โครงการก่อสร้างสายเคเบิลใต้น้ำไปยังเกาะเต่า จังหวัดสุราษฎร์ธานี
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Sunday, 01 March 2020 14:21
- Hits: 1518
โครงการก่อสร้างสายเคเบิลใต้น้ำไปยังเกาะเต่า จังหวัดสุราษฎร์ธานี
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติและเห็นชอบตามที่กระทรวงมหาดไทย (มท.) เสนอ ดังนี้
- อนุมัติหลักการให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ดำเนินโครงการก่อสร้างสายเคเบิลใต้น้ำไปยังเกาะเต่า จังหวัดสุราษฎร์ธานี ในวงเงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 1,776 ล้านบาท โดยใช้เงินกู้ในประเทศ จำนวน 1,332 ล้านบาท และเงินรายได้ กฟภ. จำนวน 444 ล้านบาท
- เห็นชอบให้ กฟภ. กู้เงินในประเทศ ภายในกรอบวงเงิน 1,332 ล้านบาท เพื่อเป็นเงินลงทุนของโครงการดังกล่าว โดย กฟภ. ทยอยดำเนินการกู้เงินตามความจำเป็นจนกว่างานจะแล้วเสร็จ
- ให้ผ่อนผันการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2535 เรื่อง แผนแม่บทการจัดการปะการังของประเทศ ในการดำเนินโครงการก่อสร้างสายเคเบิลใต้น้ำไปยังเกาะเต่า จังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยให้ กฟภ. ดำเนินการตามมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม และมาตรการติดตามตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อมอย่างเคร่งครัด
สาระสำคัญของเรื่อง
มท. รายงานว่า
- คณะกรรมการ กฟภ. ในการประชุม ครั้งที่ 11/2556 เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2556 ให้ความเห็นชอบโครงการก่อสร้างสายเคเบิลใต้น้ำไปยังเกาะเต่า จังหวัดสุราษฎร์ธานี วงเงินลงทุน 1,776 ล้านบาท โดยใช้เงินกู้ภายในประเทศจำนวน 1,332 ล้านบาท และเงินรายได้ กฟภ. จำนวน 444 ล้านบาท และเห็นชอบให้ กฟภ. กู้เงินในประเทศภายในกรอบวงเงิน 1,332 ล้านบาท เพื่อเป็นเงินลงทุนของโครงการ โดย กฟภ. จะทยอยดำเนินการ กู้เงินตามความจำเป็นจนกว่างานจะแล้วเสร็จ
- กฟภ. ได้จัดทำรายงานการศึกษาความเหมาะสมโครงการก่อสร้างสายเคเบิลใต้น้ำไปยังเกาะเต่า จังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งสรุปสาระสำคัญของโครงการได้ ดังนี้
2.1 วัตถุประสงค์
2.1.1 พัฒนาระบบไฟฟ้า เพื่อเพิ่มขีดความสามารถและความมั่นคงในการจ่ายไฟฟ้า เพื่อรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นของเกาะเต่า จังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ และมีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจค่อนข้างสูง
2.1.2 เพื่อลดปัญหาในการปฏิบัติการและบำรุงรักษา ลดหน่วยสูญเสียในระบบจำหน่าย
2.2 เป้าหมายและพื้นที่ดำเนินการ ก่อสร้างสายเคเบิลใต้น้ำระบบ 33 เควี ขนาด 300 ตารางมิลลิเมตร ไปยังเกาะเต่า จังหวัดสุราษฎร์ธานี
2.3 ปริมาณงาน
2.3.1 ก่อสร้างสายเคเบิลใต้น้ำ ระบบ 33 เควี จากเกาะพะงันไปยังเกาะเต่า จำนวน 1 วงจร ขนาด 300 ตารางมิลลิเมตร ระยะทางประมาณ 45 วงจร – กิโลเมตร
2.3.2 ก่อสร้างระบบจำหน่าย ระยะทางประมาณ 21 วงจร – กิโลเมตร
2.3.3 ติดตั้งอุปกรณ์ยกระดับแรงดัน (AVR) จำนวน 2 ชุด
2.4 ระยะเวลาดำเนินการ 3 ปี (2564-2566)
2.5 แผนการดำเนินงาน ตามแผนงานโครงการจะดำเนินการระหว่างปี 2564-2566 โดยปีแรกจะเป็นการเตรียมดำเนินการ ส่วนปีหลังจะเป็นการดำเนินการก่อสร้างและประเมินผล
2.6 ผลตอบแทนของโครงการ
ผลตอบแทน อัตราผลตอบแทน (IRR) (ร้อยละ) มูลค่าปัจจุบันสุทธิ (NPV) ล้านบาท อัตราส่วนระหว่างผลตอบแทนต่อค่าใช้จ่าย (B/C Ratio)
ทางการเงิน (Financial Internal Rate of Return: FIRR) -5.30 -2,053 0.65
ทางเศรษฐศาสตร์ (Economic Internal Rate of Return: EIRR) 36.59 6,294 2.22
2.7 เงินลงทุน จำนวน 1,776 ล้านบาท ประกอบด้วย
หน่วย : ล้านบาท
รายละเอียด ปริมาณงาน เงินลงทุน
สายเคเบิลใต้น้ำ 33 เควี ขนาด 300 ตารางมิลลิเมตร 45 วงจร – กิโลเมตร 1,686
ก่อสร้างระบบจำหน่าย 21 วงจร – กิโลเมตร 38
อุปกรณ์ยกระดับแรงดัน 2 ชุด 52
รวมทั้งสิ้น 1,776 2.8 แหล่งเงินทุน
หน่วย : ล้านบาท
แหล่งเงิน วงเงิน
- เงินกู้ในประเทศ (ร้อยละ 75) 1,332
- เงินรายได้ กฟภ. (ร้อยละ 25) 444
รวม 1,776 2.9 แผนการใช้เงินรายปี
หน่วย : ล้านบาท
ปี เงินกู้ในประเทศ เงินรายได้ กฟภ. รวม
2564 133 45 178
2565 1,066 354 1,420
2566 133 45 178
รวม 1,332 444 1,776
หมายเหตุ โครงการก่อสร้างสายเคเบิลใต้น้ำไปยังเกาะเต่า จังหวัดสุราษฎร์ธานี เดิมมีระยะเวลาดำเนินการ 3 ปี (2558 - 2560) แต่เนื่องจากการดำเนินการขอความเห็นชอบโครงการจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีความล่าช้าจากกรอบระยะเวลาดำเนินการ กฟภ. จึงขอปรับช่วงระยะเวลาดำเนินการใหม่ให้สอดคล้องกับปัจจุบันเป็น 3 ปี (2564-2566)โดยยังคงมีผลประโยชน์ และผลตอบแทนในการดำเนินโครงการตามรายงานการศึกษาความเหมาะสมของโครงการ
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 18 กุมภาพันธ์ 2563
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ
Click Donate Support Web