การดำเนินการตามคำมั่นที่ให้กับสหภาพยุโรปในการเข้าเป็นภาคีความตกลงพหุภาคีว่าด้วยการให้ความช่วยเหลือด้านการบริหารภาษี
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Sunday, 26 January 2020 09:08
- Hits: 1893
การดำเนินการตามคำมั่นที่ให้กับสหภาพยุโรปในการเข้าเป็นภาคีความตกลงพหุภาคีว่าด้วยการให้ความช่วยเหลือด้านการบริหารภาษี
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบและอนุมัติตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ดังนี้
- เห็นชอบในการเข้าเป็นภาคี (Multilateral Convention on Mutual Administrative Assistance in Tax Matters: MAC) ในด้านการแลกเปลี่ยนข้อมูลตามข้อ 2)
- อนุมัติให้ประเทศไทยลงนามพิธีสารเข้าร่วมเป็นภาคี MAC ณ สำนักงานใหญ่ OECD กรุงปารีส สาธารณรัฐฝรั่งเศส เมื่อประเทศไทยได้รับหนังสือเชิญให้เข้าร่วมเป็นภาคี MAC จาก OECD
- อนุมัติให้เอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงปารีส สาธารณรัฐฝรั่งเศส เป็นผู้ลงนามพิธีสารฯ
- มอบหมายให้กระทรวงการต่างประเทศดำเนินการออกหนังสือมอบอำนาจเต็ม (Full Powers) ให้แก่เอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงปารีส สาธารณรัฐฝรั่งเศส เป็นผู้ลงนามพิธีสารฯ และจัดส่งหนังสือดังกล่าวต่อ OECD
- เห็นชอบในการนำ MAC เข้าสู่วาระพิจารณาของรัฐสภา เมื่อการลงนามพิธีสารฯ เรียบร้อยแล้ว
- เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (การแลกเปลี่ยนข้อมูลตามคำขอระหว่างประเทศและการแลกเปลี่ยนข้อมูลอัตโนมัติระหว่างประเทศ) และการให้เสนอร่างพระราชบัญญัติฯ เข้าสู่วาระการพิจารณาของรัฐสภา เมื่อ MAC ผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภาแล้ว
- รับทราบแผนกฎหมายลำดับรองออกภายใต้พระราชบัญญัติฯ
- อนุมัติให้ยื่นสัตยาบันสารเพื่อแสดงเจตนาให้มีผลผูกพัน เมื่อพระราชบัญญัติฯ มีผลใช้บังคับ
- มอบหมายให้กระทรวงการต่างประเทศประสานสถานทูตไทยประจำประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปเพื่อทำความเข้าใจกับสมาชิก (Code of Conduct Group on Business :COCG) เกี่ยวกับการดำเนินการของฝ่ายไทยในการปฏิบัติตามคำมั่นที่ให้กับสหภาพยุโรปและสนับสนุนการเข้าเป็นภาคี MAC เพื่อให้ OECD ส่งหนังสือเชิญประเทศไทยเข้าเป็นภาคี MAC โดยเร็วที่สุด และสามารถลงนามพิธีสารฯ ได้ก่อนการประชุม COCG เพื่อพิจารณา (EU List of Non-cooperative Jurisdictions for Tax Purposes : EU List) ในเดือนกุมภาพันธ์ 2563
สาระสำคัญของเรื่อง
1) MAC เป็นความตกลงพหุภาคีที่มุ่งเน้นการให้ความช่วยเหลือด้านการบริหารภาษีระหว่างประเทศสมาชิก พัฒนาขึ้นจากความร่วมมือระหว่าง OECD และสหภาพยุโรปตั้งแต่ปี 2531 และมีพิธีสารแก้ไขในปี 2553 โดยมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2554 ปัจจุบันมีสมาชิกทั้งหมด 135 ประเทศ วัตถุประสงค์หลักของ MAC คือ สร้างกลไกความร่วมมือด้านภาษีระหว่างประเทศเพื่อป้องกันการหลบหลีกและหลีกเลี่ยงภาษีผ่านความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิกในรูปแบบการให้ความช่วยเหลือ 3 ด้าน ได้แก่ (1) การแลกเปลี่ยนข้อมูล (2) การให้ความช่วยเหลือในการติดตามจัดเก็บภาษีค้างชำระ (3) การให้บริการจัดหาเอกสารตามที่ได้รับคำร้องขอ โดยความช่วยเหลือทั้ง 3 ด้าน ครบคลุมภาษีทุกประเภทและรูปแบบการให้ความช่วยเหลือในด้านที่ (2) และ (3)
2) กระทรวงการคลังพิจารณาแล้ว เห็นว่า เมื่อประเทศไทยได้รับหนังสือเชิญให้เข้าเป็นภาคี MAC ควรตอบรับการเข้าร่วมเป็นภาคี MAC ในข้อที่ประเทศไทยมีกฎหมายภายในที่รองรับการดำเนินการ ได้แก่ ประมวลรัษฎากร และร่างพระราชบัญญัติฯ ที่ผ่านการพิจารณาตรวจร่างจากคณะกรรมการกฤษฎีกา อันเป็นการตรากฎหมายเพื่อรองรับการปฏิบัติตามพันธกรณีภายใต้ MAC ซึ่งเป็นไปตามข้อกำหนดขั้นพื้นฐานในการเข้าเป็นภาคี MAC ดังนี้
(1) ประเภทภาษีที่ครอบคลุม ได้แก่ ภาษีเงินได้หรือกำไร ภาษีผลได้จากทุน (Capital gains) และภาษีความมั่นคง (Net wealth) (Article 2 – Taxes covered วรรค 1 a., Chapter I – Scope of the Convention) ซึ่งประเทศสมาชิกจะต้องปฏิบัติตามพันธกรณีภายใต้ MAC สำหรับประเภทภาษีที่มีในระบบ สำหรับประเทศไทยครอบคลุมเฉพาะประเภทภาษีเงินได้
(2) รูปแบบการให้ความช่วยเหลือด้านการแลกเปลี่ยนข้อมูล (Section I – Exchange of Information, Chapter III – Forms of assistance) กำหนดให้ประเทศสมาชิกต้องดำเนินการ ดังนี้
(2.1) แลกเปลี่ยนข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับประเภทภาษีตามที่กำหนดในข้อ 2 ของความตกลง (Article 4 – General Provision)
(2.2) แลกเปลี่ยนข้อมูลได้ 3 รูปแบบ ได้แก่ การแลกเปลี่ยนข้อมูลแบบร้องขอ (Article 5 – Exchange of information on request) การแลกเปลี่ยนข้อมูลแบบอัตโนมัติ (Article 6 – Automatic Exchange of Information) และการแลกเปลี่ยนข้อมูลแบบมิได้ร้องขอ (Article 7 – Spontaneous Exchange of Information)
(2.3) ตรวจสอบภาษีพร้อมกันในประเทศของตนและนำผลการตรวจสอบมาแลกเปลี่ยนกันสำหรับรายที่มีความเกี่ยวข้อกัน (Article 8 – Simultaneous tax examinations)
(2.4) แจ้งประเทศสมาชิกที่ส่งข้อมูลผ่านการแลกเปลี่ยน ในกรณีที่ได้รับข้อมูลจากประเทศสมาชิกอื่น ๆ ซึ่งไม่ตรงกับข้อมูลที่มีอยู่ในความครอบครอง (Article 10 – Conflicting information)
สำหรับ รูปแบบการให้ความช่วยเหลือด้านอื่นๆ จะให้สิทธิตั้งข้อสงวนตามที่กำหนดในข้อ 30 (Article 30 - Reservations)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 21 มกราคม 2563
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ
Click Donate Support Web