รายงานสรุปผลการพิจารณาต่อข้อเสนอแนะมาตรการหรือแนวทางในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน กรณีปัญหาพนักงานจ้างเหมาบริการในหน่วยงานของรัฐไม่ได้รับความเป็นธรรมในการปฏิบัติงาน
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Thursday, 26 March 2020 22:24
- Hits: 1627
รายงานสรุปผลการพิจารณาต่อข้อเสนอแนะมาตรการหรือแนวทางในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน กรณีปัญหาพนักงานจ้างเหมาบริการในหน่วยงานของรัฐไม่ได้รับความเป็นธรรมในการปฏิบัติงาน
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบรายงานสรุปผลการพิจารณาต่อข้อเสนอแนะมาตรการหรือแนวทางในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน กรณีปัญหาพนักงานจ้างเหมาบริการในหน่วยงานของรัฐไม่ได้รับความเป็นธรรมในการปฏิบัติงาน ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ตามที่สำนักงาน ก.พ. เสนอ และแจ้งให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติทราบต่อไป
สาระสำคัญของเรื่อง
สำนักงาน ก.พ. รายงานว่า ได้ประชุมหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงการคลัง (กค.) กระทรวงแรงงาน (รง.) สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) สำนักงาน ก.พ.ร. กรมบัญชีกลาง และสำนักงานประกันสังคม เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2563 สรุปได้ ดังนี้
ข้อเสนอแนะ กสม.
สรุปผลการพิจารณา
- คณะรัฐมนตรีควรมอบหมายให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องกับการจ้างเหมาบริการพิจารณาหาแนวทางหรือมาตรการในการคุ้มครองสิทธิแรงงานขั้นพื้นฐานของพนักงานจ้างเหมาบริการ กำหนดแนวทางการแก้ปัญหา โดยแบ่งเป็น 2 ระยะ ดังนี้
(1) ระยะสั้น (เร่งด่วนเฉพาะหน้า) กค. (กรมบัญชีกลาง) จะจัดทำหนังสือซักซ้อมเพื่อสร้างความเข้าใจให้กับส่วนราชการ ให้ดำเนินการจ้างให้ถูกต้องตามประเภทการจ้างงาน หากเป็นการจ้างเหมาบริการ (จ้างทำของ) ต้องไม่ดำเนินการในลักษณะการจ้างแรงงาน โดยต้องไม่มีลักษณะการควบคุมบังคับบัญชา หรือการลงชื่อปฏิบัติงาน โดยให้พิจารณาตามวัตถุประสงค์ของการจ้างงานเป็นสำคัญ สำหรับการจ่ายอัตราค่าจ้าง ควรพิจารณาในอัตราที่เหมาะสมและเป็นธรรม ต้องไม่จ่ายในอัตราที่ต่ำเกินไป โดยคำนึงถึงสภาพการทำงาน ลักษณะงาน และอัตราตลาด เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับผู้รับจ้าง และเพื่อป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต
(2) ระยะยาว (เชิงระบบ) ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ รง. และกรมบัญชีกลางเป็นผู้รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับพนักงานจ้างเหมาบริการ รายบุคคล โดยสำนักงาน ก.พ. จะเป็นผู้ประสานและสนับสนุนการรวบรวมข้อมูลดังกล่าว เพื่อนำมาประกอบการพิจารณาหาทางแก้ไขปัญหาให้เป็นรูปธรรมต่อไป
- คณะรัฐมนตรีควรพิจารณาแต่งตั้งคณะกรรมการที่มีอำนาจหน้าที่โดยตรงมาพิจารณาแก้ไขปัญหาการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมต่อพนักงานจ้างเหมาบริการของส่วนราชการทั้งหมด ให้สอดคล้องกับสิทธิขั้นพื้นฐานหรือมาตรฐานขั้นต่ำที่ลูกจ้างโดยทั่วไปพึงมีสิทธิได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายแรงงานและกฎหมายประกันสังคม (1) กรมบัญชีกลางแจ้งว่า การจ้างเหมาบริการ (จ้างทำของ) ไม่สามารถใช้สิทธิประกันสังคม และไม่มีสิทธิการลา เนื่องจากขัดกับหลักกฎหมาย ต้องป้องกันไม่ให้ส่วนราชการจ้างงานในลักษณะนี้เพิ่มขึ้นอีก
(2) กรมบัญชีกลางได้มีหนังสือซักซ้อมส่วนราชการให้บริหารสัญญาจ้างให้ถูกต้องตามวัตถุประสงค์ของการจ้าง คือ สัญญาการจ้างเหมาบริการ (จ้างทำของ) มีวัตถุประสงค์เพื่อต้องการผลผลิตหรือผลสำเร็จของงานเท่านั้น ดังนั้น ส่วนราชการต้องไม่ปฏิบัติต่อพนักงานจ้างเหมาบริการในฐานะผู้บังคับบัญชา
(3) กรมบัญชีกลางจะซักซ้อมส่วนราชการให้มีการกำหนดอัตราค่าจ้างที่เป็นธรรม โดยคำนึงถึงราคากลางและความเหมาะสม สอดคล้องกับลักษณะงานเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับพนักงานจ้างเหมาบริการ รายบุคคล
- สำนักงาน ก.พ. และสำนักงาน ก.พ.ร. ควรเร่งศึกษาและพิจารณาทบทวนกรอบอัตรากำลังคนภาครัฐในปัจจุบันให้มีความเหมาะสมสอดคล้องกับภาระหน้าที่ของส่วนราชการต่าง ๆ และแก้ไขปัญหาการขาดแคลนบุคลากรของส่วนราชการในระยะยาว
- การใช้ตำแหน่งลูกจ้างชั่วคราวทดแทนการจ้างเหมาบริการอาจไม่ใช่ทางแก้ไขปัญหาที่ถูกต้อง เนื่องจากเป็นภาระงบประมาณของภาครัฐในระยะยาว และการจ้างลูกจ้างชั่วคราวในปัจจุบัน ดำเนินการได้เฉพาะ 4 ประเภท คือ 1) ลูกจ้างชาวต่างประเทศที่มีสัญญาจ้าง 2) ลูกจ้างชั่วคราวของส่วนราชการที่มีสำนักงานในต่างประเทศ 3) ลูกจ้างชั่วคราวตามระเบียบของสถาบันอุดมศึกษาว่าด้วยการจ้างผู้มีความรู้ความสามารถพิเศษเป็นอาจารย์ในสถาบันอุดมศึกษา และ 4) ลูกจ้างชั่วคราวอื่นที่มีข้อตกลงพิเศษกับกระทรวงการคลัง ซึ่งเป็นไปตามมาตรการบริหารจัดการกำลังคนภาครัฐ (พ.ศ. 2562 – 2565)
- เรื่อง มาตรการด้านการงบประมาณเพื่อบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส โคโรนา 2019 (COVID-19) และสถานการณ์ภัยแล้ง
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบมาตรการด้านการงบประมาณเพื่อบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) และสถานการณ์ภัยแล้ง ตามที่สำนักงบประมาณเสนอ ดังนี้
จากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ที่ระบาดในหลายประเทศ ประกอบกับสถานการณ์ภัยแล้งซึ่งมีแนวโน้มว่าจะมีความรุนแรงและยาวนาน สถานการณ์ดังกล่าวนอกจากจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของประเทศไทย และภาคการเกษตร ยังกระทบไปถึงภาคธุรกิจและแรงงานที่เกี่ยวข้องในวงกว้าง ดังนั้น นอกจากการกำหนดมาตรการจัดการแก้ไขปัญหาโดยหน่วยงานของรัฐที่มีภารกิจหน้าที่โดยตรงแล้ว สำนักงบประมาณเห็นสมควรกำหนดมาตรการด้านการงบประมาณในการบริหารงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 เพื่อเป็นมาตรการเสริมในการบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าว และเป็นไปตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรีในคราวประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2563 ซึ่งมอบหมายให้ส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐเร่งรัดดำเนินการป้องกัน ควบคุม แก้ไขปัญหา และบรรเทาผลกระทบจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID-19) ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล ดังนี้
- งบประมาณรายจ่ายประจำ
1.1 ให้หน่วยรับงบประมาณพิจารณาปรับลดการใช้จ่ายงบประมาณ หรือปรับเปลี่ยนวิธีดำเนินงานสำหรับงบประมาณในลักษณะรายจ่ายประจำ ที่มิใช่ค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการต่างประเทศให้ได้ประมาณร้อยละสิบของงบประมาณรายจ่ายประจำของหน่วยรับงบประมาณ เพื่อไปดำเนินการที่ก่อให้เกิดการจัดซื้อจัดจ้างจากผู้ประกอบการหรือผู้ผลิตรายย่อย รวมถึงการจ้างแรงงาน
1.2 ให้หน่วยรับงบประมาณปรับแผนการเดินทางไปราชการต่างประเทศ ที่ตั้งไว้สำหรับศึกษาดูงาน ประชุม สัมมนา อบรม ณ ต่างประเทศ โดยให้นำมาดำเนินการภายในประเทศ หรือเปลี่ยนแปลงงบประมาณไปดำเนินการตามแนวทางใน ข้อ 1.1 สำหรับค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการต่างประเทศกรณีอื่น กรณีการเดินทางไปยังประเทศกลุ่มเสี่ยงที่มีการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) หากสามารถระงับหรือเลื่อนการเดินทางได้ ให้หน่วยรับงบประมาณพิจารณาดำเนินการด้วย
- งบประมาณรายจ่ายลงทุน
2.1 งบประมาณรายจ่ายในลักษณะค่าครุภัณฑ์ที่มีวงเงินต่ำกว่าหนึ่งล้านบาท หรือสิ่งก่อสร้างที่มีวงเงินต่ำกว่าสิบล้านบาท ที่แน่ชัดว่าไม่สามารถจัดซื้อจัดจ้างได้ภายในเดือนมีนาคม 2563 ให้หน่วยรับงบประมาณพิจารณาโอนหรือเปลี่ยนแปลงเงินจัดสรรไปดำเนินการจัดหาครุภัณฑ์หรือสิ่งก่อสร้างอย่างอื่นซึ่งจะช่วยลดผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) หรือสถานการณ์ภัยแล้ง เช่น การพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อเตรียมความพร้อมของพื้นที่สำหรับกักเก็บน้ำในฤดูฝนโดยใช้แรงงานจากภาคเกษตร หรือปรับเปลี่ยนวิธีดำเนินการจากงานจ้างเหมาเป็นงานดำเนินการเองเพื่อสนับสนุนให้เกิดการจ้างงานในพื้นที่ เป็นต้น ทั้งนี้ โดยดำเนินการภายในพื้นที่จังหวัดที่ได้รับจัดสรรงบประมาณในลำดับแรก
2.2 ให้หน่วยรับงบประมาณพิจารณาทบทวนการจัดหาครุภัณฑ์จากต่างประเทศมาดำเนินการจัดหาครุภัณฑ์จากผู้ผลิตภายในประเทศ เว้นแต่กรณีที่มีความจำเป็นอย่างแท้จริง
- งบประมาณรายจ่ายงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น
3.1 งบประมาณรายจ่ายงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นที่สำนักงบประมาณยังไม่ได้จัดสรรให้หน่วยรับงบประมาณ โดยเห็นสมควรให้หน่วยรับงบประมาณชะลอการดำเนินการไว้ก่อน ประกอบด้วย
1) รายการที่นายกรัฐมนตรีหรือคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบแล้ว
2) รายการที่มีคำขอของหน่วยรับงบประมาณ ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณา
3.2 งบประมาณรายจ่ายงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นที่สำนักงบประมาณได้จัดสรรให้แก่หน่วยรับงบประมาณแล้ว กรณีที่หน่วยรับงบประมาณไม่สามารถดำเนินการก่อหนี้ผูกพันหรือบันทึกใบสั่งซื้อ (PO) ได้ทันภายในวันที่ 10 มีนาคม 2563 เห็นสมควรให้ยกเลิกโครงการ/รายการ และให้แจ้งสำนักงบประมาณภายในวันที่ 13 มีนาคม 2563 เพื่อดำเนินการนำงบประมาณส่งคืนสำหรับนำไปใช้ในโครงการ/รายการสำคัญเร่งด่วนตามมาตรการระยะเร่งด่วนสำหรับการแก้ไขปัญหาจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) และสถานการณ์ภัยแล้ง ตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี โดยยึดถือกฎหมาย ระเบียบ และมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง ต่อไป
3.3 กรณีที่หน่วยรับงบประมาณมีภารกิจ และอำนาจหน้าที่ในการดำเนินการเพื่อบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) และสถานการณ์ภัยแล้ง และมีความจำเป็นต้องใช้จ่ายจากงบประมาณรายจ่ายงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ให้เสนอขอรับการจัดสรรตามระเบียบว่าด้วยการบริหารงบประมาณรายจ่ายงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น พ.ศ. 2562 หรือระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการในการขอใช้งบประมาณรายจ่ายงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อแก้ไขหรือเยียวยาความเดือดร้อนเสียหายในบางกรณี พ.ศ. 2559 แล้วแต่กรณี ต่อสำนักงบประมาณภายในวันที่ 13 มีนาคม 2563
ทั้งนี้ การพิจารณาดำเนินการตามมาตรการข้อ 1 และข้อ 2 ให้หน่วยรับงบประมาณพิจารณาดำเนินการให้เป็นไปตามภารกิจ และอำนาจหน้าที่ที่สามารถดำเนินการได้ โดยยึดถือกฎหมาย ระเบียบ หรือมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องเป็นหลัก
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 10 มีนาคม 2563
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ
Click Donate Support Web