ทบทวนมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2563 เรื่อง การผ่อนปรนการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Sunday, 19 April 2020 19:07
- Hits: 1489
ทบทวนมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2563 เรื่อง การผ่อนปรนการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2562
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงแรงงานเสนอทบทวนมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2563 เรื่อง การผ่อนปรนการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2562 ซึ่งเห็นชอบให้ทุกหน่วยงานดำเนินการทุกขั้นตอนให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2563 เป็นวันที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563
โดยให้กระทรวงมหาดไทยและกระทรวงแรงงานไปดำเนินการแก้ไขเงื่อนเวลาในร่างประกาศกระทรวงมหาดไทยและประกาศกระทรวงแรงงานที่ผ่านการตรวจพิจารณาของคณะกรรมการตรวจสอบร่างกฎหมายและร่างอนุบัญญัติที่เสนอคณะรัฐมนตรีคณะที่ 4 แล้ว จากเดิมวันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2563 เป็นวันที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563 ต่อไปได้
กระทรวงแรงงานรายงานว่า
- คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ 2563 ให้ความเห็นชอบ การผ่อนปรนแนวทางการบริหารจัดการการทำงานของแรงงานต่างด้าว ปี 2562 – 2563 ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2563 ถึงวันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2563 โดยให้คนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว และเมียนมา ซึ่งนายจ้างหรือผู้รับอนุญาตให้นำคนต่างด้าวมาทำงานได้ยื่นบัญชีรายชื่อความต้องการจ้างแรงงานต่างด้าวต่อกระทรวงแรงงานผ่านเจ้าหน้าที่หรือผ่านระบบออนไลน์ ภายในวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2563 แต่ไม่สามารถขอตรวจอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวต่อไปเพื่อการทำงานได้ทันภายในกำหนดเวลา รวมถึงผู้ติดตาม อยู่ในราชอาณาจักรและทำงานไปพลางก่อนได้
โดยใช้บัญชีรายชื่อความต้องการจ้างแรงงานต่างด้าว (Name List) และใบอนุญาตทำงานฉบับเดิม โดยไม่ต้องมีใบอนุญาตทำงานตามกฎหมายว่าด้วยการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าวจนกว่าจะไม่ได้รับอนุญาตจากนายทะเบียนเพื่อดำเนินการตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ในมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2562 ให้แล้วเสร็จ และให้กระทรวงมหาดไทย กระทรวงแรงงาน ออกประกาศที่เกี่ยวข้อง
- แรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ (กัมพูชา ลาว เมียนมา) ซึ่งได้รับการผ่อนปรนการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2563 ต้องดำเนินการตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ในมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2562 ให้ครบทุกขั้นตอนภายในวันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2563 มิฉะนั้น การอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นอันสิ้นสุด
- ภายหลังจากการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร ตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2563 จนถึงวันที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2563 และการออกข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ดังกล่าว ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด โดยคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดและคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร ใช้อำนาจตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 พิจารณาจำกัดการเคลื่อนย้ายบุคคล และการงดกิจกรรมที่มีการชุมนุมชน เพื่อควบคุมมิให้โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ระบาดแพร่ออกไปเป็นวงกว้าง
- กระทรวงแรงงานได้ตรวจสอบข้อมูลนายจ้างหรือผู้รับอนุญาตให้นำคนต่างด้าวมาทำงานที่ได้ยื่นบัญชีรายชื่อความต้องการจ้างแรงงานต่างด้าวต่อกระทรวงแรงงานผ่านเจ้าหน้าที่หรือผ่านระบบออนไลน์ภายในวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2563 แล้ว ปรากฏว่า มีแรงงานต่างด้าวคงเหลือที่จะต้องดำเนินการตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ในมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2562 ให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2563 จำนวน 555,993 ราย
- สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ในปัจจุบันไม่คลี่คลายลงหรือเข้าสู่สภาวะปกติได้อย่างรวดเร็ว หรือหากสภาวะการแพร่ระบาดของโรคคลี่คลายลงแล้ว แต่ประชาชนยังต้องเว้นระยะนั่งหรือยืนห่างกัน (Social Distancing) เพื่อป้องกันการกลับมาติดโรคจึงไม่ควรที่จะเร่งรีบเคลื่อนย้ายแรงงานต่างด้าวจำนวนมากเพื่อดำเนินการตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ในมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2562
สาระสำคัญ
- ทบทวนมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2563 เรื่อง การผ่อนปรนการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2562 จากเดิมให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2563 เป็นวันที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563
- ทบทวนระยะเวลาการผ่อนผันให้แรงงานต่างด้าวและผู้ติดตาม อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวได้ต่อไป จนถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563 และให้ยกเว้นค่าเปรียบเทียบปรับการอยู่เกินกำหนด (Overstay) รวมถึงการยกเว้นการปฏิบัติตามคำสั่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ที่ 1/2558 เรื่อง การไม่อนุญาตให้คนต่างด้าวบางจำพวกเข้ามาในราชอาณาจักร สั่ง ณ วันที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558
- ทบทวนระยะเวลาการผ่อนผันให้แรงงานต่างด้าวที่การอนุญาตทำงานสิ้นสุดสามารถทำงานไปพลางก่อนได้จนถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563 และใช้บัญชีรายชื่อความต้องการจ้างแรงงานต่างด้าวที่กรมการจัดหางานออกให้และใบอนุญาตทำงานฉบับเดิมไปพลางก่อน
- ให้ส่วนราชการที่มีหน้าที่ตามที่กำหนดไว้ในมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2562 และนายจ้างหรือผู้รับอนุญาตให้นำคนต่างด้าวมาทำงาน ถือปฏิบัติตามมาตรการที่ส่วนราชการประกาศกำหนดตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน และข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน และที่ประกาศเพิ่มเติมอย่างเคร่งครัด เช่น การโดยสารยานพาหนะต้องเป็นไปตามจำนวนที่ทางราชการกำหนด การจำกัดจำนวนและปรับระยะเวลาการปฏิบัติงาน การเว้นระยะนั่งหรือยืนห่างกันอย่างน้อยหนึ่งเมตร (Social Distancing) เพื่อป้องกันการติดต่อสัมผัสหรือแพร่เชื้อโรคทางละอองฝอย หรือการให้บริการด้วยการสื่อสารแบบดิจิทัล เป็นต้น
- การบริหารจัดการเพิ่มเติมจากขั้นตอนที่กำหนดไว้ในมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2562 ดังนี้
(1) กระทรวงแรงงานจะจัดระบบนัดหมายให้แรงงานต่างด้าวเข้ารับการตรวจสุขภาพในโรงพยาบาลของรัฐ เพื่อให้บริการตรวจสุขภาพเป็นไปอย่างเต็มประสิทธิภาพ
(2) เมื่อแรงงานต่างด้าวได้รับใบรับรองผลการตรวจสุขภาพแล้ว สามารถยื่นขอรับใบอนุญาตทำงานผ่านทางระบบออนไลน์ (https://e-workpermit.doe.go.th/)
(3) นายจ้างหรือผู้รับอนุญาตให้นำคนต่างด้าวมาทำงานต้องพาแรงงานต่างด้าวไปจัดเก็บข้อมูลชีวภาพและอัตลักษณ์บุคคล (Biometrics Data) ณ ที่ทำการตรวจคนเข้าเมือง และจัดเก็บลายนิ้วมือ ณ ศูนย์บริการงานทะเบียนภาค สาขาจังหวัด หรือสำนักงานเขตของกรุงเทพมหานคร ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีระบบออนไลน์รองรับ
ทั้งนี้ การทบทวนมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2563 เรื่อง การผ่อนปรนการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2562 เป็นการควบคุมมิให้โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) แพร่ระบาดออกไปเป็นวงกว้าง ในสถานที่ที่มีประชาชนมาใช้บริการเป็นจำนวนมากส่งเสริมให้การแก้ไขสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ยุติลงได้โดยเร็วและป้องกันมิให้เกิดเหตุการณ์ร้ายแรงมากขึ้น เสริมสร้าง ความมั่นคงด้านสาธารณสุขของประเทศโดยรวมซึ่งสอดคล้องกับมาตรการเร่งด่วนในการป้องกันวิกฤตการณ์จากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2563
แรงงานต่างด้าวซึ่งนายจ้างหรือผู้รับอนุญาตให้นำคนต่างด้าวมาทำงานได้ยื่นบัญชีรายชื่อความต้องการจ้างแรงงานต่างด้าวต่อกระทรวงแรงงานผ่านเจ้าหน้าที่หรือผ่านระบบออนไลน์ไว้แล้วภายในวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2563 แต่ไม่สามารถดำเนินการตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2562 ได้ ในช่วงระยะเวลาที่เกิดสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ยังคงเป็นแรงงานต่างด้าวที่สามารถอยู่ในราชอาณาจักรและทำงานต่อไปได้ในกิจการที่ขาดแคลนแรงงาน
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 15 เมษายน 2563
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ
Click Donate Support Web