แนวปฏิบัติเชิงนโยบายเพื่อสกัดกั้นการลักลอบขนส่งอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง ระบบเครื่องส่ง และวัสดุอุปกรณ์ (ทางทะเล ทางอากาศ และทางบก)
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Monday, 10 February 2020 08:51
- Hits: 1731
แนวปฏิบัติเชิงนโยบายเพื่อสกัดกั้นการลักลอบขนส่งอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง ระบบเครื่องส่ง และวัสดุอุปกรณ์ (ทางทะเล ทางอากาศ และทางบก)
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบแนวปฏิบัติเชิงนโยบายเพื่อสกัดกั้นการลักลอบขนส่งอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง ระบบเครื่องส่ง และวัสดุอุปกรณ์ (ทางทะเล ทางอากาศ และทางบก) เพื่อใช้เป็นกรอบแนวทางให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปปฏิบัติต่อไป ตามที่สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เสนอ และให้ สมช. รับความเห็นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปพิจารณาดำเนินการต่อไป
สาระสำคัญของเรื่อง
สมช. รายงานว่า
- เมื่อปี พ.ศ. 2557 สมช. ได้จัดตั้งคณะอนุกรรมการประสานงานเพื่อดำเนินการตามพันธกรณีความริเริ่มเพื่อความมั่นคงจากการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง รวมทั้งคณะทำงานที่เกี่ยวข้องเพื่อยกร่างแนวปฏิบัติเชิงนโยบายเพื่อสกัดกั้นการลักลอบขนส่งอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง ระบบเครื่องส่ง และวัสดุอุปกรณ์ (ทางทะเล อากาศ และทางบก) โดยพิจารณาถึงความสอดคล้องกับกฎหมายและแนวปฏิบัติภายในประเทศเกี่ยวกับการควบคุมยุทธภัณฑ์และสินค้าที่ใช้ได้สองทาง (Dual-Use Items: DUI) รวมทั้งความตกลงระหว่างประเทศ ได้แก่ สนธิสัญญาและอนุสัญญาด้านการไม่แพร่ขยาย WMD ข้อมติคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (United Nations Security Council: UNSC) และแนวปฏิบัติว่าด้วยการควบคุมการส่งออกที่เกี่ยวข้อง
- แนวปฏิบัติเชิงนโยบายเพื่อสกัดกั้นการลักลอบขนส่งอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง ระบบเครื่องส่ง และวัสดุอุปกรณ์ (ทางทะเล ทางอากาศ และทางบก) ได้กำหนดขั้นตอนการประสานงานเพื่อสกัดกั้นอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง ระบบเครื่องส่งและวัสดุอุปกรณ์ ที่มีการขนส่งผ่านช่องทางคมนาคมระหว่างประเทศ ทั้งทางทะเล ทางอากาศและทางบก ได้ผ่านการพิจารณาของสภาความมั่นคงแห่งชาติแล้วเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2562 โดยแบ่งเป็น 3 ขั้นตอนหลัก ดังนี้
2.1 การดำเนินการก่อนการสกัดกั้น คือ การประสานงานเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลหรือข่าวกรองเกี่ยวกับยานพาหนะที่ต้องสงสัยว่าทำการขนส่งสินค้าที่เกี่ยวข้องกับ WMD รวมถึงการติดตามการประกาศรายชื่อบุคคล องค์กร และยานพาหนะที่ได้รับการขึ้นบัญชีลงโทษ (Sanction) ของ UNSC และยานพาหนะที่ต้องสงสัยอื่นๆ อย่างต่อเนื่อง การตรวจสอบข้อมูลยานพาหนะต้องสงสัยกับสำนักข่าวกรองแห่งชาติ (สขช.) เมื่อได้รับการแจ้งเตือน และการแจ้งข้อมูลให้ส่วนราชการผู้บังคับใช้กฎหมายในพื้นที่ที่มีการเข้าออก หรือผ่านแดนของยานพาหนะดังกล่าวให้เฝ้าระวัง
2.2 การดำเนินการสกัดกั้น เป็นการบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับการควบคุมยุทธภัณฑ์ วัตถุอันตรายทางเคมี ชีวภาพ รังสีและนิวเคลียร์ DUI และสินค้าที่ถูกขึ้นรายการตามข้อมติ UNSC ด้านการไม่แพร่ขยาย WMD โดยเฉพาะการใช้อำนาจการตรวจสอบสินค้าตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 ทั้งนี้ กำหนดให้ส่วนราชการที่มีอำนาจหน้าที่บังคับใช้กฎหมายดังกล่าวในพื้นที่ที่พบยานพาหนะและสินค้าต้องสงสัย (อาทิ น่านน้ำอาณาเขต ท่าเรือ ท่าอากาศยาน ด่านพรมแดน) เป็นผู้ดำเนินการสกัดกั้นและตรวจค้น พร้อมทั้งให้มีชุดสหวิชาชีพผู้เชี่ยวชาญด้านเคมี ชีวภาพ รังสีและนิวเคลียร์ ให้การสนับสนุนทางเทคนิคในการตรวจค้นสินค้าอันตรายตามความจำเป็น
2.3 การดำเนินการหลังการสกัดกั้น ได้แก่ การดำเนินการตรวจค้น ยึด และอายัด และจัดการสินค้าอันเป็นความผิด การตรวจสอบความเชื่อมโยงกับการก่อการร้าย หรืออาชญากรรมที่เกี่ยวกับความพยายามแพร่ขยาย WMD และการชี้แจงต่อผู้ได้รับผลกระทบ
2.4 กรณีที่ส่วนราชการผู้บังคับใช้กฎหมายไม่สามารถดำเนินการสกัดกั้นสินค้าที่ต้องสงสัยว่าเกี่ยวข้องกับการแพร่ขยาย WMD ในเงื่อนไขต่าง ๆ ได้แก่ ยานพาหนะที่เกี่ยวข้องอยู่นอกเขตอำนาจการบังคับใช้พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 การมีข้อมูลหรือข่าวกรองอย่างจำกัดและไม่เพียงพอที่จะสามารถนำมายืนยันเรื่องการกระทำผิด การขาดกฎหมายภายในที่ให้อำนาจในการสกัดกั้นหรือตรวจค้น หรือมีข้อจำกัดทางปฏิบัติอื่น ๆ สมช. สามารถขออนุมัติแนวปฏิบัติเชิงนโยบายเพิ่มเติมเป็นรายกรณีจากคณะรัฐมนตรี หรือสภาความมั่นคงแห่งชาติ
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 4 กุมภาพันธ์ 2563
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ
Click Donate Support Web