ร่างพระราชบัญญัติสถาปนิก (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Sunday, 03 May 2020 10:23
- Hits: 3139
ร่างพระราชบัญญัติสถาปนิก (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติและรับทราบ ดังนี้
- อนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติสถาปนิก (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงมหาดไทย (มท.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยให้รับความเห็นของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กระทรวงศึกษาธิการ และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติไปประกอบการตรวจพิจารณา ทั้งนี้ ให้พิจารณาการกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมตามร่างพระราชบัญญัติในเรื่องนี้ให้สอดคล้องตามนัยมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 2 มกราคม 2563 (เรื่อง แนวทางการทบทวนอัตราค่าธรรมเนียมในการอนุมัติ อนุญาต ของทางราชการ) ด้วย แล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาก่อนเสนอสภาผู้แทนราษฎรต่อไป
- รับทราบแผนในการจัดทำกฎหมายลำดับรอง กรอบระยะเวลาและกรอบสาระสำคัญของกฎหมายลำดับรองที่ออกตามร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอ
มท. เสนอว่า
- พระราชบัญญัติสถาปนิก พ.ศ. 2543 กำหนดให้สภาสถาปนิกเป็นองค์กรควบคุมการประกอบอาชีพสถาปัตยกรรมควบคุม มีภารกิจเกี่ยวกับการออกใบอนุญาตประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุม ควบคุมมาตรฐานและจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพสถาปัตยกรรม และยังต้องปฏิบัติงานให้เป็นไปตามพันธะผูกพันกับนานาชาติตามข้อตกลงทวิภาคีและพหุภาคีต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับวิชาชีพสถาปัตยกรรม ตามข้อตกลงทั่วไปว่าด้วยการค้าบริการ (General Agreement on Trade in Service, GATS) ภายใต้องค์การการค้าโลก (World Trade Organization, WTO)
- โดยที่บริการด้านสถาปัตยกรรมเป็นหนึ่งในสาขาบริการด้านธุรกิจและวิชาชีพ (Business and Profession Services) ในกลุ่มประเทศอาเซียน ประเทศไทยได้มีการลงนามในข้อตกลงการยอมรับร่วมกันของอาเซียนด้านการบริการสถาปัตยกรรม (Asean Mutual Recognition Arrangement on Architectural Services : MRA) จึงมีพันธะผูกพันตามข้อตกลง MRA ดังกล่าว โดยข้อตกลง MRA นี้ จะใช้เป็นมาตรฐานในการกำหนดคุณสมบัติสำหรับสถาปนิกในกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียนให้สามารถเคลื่อนย้ายเข้าไปทำงานในกลุ่มประเทศอาเซียนด้วยกันได้ ในตลาดวิชาชีพสถาปัตยกรรม ซึ่งจะส่งผลให้มีการเปิดตลาดการค้าบริการให้ผู้ประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมสามารถเคลื่อนย้ายเข้าไปทำงานในประเทศที่ได้ทำข้อตกลงร่วมกัน
- อย่างไรก็ตาม กฎหมายว่าด้วยสถาปนิกยังไม่มีบทบัญญัติที่กำหนดวัตถุประสงค์และอำนาจหน้าที่ของสภาสถาปนิกและอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการสภาสถาปนิก ในการกำหนดหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการประกอบวิชาชีพระหว่างประเทศตามข้อตกลง MRA ประกอบกับพระราชบัญญัติสถาปนิก พ.ศ. 2543 ได้ใช้บังคับมาเป็นระยะเวลานานแล้ว ทำให้บทบัญญัติบางเรื่องและอัตราค่าธรรมเนียมท้ายพระราชบัญญัติไม่เหมาะสมกับสภาพการณ์ในปัจจุบัน ดังนั้น จึงเห็นสมควรแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติสถาปนิกฯ ดังกล่าว เพื่อรองรับการปฏิบัติตามข้อตกลงฯ และสอดคล้องกับสภาวการณ์ในปัจจุบัน
- คณะกรรมการสภาสถาปนิก ในคราวประชุมครั้งที่ 14/2559 วันพฤหัสบดีที่ 25 สิงหาคม 2559 ได้มีมติเห็นชอบการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติสถาปนิกฯ ดังกล่าว
สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ
- กำหนดให้สภาสถาปนิกมีวัตถุประสงค์ในการกำหนดมาตรฐานวิชาการเพื่อการประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรม และกำกับดูแลการประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมของผู้ประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุมและสถาปนิกต่างชาติให้เป็นไปตามข้อผูกพันระหว่างประเทศ
- กำหนดให้สภาสถาปนิกมีอำนาจและหน้าที่ ดังต่อไปนี้
2.1 รับรองปริญญา อนุปริญญา ประกาศนียบัตรหรือวุฒิบัตร เพื่อการประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุมโดยการรับรองหลักสูตร การจัดการศึกษา การสำเร็จการศึกษา และชื่อปริญญา
2.2 กำหนดหลักการและแนวทางปฏิบัติเพื่อให้เป็นไปตามข้อผูกพันระหว่างประเทศในส่วนที่เกี่ยวข้องกับบริการด้านสถาปัตยกรรมหรือการประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรม
2.3 ให้การรับรองผู้ประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุม เพื่อการประกอบวิชาชีพในต่างประเทศตามข้อผูกพันระหว่างประเทศ
2.4 ควบคุมการทำงานของสถาปนิกต่างชาติที่เข้ามาทำงานในราชอาณาจักรไทยตามข้อผูกพันระหว่างประเทศ
2.5 แต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อเป็นตัวแทนของสภาสถาปนิกในการกำกับดูแลการดำเนินการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องตามโครงการซึ่งอยู่ภายใต้ข้อผูกพันระหว่างประเทศ
- กำหนดให้คณะกรรมการสภาสถาปนิกมีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการประกอบวิชาชีพระหว่างประเทศ ดังนี้
3.1 กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับการขึ้นทะเบียนผู้ประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุมเพื่อใช้สำหรับการประกอบวิชาชีพในต่างประเทศ ตามข้อผูกพันระหว่างประเทศ
3.2 กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับการขึ้นทะเบียนสถาปนิกต่างชาติที่จะเข้ามาประกอบวิชาชีพในราชอาณาจักรไทยตามข้อผูกพันระหว่างประเทศ
3.3 กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับการสอบสวนสถาปนิกต่างชาติผู้ที่กระทำการฝ่าฝืนบทบัญญัติตามพระราชบัญญัตินี้
3.4 แต่งตั้งคณะทำงานเพื่อปฏิบัติหน้าที่ในฐานะตัวแทนของสภาสถาปนิกในการดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับการประกอบวิชาชีพระหว่างประเทศของผู้ประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุมและสถาปนิกต่างชาติตามข้อผูกพันระหว่างประเทศ
3.5 กำหนดค่าธรรมเนียมที่สภาสถาปนิกอาจเรียกเก็บสำหรับการขึ้นทะเบียนหรือการรับรองตาม 3.2 และ 3.3 ซึ่งต้องไม่เกินอัตราท้ายพระราชบัญญัติ
- กำหนดให้คณะกรรมการสภาสถาปนิกแต่งตั้งกรรมการจรรยาบรรณตามมติของที่ประชุมใหญ่สภาสถาปนิกจากสมาชิกสภาสถาปนิกซึ่งมีคุณสมบัติดังต่อไปนี้
4.1 เป็นผู้ประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุมมาแล้วไม่น้อยกว่า 10 ปี
4.2 ไม่เคยถูกลงโทษฐานประพฤติผิดจรรยาบรรณ
4.3 ไม่เป็นกรรมการ
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 28 เมษายน 2563
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ
Click Donate Support Web