอียดแผนการดำเนินโครงการก่อสร้างกำแพงคอนกรีตหุ้มด้วยแผ่นยางธรรมชาติ (RFB)และหลักนำทางยางธรรมชาติ (RGP) ของกรมทางหลวงและกรมทางหลวงชนบท จากไฟล์แนบ)
2) แผนการส่งเสริมและสนับสนุนเกษตรกรชาวสวนยางพารา โดยใช้ยางพาราในการผลิตแผ่นยางธรรมชาติครอบกำแพงคอนกรีต และหลักนำทางยางธรรมชาติ ซึ่งกรมทางหลวงชนบทจะกำหนดรูปแบบและมาตรฐาน ให้ร้านสหกรณ์ที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์รับรอง ตามประกาศกรมส่งเสริมสหกรณ์ เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการออกหนังสือรับรองเป็น ‘ร้านสหกรณ์ที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์รับรอง’ พ.ศ. 2563 เป็นผู้ผลิต ทั้งนี้ กรมทางหลวงและกรมทางหลวงชนบทจะจัดซื้อแผ่นยางธรรมชาติครอบกำแพงคอนกรีตและหลักนำทางยางธรรมชาติดังกล่าวจากร้านสหกรณ์ที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์รับรองโดยตรง เพื่อนำมาใช้ในงานด้านความปลอดภัยงานทาง รวมทั้งส่งเสริมและสนับสนุนเกษตรกรชาวสวนยางพารา
โดยตามมาตรา 55 แห่งพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 และกฎกระทรวงกำหนดวงเงิน การจัดซื้อจัดจ้างพัสดุโดยวิธีเฉพาะเจาะจง พ.ศ. 2560 กำหนดให้หน่วยงานของรัฐใช้วิธีเฉพาะเจาะจงในวงเงินไม่เกิน 500,000 บาท แต่เนื่องจากการจัดซื้อยางพาราดังกล่าวจากร้านสหกรณ์มีจำนวนมาก ทำให้วงเงินในการจัดซื้อครั้งหนึ่งเกิน 500,000 บาท ทำให้ไม่อาจจัดซื้อโดยวิธีเฉพาะเจาะจงจากร้านสหกรณ์ที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์รับรองโดยตรง
ดังนั้น จึงต้องมีการกำหนดให้แผ่นยางธรรมชาติครอบกำแพงคอนกรีต (RFB)และหลักนำทางยางธรรมชาติ (RGP)เป็นพัสดุที่รัฐต้องการส่งเสริมหรือสนับสนุนเพิ่มเติมตามกฎกระทรวงกำหนดพัสดุและวิธีการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุที่รัฐต้องการส่งเสริมหรือสนับสนุน พ.ศ. 2563
3) กรมทางหลวงชนบทได้จัดทำร่างบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) เรื่อง อุปกรณ์ทางด้านการจราจรและอำนวยความปลอดภัยทางถนนที่ผลิตจากยางพาราเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในหน่วยงานภาครัฐ ระหว่างกระทรวงคมนาคมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในเบื้องต้นแล้ว
ทั้งนี้ กระทรวงคมนาคมมีความเห็นว่า
แนวทางการนำยางพารามาใช้เพื่อปรับปรุงเพิ่มความปลอดภัยทางถนน โดยใช้แผ่นยางธรรมชาติครอบกำแพงคอนกรีต (Rubber Fender Barrier : RFB) และหลักนำทางยางธรรมชาติ (Rubber Guide Post : RGP) ของกรมทางหลวงและกรมทางหลวงชนบท ซึ่งได้มีการประชุมหารือร่วมกับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย การยางแห่งประเทศไทย และวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ในเบื้องต้น รวมทั้งได้มีการทดสอบการชนทั้งในประเทศไทยและประเทศเกาหลีใต้แล้ว
โดยจากผลการศึกษาและวิจัยพบว่า ผู้ขับขี่ได้รับค่าแรงกระแทกน้อยกว่าค่ามาตรฐาน ปลอดภัยจากการบาดเจ็บรุนแรงและเสียชีวิต ประกอบกับ แนวทางการดำเนินการดังกล่าวเป็นการปรับปรุงเพิ่มความปลอดภัยทางถนน ตลอดจนช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยางพารา โดยยกระดับราคายางพารา เพิ่มรายได้ของเกษตรกรชาวสวนยางพารา และระบายผลผลิตยางพาราที่มีอยู่จำนวนมากอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งกระทรวงคมนาคมจะได้พิจารณาลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือฯ (MOU) กับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ต่อไป
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2563
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ