แผนการคลังระยะปานกลาง (ปีงบประมาณ 2564 – 2567)
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Saturday, 28 December 2019 22:08
- Hits: 509
แผนการคลังระยะปานกลาง (ปีงบประมาณ 2564 – 2567)
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่คณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐ (คณะกรรมการฯ) เสนอแผนการคลังระยะปานกลาง (ปีงบประมาณ 2564 – 2567) เพื่อให้หน่วยงานของรัฐนำไปใช้ประกอบการพิจารณาในการจัดเก็บหรือหารายได้ การจัดทำงบประมาณ และการก่อหนี้ของหน่วยงานของรัฐตามมาตรา 16 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ต่อไป
สาระสำคัญของเรื่อง
สำนักงานเศรษฐกิจการคลังในฐานะเลขานุการคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐรายงานว่า ในคราวประชุมคณะกรรมการฯ ครั้งที่ 2/2562 เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2562 คณะกรรมการฯ ได้มีมติดังนี้
- เห็นชอบให้มีการปรับระยะเวลาของแผนการคลังระยะปานกลางจากเดิม 3 ปีเป็น 4 ปีเพื่อให้สอดคล้องกับกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ โดยแผนการคลังฉบับนี้จะเป็นแผนการคลังระยะปานกลาง (ปีงบประมาณ 2564-2567) (แผนการคลังระยะปานกลางฯ)
- เห็นชอบแผนการคลังระยะปานกลางฯโดยมีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
2.1 สถานะและประมาณการเศรษฐกิจในปี 2564 คาดว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (Gross Domestic Product : GDP) จะขยายตัวอยู่ในช่วงร้อยละ 3.1 - 4.1 (ค่ากลางร้อยละ 3.6) โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวในเกณฑ์ดีอย่างต่อเนื่องของการใช้จ่ายภาคครัวเรือน การลงทุนภาครัฐและการลงทุนภาคเอกชนที่มีแนวโน้มขยายตัวสูงขึ้น การส่งออกที่มีแนวโน้มเร่งตัวสูงขึ้นตามแนวโน้มการขยายตัวดีขึ้นของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้ารวมถึงภาคการท่องเที่ยวที่ยังคงขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องสำหรับเสถียรภาพทางเศรษฐกิจในปี 2564 ยังมีแนวโน้มอยู่ในเกณฑ์ดี โดยคาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะอยู่ในช่วงร้อยละ 0.7 - 1.7 (ค่ากลางร้อยละ 1.2) ตามแนวโน้มการขยายตัวในเกณฑ์ดีของอุปสงค์ภายในประเทศ สำหรับเศรษฐกิจไทยในช่วงปี 2565 - 2567 มีแนวโน้มที่ GDP จะขยายตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยในปี 2565 คาดว่าจะขยายตัว ร้อยละ 3.3-4.3 (ค่ากลางร้อยละ 3.8) และเร่งขึ้นอยู่ในช่วงร้อยละ 3.5 - 4.5 (ค่ากลางร้อยละ 4.0) ในปี 2566-2567 จากปัจจัยสนับสนุนจากอุปสงค์ภายในประเทศที่ฟื้นตัวได้ดีขึ้น
โดยการลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มเร่งตัวขึ้นตามการขยายตัวของการส่งออกและแรงกระตุ้นจากความคืบหน้าของโครงการลงทุนภาครัฐ รวมทั้งการขยายตัวอย่างต่อเนื่องของการบริโภคภาคเอกชนตามการปรับตัวดีขึ้นของฐานรายได้ของประชาชนในระบบเศรษฐกิจ รวมถึงการขยายตัวอย่างต่อเนื่องของเศรษฐกิจโลกจะยังช่วยสนับสนุนการขยายตัวของการส่งออกและการผลิตภาคอุตสาหกรรม สำหรับเสถียรภาพทางเศรษฐกิจยังมีแนวโน้มอยู่ในเกณฑ์ดีอย่างต่อเนื่องจากปี 2564 ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มเร่งตัวขึ้นจากช่วงร้อยละ 0.9 - 1.9 (ค่ากลางร้อยละ 1.4) ในปี 2565 มาอยู่ในช่วงร้อยละ 1.0 ถึง 2.0 (ค่ากลางร้อยละ 1.5) ในปี 2566 และร้อยละ 1.2 – 2.2 (ค่ากลางร้อยละ 1.7) ในปี 2567
2.2 สถานะและประมาณการการคลัง
หน่วย : ล้านบาท
ปีงบประมาณ 2563 2564 2565 2566 2567
รายได้รัฐบาลสุทธิ 2,731,000 2,777,000 2,819,000 2,913,000 3,031,000
อัตราการเพิ่ม (ร้อยละ) 7.1 1.7 1.5 3.3 4.1
งบประมาณรายจ่าย 3,200,000 3,300,000 3,336,000 3,415,000 3,506,000
อัตราการเพิ่ม (ร้อยละ) 6.7 3.1 1.1 2.4 2.7
ดุลการคลัง -469,000 -523,000 -517,000 -502,000 -475,000
ดุลการคลังต่อ GDP -2.7 -2.8 -2.7 -2.5 -2.2
(ร้อยละ)
หนี้สาธารณะคงค้าง 7,530,290 8,242,358 9,049,688 9,824,190 10,446,329
หนี้สาธารณะคงค้างต่อ GDP (ร้อยละ) 43 45 47 48.3 48.6
ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) 17,593,200 18,444,700 19,401,600 20,474,000 21,651,000
ที่มา : กระทรวงการคลัง (กค.) สำนักงบประมาณ (สงป.) และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)
2.2.1 ประมาณการรายได้รัฐบาลสุทธิปีงบประมาณ 2564 - 2567 ข้างต้นจัดทำภายใต้สมมติฐานที่รวมรายได้จากการปฏิรูปโครงสร้างภาษีที่อยู่ระหว่างการผลักดันของ กค. เช่นการปรับปรุงโครงสร้างภาษีการบริโภคจากสินค้าที่มีผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม การปรับปรุงวิธีการคำนวณ วิธีการจัดเก็บค่าลดหย่อน การยกเว้นภาษีบางประเภท และการทบทวนมาตรการชั่วคราวที่ทำให้รัฐสูญเสียรายได้ การบังคับใช้กฎหมายกำหนดราคาโอนระหว่างบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีความสัมพันธ์กัน (Transfer Pricing) และกฎหมายเพื่อจัดเก็บภาษีเงินได้จากการลงทุนในตราสารหนี้ผ่านกองทุนรวม การผลักดันกฎหมายเพื่อจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากผู้ประกอบการธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ (e-Business) ในต่างประเทศเป็นต้น
2.2.2 ประมาณการงบประมาณรายจ่ายปีงบประมาณ 2564-2567 มีสมมติฐานที่สำคัญ เช่น กำหนดให้สัดส่วนงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นอยู่ที่ร้อยละ 2.0-3.5 ของวงเงินงบประมาณกำหนดรายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้ที่มีสัดส่วนอยู่ที่ร้อยละ 2.5 - 3.5 ของวงเงินงบประมาณ ควบคุมค่าใช้จ่ายบุคลากรให้มีอัตราเพิ่มโดยเฉลี่ยไม่เกินร้อยละ 3.0 โดยให้หน่วยรับงบประมาณที่มีเงินรายได้นำมาสมทบ เป็นต้น
2.2.3 จากประมาณการรายได้รัฐบาลสุทธิและประมาณการงบประมาณรายจ่ายตามข้อ 2.2.1 และ 2.2.2 จะส่งผลให้รัฐบาลจะขาดดุลงบประมาณในปีงบประมาณ 2564-2567
2.2.4 ประมาณการหนี้สาธารณะต่อ GDP สำหรับปีงบประมาณ 2564-2567 มีสมมติฐานที่สำคัญ เช่น แผนความต้องการเงินกู้ระยะปานกลาง (ปีงบประมาณ 2563-2567) ที่คณะกรรมการ นโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะได้มีมติเห็นชอบไว้ในคราวประชุมคณะกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะ ครั้งที่ 4/2562 เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2561 ยอดหนี้สาธารณะคงค้าง ณ สิ้นปีงบประมาณ 2562 มีจำนวน 6,901,802 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 41.2 ของ GDP เป็นต้น
- เป้าหมายและนโยบายการคลัง
ในการดำเนินนโยบายการคลังระยะปานกลาง รัฐบาลยังมีความจำเป็นต้องจัดทำงบประมาณเพื่อส่งเสริมการลงทุนของภาครัฐและสนับสนุนให้เศรษฐกิจมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และหากในระยะต่อไปภาวะเศรษฐกิจไทยสามารถขยายตัวได้อย่างเต็มศักยภาพ โดยมีภาคเอกชนเป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจรัฐบาลก็จะสามารถลดขนาดการขาดดุลลงได้ เป้าหมายการคลังในระยะยาวจึงควรกำหนดให้รัฐบาลปรับลดขนาดการขาดดุลและมุ่งสู่การจัดทำงบประมาณสมดุลในที่สุดดังนั้น เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการคลังทั้งในระยะปานกลางและระยะยาวดังกล่าวข้างต้นคณะกรรมการฯ ได้เสนอให้รัฐบาลดำเนินมาตรการ 3 ด้าน ให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมดังนี้
3.1 มาตรการด้านการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้จ่ายงบประมาณโดย สงป. จะต้องควบคุมรายจ่ายของรัฐบาลที่เป็นรายจ่ายประจำโดยเฉพาะรายจ่ายด้านบุคลากรเพื่อเพิ่มสัดส่วนรายจ่ายลงทุนต่อวงเงินงบประมาณรายจ่าย ทั้งนี้ การจัดสรรงบประมาณควรคำนึงถึงความจำเป็น ความเร่งด่วน ความคุ้มค่า ศักยภาพของหน่วยงาน ความพร้อมในการดำเนินงานและขีดความสามารถในการใช้จ่ายงบประมาณเพื่อให้สามารถจัดสรรงบประมาณได้อย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุดรวมถึง การจัดสรรงบประมาณชำระต้นเงินกู้เพื่อลดความเสี่ยงทางการคลังและภาระดอกเบี้ย
3.2 มาตรการด้านการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลโดย กค. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องปฏิรูปการจัดเก็บรายได้ทั้งระบบเพื่อให้มีการจัดหาแหล่งรายได้ใหม่ขยายฐานภาษีให้ครอบคลุม อีกทั้งจะต้องเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้ทั้งรายได้จากภาษีและรายได้จากทรัพย์สิน
โดยนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาใช้ผลักดันการบังคับใช้กฎหมายที่อยู่ระหว่างดำเนินการ ได้แก่ การปรับปรุงประมวลรัษฎากรเพื่อจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากผู้ประกอบการอิเล็กทรอนิกส์ (e-Business) ในต่างประเทศ รวมถึงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการที่ราชพัสดุและการทำงานของรัฐวิสาหกิจเพื่อให้รัฐบาลมีรายได้ที่สามารถตอบสนองความต้องการใช้จ่ายตามยุทธศาสตร์ของประเทศ
3.3 มาตรการด้านการรักษาวินัยในการบริหารหนี้สาธารณะจะต้องยึดหลักความระมัดระวังสูงสุด (Conservative) ในการบริหารหนี้สาธารณะ รวมทั้ง ดำเนินการทางการคลังอย่างรอบคอบ รัดกุม และสอดคล้องกับเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 โดยเฉพาะการจัดสรรงบประมาณชำระต้นเงินกู้เพื่อลดความเสี่ยงทางการคลังและภาระดอกเบี้ย ซึ่งอาจเป็นข้อจำกัดในการบริหารรายจ่ายประจำในอนาคตได้
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 24 ธันวาคม 2562
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ
Click Donate Support Web