มาตรการเตรียมความพร้อมของหน่วยงานภาครัฐในการบริหารราชการและให้บริการประชาชนในสภาวะวิกฤต [รองรับสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Saturday, 04 April 2020 11:46
- Hits: 2070
มาตรการเตรียมความพร้อมของหน่วยงานภาครัฐในการบริหารราชการและให้บริการประชาชนในสภาวะวิกฤต [รองรับสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบมาตรการเตรียมความพร้อมของหน่วยงานภาครัฐในการบริหารราชการและให้บริการประชาชนในสภาวะวิกฤต [รองรับสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 (Coronavirus Disease 2019 : COVID - 19)] ตามที่สำนักงาน ก.พ.ร. เสนอ ดังนี้
สาระสำคัญของเรื่อง
สำนักงาน ก.พ.ร. รายงานว่า
- โดยที่สถานการณ์การระบาดของโรคโควิด 19 ได้แพร่อย่างรวดเร็วและกว้างขวางไปหลายประเทศทั่วโลก ส่งผลให้กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ต้องยกระดับการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคโควิด 19 โดยได้ออกประกาศ สธ. เรื่อง ชื่อและอาการสำคัญของโรคติดต่ออันตราย (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2563 ให้โรคโควิด 19 เป็นโรคติดต่ออันตรายตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2563
- แม้ว่าปัจจุบัน สธ. และหน่วยงานภาครัฐต่าง ๆ ได้มีการประชาสัมพันธ์ขอความร่วมมือจากประชาชนในการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 โดยขอให้ประชาชนหลีกเลี่ยงการเดินทางไปยังพื้นที่เสี่ยงหรือสถานที่ชุมนุม ซึ่งรวมถึงสถานที่ทำการของหน่วยงานภาครัฐที่มีผู้ขอรับบริการเป็นจำนวนมากแล้วก็ตาม แต่โดยที่การขอรับบริการภาครัฐในหลายกรณีเป็นกรณีที่กฎหมายกำหนดให้ประชาชนต้องติดต่อขอรับบริการกับหน่วยงานของรัฐภายใต้กรอบระยะเวลาที่กำหนดไว้ ในขณะที่การให้บริการภาครัฐในปัจจุบันส่วนใหญ่ยังคงยึดรูปแบบในลักษณะที่ประชาชนต้องเดินทางมาขอรับบริการด้วยตนเอง ส่งผลให้ผู้ที่ต้องเดินทางมาขอรับบริการมีความเสี่ยงในการติดเชื้อโรคโควิด 19 โดยไม่อาจหลีกเลี่ยงได้
- สำนักงาน ก.พ.ร. ในฐานะหน่วยงานกลางซึ่งมีภารกิจหลักในการยกระดับและประสิทธิภาพในการบริหารราชการและให้บริการประชาชนของหน่วยงานภาครัฐเห็นว่าหากโรคโควิด 19 ยังคงแพร่ระบาดต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานหรือมีความรุนแรงเพิ่มขึ้น อาจมีผลกระทบต่อการบริหารราชการและการให้บริการประชาชนของหน่วยงานภาครัฐได้ ดังนั้น เพื่อให้การบริหารราชการและการบริการประชาชนสามารถดำเนินการไปได้อย่างมีประสิทธิภาพและต่อเนื่อง จึงเห็นควรเสนอมาตรการเตรียมความพร้อมของหน่วยงานภาครัฐในการบริหารราชการและให้บริการประชาชนในสภาวะวิกฤต (รองรับสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด 19) เพื่อรองรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อฯ ดังกล่าว
- สำนักงาน ก.พ.ร. ได้ศึกษาและพิจารณาหาแนวทางแก้ไข และพบว่ามติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 24 เมษายน 2555 เรื่อง การบริหารความพร้อมต่อสภาวะวิกฤตได้มีการกำหนดให้หน่วยงานภาครัฐต้องจัดทำแผนบริหารความพร้อมต่อสภาวะวิกฤตซึ่งครอบคลุมถึงกรณีที่เกิดภัยธรรมชาติหรือเหตุฉุกเฉินอื่นไว้แล้ว แต่แผนบริหารความพร้อมต่อสภาวะวิกฤตดังกล่าวยังไม่เคยมีการทบทวนหรือปรับปรุงให้สอดคล้องกับสภาวการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปและความก้าวหน้าอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยี (Digital Disruption) รวมทั้งยังไม่ครอบคลุมถึงกรณีของการแพร่ระบาดของโรคร้ายแรงดังเช่นกรณีของโรคโควิด 19 จึงเห็นควรกำหนดมาตรการเตรียมความพร้อมของหน่วยงานภาครัฐในการบริหารราชการและให้บริการประชาชนในสภาวะวิกฤต (รองรับสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด 19) ดังนี้
มาตรการ หน่วยงานที่รับผิดชอบ
- มาตรการเพื่อการปรับเปลี่ยนการให้บริการงานอนุมัติ อนุญาต รับรอง จดแจ้ง หรือจดทะเบียนตามกฎหมาย
1.1 ให้เร่งประชาสัมพันธ์การให้บริการ e-Service ในทุกช่องทาง รวมถึงให้เจ้าหน้าที่ของหน่วยงานซึ่งประจำ ณ จุดบริการแนะนำประชาชนที่ใช้บริการโดยตรงให้ใช้บริการผ่าน e - Service ในการติดต่อราชการครั้งต่อไป
- หน่วยงานของรัฐที่สามารถให้บริการอนุมัติ อนุญาต รับรอง จดแจ้ง หรือรับจดทะเบียนผ่านระบบ e–Service ได้แล้ว
เผยแพร่ประชาสัมพันธ์รายชื่องานบริการ e – Service ของภาครัฐ ผ่านช่องทางในความดูแลร่วม
- สำนักงาน ก.พ.ร.
1.2 ให้กำหนดมาตรการชั่วคราวให้ใช้ช่องทางการรับส่งเอกสารอื่น ๆ แทนการให้ประชาชนเดินทางมาติดต่อด้วยตนเอง เช่น การรับส่งเอกสารทางไปรษณีย์ โทรสาร หรือไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ (e-mail) โดยให้ถือว่าเอกสารหลักฐานที่รับส่งผ่านช่องทางดังกล่าวเป็นหลักฐานโดยชอบตามกฎหมายไปพลางก่อน และหากมีความจำเป็นต้องมีการยืนยันตัวตนหรือใช้เอกสารต้นฉบับแล้ว ให้เปิดช่องทางให้ประชาชนผู้ขอรับบริการสามารถยืนยันตัวตนหรือแสดงเอกสารต้นฉบับ ณ จุดให้บริการของหน่วยงานของรัฐหลังจากสถานการณ์กลับสู่สภาวะปกติได้
- หน่วยงานของรัฐที่ยังไม่สามารถให้บริการอนุมัติ อนุญาต รับรอง จดแจ้ง หรือรับจดทะเบียนผ่านระบบ e - Service ได้
1.3 ให้ทบทวนกฎหมายที่มีการกำหนดให้ต้องมีการต่ออายุใบอนุญาตสำหรับกิจการหรือการดำเนินการที่มีลักษณะต่อเนื่อง และเสนอร่างพระราชกฤษฎีกาเพื่อให้ประชาชนสามารถชำระค่าธรรมเนียมต่ออายุใบอนุญาตแทนการยื่นคำขอต่ออายุใบอนุญาตด้วยตนเองโดยเร่งด่วน เพื่อลดภาระของประชาชนในการดำเนินการยื่นคำขอต่ออายุใบอนุญาตและลดความหนาแน่นของจำนวนผู้ขอรับบริการที่หน่วยงาน
- สำนักงาน ก.พ.ร.
- สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา
1.4 เร่งรัดการดำเนินงานของศูนย์รับคำขออนุญาตผ่านระบบการให้บริการภาครัฐแบบเบ็ดเสร็จทางอิเล็กทรอนิกส์ (Biz Portal) ให้สามารถให้บริการได้อย่างเต็มรูปแบบ โดยร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ให้สมบูรณ์ ดังนี้
- สำนักงาน ก.พ.ร.
1.4.1 เร่งรัดการพัฒนาระบบยืนยันตัวตนอิเล็กทรอนิกส์ (e - Authentication) โดยใช้ฐานข้อมูลเลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก เพื่อให้หน่วยงานของรัฐสามารถใช้ยืนยันตัวตนผู้ขอรับบริการต่าง ๆ ของภาครัฐและเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างกันได้ ทั้งนี้ สามารถเปิดให้ภาคเอกชนผู้ให้บริการเกี่ยวกับระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัลร่วมพัฒนาเพื่อเป็นทางเลือกร่วมด้วย - สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) (สพร.)
- สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน)
- มท. (กรมการปกครอง)
1.4.2 เร่งรัดหน่วยงานของรัฐให้สามารถบริหารราชการและบริการประชาชนผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (e - Service) ได้อย่างเต็มรูปแบบ โดยเร่งจัดทำแพลตฟอร์มดิจิทัลกลางเพื่อให้ส่วนราชการใช้ในการบริการประชาชนและการติดต่อประสานงานระหว่างกันได้ รวมทั้งให้การรับส่งเอกสารระหว่างหน่วยงานของรัฐและประชาชนเป็นไปในรูปแบบเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ (e - Document) รวมถึงการออกใบอนุญาตอิเล็กทรอนิกส์ (e - License) ให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน ทั้งนี้ เพื่อลดการเดินทางมาติดต่อราชการของประชาชนในสภาวะวิกฤตด้วย
- สำนักงาน ก.พ.ร.
- สพร.
1.4.3 กำหนดแนวทางการรับชำระเงินผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์ (e – Payment) เพื่อให้หน่วยงานของรัฐนำไปใช้รับค่าธรรมเนียมหรือเงินอื่นใดจากประชาชนให้เป็นไปในมาตรฐานเดียวกันและเพื่อให้การบริการประชาชนผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (e – Service) สามารถดำเนินการได้อย่างเต็มรูปแบบ
- กระทรวงการคลัง (กค.)
(กรมบัญชีกลาง)
1.5 ดำเนินการยกระดับงานบริการประชาชนที่เป็นงานบริการจดแจ้ง เช่น การแจ้งตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎรของสำนักงานเขตพื้นที่ทั้งหมดให้เป็นระบบ e – Service ได้อย่างสมบูรณ์ภายในปี พ.ศ. 2565 เพื่อเป็นหน่วยงานท้องถิ่นต้นแบบในการอำนวยความสะดวกแก่ประชาชน และเพื่อลดการเดินทางของประชาชนไปดำเนินการที่สำนักงานเขตพื้นที่
- กรุงเทพมหานคร
สนับสนุนการดำเนินงานของกรุงเทพมหานคร
- สำนักงาน ก.พ.ร.
- สพร.
1.6 พัฒนาการให้บริการประชาชนที่มิใช่งานแจ้งเหตุด่วนเหตุร้าย เช่น งานรับแจ้งบันทึกประจำวันเพื่อเป็นหลักฐาน หรือการรับแจ้งเบาะแสการกระทำความผิดให้สามารถดำเนินการผ่านระบบ e – Service ได้
- ตช.
- มาตรการเพิ่มเติมอื่นเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการของหน่วยงานของรัฐและลดผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด 19
2.1 เพิ่มบริการทางเลือกสำหรับการจัดส่งยาถึงบ้านผู้ป่วยต่อเนื่องซึ่งไม่จำเป็นต้องให้แพทย์ตรวจเพิ่มเติมก่อนรับยา โดยให้ใช้บริการส่งทางไปรษณีย์หรือผ่านทางบริษัทขนส่งสินค้าแทนการรับยาด้วยตนเอง และให้ผู้ป่วยที่เลือกใช้บริการเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย นอกจากนี้ อาจพิจารณานำเทคโนโลยี
หุ่นยนต์ (Robotics) มาใช้ในการให้บริการทางการแพทย์เพื่อช่วยลดการสัมผัสระหว่างบุคลากรทางการแพทย์หรือควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อด้วย
- สธ.
- โรงพยาบาลของรัฐ
2.2 เร่งรัดพัฒนาระบบการแพทย์ทางไกล (Telemedicine)โดยใช้เทคโนโลยีสนเทศและการสื่อสารหรืออุปกรณ์มัลติมีเดียมาใช้ควบคู่กับนวัตกรรมทางการแพทย์และระบบโทรคมนาคมเฉพาะทางรองรับระบบดูแลสุขภาพทางไกล เช่น การใช้ซอฟต์แวร์ที่มีเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาช่วยในการคัดกรองโรคระบบให้คำปรึกษาด้านสุขภาพทางไกล
- สธ.
2.3 เร่งรัดพัฒนาการจัดการเรียนการสอนผ่านช่องทางอื่น ๆ นอกเหนือจากการเรียนที่สถานศึกษา เช่น การเรียนการสอนผ่านทางโทรทัศน์ (Education Channel) การศึกษาผ่านทางออนไลน์ ควบคู่ไปกับการส่งเสริมให้บุคลากรทางการศึกษาใช้เทคโนโลยีในการสอนทางไกลเพื่อรองรับกรณีที่มีความจำเป็นต้องมีการปิดสถานศึกษาอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน
กระทรวงศึกษาธิการ
- กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม
- มาตรการเพิ่มประสิทธิภาพในการให้ข้อมูลข่าวสารแก่ประชาชน
3.1 เพิ่มช่องทางการเข้าสู่ระบบการประเมินอาการและการดูแลตนเองเบื้องต้น (Self – Screening Application) ในรูปแบบออนไลน์ผ่านเว็บไซต์หน่วยงานหรือจัดทำเป็นแอปพลิเคชัน นอกเหนือจากช่องทางผ่าน Line Application ในปัจจุบัน โดยอาจจัดทำเป็นรายการตรวจสอบ (Checklist) เพื่อให้ประชาชนใช้ในการประเมินความเสี่ยงเบื้องต้น รวมทั้งควรพัฒนาระบบตอบกลับอัตโนมัติ (Chatbot) ซึ่งปัจจุบันให้บริการอยู่แล้วผ่านทาง Line Application เพื่อให้ข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์หรือแนะนำการดูแลตนเองของประชาชนได้มากขึ้น รวมถึงการนำเทคโนโลยีหุ่นยนต์ (Robotics) มาใช้ในการให้บริการข้อมูลเบื้องต้น ณ ท่าอากาศยาน พื้นที่เสี่ยง หรือแหล่งชุมชน
- สธ. (กรมควบคุมโรค)
3.2 นำระบบ SMS มาใช้ในแจ้งเตือนข้อมูลเกี่ยวกับโรคโควิด 19 ให้แก่ผู้เดินทางเข้าประเทศ โดยเฉพาะผู้ที่เดินทางมาจากประเทศกลุ่มเสี่ยง
- กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
- สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)
3.3 ให้ปรับเปลี่ยนข้อความอัตโนมัติของสายด่วน 1111 ศูนย์บริการภาครัฐเพื่อประชาชน โดยกำหนดช่องทางลัดสำหรับเข้าถึงข้อมูลเกี่ยวกับโรคโควิด 19 เป็นลำดับแรก รวมทั้งเพิ่มข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์โรคโควิด 19 ในหน้าหลักของเว็บไซต์ http://www.1111.go.th
- สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี
3.4 ในระยะต่อไปให้เร่งรัดพัฒนาระบบศูนย์กลางการเข้าถึงข้อมูลและบริการภาครัฐสำหรับประชาชน (Citizen Portal) เพื่อใช้เป็นช่องทางหลักในการสื่อสารกับประชาชน โดยออกแบบให้สามารถปรับเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารที่เป็นประเด็นที่ประชาชนให้ความสนใจได้
- สพร.
เพื่อให้มาตรการทั้งหมดข้างต้นมีการนำไปปฏิบัติและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เห็นควรดำเนินการ ดังนี้
(1) ให้สำนักงาน ก.พ.ร. ประสานงานกับหน่วยงานของรัฐทุกหน่วยดำเนินการทบทวนและปรับปรุงแผนการบริหารความพร้อมต่อสภาวะวิกฤต (business continuity plan) ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 24 เมษายน 2555 ให้เป็นปัจจุบัน โดยนำมาตรการที่กำหนดในข้อ 3.1 – 3.4 มาผนวกไว้ในแผนฯ รวมทั้งปรับปรุงแผนฯ ให้สามารถรองรับกรณีเกิดโรคระบาดต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานได้ ทั้งนี้ การปรับเปลี่ยนแผนการบริหารความพร้อมต่อสภาวะวิกฤตนั้นให้มุ่งเน้นการนำระบบบริการอิเล็กทรอนิกส์ (e – Service) รวมทั้งเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการบริหารงานและให้บริการประชาชนด้วย
(2) ให้หน่วยงานของรัฐทุกแห่งจัดส่งแผนบริหารความพร้อมต่อสภาวะวิกฤตที่ปรับปรุงแล้วเสร็จให้สำนักงาน ก.พ.ร. ภายในเดือนมิถุนายน 2563 เพื่อรวบรวมเป็นข้อมูลในการพัฒนาแนวทางการยกระดับประสิทธิภาพการบริการภาครัฐต่อไป
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 31 มีนาคม 2563
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ
Click Donate Support Web