WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

ภาวะสังคมไทยไตรมาสสาม ปี 2562

ภาวะสังคมไทยไตรมาสสาม ปี 2562

GOV3 copy copy

    คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบภาวะสังคมไทยไตรมาสสาม ปี 2562 ตามที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เสนอ สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้

  1. ความเคลื่อนไหวทางสังคมไตรมาสสาม ปี 2562

      1.1 การชะลอตัวของเศรษฐกิจยังไม่ปรากฏผลกระทบต่อตลาดแรงงานมากนัก

      ไตรมาสสาม ปี 2562 ผู้มีงานทำลดลงร้อยละ 2.1 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน โดยภาคเกษตรมีการจ้างงานลดลงร้อยละ 1.8 เป็นการลดลงต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 3 จากปัญหาภัยธรรมชาติ และการจ้างงานภาคนอกเกษตรลดลงร้อยละ 2.3 ตามการชะลอตัวทางเศรษฐกิจและการหดตัวของการส่งออก

       ชั่วโมงการทำงานทรงตัว โดยเฉลี่ยแรงงานยังคงมีชั่วโมงทำงานยังอยู่ในระดับใกล้เคียงกับช่วงเดียวกันของปี 2561 โดยเพิ่มขึ้นที่ร้อยละ 0.4 ส่วนค่าจ้างแรงงานในภาพรวมเพิ่มขึ้นเล็กน้อย โดยค่าจ้างแรงงานโดยรวมเฉลี่ยเท่ากับ 14,334 บาท/เดือน ค่าจ้างแรงงานภาคเอกชนเท่ากับ 12,847 บาท/เดือน เพิ่มขึ้นประมาณ ร้อยละ 1.9 เมื่อหักอัตราเงินเฟ้อที่ร้อยละ 0.6

      ผู้ว่างงานมีจำนวน 0.349 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.5 คิดเป็นอัตราการว่างงาน ร้อยละ 1.04 สาเหตุสำคัญมาจากเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงและปัญหาภัยธรรมชาติ ส่วนแนวโน้มการจ้างงานในไตรมาสสี่ ปี 2562 คาดว่า การชะลอตัวทางเศรษฐกิจยังไม่ปรากฏผลกระทบต่อตลาดแรงงานมากนัก ชี้ให้เห็นจากตัวเลขจากการสำรวจภาวะการมีงานทำของประชากร เดือนตุลาคม 2562 กำลังแรงงานและผู้มีงานทำลดลงร้อยละ 1.7 และ 1.6 ตามลำดับ ส่วนหนึ่งคาดว่ามีการเคลื่อนย้ายออกจากกำลังแรงงาน โดยพบว่าผู้ที่อยู่นอกกำลังแรงงาน 19.2 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.1 ประกอบกับโครงสร้างตลาดแรงงานไทยมีความยืดหยุ่นซึ่งแรงงานที่ถูกเลิกจ้างในระบบสามารถย้ายไปทำงานนอกระบบได้ง่าย โดยเฉพาะในภาคเกษตรกรรม

     อย่างไรก็ตาม มีสัญญาณของผลกระทบจากการชะลอตัวทางเศรษฐกิจที่ต้องติดตามต่อไป เช่น (1) ผู้ขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง (2) คำสั่งซื้อในประเทศและต่างประเทศที่ปรับตัวลดลง โดยคำสั่งซื้อในประเทศปรับตัวลดลงต่อเนื่อง เป็นเดือนที่ 11 ติดต่อกัน ขณะที่คำสั่งซื้อจากต่างประเทศหดตัวต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 6 ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการจ้างงานในอุตสาหกรรมการผลิตเพื่อส่งออก และ (3) การทำงานล่วงเวลาลดลง

ประเด็นที่ต้องให้ความสำคัญกับตลาดแรงงาน

      (1) การติดตามสถานการณ์การเลิกจ้างอย่างใกล้ชิด และการติดตามตรวจสอบให้แรงงานได้รับเงินชดเชยการเลิกจ้างตามที่กฎหมายกำหนด รวมทั้งอำนวยความสะดวกและประสานจัดหางานให้กับแรงงาน

      (2) การดำเนินมาตรการเพื่อบรรเทาผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นต่อแรงงาน เช่น

      (2.1) การขอความร่วมมือสถานประกอบการชะลอการเลิกจ้างเป็นลำดับ เช่น การลดชั่วโมง/ วันทำงานและการหยุดการทำการชั่วคราว โดยการเลิกจ้างควรเป็นแนวทางสุดท้าย

      (2.2) มาตรการในการเพิ่ม/ปรับเปลี่ยนทักษะแรงงานให้สามารถทำงานที่แตกต่างไปจากเดิมหรือเปลี่ยนไปประกอบอาชีพใหม่ได้ โดยเฉพาะแรงงานไร้ทักษะ เนื่องจากการดึงดูดการลงทุนที่ใช้เทคโนโลยีเป็นหลักจะทำให้ความต้องการแรงงานทักษะมากขึ้น

      1.2 หนี้ครัวเรือนขยายตัวในอัตราที่ชะลอลง

      สถานการณ์หนี้สินครัวเรือนในไตรมาสสอง ปี 2562 มีมูลค่า 13.08 ล้านล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 5.8 ชะลอลงเมื่อเทียบกับร้อยละ 6.3 ในไตรมาสก่อน หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 78.7 ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) เป็นผลจากภาวะเศรษฐกิจในไตรมาสที่สองชะลอตัวลงเร็วกว่าหนี้สินครัวเรือน ส่วนภาพรวมคุณภาพสินเชื่ออยู่ในเกณฑ์เฝ้าระวัง เนื่องจากคุณภาพสินเชื่อหลายประเภทมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น โดยยอดคงค้างหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) เพื่อการอุปโภคบริโภคของธนาคารพาณิชย์ในไตรมาสสาม ปี 2562 มีมูลค่า 133,254 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.2 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 2.81 ต่อสินเชื่อรวม ขณะที่แนวโน้มหนี้สินครัวเรือนในช่วงครึ่งหลังปี 2562 คาดว่าจะชะลอตัวลงจากช่วงครึ่งแรกของปี แต่สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ยังคงมีเพิ่มขึ้น

     1.3 การเจ็บป่วยยังต้องเฝ้าระวัง โรคไข้เลือดออกเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

      ไตรมาสสาม ปี 2562 จำนวนผู้ป่วยด้วยโรคเฝ้าระวังโดยรวมลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปี 2561 ร้อยละ 5.2 โดยผู้ป่วยโรคปอดอักเสบลดลงร้อยละ 31.1 และผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่ลดลงร้อยละ 1.3 แต่พบผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 51.9 เนื่องจากในหลายพื้นที่ยังมีฝนตกต่อเนื่อง ทำให้เกิดน้ำท่วมขัง โดยเฉพาะภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

        1.4 การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่เพิ่มขึ้น

        ไตรมาสสาม ปี 2562 การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่ขยายตัวร้อยละ 3.1 โดยปริมาณการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ขยายตัวร้อยละ 3.0 ขณะที่การบริโภคบุหรี่ขยายตัวร้อยละ 2.9 และมีประเด็นที่ต้องเฝ้าระวัง ได้แก่ การบริโภคเบียร์ไร้แอลกอฮอล์และบุหรี่ไฟฟ้า

       1.5 คดียาเสพติดเพิ่มสูง และต้องให้ความสำคัญกับการป้องกันการกระทำรุนแรงทางร่างกาย/เพศ

       ไตรมาสสาม ปี 2562 คดีอาญารวมเพิ่มขึ้นร้อยละ 27.7 จากไตรมาสเดียวกันของปี 2561 เป็นคดียาเสพติดเพิ่มขึ้นร้อยละ 32.8 คดีประทุษร้ายต่อทรัพย์เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.6 และแม้ว่าคดีชีวิต ร่างกาย และเพศจะมีสัดส่วนคดีเพียงร้อยละ 3.5 ของคดีอาญารวม แต่คดีดังกล่าวมีผลกระทบต่อเหยื่อผู้ถูกกระทำทั้งด้านร่างกายและจิตใจ จึงควรสร้างความตระหนักและร่วมป้องกันและขจัดความรุนแรงต่อเด็กและสตรีในทุกรูปแบบให้หมดสิ้นไป

      1.6 การเกิดอุบัติเหตุ จำนวนผู้เสียชีวิต และมูลค่าความเสียหายลดลง

      ไตรมาสสาม ปี 2562 สถานการณ์การเกิดอุบัติเหตุจราจรทางบกลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปี 2561 ร้อยละ 11.1 ผู้เสียชีวิตและมูลค่าความเสียหายลดลงร้อยละ 0.9 และ 2.1 ตามลำดับ รถที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุดยังคงเป็นรถจักรยานยนต์ สาเหตุของอุบัติเหตุอันดับแรกเกิดจากการใช้ความเร็วเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดจึงต้องรณรงค์ให้ความรู้เพื่อควบคุมพฤติกรรมการใช้ความเร็วของผู้ขับขี่ให้อยู่ในระดับที่ปลอดภัยและเหมาะสมกับสภาพแวดล้อมทางถนน

 

  1. สถานการณ์ทางสังคมที่สำคัญ

     2.1 เด็กไทย 1 ใน 5 เป็นเด็กยากจนหลายมิติ

     จากรายงานดัชนีความยากจนหลายมิติของกลุ่มเด็กในประเทศไทย ระบุว่าในปี 2558/59 ในภาพรวมของประเทศมีสัดส่วนของเด็กที่มีความยากจนหลายมิติ คิดเป็นร้อยละ 21.5 สำหรับสาเหตุหลักอันดับหนึ่ง ได้แก่ มิติด้านการศึกษา รองลงมาคือมิติด้านสุขภาพ หากเปรียบเทียบระหว่างภูมิภาคพบว่า ภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นภูมิภาคที่เด็กมีความยากจนหลายมิติมากที่สุด โดยเด็กในช่วงอายุ 0 - 4 ปี มีสัดส่วนของเด็กยากจนหลายมิติสูงที่สุด เด็กเพศชายมีค่าดัชนีความยากจนหลายมิติมากกว่าเพศหญิง รวมถึงระดับการศึกษาของหัวหน้าครัวเรือนนั้นสามารถส่งผลต่อความยากจนหลายมิติของกลุ่มเด็กในครัวเรือนได้ด้วยเช่นกัน

      2.2 การป้องกันเด็กและเยาวชนจากภัยออนไลน์

     จากรายงาน 2018 Digital Intelligence Quotient (DQ) Impact Report ซึ่งสำรวจกลุ่มตัวอย่างเด็กและเยาวชนไทยที่มีอายุระหว่าง 8 – 12 ปี จำนวน 1,300 คนทั่วประเทศ พบว่า เด็กไทยยังมีทักษะความฉลาดทางดิจิทัลต่ำ โดยร้อยละ 60 มีความเสี่ยงจากภัยออนไลน์ ภัยที่พบมากที่สุด คือ การถูกกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์ การเข้าถึงสื่อลามกและพูดคุยเรื่องเพศกับคนแปลกหน้า การติดเกม และการถูกล่อลวงออกไปพบคนแปลกหน้า ดังนั้น ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องจำเป็นต้องสร้างภูมิคุ้มกันให้เด็กรู้เท่าทันสื่อ สารสนเทศ และมีความฉลาดทางดิจิทัล ทั้งนี้ ควรเริ่มตั้งแต่ปฐมวัยเพราะเด็กเติบโตมาในสภาพแวดล้อมที่รายล้อมไปด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล

      2.3 รูปแบบการทำงานของคนรุ่นใหม่

     ปัจจุบันแรงงานในประเทศไทยมีลักษณะการทำงานแบบคนรุ่นใหม่มากกว่า 2 ล้านคน และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นปีละประมาณ 300,000 – 600,000 คน โดยเฉพาะในกลุ่มคนที่เกิดระหว่างปี 2524 – 2544 ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่เติบโตมาพร้อมกับการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลและอินเทอร์เน็ต อาชีพที่ผู้ว่าจ้างนิยมจ้างบุคคลในลักษณะการทำงานแบบคนรุ่นใหม่ในประเทศไทย 4 อันดับแรก ได้แก่ กราฟิกดีไซน์ การตลาดออนไลน์และโฆษณา การทำเว็บและโปรแกรมมิ่ง และงานเขียนและแปลภาษา อย่างไรก็ตาม กลุ่มคนที่ทำงานในรูปแบบใหม่ยังไม่มีความตระหนักถึงเรื่องการวางแผนด้านการเงินในอนาคตเท่าที่ควร

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 17 ธันวาคม 2562

สำนักโฆษก   สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396

******************************************

line logotwitterLike1 Share3Like1 Share1กด Like - Share  เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ

 Click Donate Support Web

SAM720x100px bgGC 790x90

sme 720x90banpu 720x90 new1 1

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!