WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

มาตรการเตรียมความพร้อมของหน่วยงานภาครัฐในการบริหารราชการและให้บริการประชาชนในสภาวะวิกฤต [รองรับสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)

GOV 5 มาตรการเตรียมความพร้อมของหน่วยงานภาครัฐในการบริหารราชการและให้บริการประชาชนในสภาวะวิกฤต [รองรับสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)

     คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบมาตรการเตรียมความพร้อมของหน่วยงานภาครัฐในการบริหารราชการและให้บริการประชาชนในสภาวะวิกฤต [รองรับสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 (Coronavirus Disease 2019 : COVID - 19)] ตามที่สำนักงาน ก.พ.ร. เสนอ ดังนี้

 

สาระสำคัญของเรื่อง

สำนักงาน ก.พ.ร. รายงานว่า

  1.    โดยที่สถานการณ์การระบาดของโรคโควิด 19 ได้แพร่อย่างรวดเร็วและกว้างขวางไปหลายประเทศทั่วโลก ส่งผลให้กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ต้องยกระดับการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคโควิด 19 โดยได้ออกประกาศ สธ. เรื่อง ชื่อและอาการสำคัญของโรคติดต่ออันตราย (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2563 ให้โรคโควิด 19 เป็นโรคติดต่ออันตรายตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2563
  2.   แม้ว่าปัจจุบัน สธ. และหน่วยงานภาครัฐต่าง ๆ ได้มีการประชาสัมพันธ์ขอความร่วมมือจากประชาชนในการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 โดยขอให้ประชาชนหลีกเลี่ยงการเดินทางไปยังพื้นที่เสี่ยงหรือสถานที่ชุมนุม ซึ่งรวมถึงสถานที่ทำการของหน่วยงานภาครัฐที่มีผู้ขอรับบริการเป็นจำนวนมากแล้วก็ตาม แต่โดยที่การขอรับบริการภาครัฐในหลายกรณีเป็นกรณีที่กฎหมายกำหนดให้ประชาชนต้องติดต่อขอรับบริการกับหน่วยงานของรัฐภายใต้กรอบระยะเวลาที่กำหนดไว้ ในขณะที่การให้บริการภาครัฐในปัจจุบันส่วนใหญ่ยังคงยึดรูปแบบในลักษณะที่ประชาชนต้องเดินทางมาขอรับบริการด้วยตนเอง ส่งผลให้ผู้ที่ต้องเดินทางมาขอรับบริการมีความเสี่ยงในการติดเชื้อโรคโควิด 19 โดยไม่อาจหลีกเลี่ยงได้
  3.    สำนักงาน ก.พ.ร. ในฐานะหน่วยงานกลางซึ่งมีภารกิจหลักในการยกระดับและประสิทธิภาพในการบริหารราชการและให้บริการประชาชนของหน่วยงานภาครัฐเห็นว่าหากโรคโควิด 19 ยังคงแพร่ระบาดต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานหรือมีความรุนแรงเพิ่มขึ้น อาจมีผลกระทบต่อการบริหารราชการและการให้บริการประชาชนของหน่วยงานภาครัฐได้ ดังนั้น เพื่อให้การบริหารราชการและการบริการประชาชนสามารถดำเนินการไปได้อย่างมีประสิทธิภาพและต่อเนื่อง จึงเห็นควรเสนอมาตรการเตรียมความพร้อมของหน่วยงานภาครัฐในการบริหารราชการและให้บริการประชาชนในสภาวะวิกฤต (รองรับสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด 19) เพื่อรองรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อฯ ดังกล่าว
  4.     สำนักงาน ก.พ.ร. ได้ศึกษาและพิจารณาหาแนวทางแก้ไข และพบว่ามติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 24 เมษายน 2555 เรื่อง การบริหารความพร้อมต่อสภาวะวิกฤตได้มีการกำหนดให้หน่วยงานภาครัฐต้องจัดทำแผนบริหารความพร้อมต่อสภาวะวิกฤตซึ่งครอบคลุมถึงกรณีที่เกิดภัยธรรมชาติหรือเหตุฉุกเฉินอื่นไว้แล้ว แต่แผนบริหารความพร้อมต่อสภาวะวิกฤตดังกล่าวยังไม่เคยมีการทบทวนหรือปรับปรุงให้สอดคล้องกับสภาวการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปและความก้าวหน้าอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยี (Digital Disruption) รวมทั้งยังไม่ครอบคลุมถึงกรณีของการแพร่ระบาดของโรคร้ายแรงดังเช่นกรณีของโรคโควิด 19 จึงเห็นควรกำหนดมาตรการเตรียมความพร้อมของหน่วยงานภาครัฐในการบริหารราชการและให้บริการประชาชนในสภาวะวิกฤต (รองรับสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด 19) ดังนี้

มาตรการ           หน่วยงานที่รับผิดชอบ

  1. มาตรการเพื่อการปรับเปลี่ยนการให้บริการงานอนุมัติ อนุญาต รับรอง จดแจ้ง หรือจดทะเบียนตามกฎหมาย

   1.1 ให้เร่งประชาสัมพันธ์การให้บริการ e-Service ในทุกช่องทาง รวมถึงให้เจ้าหน้าที่ของหน่วยงานซึ่งประจำ ณ จุดบริการแนะนำประชาชนที่ใช้บริการโดยตรงให้ใช้บริการผ่าน e - Service ในการติดต่อราชการครั้งต่อไป              

- หน่วยงานของรัฐที่สามารถให้บริการอนุมัติ อนุญาต รับรอง จดแจ้ง หรือรับจดทะเบียนผ่านระบบ e–Service ได้แล้ว

         เผยแพร่ประชาสัมพันธ์รายชื่องานบริการ e – Service ของภาครัฐ ผ่านช่องทางในความดูแลร่วม       

- สำนักงาน ก.พ.ร.

   1.2 ให้กำหนดมาตรการชั่วคราวให้ใช้ช่องทางการรับส่งเอกสารอื่น ๆ แทนการให้ประชาชนเดินทางมาติดต่อด้วยตนเอง เช่น การรับส่งเอกสารทางไปรษณีย์ โทรสาร หรือไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ (e-mail) โดยให้ถือว่าเอกสารหลักฐานที่รับส่งผ่านช่องทางดังกล่าวเป็นหลักฐานโดยชอบตามกฎหมายไปพลางก่อน และหากมีความจำเป็นต้องมีการยืนยันตัวตนหรือใช้เอกสารต้นฉบับแล้ว ให้เปิดช่องทางให้ประชาชนผู้ขอรับบริการสามารถยืนยันตัวตนหรือแสดงเอกสารต้นฉบับ ณ จุดให้บริการของหน่วยงานของรัฐหลังจากสถานการณ์กลับสู่สภาวะปกติได้   

- หน่วยงานของรัฐที่ยังไม่สามารถให้บริการอนุมัติ อนุญาต รับรอง จดแจ้ง หรือรับจดทะเบียนผ่านระบบ e - Service ได้

   1.3 ให้ทบทวนกฎหมายที่มีการกำหนดให้ต้องมีการต่ออายุใบอนุญาตสำหรับกิจการหรือการดำเนินการที่มีลักษณะต่อเนื่อง และเสนอร่างพระราชกฤษฎีกาเพื่อให้ประชาชนสามารถชำระค่าธรรมเนียมต่ออายุใบอนุญาตแทนการยื่นคำขอต่ออายุใบอนุญาตด้วยตนเองโดยเร่งด่วน เพื่อลดภาระของประชาชนในการดำเนินการยื่นคำขอต่ออายุใบอนุญาตและลดความหนาแน่นของจำนวนผู้ขอรับบริการที่หน่วยงาน          

- สำนักงาน ก.พ.ร.

- สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา

    1.4 เร่งรัดการดำเนินงานของศูนย์รับคำขออนุญาตผ่านระบบการให้บริการภาครัฐแบบเบ็ดเสร็จทางอิเล็กทรอนิกส์ (Biz Portal) ให้สามารถให้บริการได้อย่างเต็มรูปแบบ โดยร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ให้สมบูรณ์ ดังนี้

- สำนักงาน ก.พ.ร.

         1.4.1 เร่งรัดการพัฒนาระบบยืนยันตัวตนอิเล็กทรอนิกส์ (e - Authentication) โดยใช้ฐานข้อมูลเลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก เพื่อให้หน่วยงานของรัฐสามารถใช้ยืนยันตัวตนผู้ขอรับบริการต่าง ๆ ของภาครัฐและเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างกันได้ ทั้งนี้ สามารถเปิดให้ภาคเอกชนผู้ให้บริการเกี่ยวกับระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัลร่วมพัฒนาเพื่อเป็นทางเลือกร่วมด้วย        - สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) (สพร.)

- สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน)

- มท. (กรมการปกครอง)

          1.4.2 เร่งรัดหน่วยงานของรัฐให้สามารถบริหารราชการและบริการประชาชนผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (e - Service) ได้อย่างเต็มรูปแบบ โดยเร่งจัดทำแพลตฟอร์มดิจิทัลกลางเพื่อให้ส่วนราชการใช้ในการบริการประชาชนและการติดต่อประสานงานระหว่างกันได้ รวมทั้งให้การรับส่งเอกสารระหว่างหน่วยงานของรัฐและประชาชนเป็นไปในรูปแบบเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ (e - Document) รวมถึงการออกใบอนุญาตอิเล็กทรอนิกส์ (e - License) ให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน ทั้งนี้ เพื่อลดการเดินทางมาติดต่อราชการของประชาชนในสภาวะวิกฤตด้วย         

- สำนักงาน ก.พ.ร.

- สพร.

           1.4.3 กำหนดแนวทางการรับชำระเงินผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์ (e – Payment) เพื่อให้หน่วยงานของรัฐนำไปใช้รับค่าธรรมเนียมหรือเงินอื่นใดจากประชาชนให้เป็นไปในมาตรฐานเดียวกันและเพื่อให้การบริการประชาชนผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (e – Service) สามารถดำเนินการได้อย่างเต็มรูปแบบ             

- กระทรวงการคลัง (กค.)

  (กรมบัญชีกลาง)

    1.5 ดำเนินการยกระดับงานบริการประชาชนที่เป็นงานบริการจดแจ้ง เช่น การแจ้งตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎรของสำนักงานเขตพื้นที่ทั้งหมดให้เป็นระบบ e – Service ได้อย่างสมบูรณ์ภายในปี พ.ศ. 2565 เพื่อเป็นหน่วยงานท้องถิ่นต้นแบบในการอำนวยความสะดวกแก่ประชาชน และเพื่อลดการเดินทางของประชาชนไปดำเนินการที่สำนักงานเขตพื้นที่       

- กรุงเทพมหานคร

            สนับสนุนการดำเนินงานของกรุงเทพมหานคร       

- สำนักงาน ก.พ.ร.

- สพร.

    1.6 พัฒนาการให้บริการประชาชนที่มิใช่งานแจ้งเหตุด่วนเหตุร้าย เช่น งานรับแจ้งบันทึกประจำวันเพื่อเป็นหลักฐาน หรือการรับแจ้งเบาะแสการกระทำความผิดให้สามารถดำเนินการผ่านระบบ e – Service ได้        

- ตช.

  1. มาตรการเพิ่มเติมอื่นเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการของหน่วยงานของรัฐและลดผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด 19

    2.1 เพิ่มบริการทางเลือกสำหรับการจัดส่งยาถึงบ้านผู้ป่วยต่อเนื่องซึ่งไม่จำเป็นต้องให้แพทย์ตรวจเพิ่มเติมก่อนรับยา โดยให้ใช้บริการส่งทางไปรษณีย์หรือผ่านทางบริษัทขนส่งสินค้าแทนการรับยาด้วยตนเอง และให้ผู้ป่วยที่เลือกใช้บริการเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย นอกจากนี้ อาจพิจารณานำเทคโนโลยี

หุ่นยนต์ (Robotics) มาใช้ในการให้บริการทางการแพทย์เพื่อช่วยลดการสัมผัสระหว่างบุคลากรทางการแพทย์หรือควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อด้วย   

- สธ.

- โรงพยาบาลของรัฐ

    2.2 เร่งรัดพัฒนาระบบการแพทย์ทางไกล (Telemedicine)โดยใช้เทคโนโลยีสนเทศและการสื่อสารหรืออุปกรณ์มัลติมีเดียมาใช้ควบคู่กับนวัตกรรมทางการแพทย์และระบบโทรคมนาคมเฉพาะทางรองรับระบบดูแลสุขภาพทางไกล เช่น การใช้ซอฟต์แวร์ที่มีเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาช่วยในการคัดกรองโรคระบบให้คำปรึกษาด้านสุขภาพทางไกล            

- สธ.

    2.3 เร่งรัดพัฒนาการจัดการเรียนการสอนผ่านช่องทางอื่น ๆ นอกเหนือจากการเรียนที่สถานศึกษา เช่น การเรียนการสอนผ่านทางโทรทัศน์ (Education Channel) การศึกษาผ่านทางออนไลน์ ควบคู่ไปกับการส่งเสริมให้บุคลากรทางการศึกษาใช้เทคโนโลยีในการสอนทางไกลเพื่อรองรับกรณีที่มีความจำเป็นต้องมีการปิดสถานศึกษาอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน          

กระทรวงศึกษาธิการ

- กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม

  1. มาตรการเพิ่มประสิทธิภาพในการให้ข้อมูลข่าวสารแก่ประชาชน

    3.1 เพิ่มช่องทางการเข้าสู่ระบบการประเมินอาการและการดูแลตนเองเบื้องต้น (Self – Screening Application) ในรูปแบบออนไลน์ผ่านเว็บไซต์หน่วยงานหรือจัดทำเป็นแอปพลิเคชัน นอกเหนือจากช่องทางผ่าน Line Application ในปัจจุบัน โดยอาจจัดทำเป็นรายการตรวจสอบ (Checklist) เพื่อให้ประชาชนใช้ในการประเมินความเสี่ยงเบื้องต้น รวมทั้งควรพัฒนาระบบตอบกลับอัตโนมัติ (Chatbot) ซึ่งปัจจุบันให้บริการอยู่แล้วผ่านทาง Line Application เพื่อให้ข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์หรือแนะนำการดูแลตนเองของประชาชนได้มากขึ้น รวมถึงการนำเทคโนโลยีหุ่นยนต์ (Robotics) มาใช้ในการให้บริการข้อมูลเบื้องต้น ณ ท่าอากาศยาน พื้นที่เสี่ยง หรือแหล่งชุมชน    

- สธ. (กรมควบคุมโรค)

    3.2 นำระบบ SMS มาใช้ในแจ้งเตือนข้อมูลเกี่ยวกับโรคโควิด 19 ให้แก่ผู้เดินทางเข้าประเทศ โดยเฉพาะผู้ที่เดินทางมาจากประเทศกลุ่มเสี่ยง         

- กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม

- สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)

    3.3 ให้ปรับเปลี่ยนข้อความอัตโนมัติของสายด่วน 1111 ศูนย์บริการภาครัฐเพื่อประชาชน โดยกำหนดช่องทางลัดสำหรับเข้าถึงข้อมูลเกี่ยวกับโรคโควิด 19 เป็นลำดับแรก รวมทั้งเพิ่มข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์โรคโควิด 19 ในหน้าหลักของเว็บไซต์ http://www.1111.go.th               

- สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี

    3.4 ในระยะต่อไปให้เร่งรัดพัฒนาระบบศูนย์กลางการเข้าถึงข้อมูลและบริการภาครัฐสำหรับประชาชน (Citizen Portal) เพื่อใช้เป็นช่องทางหลักในการสื่อสารกับประชาชน โดยออกแบบให้สามารถปรับเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารที่เป็นประเด็นที่ประชาชนให้ความสนใจได้            

- สพร.                            

เพื่อให้มาตรการทั้งหมดข้างต้นมีการนำไปปฏิบัติและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เห็นควรดำเนินการ ดังนี้

        (1) ให้สำนักงาน ก.พ.ร. ประสานงานกับหน่วยงานของรัฐทุกหน่วยดำเนินการทบทวนและปรับปรุงแผนการบริหารความพร้อมต่อสภาวะวิกฤต (business continuity plan) ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 24 เมษายน 2555 ให้เป็นปัจจุบัน โดยนำมาตรการที่กำหนดในข้อ 3.1 – 3.4 มาผนวกไว้ในแผนฯ รวมทั้งปรับปรุงแผนฯ ให้สามารถรองรับกรณีเกิดโรคระบาดต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานได้ ทั้งนี้ การปรับเปลี่ยนแผนการบริหารความพร้อมต่อสภาวะวิกฤตนั้นให้มุ่งเน้นการนำระบบบริการอิเล็กทรอนิกส์ (e – Service) รวมทั้งเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการบริหารงานและให้บริการประชาชนด้วย

        (2)  ให้หน่วยงานของรัฐทุกแห่งจัดส่งแผนบริหารความพร้อมต่อสภาวะวิกฤตที่ปรับปรุงแล้วเสร็จให้สำนักงาน ก.พ.ร. ภายในเดือนมิถุนายน 2563 เพื่อรวบรวมเป็นข้อมูลในการพัฒนาแนวทางการยกระดับประสิทธิภาพการบริการภาครัฐต่อไป

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี)  31 มีนาคม 2563

สำนักโฆษก   สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396

******************************************

 

line logotwitterLike1 Share3Like1 Share1กด Like - Share  เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ

 Click Donate Support Web

SAM720x100px bgGC 790x90

SME720 x 100banpu 720x90 new1 1

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!