มาตรการการเงินการคลังเพื่อบรรเทาผลกระทบต่อภาคธุรกิจการท่องเที่ยว ปี 2563
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Monday, 10 February 2020 08:41
- Hits: 1898
มาตรการการเงินการคลังเพื่อบรรเทาผลกระทบต่อภาคธุรกิจการท่องเที่ยว ปี 2563
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบและเห็นชอบตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ดังนี้
รับทราบมาตรการด้านการเงินและการขยายกำหนดเวลาการยื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษีให้แก่ผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหรือยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามประมวลรัษฎากร ภ.ง.ด. 90 และ ภ.ง.ด. 91 (การขยายกำหนดเวลาการยื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษีฯ)
เห็นชอบมาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการจัดอบรมสัมมนาภายในประเทศ มาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการปรับปรุงกิจการโรงแรม และมาตรการลดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันเชื้อเพลิง เครื่องบินไอพ่น(น้ำมันเชื้อเพลิงเครื่องบินฯ) พร้อมทั้ง มอบหมายหน่วยงานตามที่ระบุ ดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป
- เห็นชอบร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... จำนวน 1 ฉบับ
- เห็นชอบร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... จำนวน 1 ฉบับ
- เห็นชอบร่างกฎกระทรวงกำหนดพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... จำนวน 1 ฉบับ
ทั้งนี้ กระทรวงการคลังเสนอว่า
สถานการณ์เศรษฐกิจไทย ปี 2563 คาดว่าจะต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนจากปัจจัยภายนอกประเทศที่เกิดจากความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและสาธารณรัฐประชาชนจีน รวมถึงการถอนตัวออกจากสหภาพยุโรปของสหราชอาณาจักร (Brexit) ซึ่งส่งผลให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัวลงและส่งผลกระทบต่อเนื่องมายังเศรษฐกิจไทยผ่านการส่งออกสินค้าและการผลิตภาคอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นสาขาเศรษฐกิจที่มีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 58.3 และ 27.2 ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (Gross Domestic Product : GDP) ตามลำดับ
นอกจากนี้ จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทย โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจากสาธารณรัฐประชาชนจีนที่มีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 27.5 ของนักท่องเที่ยวต่างประเทศทั้งหมด ดังนั้น ปัจจัยความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจนี้อาจจะส่งผลกระทบต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2563
สาระสำคัญ
กระทรวงการคลังจึงเห็นสมควรเสนอมาตรการการเงินการคลังเพื่อบรรเทาผลกระทบต่อภาคธุรกิจการท่องเที่ยว ปี 2563 โดยมีรายละเอียด ดังนี้
มาตรการด้านการเงิน
สถาบันการเงินของรัฐมีการดำเนินโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเงื่อนไขผ่อนปรนสำหรับผู้ประกอบการท่องเที่ยวและที่เกี่ยวเนื่องซึ่งได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ที่ต้องการสินเชื่อเพื่อเป็นเงินทุนสำหรับเสริมสภาพคล่องในการดำเนินธุรกิจและปรับปรุงสถานประกอบการสามารถเข้าร่วมโครงการได้ นอกจากนี้ สถาบันการเงินของรัฐยังได้มีมาตรการขยายเวลาชำระหนี้และค่าธรรมเนียมเพื่อแบ่งเบาภาระของผู้ประกอบการในช่วงที่ได้รับผลกระทบดังกล่าว ดังนี้
1.1 มาตรการสินเชื่อ
1) โครงการสินเชื่อ SME ประชารัฐสร้างไทย ของธนาคารออมสิน วงเงินคงเหลือ 40,000 ล้านบาท คิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 4 ต่อปี ใน 2 ปีแรก ระยะเวลากู้สูงสุด 7 ปี โดยกำหนดการจ่ายค่าธรรมเนียมค้ำประกันสินเชื่อแทนวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (Small and Medium Enterprises: SMEs) เป็นระยะเวลา 4 ปี
2) โครงการสินเชื่อเพื่อยกระดับเศรษฐกิจชุมชน (Local Economy Loan) ของธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) วงเงินคงเหลือ 15,000 ล้านบาท คิดอัตราดอกเบี้ยเริ่มต้นร้อยละ 3 ต่อปี ในช่วง 3 ปีแรก วงเงินต่อรายไม่เกิน 5 ล้านบาท ระยะเวลากู้สูงสุดไม่เกิน 7 ปี (ระยะเวลาปลอดชำระเงินต้นสูงสุดไม่เกิน 1 ปี)
3) โครงการสินเชื่อ กรุงไทย SME ของธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) (ธ.กรุงไทย) วงเงินคงเหลือ 55,000 ล้านบาท คิดอัตราดอกเบี้ยเริ่มต้นร้อยละ 4 ต่อปี วงเงินต่อรายสูงสุด 3 เท่าของหลักประกัน ระยะเวลากู้สูงสุดไม่เกิน 7 ปี โดยกำหนดการจ่ายค่าธรรมเนียมค้ำประกันสินเชื่อแทน SMEs เป็นระยะเวลา 4 ปี
4) โครงการ Transformation Loan เสริมแกร่ง (Soft Loan เพื่อปรับเปลี่ยนเครื่องจักร ระยะที่ 2) ของธนาคารออมสิน วงเงินคงเหลือ 15,000 ล้านบาท โดยธนาคารออมสินคิดดอกเบี้ยกับธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจที่เข้าร่วมโครงการอัตราร้อยละ 0.1 ต่อปี และธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจที่เข้าร่วมโครงการคิดดอกเบี้ยกับ SMEs ในอัตราร้อยละ 4 ต่อปี วงเงินต่อรายสูงสุด 50 ล้านบาท ระยะเวลากู้สูงสุด 7 ปี (ระยะเวลาปลอดชำระเงินต้นสูงสุดไม่เกิน 1 ปี)
1.2 มาตรการขยายเวลาชำระหนี้และค่าธรรมเนียม
1) ธนาคารออมสิน มีมาตรการขยายระยะเวลาการชำระหนี้ให้ 2 เท่าของระยะเวลาคงเหลือตามสัญญา สูงสุดไม่เกิน 5 ปี สำหรับลูกหนี้ที่เป็นผู้ประกอบการท่องเที่ยว
2) ธพว. มีมาตรการพักชำระหนี้เงินต้นสำหรับเงินกู้ยืมระยะยาวที่มีวงเงินคงเหลือไม่เกิน 5 ล้านบาท เป็นระยะเวลา 6 เดือน โดยต้องมีประวัติการผ่อนชำระหนี้ดีไม่น้อยกว่า 6 เดือน ก่อนวันเข้าร่วมโครงการและต้องไม่เป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (Non-performing Loan : NPL) สำหรับ SMEs ที่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจ และได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่
3) ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) มีมาตรการผัดผ่อนการชำระหนี้ได้ครั้งละไม่เกิน 12 เดือน ต่อเนื่องไม่เกิน 5 ครั้ง หรือสามารถขอปรับปรุงโครงสร้างหนี้และขยายระยะเวลาการชำระหนี้ได้ไม่เกิน 20 ปี สำหรับเกษตรกร ผู้ประกอบการ วิสาหกิจชุมชน กลุ่มเกษตรกร สหกรณ์การเกษตร หรือกองทุนหมู่บ้านที่ประสบปัญหาในการประกอบธุรกิจ มีสภาพคล่องไม่เพียงพอ หรือมีผลประกอบการขาดทุน
4) ธนาคารอาคารสงเคราะห์ มีมาตรการลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้และงวดผ่อนชำระได้ไม่เกิน 6 เดือน โดยคิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0.01 ต่อปี สำหรับลูกค้าผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ เช่น ไกด์นำเที่ยว พนักงานโรงแรม ผู้ประกอบการรายย่อยที่ขายสินค้าในแหล่งท่องเที่ยว เป็นต้น
5) บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) มีมาตรการพักการชำระค่าธรรมเนียมการค้ำประกันสินเชื่อ 12 เดือน สำหรับลูกค้า SMEs เดิมของ บสย. สำหรับธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ ได้แก่ ธุรกิจบริการท่องเที่ยว ร้านอาหาร และโรงแรมที่พัก
- มาตรการด้านภาษี
2.1 การขยายกำหนดเวลาการยื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษีให้แก่ผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหรือยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามประมวลรัษฎากร ภ.ง.ด. 90 และ ภ.ง.ด. 91 (การขยายกำหนดเวลาการยื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษีฯ)
1) วัตถุประสงค์ : เพื่อช่วยเหลือผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหรือยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่ได้รับผลกระทบจากสภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวประกอบกับการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ที่อาจส่งผลต่อสภาวะเศรษฐกิจของไทย
2) กลุ่มเป้าหมาย : ผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้ซึ่งเป็นบุคคลธรรมดา
3) ระยะเวลาดำเนินงาน : ขยายระยะเวลา 3 เดือน (ภายในเดือนมิถุนายน 2563)
4) วิธีดำเนินงาน : ขยายกำหนดเวลาการยื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษีให้แก่ผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหรือยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามประมวลรัษฎากร ภ.ง.ด. 90 และ ภ.ง.ด. 91 ซึ่งจะต้องยื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษีภายในเดือนมีนาคมของปี 2563 ให้ขยายกำหนดเวลาดังกล่าวออกไปเป็นภายในเดือนมิถุนายนของปี 2563 โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 3 อัฏฐ วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากร ทั้งนี้ สามารถดำเนินการได้โดยออกประกาศกระทรวงการคลัง จำนวน 1 ฉบับ
5) สูญเสียรายได้ : ไม่สูญเสียรายได้ภาษี แต่จะส่งผลให้การจัดเก็บรายได้รัฐบาลในส่วนของภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเลื่อนออกไป
2.2 มาตรการภาษีเพื่อสนับสุนนการจัดอบรมสัมมนาภายในประเทศ
1) วัตถุประสงค์ : เพื่อช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจภายในประเทศ
2) กลุ่มเป้าหมาย : บริษัทและห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล
3) ระยะเวลาดำเนินงาน : สำหรับ รายจ่ายที่จ่ายไปตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2563
4) วิธีดำเนินงาน : ให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลหักรายจ่ายที่ได้จ่ายไปเป็น ค่าห้องสัมมนา ค่าห้องพัก ค่าขนส่ง หรือรายจ่ายอื่นที่เกี่ยวข้องกับการอบรมสัมมนาภายในประเทศที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลได้จัดขี้นให้แก่ลูกจ้าง หรือรายจ่ายที่ได้จ่ายให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวตามกฎหมายว่าด้วยธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ เพื่อการอบรมสัมมนาภายในประเทศ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2563 เป็นจำนวน 2 เท่าของรายจ่ายตามที่จ่ายจริง โดยให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนด ทั้งนี้ การใช้สิทธิประโยชน์สามารถดำเนินการได้โดยการตราพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... จำนวน 1 ฉบับ
5) สูญเสียรายได้ : คาดว่าจะมีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีประมาณ 1,000 ราย และมีจำนวนเงินที่ใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษี 435 ล้านบาท จึงจะทำให้สูญเสียรายได้ภาษีเงินได้นิติบุคคลประมาณ 87 ล้านบาท
2.3 มาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการปรับปรุงกิจการโรงแรม
1) วัตถุประสงค์ : ช่วยส่งเสริมและกระตุ้นให้การลงทุนภาคเอกชนในกิจการโรงแรมเพิ่มขึ้นในปี 2563
2) กลุ่มเป้าหมาย : บริษัทและห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่เป็นผู้ประกอบธุรกิจตามกฎหมายว่าด้วยโรงแรม
3) ระยะเวลาดำเนินงาน : สำหรับรายจ่ายที่จ่ายไปตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2563
4) วิธีดำเนินงาน : ให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ประกอบกิจการโรงแรมตามกฎหมายว่าด้วยโรงแรมหักรายจ่ายสำหรับเงินได้เท่ากับรายจ่ายที่ได้จ่ายเพื่อการต่อเติม เปลี่ยนแปลง ขยายออก หรือทำให้ดีขึ้นซึ่งทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับกิจการ แต่ไม่ใช่เป็นการซ่อมแซมให้คงสภาพเดิม เป็นจำนวน 1.5 เท่า ของรายจ่ายตามจำนวนที่จ่ายจริง และต้องเป็นทรัพย์สิน ดังนี้ (1) อาคารถาวรที่มีไว้ใช้ในการประกอบกิจการโรงแรมตามกฎหมายว่าด้วยโรงแรม และ (2) เครื่องตกแต่งหรือเฟอร์นิเจอร์ที่เป็นส่วนประกอบและยึดติดกับอาคารตาม (1) เป็นการถาวร
ทั้งนี้ ต้องจ่ายไปตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2563 และทรัพย์สินต้องพร้อมใช้การตามประสงค์ภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2563 รวมทั้งเป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ดังนี้ (1) นำมาหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สินได้ โดยต้องได้มาและอยู่ในสภาพพร้อมใช้การตามประสงค์ภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2563 (2) ต้องอยู่ในราชอาณาจักร (3) ไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีตามพระราชกฤษฎีกาที่ออกตามความในประมวลรัษฎากร ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน (4) ไม่นำไปใช้ในกิจการที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ นิติบุคคลตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน กฎหมายว่าด้วยการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย หรือกฎหมายว่าด้วยเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน
(5) ต้องจัดทำโครงการลงทุนและแผนการจ่ายเงินและแจ้งต่ออธิบดีกรมสรรพากรตามหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และระยะเวลาที่อธิบดีประกาศกำหนด (6) กรณีได้ใช้สิทธิไปแล้วและต่อมาไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในรอบระยะเวลาบัญชีใด ให้สิทธิสิ้นสุดลงและต้องนำเงินได้ที่ได้ใช้สิทธิไปแล้วไปรวมเป็นรายได้ในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลในรอบระยะเวลาบัญชีที่ได้ใช้สิทธินั้น เว้นแต่กรณีขายทรัพย์สินหรือทรัพย์สินถูกทำลายสูญหาย หรือสิ้นสภาพ ให้สิทธิสิ้นสุดลงนับแต่รอบระยะเวลาบัญชีที่ได้ขายทรัพย์สินหรือทรัพย์สินนั้นถูกทำลายสูญหายหรือสิ้นสภาพ โดยไม่ต้องนำเงินได้ที่ได้ใช้สิทธิไปแล้วไปรวมเป็นรายได้ในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลอีก (7) หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขอื่น ๆ เป็นไปตามที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนด
อนึ่ง การใช้สิทธิประโยชน์สามารถดำเนินการได้โดยการตราพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... จำนวน 1 ฉบับ
5) สูญเสียรายได้ : คาดว่าจะมีผู้ประกอบธุรกิจโรงแรมปรับปรุงกิจการประมาณ 1,000 ราย คิดเป็นจำนวนเงินที่ใช้ในการปรับปรุงโรงแรมประมาณ 24,000 ล้านบาท ทำให้สูญเสียรายได้ภาษีเงินได้นิติบุคคลประมาณ 120 ล้านบาทต่อปี เป็นระยะเวลา 20 ปี ในส่วนของการลงทุนในเครื่องตกแต่งหรือเฟอร์นิเจอร์ที่เป็นส่วนประกอบและยึดติดกับอาคารเป็นการถาวรคาดว่าจะมีการลงทุนประมาณ 5,000 ล้านบาท ทำให้สูญเสียรายได้ภาษีเงินได้นิติบุคคลประมาณ 25 ล้านบาทต่อปี เป็นระยะเวลา 20 ปี รวมสูญเสียรายได้ทั้งสิ้นประมาณ 2,900 ล้านบาท
2.4 มาตรการลดอัตราภาษีสรรพสามิตสำหรับน้ำมันเชื้อเพลิงเครื่องบินไอพ่น (น้ำมันเชื้อเพลิงเครื่องบินฯ)
1) วัตถุประสงค์ : เพื่อเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวตามนโยบายของรัฐบาลในการกระตุ้นเศรษฐกิจภาพรวมของประเทศ โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวซึ่งเป็นภาคส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ รวมทั้งเพื่อให้เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการสนับสนุนให้มีการท่องเที่ยวเมืองรองมากขึ้นซึ่งเป็นการกระจายรายได้และกระตุ้นเศรษฐกิจในระดับท้องถิ่น ทั้งนี้ มาตรการลดอัตราภาษีนี้เป็นมาตรการชั่วคราว
2) กลุ่มเป้าหมาย : อุตสาหกรรมการบินในประเทศไทย
3) ระยะเวลาดำเนินงาน : ตั้งแต่วันที่กฎกระทรวงมีผลใช้บังคับถึงวันที่ 30 กันยายน 2563 (ประมาณ 8 เดือน)
4) วิธีดำเนินงาน : ปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตสำหรับน้ำมันเชื้อเพลิงเครื่องบินฯ จากเดิม 4.726 บาทต่อลิตร เหลือ 0.20 บาทต่อลิตร (อัตราภาษีสรรพสามิตสำหรับน้ำมันเชื้อเพลิงฯ ก่อนปี 2560) เป็นการชั่วคราว โดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560 เสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังออกกฎกระทรวงกำหนดพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต ดังนี้
(1) น้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับเครื่องบินไอพ่นที่ใช้บินในประเทศมีอัตราภาษีตามปริมาณ 0.20 บาทต่อลิตร
(2) น้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับเครื่องบินไอพ่นที่นำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับอากาศยานไปต่างประเทศ ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด อัตราตามปริมาณ 0 บาทต่อลิตร หากไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่อธิบดีสรรพสามิตประกาศกำหนดให้เสียภาษีในอัตราตามปริมาณ 0.20 บาทต่อลิตร
ทั้งนี้ สามารถดำเนินการได้โดยออกกฎกระทรวงกำหนดพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....
5) สูญเสียรายได้ : ภาษีสรรพสามิตสำหรับน้ำมันเชื้อเพลิงเครื่องบินฯ จำนวน 2,300 ล้านบาท
4.3 ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ
มาตรการการเงินการคลังดังกล่าวจะช่วยสนับสนุนและบรรเทาความเสี่ยงทางสภาวะเศรษฐกิจที่อาจเกิดขึ้นต่อภาคธุรกิจด้านการท่องเที่ยว เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับเศรษฐกิจไทย
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 4 กุมภาพันธ์ 2563
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ
Click Donate Support Web