ผลการประชุมคณะกรรมการเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ 1/2563 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง (สศช.)
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Sunday, 03 May 2020 08:25
- Hits: 1625
ผลการประชุมคณะกรรมการเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ 1/2563 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง (สศช.)
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบผลการประชุมคณะกรรมการเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ 1/2563 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง ระหว่างวันที่ 13 – 17 กุมภาพันธ์ 2563 ณ ประเทศมาเลเซีย ตามที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาต (สศช.) เสนอ
สาระสำคัญของเรื่อง
- การประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง การพัฒนานโยบายกำกับเศรษฐกิจแบ่งปันอย่างมีนวัตกรรม (Workshop on Innovative Regulatory Policy Development :APEC Economies’ Approaches on Sharing Economy) ระหว่างวันที่ 13 - 14 กุมภาพันธ์ 2563 มีสาระสำคัญเกี่ยวกับการกำหนดแนวทางการพัฒนานโยบายกำกับเศรษฐกิจแบ่งปันของเขตเศรษฐกิจสมาชิกเอเปคให้สอดรับกับการดำเนินธุรกิจแบบดิจิทัลที่มีสัดส่วนเพิ่มสูงขึ้น โดยภาครัฐจำเป็นต้องควบคุมดูแลด้านต่างๆ เช่น การกำหนดมาตรฐาน การออกกฎหมาย/กฎระเบียบ การจัดเก็บภาษี และการคุ้มครองผู้บริโภคให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน
- การประชุมเชิงปฏิบัติการในการหาข้อสรุปสำหรับการจัดทำแผนปฏิบัติการเอเปค เรื่อง ความยากง่ายในการดำเนินธุรกิจ ระยะที่ 3 [Workshop to Finalize the Third APEC Ease of Doing Business (EoDB) Action Plan] ในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2563 มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อหาข้อสรุปในการจัดทำแผนปฏิบัติการเอเปคฯ ระยะที่ 3
- โดยจะให้ความสำคัญใน 5 ตัวชี้วัด ได้แก่ (1) การเข้าถึงเครดิต (2) การบังคับให้เป็นไปตามข้อตกลง (3) การคุ้มครองผู้ลงทุนเสียงข้างน้อย (4) การจดทะเบียนทรัพย์สิน และ (5) การแก้ไขปัญหาการล้มละลาย ทั้งนี้ จะได้มีการหารือเพื่อให้ได้ข้อสรุปเกี่ยวกับช่วงระยะเวลาบังคับใช้และการกำหนดค่าเป้าหมายอีกครั้งหนึ่ง
- การประชุมคณะกรรมการเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ 1/2563 ระหว่างวันที่16 –17 กุมภาพันธ์ 2563 มีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
หัวข้อ สาระสำคัญ
การจัดทำโครงการด้านการปฏิรูปโครงสร้างเอเปคฉบับใหม่ Renewed APEC Agenda for Structural Reform (RAASR) คณะกรรมการเศรษฐกิจเอเปค (Economic Committee : EC) กำหนดให้มีการจัดการประชุมระดับรัฐมนตรีเรื่องการปฏิรูปโครงสร้าง (Structural Reform Ministerial Meeting : SRMM) ขึ้นระหว่างวันที่ 17 –18 สิงหาคม 2563 ณ เมืองสลังงอร์ ประเทศมาเลเซีย
นอกจากนี้ คณะกรรมการฯ ได้มีการหารือเชิงนโยบายเรื่องการปฏิรูปโครงสร้างปี 2564 –2568 โดยการปฏิรูปโครงสร้างฉบับใหม่จะครอบคลุมใน 4 ประเด็น ได้แก่ 1) ตลาดที่มีการแข่งขันอย่างเปิดกว้าง โปร่งใส และมีกลไกที่มีประสิทธิภาพ 2) การยกระดับการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในสังคม เช่น สตรี คนชรา และคนพิการ 3) นโยบายทางสังคที่มีความยั่งยืน และ 4) ความยากง่ายในการดำเนินธุรกิจ
การจัดทำรายงานนโยบายเศรษฐกิจเอเปค ปี 2563 รายงานนโยบายเศรษฐกิจปี 2563 จัดทำขึ้นในหัวข้อ ‘การปฏิรูปโครงสร้างและการเพิ่มบทบาทให้กับสตรี’ (Structural Reform and Women Empowerment)ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างศักยภาพให้แก่เขตเศรษฐกิจในการยกระดับการปฏิรูปโครงสร้างเพื่อเพิ่มบทบาทให้สตรีมีความเท่าเทียมในกิจกรรมทางเศรษฐกิจมากขึ้น
การวิเคราะห์ทิศทางและแนวโน้มเศรษฐกิจในกลุ่มเอเปค ผู้แทนจากหน่วยสนับสนุนด้านนโยบายเอเปค (Policy Support Unit : PSU) องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organisation for Economic Cooperation and Development: OECD) ธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank: ADB) และสำนักเลขาธิการอาเซียนได้มีการกล่าวถึงตัวชี้วัดการเติบโตทางเศรษฐกิจนอกเหนือจากการใช้ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP)เพียงอย่างเดียว เช่น ผลิตภัณฑ์มวลรวมสีเขียว ดัชนีการพัฒนามนุษย์ ดัชนีความเท่าเทียมกันทางเพศ รวมถึงการเข้ามามีบทบาทของเทคโนโลยีดิจิทัลต่อระบบเศรษฐกิจ ซึ่งเขตเศรษฐกิจจำเป็นต้องปรับระบบการศึกษาให้รองรับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี และสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเทคโนโลยีที่ถูกต้องให้กับประชาชนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุด
การปฏิรูปโครงสร้างและเพศ (Structural Reform and Gender)ประเทศชิลีได้นำเสนอการจัดทำแผนสำหรับสตรีและการเติบโตอย่างทั่วถึงภายใต้ชื่อ Le Serena Roadmap for Women and Inclusive Growth เพื่อเพิ่มอำนาจให้สตรีสามารถเข้าถึงตลาดและแหล่งเงินทุน มีส่วนร่วมในกำลังแรงงาน เข้าถึงตำแหน่งผู้นำที่มีอำนาจการตัดสินใจ ส่งเสริมให้เข้าถึงการศึกษา อบรมและการพัฒนาทักษะให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงและเพิ่มอำนาจทางเศรษฐกิจ
นอกจากนี้ สหรัฐอเมริกาได้รายงานถึงผลของโครงการ Women@Work ที่ให้ความสำคัญกับได้การเข้าถึงตลาดแรงงานของสตรี โดยในปี 2563 จะจัดทำรายงานประเมินผลกระทบทางเศรษฐกิจและจัดกิจกรรมเพื่อค้นหาแนวทางการปฏิรูปโครงสร้างที่จะก่อให้เกิดความเท่าเทียมกันทางเพศและการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจต่อไป
การหารือเชิงนโยบาย เรื่อง การปฏิรูปโครงสร้างและตัวชี้วัดนอกเหนือจากผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (Structural Reform and Beyond GDP) หารือถึงตัวชี้วัดที่สามารถนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการจะยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับประชาชนนอกเหนือจากตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจอย่าง GDP ซึ่งเขตเศรษฐกิจสมาชิกได้มีการนำเสนอตัวอย่างต่างๆ เช่น แคนาดานำเสนอเกี่ยวกับดัชนีความเป็นอยู่ที่ดี และอินโดนีเซียได้นำเสนอเกี่ยวกับดัชนีการพัฒนาอย่างทั่วถึง
การหารือเชิงนโยบาย เรื่อง การระงับข้อพิพาทออนไลน์ (Online Dispute Resolution: ODR) กล่าวถึงการระงับข้อพิพาทออนไลน์เพื่อช่วยให้ภาคธุรกิจระงับข้อพิพาทระหว่างกันด้วยกระบวนการที่รวดเร็วและน่าเชื่อถือ รวมถึงการลดอุปสรรคของพรมแดน ความแตกต่างด้านภาษาและกฎหมาย อย่างไรก็ดีการที่จะนำกรอบแนวทางและแบบจำลอง ODR เข้ามาปรับใช้ จำเป็นจะต้องมีการหารือเป็นการภายในกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป
ทั้งนี้ สศช. เห็นว่า ไทยจำเป็นจะต้องเตรียมการเกี่ยวกับประเด็นที่จะบรรจุไว้ในวาระการปฏิรูปโครงสร้างฉบับใหม่ รวมถึงเตรียมความพร้อมสำหรับการประชุมระดับรัฐมนตรีเรื่องการปฏิรูปโครงสร้าง (SRMM) ซึ่งจะจัดขึ้นในเดือนสิงหาคม 2563 ซึ่งไทยได้เสนอการพัฒนาตัวชี้วัดนอกเหนือจาก GDP เช่นดัชนีความอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกันในสังคมไทย (Green and Happiness Index : GHI) รวมทั้ง ให้ภาครัฐควรเข้ามามีบทบาทในการกำกับดูแลการดำเนินธุรกิจผ่านช่องทางดิจิทัลให้มากขึ้น
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 28 เมษายน 2563
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ
Click Donate Support Web