ความก้าวหน้าการดำเนินโครงการ Strategic Co-ordination and Monitoring ภายใต้ Country Programme ระหว่างไทยกับ OECD
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Saturday, 07 March 2020 18:37
- Hits: 2093
ความก้าวหน้าการดำเนินโครงการ Strategic Co-ordination and Monitoring ภายใต้ Country Programme ระหว่างไทยกับ OECD
คณะรัฐมนตรีมีมติ ตามที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เสนอ ดังนี้
- รับทราบผลการดำเนินโครงการภายใต้โครงการ Country Programme (CP)
- เห็นชอบมอบหมายหน่วยงานรับผิดชอบหลักของทั้ง 16 โครงการในการเร่งรัดการดำเนินงานให้เป็นไปตามกำหนดเวลา เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการเดินทางเยือนประเทศไทยของเลขาธิการ Organisation for Economic Co-operation and Development (OECD) ในช่วงเดือนกรกฎาคม 2563 โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการ Modernising Education and Skills Development ที่จะมีส่วนสำคัญในการยกระดับการอาชีวศึกษาของไทย
- เห็นชอบในหลักการการจัดทำโครงการ CP ระยะที่ 2 และการจัดตั้งคณะกรรมการกำกับ (Steering Committee) สำหรับ การติดตามการดำเนินโครงการต่าง ๆ ภายใต้โครงการ CP
- เห็นชอบให้ สศช. หารือร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศ (กต.) ในการจัดกิจกรรม Thailand Country Programme Launching Event ในช่วงที่เลขาธิการ OECD เดินทางมาเยือนไทย
สาระสำคัญของเรื่อง
องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organisation for Economic Co-operation and Development :OECD) เป็นองค์การความร่วมมือของกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม รวมทั้งเป็นผู้กำหนดมาตรฐานสำคัญที่ประเทศพัฒนาแล้วบังคับใช้อยู่ในปัจจุบัน เมื่อปี 2556 OECD ได้เลือกให้ไทยเป็น 1 ใน 4 ประเทศ (อีก 3 ประเทศ คือ โมร็อกโก เปรู และคาซัคสถาน) ที่ประสงค์จะพัฒนาความร่วมมือผ่านโครงการ Country Programme (CP) โดยไทยได้ร่วมลงนามใน MOU เพื่อจะจัดทำโครงการ CP เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2561 ณ กรุงปารีส สาธารณรัฐฝรั่งเศส วัตถุประสงค์หลักของโครงการ เพื่อกระชับความร่วมมือระหว่าง OECD กับไทยอย่างบูรณาการ ทำให้ไทยสามารถเข้าถึงองค์ความรู้และแนวปฏิบัติที่ดีของ OECD ซึ่งจะช่วยพัฒนาแนวนโยบายภาครัฐของไทยที่จำเป็นเร่งด่วนต่อการส่งเสริมศักยภาพ พัฒนาขีดความสามารถ และปฏิรูปกฎระเบียบภายในให้ดียิ่งขึ้น โดยโครงการ CP มีระยะเวลาดำเนินการ 2 – 3 ปี มีแนวทางความร่วมมือ 5 รูปแบบ 4 เสาหลัก และ 16 โครงการ เพื่อตอบโจทย์การพัฒนาประเทศตามแผนยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2560 – 2579) แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560 –2564) และนโยบายประเทศไทย 4.0 รวมทั้งสอดรับกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals – SDGs)
ความก้าวหน้าการดำเนินโครงการต่าง ๆ ภายใต้โครงการ CP รวมทั้งสิ้น 16 โครงการ ภายใต้ 4 เสาหลัก ได้แก่
เสาหลักที่ 1: ธรรมาภิบาลภาครัฐและความโปร่งใส (Governance and Transparency)
- โครงการ Improving Integrity and Governance in the Public Sector Designing Effective Anti – Corruption Policies รับผิดชอบโดย สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (สำนักงาน ก.พ.ร.)
- โครงการ Supporting Open and Connected Governance and Stakeholder Engagement รับผิดชอบโดย สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (สำนักงาน ก.พ.ร.)
- โครงการ Advancing Budget Reform รับผิดชอบโดย สำนักงบประมาณ (สงป.)
เสาหลักที่ 2: สภาพแวดล้อมทางธุรกิจและความสามารถในการแข่งขัน (Business Climate and Competitiveness)
- โครงการ Improving the Business Climate through and OECD Investment Policy Reviews (IPR) รับผิดชอบโดย กต. (กรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ)
- โครงการ Implementing Regulatory Reform and Mainstreaming Good Regulatory Practice (GRP) รับผิดชอบโดย สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.)
- โครงการ Developing Competition Policy รับผิดชอบโดย สำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (สขค.)
- โครงการ Fostering Responsible Business Conduct (RBC) รับผิดชอบโดย กต. (กรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ)
- โครงการ Supporting SMEs Policy: Strengthening Regional Innovation Clusters รับผิดชอบโดย สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.)
- โครงการ Supporting SMEs Policy: the ASEAN SME Policy Index รับผิดชอบโดย สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.)
เสาหลักที่ 3: ประเทศไทย 4.0 (Thailand 4.0)
- โครงการ Enhancing Science, Technology and Innovation Policies รับผิดชอบโดย สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.)
- โครงการ Developing Teaching and Learning รับผิดชอบโดย กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) และ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)
- โครงการ Supporting and Digital Economy รับผิดชอบโดย กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดศ.)
- โครงการ Modernising Education and Skills Development รับผิดชอบโดย กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) และ สำนักงานคณะกรรมการอาชีวศึกษา (สอศ.)
เสาหลักที่ 4: การเติบโตอย่างทั่วถึง (Inclusive Growth)
- โครงการจัดทำรายงานประเทศไทยเชื่อมโยงหลายมิติ (Multi-Dimensional Country Review: Thailand’s MDCR) รับผิดชอบโดย สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)
- โครงการจัดทำรายงาน Thailand’s Economic Assessment 2019 รับผิดชอบโดย สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)
- โครงการ Strategic Co-ordination and Monitoring รับผิดชอบโดย กต. (กรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ) และ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)
ทั้งนี้ แนวทางการดำเนินโครงการ CP ในระยะต่อไป ได้แก่
- การจัดทำโครงการ CP ระยะที่ 2 สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เห็นควรให้มีการจัดทำโครงการ โครงการ CP ระยะที่ 2 โดยอาจให้ความสำคัญกับสาขาความร่วมมือที่เป็นประเด็นปฏิรูปที่สำคัญและ/หรือยังไม่ถูกกล่าวถึงในโครงการ CP ระยะแรก และประเด็นที่จะมีผลต่อการพิจารณารับไทยเข้าเป็นสมาชิกของ OECD ถึงแม้ว่าไทยอาจจะยังไม่ตัดสินใจในการเข้าเป็นสมาชิก OECD แต่ความร่วมมือดังกล่าวจะมีส่วนสำคัญในการยกระดับมาตรฐาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านกฎระเบียบ ให้มีความเป็นสากลยิ่งขึ้น
- การจัดตั้งคณะกรรมการกำกับ (Steering Committee)สำหรับ ติดตามการดำเนินโครงการต่าง ๆ ภายใต้โครงการ CP โดยมีองค์ประกอบ คือ เลขาธิการสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือผู้แทนที่ได้รับมอบหมายเป็นประธานกรรมการ ผู้แทน กระทรวงการต่างประเทศ เป็นรองประธานกรรมการ และผู้แทนหน่วยงานรับผิดชอบของแต่ละโครงการ ประกอบด้วย สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ สำนักงบประมาณ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน สำนักงานคณะกรรมการอาชีวศึกษา กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และสำนักงานคณะกรรมการการส่งเสริมการลงทุน เป็นกรรมการ โดยมี สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และกระทรวงการต่างประเทศ เป็นฝ่ายเลขานุการร่วม เพื่อให้ขับเคลื่อนและติดตามการดำเนินกิจกรรมอย่างมีประสิทธิภาพและเชื่อมโยงในประเด็นด้านสารัตถะมากยิ่งขึ้น
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 3 มีนาคม 2563
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ
Click Donate Support Web