WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

สรุปผลการปฏิบัติราชการของคณะรัฐมนตรีในพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคใต้ชายแดน

GVO1สรุปผลการปฏิบัติราชการของคณะรัฐมนตรีในพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคใต้ชายแดน

      คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบแนวทางและข้อสั่งการของรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีในการปฏิบัติราชการในพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคใต้ชายแดน ตามที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเสนอ โดยมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับข้อสั่งการไปพิจารณาดำเนินการต่อไป รวมทั้งรายงานผลการดำเนินงานให้สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติทราบด้วย

        ตามที่ คณะรัฐมนตรีเห็นชอบให้มีการจัดประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ ณ จังหวัดนราธิวาส ในวันที่ 21 มกราคม 2563 โดยมอบหมายให้สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเตรียมแผนการในเรื่องการลงพื้นที่ของคณะรัฐมนตรี พร้อมทั้งรวบรวมและจัดทำรายงานสรุป เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรี นั้น

       ในการนี้ สำนักงานฯ ขอเสนอรายงานผลการติดตามงานและโครงการ รวมทั้งข้อสั่งการของคณะรัฐมนตรีในการติดตามงานในพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคใต้ชายแดน ระหว่างวันที่ 12 – 20 มกราคม 2563 มีรายละเอียด ดังนี้

  1.       ภาคใต้ชายแดน มีเป้าหมายการพัฒนาเป็นแหล่งผลิตภาคเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปที่สำคัญของประเทศ เป็นเมืองชายแดนเชื่อมโยงการค้าและการท่องเที่ยวกับพื้นที่ภาคใต้และการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศมาเลเซียและสิงคโปร์ ชุมชนมีความเข้มแข็งอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขภายใต้สังคมพหุวัฒนธรรม
  2.      ภาพรวมของพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคใต้ชายแดน ประกอบด้วย 3 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดนราธิวาส ปัตตานี และยะลา โดยมีจังหวัดยะลา เป็นหัวหน้ากลุ่มจังหวัด มีพื้นที่รวมทั้งสิ้น 10,936.86 ตารางกิโลเมตร ตั้งอยู่ใต้สุดของประเทศและติดกับประเทศมาเลเซีย มีศักยภาพด้านเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมประมง ได้แก่ ยางพารา ปาล์มน้ำมัน ไม้ผล ปศุสัตว์ ประมง และอุตสาหกรรมแปรรูปไม้ รวมทั้งมีประเพณีและวัฒนธรรมที่มีความโดดเด่นแบบพหุวัฒนธรรมที่สามารถพัฒนาไปสู่การท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม อาทิ ศาลเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว ศาลเจ้าแม่โต๊ะโมะ มัสยิดกลางปัตตานี เป็นต้น

    และมีทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์และมีความหลากหลาย อาทิ ป่าฮาลา-บาลา หาดตะโละกาโปร์ หาดแฆแฆ และหาดนราทัศน์ เป็นต้น โดยกลุ่มจังหวัดภาคใต้ชายแดน มีการกำหนดประเด็นการพัฒนา ประกอบด้วย (1) เพิ่มศักยภาพการผลิตภาคเกษตร อุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป และการตลาด (2) ส่งเสริมการค้าการลงทุนในพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญ (3) ส่งเสริมและพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ วัฒนธรรม และเมืองท่องเที่ยวชายแดน และ (4) เสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนบนพื้นฐานสังคมพหุวัฒนธรรม

  1. ผลการปฏิบัติราชการของคณะรัฐมนตรีในพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคใต้ชายแดน ผลการปฏิบัติราชการในพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคใต้ชายแดน ของรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรี รวม 22 คน โดยมีประเด็นการพัฒนาและข้อสั่งการโดยสรุป ดังนี้

      3.1 เพิ่มศักยภาพการผลิตภาคเกษตร อุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป และการตลาด

     1) ตรวจเยี่ยมการประกอบกิจการของบริษัทปาล์มพัฒนาชายแดนใต้ จำกัด อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี ข้อสั่งการ (1) ให้การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กรมโรงงานอุตสาหกรรม และสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดปัตตานี ดำเนินการส่งเสริมพื้นที่เขตประกอบการอุตสาหกรรม กำหนดแนวทางการพัฒนา พร้อมทั้งหารือและสร้างแรงจูงใจให้ผู้ประกอบการมาลงทุน เพื่อสร้างงาน สร้างอาชีพแก่คนในพื้นที่ (2) ให้ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 11 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม สถาบันไทย-เยอรมัน สถาบันอาหาร และสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดปัตตานี ส่งเสริมและสนับสนุนเกี่ยวกับเครื่องมือ เครื่องจักรในการผลิต เพื่อเพิ่มผลผลิตให้สูงขึ้น ตลอดจนให้คำแนะนำเชิงลึกเรื่องการแปรรูปน้ำมะพร้าวและการทำขนมคุกกี้จากกากมะพร้าวที่เหลือใช้จากโรงงาน เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มและเป็นการต่อยอดธุรกิจ

     รวมทั้งจัดหาช่องทางการตลาด เพื่อรองรับผลิตภัณฑ์จากน้ำมะพร้าว (3) ให้ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) ทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาคพิจารณาสินเชื่อให้แก่ผู้ประกอบการรายย่อย สนับสนุนและเพิ่มโอกาสการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของผู้ประกอบการในพื้นที่ ตลอดจนประชาสัมพันธ์การสนับสนุนสินเชื่อภายใต้กองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวทางประชารัฐแก่พนักงานบริษัทปาล์มพัฒนาชายแดนใต้ จำกัด และประชาชนอย่างทั่วถึง และ (4) ให้ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 11 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม และสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดปัตตานี นำผู้ประกอบการ ประชาชน และผู้นำท้องถิ่นในพื้นที่ตำบลหนองจิก จังหวัดปัตตานี เข้าศึกษาดูงานที่ บริษัท โรแยล พลัส จำกัด

        2) ตรวจเยี่ยมบริษัท ซูเพิร์บ ครีเอชั่น เฟอร์นิเจอร์ (ประเทศไทย) อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี ข้อสั่งการ (1) ให้ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 11 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม และสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดปัตตานี จับคู่ทางธุรกิจให้แก่ผู้ประกอบการในด้านวัตถุดิบ (2) ให้กรมโรงงานอุตสาหกรรม และสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดปัตตานี หารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน เพื่อผลักดันการแก้ไขปัญหาผังเมืองจังหวัดปัตตานี และ (3) ให้สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดปัตตานี ติดตามสถานการณ์ พร้อมเร่งรัดการก่อสร้างท่าเรือจังหวัดปัตตานี

         3) ตรวจเยี่ยมโครงการด้านความมั่นคงเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากคลื่นทะเลกัดเซาะชายฝั่งและเยี่ยมชมผลงานเกษตรกรในเขตปฏิรูปที่ดิน อำเภอเมืองนราธิวาส จังหวัดนราธิวาส ข้อสั่งการ (1) ให้สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม สนับสนุนงบประมาณจากกองทุนเขตปฏิรูปที่ดิน เพื่อเกษตรกรรมในการดำเนินการก่อสร้างถนนลาดยางให้ชุมชนประชาร่วมใจ 1 และชุมชนประชาร่วมใจ 2 ซึ่งเป็นถนนสาธารณะที่ใช้สัญจรระหว่าง 2 หมู่บ้าน และสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมในการดำเนินการก่อสร้างอาคารอเนกประสงค์ และสนับสนุนเครื่องมืออุปกรณ์ในกระบวนการผลิตต่างๆ เพื่อใช้ในการแปรรูปผลิตภัณฑ์ หัตถกรรมจักสานจากกระจูด การผลิตน้ำบูดู และการผลิตข้าวเกรียบปลาของชุมชน และ (2) ให้หน่วยงานสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในพื้นที่เร่งดำเนินการตามข้อร้องเรียนของเกษตรกรในพื้นที่ กรณีที่ได้รับความเดือดร้อนในการประกอบอาชีพเกษตรกรรม และประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อแก้ไขปัญหาของพื้นที่ อาทิ การขุดลอกตะกอนบริเวณปากอ่าว การส่งเสริมการท่องเที่ยวบริเวณชายหาดของชุมชน และการจัดตั้งกองทุนเพื่อการศึกษาจนจบปริญญาตรี เป็นต้น

      4) ตรวจเยี่ยมโครงการระบบส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่ (แปลงใหญ่ข้าวบุดี) อำเภอเมืองยะลา จังหวัดยะลา ข้อสั่งการ (1) ให้สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ตรวจสอบการถือครองที่ดินของเอกชนหรือนายทุนที่ถือครองที่ดินแปลงใหญ่ หากไม่ถูกต้องตามกฎหมายให้ดำเนินการยึดคืนและเร่งรัดจัดสรรที่ดินทำกินให้แก่เกษตรกรที่ไม่มีที่ดินทำกิน (2) ให้กรมพัฒนาที่ดิน ดำเนินการพัฒนาที่ดิน ส.ป.ก. ที่จัดสรรให้กับเกษตรกรให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ (3) ให้กรมส่งเสริมการเกษตร ส่งเสริมและสนับสนุนโครงการปลูกพืชหลังนา โดยให้ศึกษาความเหมาะสมกับสภาพพื้นที่ เช่น พืชตระกูลถั่ว และพืชอาหารสัตว์ เป็นต้น (4) ให้กรมชลประทาน และกรมพัฒนาที่ดิน บูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อแก้ไขปัญหาและพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค และการเกษตรให้แก่เกษตรกร ทั้งในและนอกเขตชลประทาน อาทิ ขุดเจาะบ่อบาดาล ขุดสระน้ำในไร่นาขนาดเล็ก และการสนับสนุนเครื่องสูบน้ำ เป็นต้น (5) ให้กรมปศุสัตว์สนับสนุนและส่งเสริมให้เกษตรกรในพื้นที่เลี้ยงแพะและวัว โดยธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร เป็นแหล่งสนับสนุนเงินทุนดอกเบี้ยต่ำ และ (6) ให้องค์การตลาดเพื่อเกษตรกร จัดตั้งตลาดเพื่อรองรับผลผลิตทางการเกษตรของเกษตรกรในพื้นที่ และกระจายผลผลิตออกไปยังตลาดต่าง ๆ ทั่วประเทศ

        5) ตรวจเยี่ยมสหกรณ์การเกษตร กรป.กลางมะปรางมัน ปัตตานี จำกัด อำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี ข้อสั่งการ (1) ให้กรมตรวจบัญชีสหกรณ์วิเคราะห์ความเสี่ยงด้านการเงินของสหกรณ์ก่อนที่จะอนุมัติเงินกู้เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์สหกรณ์ล้มละลาย และ (2) ให้กรมส่งเสริมสหกรณ์จัดหาเครื่องผสมปุ๋ยสั่งตัดให้แก่สหกรณ์การเกษตร กรป.กลาง มะปรางมัน ปัตตานี จำกัด และจัดอบรมและศึกษาดูงานให้กับสหกรณ์การเกษตร โดยศึกษาดูงานสหกรณ์การเกษตรต้นแบบที่มีความเข้มแข็ง

        6) ติดตามการดำเนินนโยบายพลังงานชุมชนในเขตพื้นที่ตรวจราชการที่ 7

กลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจโรงไฟฟ้า และธุรกิจปาล์มน้ำมันในพื้นที่ ข้อสั่งการ ให้สำนักงานพลังงานจังหวัด ดำเนินการดังนี้ (1) ขับเคลื่อนมาตรการการรักษาระดับราคาปาล์มน้ำมันให้ไม่ต่ำกว่ากิโลกรัมละ 4 บาท (2) ประชาสัมพันธ์ สร้างความมั่นใจการใช้น้ำมันไบโอดีเซล B10 เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการส่งเสริม B10 (3) เร่งรัดดำเนินการส่งเสริมการนำน้ำเสียจากโรงงานปาล์มน้ำมันมาผลิตก๊าซชีวภาพ เพื่อผลิตไฟฟ้า (4) บูรณาการการทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยมุ่งผลสัมฤทธิ์ของกลุ่มเป้าหมาย และ (5) ตระหนักถึงบทบาทของการส่งเสริมพลังงานเพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจฐานราก

 

3.2 ส่งเสริมการค้าการลงทุนในพื้นที่เศรษฐกิจที่สำคัญ

        1) ตรวจเยี่ยมโครงการก่อสร้างระบบป้องกันน้ำท่วมพื้นที่ชุมชน สุไหงโก-ลก ระยะที่ 1 อำเภอสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส ข้อสั่งการ ให้กรมโยธาธิการและผังเมือง ดำเนินการดังนี้ (1) เร่งรัดการดำเนินโครงการก่อสร้างระบบป้องกันน้ำท่วมพื้นที่ชุมชนสุไหงโก-ลก ระยะที่ 1 ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนในพื้นที่ เนื่องจากสถานการณ์น้ำท่วมเป็นปัญหาสำคัญที่ควรแก้ไขอย่างเร่งด่วน (2) เร่งรัดการเสนอของบประมาณโครงการก่อสร้างระบบป้องกันน้ำท่วมพื้นที่ชุมชนสุไหงโก-ลก ระยะที่ 2 ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2564  (3) ศึกษาและออกแบบพื้นที่ริมคันกั้นน้ำ เพื่อพัฒนาให้เป็นพื้นที่สาธารณะ และสถานที่ท่องเที่ยว เช่น การปรับปรุงภูมิทัศน์พื้นที่สวนสาธารณะสำหรับออกกำลังกาย การออกแบบพื้นที่ริมน้ำเพื่อรองรับการแข่งขันเรือที่แม่น้ำโก–ลก การออกแบบผนังกั้นน้ำโดยใช้เอกลักษณ์ของเมืองสุไหงโก-ลก เพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจของเมือง (4) เพิ่มระบบไฟฟ้าแสงสว่างเข้าไปในโครงการก่อสร้างระบบป้องกันน้ำท่วมพื้นที่ชุมชนสุไหงโก-ลก ระยะที่ 2 และ (5) บรรจุโครงการศึกษาความเหมาะสมของการพัฒนาพื้นที่ด่านชายแดน (ด่านตากใบ ด่านสุไหงโก-ลก และด่านบูเก๊ะตา) เพื่อให้สอดคล้องกับผังเมืองรวมเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษนราธิวาสไว้ในแผนพัฒนาในลำดับต่อไป

        2) ตรวจเยี่ยมโครงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมแม่น้ำสายบุรี อำเภอศรีสาคร จังหวัดนราธิวาส ข้อสั่งการ (1) ให้กรมโยธาธิการและผังเมืองพัฒนาพื้นที่สาธารณะบริเวณริมฝั่งแม่น้ำ โดยคำนึงถึงระเบียบข้อบังคับในการขอใช้พื้นที่ รวมทั้งให้มีการบูรณาการร่วมกันของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน และร่วมบูรณาการกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ศึกษาและออกแบบบริเวณพื้นที่เขื่อนป้องกันตลิ่ง เพื่อให้ประชาชนใช้เป็นพื้นที่ทำกิจกรรมต่างๆ เช่น การออกกำลังกาย การสืบสานศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวกระตุ้นเศรษฐกิจของชุมชน และ (2) ให้กระทรวงมหาดไทย บูรณาการการทำงานกับกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และกระทรวงวัฒนธรรม เพื่อพัฒนาพื้นที่ชุมชนศรีสาครให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ เชิงนิเวศ และเชิงวัฒนธรรม ตามแนวคิดชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี

        3) ตรวจเยี่ยมการปรับปรุงถนนลาดยางผิวจราจรแอสฟัลติกส์คอนกรีตและก่อสร้างสะพานถนน สายปน.ถ.1-0089 บ้านนางโอ – บ้านคูระ อำเภอแม่ลาน จังหวัดปัตตานี ข้อสั่งการ ให้กรมทางหลวงชนบทประสานงานกับผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานีและองค์การบริหารส่วนจังหวัดปัตตานี เพื่อดำเนินการยกระดับมาตรฐานทางของเส้นทางดังกล่าวให้แล้วเสร็จภายในปี 2563-2564 เพื่อให้เกิดความสะดวกและความปลอดภัยในการเดินทางแก่ประชาชนภายในพื้นที่ให้มากขึ้น รวมทั้งเป็นการส่งเสริมด้านการขนส่งสินค้าและผลผลิตทางการเกษตรและการท่องเที่ยวในพื้นที่ โดยให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลา 2 ปี

         4) ตรวจเยี่ยมโครงการก่อสร้างสะพานข้ามแยกตะลุโบะ อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี ข้อสั่งการ ให้กรมทางหลวงดำเนินการขอรับจัดสรรงบประมาณเพื่อจ้างที่ปรึกษาดำเนินการสำรวจออกแบบและจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (EIA) ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว หลังจากนั้นจะได้ขอรับการจัดสรรงบประมาณเพื่อดำเนินการก่อสร้างต่อไป ทั้งนี้ เพื่อยกระดับความปลอดภัยของประชาชนในการเดินทางข้ามทางแยกดังกล่าวและปรับปรุงทางแยกให้เกิดความเหมาะสมและสอดคล้องกับปริมาณจราจรที่สัญจรผ่านบริเวณดังกล่าว 

         5) ตรวจเยี่ยมการพัฒนาทางหลวงหมายเลข 4056 เชื่อมโยงระหว่างตัวเมืองนราธิวาสกับด่านพรมแดนไทย-มาเลเซีย อำเภอสุไหงปาดี จังหวัดนราธิวาส ข้อสั่งการ ให้กรมทางหลวงจัดทำรายละเอียดแผนงานโครงการให้มีความพร้อม และขอรับการจัดสรรงบประมาณปี พ.ศ. 2564 เพื่อดำเนินการก่อสร้างเส้นทางสายดังกล่าว โดยเฉพาะโครงการตอนที่ 1 และจัดสรรงบประมาณในปีต่อๆ ไป เพื่อดำเนินการก่อสร้างในตอนอื่นให้เกิดความต่อเนื่อง จะทำให้ระบบโลจิสติกส์และการขนส่งในพื้นที่ได้รับความสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย สามารถรองรับปริมาณการจราจรที่เพิ่มขึ้นได้อย่างเหมาะสม เกิดการเติบโตของเศรษฐกิจการค้าชายแดนและการท่องเที่ยว เศรษฐกิจของภูมิภาคขยายตัวเติบโตขึ้นตามเป้าหมายของยุทธศาสตร์ชาติที่กำหนดไว้

          6) ตรวจเยี่ยมโครงการขุดลอกและบำรุงรักษาร่องน้ำที่สำคัญและจำเป็นเร่งด่วน อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส ข้อสั่งการ ให้กรมเจ้าท่าพิจารณาจัดสรรงบประมาณในปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 มาดำเนินการขุดลอกร่องน้ำทั้ง 2 ร่องน้ำ เพื่อเป็นการป้องกันและแก้ไขปัญหาให้กับประชาชนในพื้นที่จังหวัดนราธิวาสต่อไป

          7) ตรวจเยี่ยมการดำเนินงานและรับฟังบรรยายสรุปผลการดำเนินงานของท่าอากาศยานนราธิวาส จังหวัดนราธิวาส ข้อสั่งการ ให้กรมท่าอากาศยานดำเนินการ (1) เร่งรัดกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างในโครงการก่อสร้างอาคารที่พักผู้โดยสารหลังใหม่และสิ่งก่อสร้างอื่นๆ พร้อมครุภัณฑ์อำนวยความสะดวกท่าอากาศยานนราธิวาส วงเงินรวม 800 ล้านบาท ซึ่งได้รับการจัดสรรงบประมาณปี 2563 และผูกพันงบประมาณในปีต่อไป เพื่อให้สามารถลงนามในสัญญาได้ภายในเดือนพฤษภาคม 2563 รวมทั้งเร่งรัดการก่อสร้างให้แล้วเสร็จตามแผน และสามารถเปิดให้บริการได้ภายในปี 2565 และ (2) เร่งรัดดำเนินการจัดหาและติดตั้งระบบไฟส่องสว่างแนวรั้วพื้นที่เขตการบิน จัดหาทางลาดลำเลียงผู้โดยสารทุพพลภาพ ขึ้น-ลงอากาศยาน และการซ่อมบำรุงเสริมผิวทางวิ่ง ทางขับ ให้เป็นไปตามแผนและแล้วเสร็จภายในปีงบประมาณ พ.ศ. 2563

         8) ประชุมร่วมกับคณะผู้บริหารการคลังประจำจังหวัดในพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคใต้ชายแดน  ณ จังหวัดนราธิวาส ข้อสั่งการ (1) ให้ผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ในพื้นที่รวมตัวกันเพื่อให้เกิดความเข้มแข็ง สร้างงานและสร้างอาชีพ (2) ให้คณะผู้บริหารการคลังประจำจังหวัดเป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงการคลังในพื้นที่ เป็นศูนย์ประสานงานหลักของหน่วยงานในพื้นที่มุ่งเน้นการทำงานในเชิงรุกและประสานงานกับกระทรวงการคลัง และ (3) ให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องสนใจในความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่ โดยให้การสนับสนุนการแก้ปัญหาด้านเศรษฐกิจและความทุกข์ยากของประชาชน และให้การสนับสนุนการดำเนินงานพัฒนาพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

 

3.3 ส่งเสริมและพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ วัฒนธรรม และเมืองท่องเที่ยวชายแดน

         1) ตรวจเยี่ยมโครงการพัฒนาเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์อุทยานแห่งชาติน้ำตกทรายขาว (ปรับปรุงภูมิทัศน์น้ำตกโผงโผง) จังหวัดปัตตานี ข้อสั่งการ ให้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ดำเนินการ (1) ผลักดันและสนับสนุนการขอรับงบประมาณโครงการพัฒนาและส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์อุทยานแห่งชาติน้ำตกทรายขาว (ปรับปรุงภูมิทัศน์น้ำตกโผงโผง) ในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ ณ จังหวัดนราธิวาส และ (2) ประสานกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในการร่วมกันกำหนดแนวทาง วางแผนและส่งเสริมการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์อุทยานแห่งชาติน้ำตกทรายขาว (ปรับปรุงภูมิทัศน์น้ำตกโผงโผง) เพื่อให้สอดรับกับนโยบายของนายกรัฐมนตรีในการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว พร้อมทั้งกระจายรายได้สู่ชุมชน และส่งเสริมให้ประชาชนในพื้นที่มีอาชีพและรายได้ที่มั่นคงต่อไป

 

3.4 เสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนบนพื้นฐานสังคมพหุวัฒนธรรม

         1) ตรวจเยี่ยมและติดตามการดำเนินงานของโรงเรียนศึกษาสงเคราะห์นราธิวาส และการจัดการศึกษาสงเคราะห์เป็นการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานสำหรับเด็กด้อยโอกาส ข้อสั่งการให้สถานศึกษาดำเนินการ (1) จัดการเรียนการสอนในระดับการศึกษาชั้นปฐมวัย และประถมศึกษา Coding แบบ Unplug คือ เรียนแบบไม่ต้องใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ เพื่อให้เด็กมีทักษะจำเป็นในยุคศตวรรษที่ 21 (2) นำแนวทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อสร้างนวัตกรรม (Science –Technology - Innovation : STI) มาใช้ในการจัดการเรียนการสอน และ (3) มุ่งผู้เรียนเป็นสำคัญ รวมทั้งฝึกลงมือปฏิบัติจริง เพื่อให้นักเรียนมีทักษะและประสบการณ์ในวิชาชีพ

         2) การจัดการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยเพื่อสร้างโอกาสและลดความเหลื่อมล้ำ ของสำนักงานการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย จังหวัดปัตตานี ข้อสั่งการ ให้สำนักงานการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย ดำเนินการ (1) สนับสนุนให้ครู และบุคลากร เข้าอบรมจิตอาสา 904 (2) น้อมนำศาสตร์พระราชาและหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการจัดการศึกษานอกระบบสำหรับประชาชน (3) เร่งพัฒนาปรับปรุงสื่อนิทรรศการ และกิจกรรมการเรียนรู้ในศูนย์วิทยาศาสตร์

      โดยประสานความร่วมมือกับองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) สะเต็มศึกษาขององค์การรัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEAMEO STEM – ED) และ SEAMEO SEPS (4) เร่งดำเนินการคัดเลือกผลิตภัณฑ์ จาก OOCC (ONIE Online Commerce Centre) ที่โดดเด่น 100 ผลิตภัณฑ์ เพื่อเข้าคัดเลือกเป็นผลิตภัณฑ์ OOCC ที่โดดเด่น 100 ผลิตภัณฑ์ของประเทศ และให้สำรวจสถานีบริการน้ำมัน PT ในพื้นที่ว่าแห่งใดมีทำเลที่เหมาะสมต่อการนำผลิตภัณฑ์ OOCC ไปวางจำหน่าย (5) ให้พัฒนาผลิตภัณฑ์สินค้าผ่านการเรียนหลักสูตรอาชีพกับสำนักงานฯ และให้มีการประกวดแข่งขันผลิตภัณฑ์ต่างๆ ในระดับภูมิภาค และระดับประเทศ เช่น ผ้าพื้นเมืองภาคใต้ เป็นต้น

     รวมทั้งให้มีการประกวด Young Designer ที่เป็นนักศึกษาของสำนักงานฯ เพื่อส่งเสริมด้านนวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์ในการเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ (6) กำหนดให้มีการสอบครูผู้ช่วย จำนวน 396 อัตรา โดยปรับหลักเกณฑ์และคุณสมบัติให้สอดคล้องกับผู้ปฏิบัติงานสำนักงานฯ มากขึ้น (7) เร่งดำเนินการปรับแก้ กฎ ระเบียบ กฎหมาย ที่เป็นข้อจำกัดในการเรียนรู้ โดยเฉพาะเรื่องการเงินและพัสดุ (8) ปรับปรุงหลักสูตรการศึกษานอกระบบระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. 2551 ให้มีความทันสมัย แก้ปัญหาจำนวนวิชาที่มากเกินความจำเป็น จำนวนวิชาที่ซ้ำซ้อน จำนวนเวลาเรียนที่มากหรือน้อยเกินไป รวมถึงวิธีวัดและประเมินผล

     สำหรับ กลุ่มเป้าหมายการศึกษานอกระบบโรงเรียน เพื่อให้สามารถเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ (9) เร่งพัฒนาหลักสูตรระยะสั้นที่ตอบสนองความต้องการตามบริบทของแต่ละพื้นที่ เช่น หลักสูตรภาษายาวี มลายู เป็นต้น (10) ให้มีการใช้ประโยชน์จากโรงเรียนขนาดเล็ก สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ที่ถูกควบรวม โดยให้ สำนักงาน กศน.จังหวัด ดำเนินการสำรวจเพื่อประสานขอใช้ประโยชน์ในการจัดตั้งเป็นศูนย์การเรียนรู้ทุกช่วงวัย หรือศูนย์การเรียนรู้อื่นตามความเหมาะสม (11) เร่งดำเนินการสำรวจและทำแผนปรับปรุง ซ่อมแซม และพัฒนาห้องสมุดประชาชน “เฉลิมราชกุมารี” ให้ทันการเสนอของบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 และ (12) จัดทำแนวทางการส่งเสริมให้ครูสอนเด็กเร่ร่อนมีความมั่นคงในอาชีพ

       3) ติดตามผลการดำเนินงานของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ จังหวัดปัตตานี ข้อสั่งการ ให้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชนบรรจุและแต่งตั้งบุคลากรตำแหน่งศึกษานิเทศก์ที่ปฏิบัติงานในสำนักงานการศึกษาเอกชนจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้เต็มตามกรอบอัตรากำลังที่มีอยู่

      4) ติดตามโครงการเดินสำรวจออกโฉนดที่ดินเพื่อเสริมสร้างความมั่นคงในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ข้อสั่งการ (1) ให้กรมที่ดินและจังหวัด ประชาสัมพันธ์และชี้แจงการดำเนินงานโครงการเดินสำรวจออกโฉนดที่ดินเพื่อเสริมสร้างความมั่นคงในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (2) ให้กรมที่ดินดำเนินการเดินสำรวจออกโฉนดที่ดินในพื้นที่เป้าหมายทุกพื้นที่อย่างทั่วถึง และปฏิบัติงานด้วยความรับผิดชอบ รอบคอบ และระมัดระวัง มิให้มีการออกโฉนดทับซ้อนกับพื้นที่ป่าไม้ พื้นที่สาธารณประโยชน์ หรือที่ดินของรัฐประเภทอื่นๆ ซึ่งเป็นพื้นที่ต้องห้ามโดยเด็ดขาด และ (3) ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาสจัดตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาที่ดินทำกิน ที่อยู่อาศัยของประชาชนในพื้นที่อำเภอสุไหงปาดี โดยมีผู้แทนจากสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม กรมที่ดิน กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายอำเภอ และผู้ใหญ่บ้าน เป็นต้น สำรวจ รวบรวมปัญหาของประชาชน ตลอดจนข้อขัดข้องทางด้านกฎหมายเพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการแก้ไขปัญหาต่อไป

       5) ตรวจเยี่ยมโรงเรียนในเครือข่ายของมูลนิธิยุวทูตความดี (โรงเรียนบ้านสุไหงโก-ลก) จังหวัดนราธิวาส ข้อสั่งการ ให้กระทรวงการต่างประเทศพิจารณาดำเนินกิจกรรมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในระดับส่วนกลางและส่วนภูมิภาคตามแนวทางการทูตประชารัฐอย่างต่อเนื่อง เพื่อเสริมสร้างความตระหนักรู้และขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) โดยมีหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเป็นแนวทางโดยเฉพาะอย่างยิ่งในระดับเยาวชนเพื่อพัฒนาทรัพยากรบุคคลให้สามารถขับเคลื่อนประเทศได้ตามแนวทางยุทธศาสตร์ชาติ

      6) รับฟังการดำเนินงานและมอบนโยบายด้านสาธารณสุขแก่ผู้บริหารและบุคลากรโรงพยาบาลโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี ข้อสั่งการ (1) ให้กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ บริหารจัดการระบบสวัสดิการอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งพัฒนาและยกระดับอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน ให้เป็นหมอประจำบ้าน เพื่อดูแลประชาชนและผู้ป่วยกลุ่มเป้าหมายให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี และ (2) ให้อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความตั้งใจและเสียสละ เพื่อดูแลประชาชนให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี โดยเน้นการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค

     7) ติดตามการดำเนินงานและมอบนโยบายหัวหน้าส่วนราชการ เจ้าหน้าที่ บัณฑิตแรงงาน และแกนนำอาสาสมัครแรงงาน ณ สถาบันฝีมือแรงงาน 25 นราธิวาส อำเภอเมือง จังหวัดนราธิวาส ข้อสั่งการ ให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงาน บัณฑิตแรงงาน และอาสาสมัครแรงงานในพื้นที่ ทำหน้าที่อย่างเต็มศักยภาพ โดยบูรณาการกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง และภาคีเครือข่ายด้านแรงงานโดยยกระดับและเพิ่มทักษะฝีมือแรงงานให้สอดคล้องกับความต้องการของสถานประกอบการ เพื่อเตรียมความพร้อมรองรับการลงทุนในพื้นที่และสนับสนุนโครงการสามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน และลงพื้นที่พบปะสถานประกอบกิจการและบูรณาการทำงานร่วมกันเพื่อพัฒนาและยกระดับทักษะฝีมือแรงงานในภาคการผลิตให้สามารถต่อยอดนวัตกรรมเพื่อเพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์

       8) ตรวจเยี่ยมและพบปะประชาชนและหน่วยงานในสังกัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เพื่อติดตามการดำเนินงานในพื้นที่จังหวัดนราธิวาส ข้อสั่งการ (1) ให้สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดนราธิวาส ส่งเสริมให้มีอาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ในพื้นที่เพิ่มขึ้น  และเพิ่มทักษะในการดูแลผู้สูงอายุ ผู้พิการ ผู้ป่วยติดเตียง เพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุและบูรณาการการแก้ไขปัญหาครอบครัวร่วมกับภาคประชาชนโดยใช้หลักศาสนาเข้ามาดำเนินการ และสนับสนุนงบประมาณเพื่อให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น (2) ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดฝึกอบรมพัฒนาศักยภาพกลุ่มเป้าหมาย เพื่อพัฒนาทุนมนุษย์และต่อยอดองค์ความรู้ให้สามารถพึ่งตนเองได้อย่างมีคุณค่าและยั่งยืน (3) มอบหน่วยงานสังกัดกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ในพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคใต้ชายแดน

     การป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดในพื้นที่  เนื่องจากเป็นปัญหาความรุนแรงในพื้นที่ที่จะต้องมีการบูรณาการการทำงานร่วมกันจากทุกภาคส่วน โดยการจัดอบรมครู ก. อำเภอละ1 ตำบล ซึ่งครู ก. ได้แก่ บุคลากรของสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด บ้านพักเด็กและครอบครัวจังหวัด อาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน สภาเด็กและเยาวชน ตำรวจ ผู้นำชุมชน และผู้นำทางศาสนา และให้สำนักงานส่งเสริมและสนับสนุนวิชาการในพื้นที่ร่วมติดตามและประเมินผล และ (4) ให้กรมกิจการเด็กและเยาวชน กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว จัดให้มีโรงเรียน หลักสูตร และคู่มือ สำหรับผู้ปกครองในการเลี้ยงดูบุตร และจัดการอบรมให้แก่สภาเด็กและเยาวชน และส่งเสริมให้เป็นกลไกในการป้องกันปัญหายาเสพติด

3.5 ประเด็นอื่นๆ

      1) ติดตามนโยบายรัฐบาลและข้อเสนอการแก้ไขปัญหาและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ณ ศาลากลางจังหวัดปัตตานี ข้อสั่งการ (1) การเทิดทูนและปกป้องสถาบันหลักของชาติ ให้ทุกหน่วยงานสร้างความตระหนักรู้แก่พี่น้องประชาชน ถึงความสำคัญของสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ที่ต้องธำรงรักษาไว้ เพื่อสันติสุขของบ้านเมืองสืบไป (2) การสร้างความปรองดอง สมานฉันท์ของสังคม ให้ทุกหน่วยงาน ทำความเข้าใจกับทุกภาคส่วน ในการร่วมกันขับเคลื่อนประเทศไปข้างหน้าด้วยความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เพราะทุกคนล้วนแต่เป็นประชาชนคนไทยและราษฎรในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (3) การแก้ไขปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ ให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องบูรณาการการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ให้เป็นเอกภาพ โดยยึดยุทธศาสตร์พระราชทาน ‘ยุทธศาสตร์พระราชทาน เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา’ ยึดประชาชนเป็นศูนย์กลางในการพัฒนา และขอเป็นกำลังใจให้กับทุกภาคส่วนในการแก้ไขปัญหาเพื่อนำพาสันติสุขให้เกิดขึ้นในพื้นที่อย่างเป็นรูปธรรม

     (4) การพัฒนาด้านเศรษฐกิจของจังหวัด ให้จังหวัดปัตตานีและภาคเอกชนควรร่วมกันคิดวิเคราะห์ศักยภาพของพื้นที่และวางแผนการพัฒนาเพื่อเพิ่มมูลค่าด้านเศรษฐกิจ ทั้งในด้านการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ และมาตรการส่งเสริมการลงทุนต่าง ๆ เพื่อให้ระบบเศรษฐกิจดี สามารถสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้กับประชาชน และมีคุณภาพชีวิตดีขึ้นตามไปด้วย และ (5) การเตรียมความพร้อมในการแก้ไขปัญหาภัยแล้ง ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง บริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ เกิดประโยชน์กับประชาชนอย่างแท้จริง ทั้งน้ำในการอุปโภคบริโภค และน้ำเพื่อการเกษตร โดยเฉพาะพื้นที่ประสบปัญหาภัยแล้งซ้ำซาก ต้องหาทางกักเก็บน้ำตามแก้มลิงในฤดูน้ำหลาก เพื่อให้มีปริมาณน้ำใช้เพียงพอ สามารถบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนอย่างทั่วถึง

  2) รับฟังสรุปผลการปฏิบัติงานคดีความมั่นคงที่สำคัญในพื้นที่ ณ ศาลากลางจังหวัดปัตตานี ข้อสั่งการ (1) ให้หน่วยงานความมั่นคงและทุกหน่วย (ทหาร ตำรวจ ปกครอง ชุดคุ้มครองตำบล อาสารักษาหมู่บ้าน และกำลังภาคประชาชน) ร่วมบูรณาการในการวางมาตรการป้องกันเหตุที่ตั้งหน่วยดูแลความปลอดภัยชีวิตทรัพย์สินของพี่น้องประชาชนในพื้นที่ให้มีการซักซ้อมแผนเผชิญเหตุเป็นประจำ และ (2) ให้หน่วยงานความมั่นคงและตำรวจ เร่งรัดรวบรวมพยานหลักฐาน (พยานบุคคล พยานวัตถุ พยานแวดล้อม) และสืบสวนติดตามจับกุมตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษตามกฎหมายให้ได้ เพื่อให้การดำเนินคดีมีความคืบหน้าโดยเร็ว

       3) ตรวจเยี่ยมชมและพบปะผู้บังคับบัญชาหน่วยในสังกัดหน่วยเฉพาะกิจปัตตานี (ฉก.ปัตตานี) ข้อสั่งการ ให้หน่วยเฉพาะกิจปัตตานี (ได้แก่ หน่วย ฉก.ทพ. 22 ฉก.ทพ. 42 ฉก.ทพ. 43 ฉก.ทพ. 44 ฉก.ปัตตานี 25 ฉก.อโณทัย และ ฉก.สันติสุข) นำแนวทางการดำเนินงานไปปฏิบัติงานให้เกิดผลเป็นรูปธรรม ดังนี้ (1) การดำเนินงานด้านการข่าวมีความสำคัญอย่างยิ่ง ทุกหน่วยจะต้องประสานความร่วมมือภายในกลไกประชาคมข่าวกรองอย่างใกล้ชิด เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลที่ถูกต้องเชื่อถือได้ อันจะนำมาซึ่งการปฏิบัติการทางยุทธการและยุทธวิธีที่มีประสิทธิภาพ

     (2) เพิ่มความเข้มข้นในการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแทรกซ้อน โดยเฉพาะปัญหายาเสพติด ซึ่งถือเป็นความสำคัญเร่งด่วนที่จะช่วยให้การแก้ไขปัญหาด้านความมั่นคงในพื้นที่ประสบความสำเร็จได้รวดเร็วขึ้น (3) ให้ความสำคัญกับการดำเนินงานด้านกิจการพลเรือน และการพัฒนาเพื่อความมั่นคงร่วมกับทุกภาคส่วน เพื่อให้ประชาชนเกิดความเชื่อมั่นในการดำเนินงานของภาครัฐอันจะนำมาซึ่งความร่วมมือร่วมใจในการแก้ไขปัญหาต่างๆ ร่วมกันภายใต้สังคมพหุวัฒนธรรมที่เข้มแข็งต่อไป

     (4) ให้ความสำคัญกับการจัดอบรม ชี้แจงกำลังพลที่เข้ามาปฏิบัติหน้าที่ใหม่ ให้มีความรู้ความเข้าใจในข้อกฎหมาย หลักปฏิบัติของแต่ละศาสนา โดยเฉพาะการน้อมนำยุทธศาสตร์พระราชทาน 'เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา' มาเป็นหลักในการปฏิบัติงาน (5) ให้กำลังพลทุกนายดำรงตนอยู่ในระเบียบวินัย ตั้งใจปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเสียสละ อดทน เพื่อนำความสงบและสันติสุขให้เกิดแก่พี่น้องประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ (6) การปฏิบัติหน้าที่ของกำลังพล ต้องอยู่ในความไม่ประมาท มีความระมัดระวัง และตื่นตัวอยู่เสมอ ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความรอบครอบ โดยยึดถือหลักกฎหมายและสิทธิมนุษยชนอย่างเคร่งครัด และ (7) ให้ผู้บังคับบัญชาทุกระดับชั้นกำกับดูแลความเป็นอยู่และทุกข์สุขของผู้ใต้บังคับบัญชาให้มีขวัญและกำลังใจที่ดี อันจะเป็นปัจจัยสำคัญแห่งการปฏิบัติภารกิจต่างๆ ให้ประสบความสำเร็จต่อไป

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 21 มกราคม 2563

สำนักโฆษก   สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396

******************************************

line logotwitterLike1 Share3Like1 Share1กด Like - Share  เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ

 Click Donate Support Web

SAM720x100px bgGC 790x90

sme 720x90banpu 720x90 new1 1

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!