ผลการดำเนินงานของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทยในปีงบประมาณ 2562 นโยบายของคณะกรรมการ และโครงการและแผนงานของการรถไฟฟ้า
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Sunday, 17 May 2020 15:15
- Hits: 2381
ผลการดำเนินงานของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทยในปีงบประมาณ 2562 นโยบายของคณะกรรมการ และโครงการและแผนงานของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทยในอนาคต
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบตามที่กระทรวงคมนาคม (คค.) เสนอรายงานผลการดำเนินงานของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ในปีงบประมาณ 2562 นโยบายของคณะกรรมการ และโครงการและแผนงานของ รฟม. ในอนาคต (ตามมาตรา 73 แห่งพระราชบัญญัติการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2543 ที่บัญญัติให้ รฟม. ทำรายงานปีละครั้งเสนอคณะรัฐมนตรี รายงานนี้ให้กล่าวถึงผลของงานในปีที่ล่วงมาแล้วและคำชี้แจงเกี่ยวกับนโยบายของคณะกรรมการ โครงการและแผนงานที่จะทำในภายหน้า) ซึ่งคณะกรรมการ รฟม. ได้เห็นชอบแล้วเมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2563 สรุป สาระสำคัญได้ดังนี้
- ผลการดำเนินงานของ รฟม. ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 (ณ วันที่ 30 กันยายน 2562)
1.1 ด้านการพัฒนาระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน
โครงการที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างจำนวน 5 โครงการ
1) รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ช่วงหัวลำโพง-บางแค และช่วงบางซื่อ-ท่าพระ ผลการดำเนินงาน/ความก้าวหน้า ได้เปิดให้บริการตลอดเส้นทางอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2563
2) รถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ผลการดำเนินงาน/ความก้าวหน้า ได้เปิดให้บริการแล้ว 5 สถานี ช่วงสถานีหมอชิต-สถานีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2562 คาดว่า จะเปิดให้บริการตลอดทั้งสายภายในปีงบประมาณ 2564
3) รถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ผลการดำเนินงาน/ความก้าวหน้า การก่อสร้างงานโยธาแล้วเสร็จ ร้อยละ 46.88 (เร็วกว่าแผน) คาดว่าจะเปิดให้บริการในเดือนมีนาคม 2567
4) รถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี ผลการดำเนินงาน/ความก้าวหน้า การก่อสร้างงานโยธา ผลิตและติดตั้งงานระบบรถไฟฟ้าและงานเดินรถแล้วเสร็จ ร้อยละ 40.72 (เร็วกว่าแผน) คาดว่าจะเปิดให้บริการในเดือนตุลาคม 2564
5) รถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง ผลการดำเนินงาน/ความก้าวหน้า การก่อสร้างงานโยธา ผลิตและติดตั้งงานระบบรถไฟฟ้าและงานเดินรถแล้วเสร็จ ร้อยละ 40.34 (เร็วกว่าแผน) คาดว่าจะเปิดให้บริการในเดือนตุลาคม 2564
โครงการที่อยู่ระหว่างการประกวดราคา จำนวน 1 โครงการ
รถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) ผลการดำเนินงาน/ความก้าวหน้า จัดกรรมสิทธิ์ที่ดินแล้วเสร็จ ร้อยละ 15.35 (ตามแผน) ศึกษาและวิเคราะห์โครงการแล้วเสร็จ ร้อยละ 57.50 (ตามแผน) สถานะล่าสุด : อยู่ระหว่างการหารือกับสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจเพื่อพิจารณาแนวทางการให้เอกชนร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงตลอดสายทางในรูปแบบ PPP Net Cost และศึกษาแนวทางการปรับเส้นทางโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) เพื่อใช้ประกอบการปรับปรุงรายงานการศึกษาและวิเคราะห์โครงการฯ คาดว่าจะเปิดให้บริการในเดือนเมษายน 2569
โครงการที่อยู่ระหว่างการศึกษาและวิเคราะห์โครงการ จำนวน 5 โครงการ
1) รถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมฯ ผลการดำเนินงาน/ความก้าวหน้า การดำเนินการตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556 แล้วเสร็จ ร้อยละ 97.50 (ล่าช้ากว่าแผน) คาดว่าจะลงนามสัญญากับเอกชนผู้ร่วมลงทุนในเดือนพฤศจิกายน 2563
2) รถไฟฟ้าจังหวัดภูเก็ต ผลการดำเนินงาน/ความก้าวหน้า ศึกษาวิเคราะห์โครงการตามพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 แล้วเสร็จ คาดว่าจะเปิดให้บริการในเดือนมีนาคม 2568
3) รถไฟฟ้าจังหวัดเชียงใหม่ ผลการดำเนินงาน/ความก้าวหน้า ศึกษารายละเอียดความเหมาะสม ออกแบบและจัดเตรียมเอกสารประกวดราคาแล้วเสร็จ ร้อยละ 40 (ตามแผน) คาดว่าจะเปิดให้บริการในเดือนธันวาคม 2570
4) รถไฟฟ้าจังหวัดนครราชสีมา ผลการดำเนินงาน/ความก้าวหน้า ศึกษารายละเอียดความเหมาะสม ออกแบบและจัดเตรียมเอกสารประกวดราคาแล้วเสร็จ ร้อยละ 32 (ตามแผน) คาดว่าจะเปิดให้บริการในเดือนกรกฎาคม 2568
5) รถไฟฟ้าจังหวัดพิษณุโลก การดำเนินกิจการรถไฟฟ้าแล้วเสร็จ ร้อยละ 50 (ตามแผน) คาดว่าจะเปิดให้บริการในเดือนธันวาคม 2569
1.2 ด้านการให้บริการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน ได้เปิดให้บริการแล้ว 2 เส้นทาง โดยมีผู้ใช้บริการรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล เฉลี่ย 324,706 คน-เที่ยว/วัน เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา ร้อยละ 5.66 (เป้าหมายเพิ่มขึ้นร้อยละ 5) รถไฟฟ้ามหานครสายฉลองรัชธรรม เฉลี่ย 53,416 คน-เที่ยว/วัน เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา ร้อยละ 14.77 (เป้าหมายเพิ่มขึ้นร้อยละ 5) ทั้งนี้ ผลสำรวจความพึงพอใจของผู้ใช้บริการต่อการให้บริการรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล ร้อยละ 76.54 (เป้าหมายร้อยละ 69.35) และสายฉลองรัชธรรม ร้อยละ 70.86 (เป้าหมายร้อยละ 63.50)
1.3 ด้านการเงิน รฟม. มีผลประกอบการกำไรสุทธิ 1,171.22 ล้านบาท โดยมีรายได้ 12,362.87 ล้านบาท และค่าใช้จ่ายรวม 11,191.65 ล้านบาท สามารถเบิกจ่ายงบลงทุน ร้อยละ 99.99 (คณะรัฐมนตรีกำหนดเป้าหมายไว้ที่ร้อยละ 95)
1.4 ด้านการพัฒนาองค์กรและทรัพยากรบุคคล รฟม. ได้ดำเนินการตามแผนพัฒนาทรัพยากรบุคคล โดยพนักงานร้อยละ 96.19 มีสมรรถนะตามมาตรฐานที่องค์กรกำหนด (เป้าหมายร้อยละ 95.83) เช่น มีการเปิดศูนย์ฝึกอบรมบุคลากรในระบบราง มีการพัฒนากระบวนการการบริหารอาคาร/ลานจอดรถผ่านนวัตกรรม และมีการพัฒนาองค์ความรู้ด้านการบริหารการก่อสร้าง การบริหารโครงการ และการจัดซื้อจัดจ้างระบบรถไฟฟ้าและระบบราง
1.5 ด้านการกำกับดูแลที่ดี รฟม. ได้ดำเนินการตามแผนปฏิบัติการโครงการพัฒนาและส่งเสริมธรรมาภิบาลองค์กร โดยมีผลประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ (ITA) เท่ากับ 88.96 คะแนน โดยผลประเมินอยู่ในลำดับที่ 3 ของรัฐวิสาหกิจสังกัด คค.
- นโยบายของคณะกรรมการ รฟม. คณะกรรมการ รฟม. ได้กำหนดนโยบายเพื่อใช้เป็นแนวทางการปฏิบัติงานและเพื่อการกำกับดูแล จำนวน 9 ข้อ เช่น (1) ให้บริการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนด้วยความสะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย ตรงเวลา โดยคำนึงถึงความพึงพอใจของผู้ใช้บริการแต่ละกลุ่ม (2) ให้เร่งรัดดำเนินโครงการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนสายต่างๆ ตามที่ได้รับมอบหมายให้แล้วเสร็จและเปิดบริการได้ตามแผน และให้ศึกษาระบบรถไฟฟ้าในเมืองหลักอื่น (3) ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการดำเนินงาน และนำข้อคิดเห็นของประชาชนมาพัฒนาและปรับปรุงการดำเนินงานองค์กร และ (4) ให้สื่อสารเชิงรุกในรูปแบบต่างๆ เพื่อให้ประชาชนและผู้ได้รับผลกระทบรับรู้และเข้าใจถึงความสำคัญของรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน การดำเนินงานขององค์กร และให้การสนับสนุนองค์กร ฯลฯ
- โครงการและแผนงานของ รฟม. ในอนาคต
การพัฒนาระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน รฟม. มีโครงการอยู่ระหว่างดำเนินการโดยมีเป้าหมายว่าการดำเนินงานจะต้องมีความสำเร็จตามแผน ดังนี้
- อยู่ระหว่างการก่อสร้าง 4 โครงการ ระยะทางรวม 113.1 กิโลเมตร
- อยู่ระหว่างการประกวดราคา 1 โครงการ ระยะทาง 23.6 กิโลเมตร
- อยู่ระหว่างการศึกษาและวิเคราะห์โครงการ 5 โครงการ ระยะทางรวม 91.71 กิโลเมตร
การให้บริการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน รฟม. มีแผนที่จะพัฒนาบริการด้านต่าง ๆ เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ใช้บริการโดยมีเป้าหมายความพึงพอใจของผู้ใช้บริการในระดับมาก-มากที่สุดต่อบริการรถไฟฟ้าและบริการเสริมอื่นๆ ดังนี้
- สายเฉลิมรัชมงคล ร้อยละ 70.35
- สายฉลองรัชธรรม ร้อยละ 65
และมีจำนวนผู้ใช้บริการรถไฟฟ้าทั้ง 2 สาย เพิ่มขึ้นร้อยละ 5
การเงิน รฟม. มีแผนหารายได้จากธุรกิจต่อเนื่องประมาณ 202 ล้านบาท แบ่งเป็น
- สายเฉลิมรัชมงคล 165.42 ล้านบาท
- สายฉลองรัชธรรม 36.59 ล้านบาท
และมีผลตอบแทนต่อสินทรัพย์ (ROA) ร้อยละ 0.66 นอกจากนี้มีแผนที่จะบริหารจัดการต้นทุนทางการเงินเพื่อลดค่าใช้จ่าย โดยต้องควบคุมค่าใช้จ่ายไม่ให้สูงกว่าปีที่ผ่านมา
การกำกับดูแลที่ดี รฟม. มีแผนพัฒนาและส่งเสริมธรรมาภิบาลองค์กร และพัฒนาแนวทางการประเมินประสิทธิภาพการดำเนินงาน โดยมีเป้าหมายให้มีผลการประเมิน ITA อยู่ที่ร้อยละ 92
- คค. มีความเห็นว่า ภาพรวมผลการดำเนินงานของ รฟม. ในปี 2562 อยู่ในระดับดีเยี่ยม โดยสามารถผลักดันให้มีปริมาณผู้โดยสารโครงการรถไฟฟ้ามหานครสายเฉลิมรัชมงคล และสายฉลองรัชธรรมเป็นไปตามเป้าหมายและมีปริมาณเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และการดำเนินการในปี 2563 จะเป็นปีที่ยากลำบากสำหรับการขนส่งมวลชนทางรางทั้งระบบ เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ในภาพรวมคาดว่า รฟม. จะมีปริมาณผู้โดยสารมาใช้บริการต่ำกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้ ส่วนจะมีผลกระทบมากน้อยเพียงใด ขึ้นอยู่กับสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ที่ปัจจุบันยังไม่สามารถคาดการณ์ได้
อย่างไรก็ตาม เพื่อให้การดำเนินการของ รฟม. ในปี 2563 เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ คค. ได้มอบหมายให้ รฟม. พิจารณาดำเนินการ ดังต่อไปนี้ (1) เร่งดำเนินการประกวดราคา/คัดเลือกเอกชนเพื่อร่วมลงทุนสำหรับโครงการรถไฟฟ้าที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติแล้ว (2) เร่งดำเนินการก่อสร้างโครงการที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างให้เป็นไปตามแผนงาน โดยให้ความสำคัญกับการบริหารผลกระทบต่อการจราจรในทุกมิติ
และให้ควบคุมการก่อสร้างไม่ให้เกิดฝุ่นละออง PM2.5 ตามมาตรการที่กำหนดไว้อย่างเคร่งครัด (3) เร่งดำเนินการพัฒนาระบบและสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ที่จะช่วยให้การเชื่อมต่อการเดินทางด้วยระบบรถไฟฟ้ากับระบบขนส่งมวลชนรูปแบบอื่นเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและสะดวกสบาย ให้สามารถใช้งานได้ตามแผนงานที่กำหนดไว้ โดยเฉพาะการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม และ (4) การดำเนินโครงการระบบขนส่งมวลชนทางรางในเมืองภูมิภาคให้ รฟม. ให้ความสำคัญสูงสุดกับความต้องการของประชาชนในพื้นที่
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2563
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ
Click Donate Support Web