WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

โครงการประกันรายได้และมาตรการบริหารจัดการมันสำปะหลัง ปี 2562/63

GOV10โครงการประกันรายได้และมาตรการบริหารจัดการมันสำปะหลัง ปี 2562/63

 

         คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติและรับทราบตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอดังนี้

อนุมัติโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง ปี 2562/63 วงเงินรวมทั้งสิ้น 9,671,582,800 บาท

อนุมัติและรับทราบมาตรการคู่ขนานเพื่อรักษาเสถียรภาพราคามันสำปะหลัง

มอบหมายให้กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงการคลัง และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ดำเนินการตามลำดับ

         ทั้งนี้ คณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการมันสำปะหลัง (นบมส.) มีมติเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2562 เห็นชอบ (1) โครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง ปี 2562/63 และมาตรการคู่ขนานเพื่อรักษาเสถียรภาพราคามันสำปะหลัง (2) โครงการป้องกันและกำจัดโรคใบด่างมันสำปะหลัง และมอบหมาย ธ.ก.ส. และกระทรวงพาณิชย์จัดทำรายละเอียดโครงการฯ และงบประมาณให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลัง พ.ศ. 2561 และให้กระทรวงพาณิชย์ ในฐานะเลขานุการ นบมส. นำเสนอคณะรัฐมนตรีตามระเบียบต่อไป

สาระสำคัญ

     จากการหารือผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งภาคเอกชน เกษตรกร และภาครัฐ และมติคณะกรรมการ นบมส. เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2562 ให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณา ดังนี้

 

  1. โครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง ปี 2562/63

         1.1 ชนิดมันสำปะหลังและพื้นที่ดำเนินการ ประกันรายได้หัวมันสำปะหลังสดเชื้อแป้ง 25% ในพื้นที่เพาะปลูกมันสำปะหลังทั่วประเทศ

         1.2 ราคาและปริมาณประกันรายได้ กำหนดราคาและปริมาณประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง ปี 2562/63 ณ หัวมันสดเชื้อแป้ง 25% กก.ละ 2.50 บาท ไม่เกินครัวเรือนละ 100 ตัน

       1.3 เกษตรกรผู้มีสิทธิได้รับเงินส่วนต่าง ได้แก่ เกษตรกรทุกรายที่ขึ้นทะเบียนผู้ปลูกและแจ้งระยะเวลาเก็บเกี่ยวกับกรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

       1.4 เงื่อนไขการใช้สิทธิ์ เกษตรกร 1 ครัวเรือน ใช้สิทธิ์ได้ 1 ครั้ง

        1.5 การชดเชยส่วนต่าง ธ.ก.ส. จะโอนเงินชดเชยส่วนต่างระหว่างราคาเป้าหมายกับราคาเกณฑ์กลางอ้างอิงเข้าบัญชีเกษตรกรโดยตรง

        1.6 ระยะเวลาดำเนินการ

        (1) ช่วงเวลาขึ้นทะเบียน 1 ตุลาคม 2561 เป็นต้นมา

        (2) ระยะเวลาใช้สิทธิ ใช้สิทธิได้ในช่วงการเก็บเกี่ยวที่ระบุไว้ในทะเบียนเกษตรกร โดยรัฐบาลจะจ่ายเงินส่วนต่างครั้งแรกในวันที่ 1 ธันวาคม 2562 และจ่ายต่อไปทุกวันที่ 1 ของเดือน เป็นเวลา 12 เดือน สำหรับเกษตรกรที่เก็บเกี่ยวก่อนวันที่ 1 ธันวาคม 2562 ให้มีสิทธิรับเงินชดเชยในวันที่ 1 ธันวาคม 2562

         (3) ระยะเวลาโครงการ 1 ตุลาคม 2562 - 31 ธันวาคม 2563

        1.7 งบประมาณ วงเงิน 9,671,582,800 บาท จำแนกเป็นค่าชดเชยส่วนต่างระหว่างราคาเป้าหมายกับราคาอ้างอิงโดยใช้แหล่งเงินทุนของ ธ.ก.ส. วงเงิน 9,442,342,800 บาท และค่าใช้จ่ายในการดำเนินการของ ธ.ก.ส. วงเงิน 229,240,000 บาท โดยเป็นการชดเชยต้นทุนเงินในอัตราเงินฝากประจำ 12 เดือน ของ ธ.ก.ส     บวก 1 หรือคิดเป็นร้อยละ 2.40 ต่อปี เป็นเงิน 226,620,000 บาท และค่าบริหารจัดการรายละ 5 บาท เป็นเงิน 2,620,000 บาท

 

  1. มาตรการคู่ขนานเพื่อรักษาเสถียรภาพราคามันสำปะหลัง

      2.1 การดูแลความเป็นธรรมในการซื้อขายมันสำปะหลัง กำหนดให้มีการตรวจสอบคุณภาพ การหักน้ำหนักสิ่งเจือปน การกำหนดให้โรงงานมันเส้นและแป้งมันมีเครื่องร่อนสิ่งเจือปนก่อนรับซื้อ รวมถึงการแสดงราคารับซื้อ การใช้เครื่องชั่งน้ำหนักและเครื่องวัดอัตราส่วนเชื้อแป้ง ทั้งนี้ ให้กระทรวงอุตสาหกรรมไปพิจารณากำหนดหลักเกณฑ์การประกอบธุรกิจมันเส้นและแป้งมันสำปะหลังที่ต้องมีระบบการคัดแยกสิ่งเจือปนออกจากหัวมันสำปะหลัง

          2.2 การบริหารจัดการการนำเข้าส่งออก ให้กรมการค้าต่างประเทศกำกับดูแลการส่งออกและนำเข้ามันสำปะหลังและผลิตภัณฑ์อย่างจริงจัง โดยมีการตรวจสอบคุณภาพให้เป็นไปตามมาตรฐาน และลงโทษผู้กระทำผิดตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด

          2.3 โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการเพาะปลูกมันสำปะหลัง ให้ ธ.ก.ส จัดสินเชื่อเพื่อเป็นเงินทุนในการพัฒนาการผลิตของเกษตรกรโดยใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรในการเพิ่มผลิตภาพการผลิต (Productivity) และคุณภาพของผลผลิตมันสำปะหลัง และลดต้นทุนการผลิตมันสำปะหลัง โดย ธ.ก.ส. จัดสินเชื่อแก่เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังปี 2562/63 เป้าหมาย 5,000 รายๆ ละ ไม่เกิน 230,000 บาท วงเงินกู้รวม 1,150 ล้านบาท คิดดอกเบี้ยเงินกู้ในอัตรา MRR ที่อัตราร้อยละ 6.875 ต่อปี โดยรัฐบาลชดเชยดอกเบี้ยให้แก่เกษตรกรผู้กู้ในอัตราร้อยละ 3 ต่อปี เป็นระยะเวลาไม่เกิน 24 เดือน วงเงินชดเชย 69,000,000 บาท โดย ธ.ก.ส ประสานขอเบิกจ่ายจากงบประมาณประจำปีของกระทรวงการคลัง

         2.4 โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมมันสำปะหลังและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร ให้ ธ.ก.ส. จัดสินเชื่อแก่สถาบันเกษตรกรที่มีการประกอบธุรกิจเกี่ยวกับมันสำปะหลัง หรือสถาบันเกษตรกรที่มีสมาชิกประกอบอาชีพเลี้ยงสัตว์เป็นหลัก นำไปใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการรวบรวมหรือรับซื้อหัวมันสำปะหลังสด มันสำปะหลังเส้น เพื่อจำหน่ายต่อ หรือ/เพื่อแปรรูปเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง รวมทั้งเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตอาหารสัตว์ หรือใช้ในกิจการของสถาบันเกษตรกร เพื่อช่วยดูดซับ (รองรับ) ปริมาณผลผลิตมันสำปะหลังในช่วงที่ผลผลิตออกมาก

      โดย ธ.ก.ส. จัดสินเชื่อ วงเงิน 1,500 ล้านบาท คิดดอกเบี้ยเงินกู้ในอัตรา MLR-1 หรือร้อยละ 4 ต่อปี โดยรัฐบาลชดเชยดอกเบี้ยให้สถาบันเกษตรกรในอัตราร้อยละ 3 ต่อปี เป็นระยะเวลาไม่เกิน 12 เดือน วงเงินชดเชย 45,000,000 บาท โดย ธ.ก.ส.ประสานขอเบิกจ่ายจากงบประมาณประจำปีของกระทรวงการคลัง

       2.5 ส่งเสริมการใช้มันสำปะหลังในประเทศเพิ่มขึ้น โดยพัฒนาการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์พลาสติกชีวภาพและอุตสาหกรรมอาหาร

      2.6 เพิ่มช่องทางจำหน่ายผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง โดยเฉพาะแอลกอฮอล์ที่ผลิตจากมันสำปะหลังและกากน้ำตาลซึ่งปัจจุบันมีตลาดรองรับจำกัด  โดยเฉพาะการผลิตเอทานอลจากมันสําปะหลังสามารถดูดซับหัวมันสดได้เพียง 2.5 ล้านตันเท่านั้น

      ปัจจุบันความต้องการใช้แอลกอฮอล์มีจากหลายแหล่ง ทั้งเพื่อการบริโภค  การส่งออกการแพทย์ อุตสาหกรรมเคมี  ซึ่งสามารถที่จะขยายตลาดรองรับมันสำปะหลังได้อีกมาก แต่ติดข้อจำกัดของพระราชบัญญัติสุรา  พ.ศ. 2493 ที่จำกัดให้เอทานอลที่ผลิตได้จากพืชให้ใช้ได้เฉพาะเป็นเชื้อเพลิงเท่านั้น เป็นการสมควรเป็นอย่างยิ่งที่จะให้มีการแก้ไขกฎหมายฉบับดังกล่าว

      เพื่อเปิดกว้างให้กับแอลกอฮอล์ที่ผลิตได้จากสินค้าเกษตรซึ่งจะส่งผลให้สินค้าเกษตรมีตลาดรองรับและราคาปรับตัวสูงขึ้น เป็นผลดีต่อเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง อ้อยและข้าวโพด  และเมื่อพิจารณาถึงความต้องการแอลกอฮอล์เพื่อการบริโภคซึ่งมีประมาณ 50 ล้านลิตรต่อปี  แต่องค์การสุรามีกำลังในการจัดหาแอลกอฮอล์ที่ผลิตในประเทศได้เพียงครึ่งหนึ่งของความต้องการ ส่วนที่เหลือต้องอาศัยการนำเข้าจากต่างประเทศ  ทำให้สินค้าเกษตรกรเสียโอกาสในการจำหน่ายและเป็นภาระของภาครัฐในการช่วยเหลือเกษตรกรให้มีรายได้เพิ่มขึ้น

          แนวทางแก้ไข  เห็นควรเพิ่มช่องทางจำหน่ายแอลกอฮอล์ที่ผลิตได้จากมันสำปะหลังและสินค้าเกษตรอื่น โดยการแก้ไขข้อจำกัดที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ. สุรา พ.ศ. 2493 เพื่อเปิดช่องให้โรงงานเอทานอลที่ใช้สินค้าเกษตรเป็นวัตถุดิบสามารถผลิตและจำหน่ายเอทานอลให้แก่อุตสาหกรรมอื่นได้นอกเหนือจากการใช้เป็นเชื้อเพลิง โดยอาจเป็นผู้รับจ้างผลิต (Outsource) ให้แก่องค์การสุราหรือการจำหน่ายให้แก่ผู้ใช้แอลกอฮอล์เป็นวัตถุดิบ เช่น การผลิตยา การใช้ในอุตสาหกรรมเคมี และการส่งออกให้กับผู้ซื้อโดยตรง

  1. โครงการป้องกันและกำจัดโรคใบด่างมันสำปะหลัง

         มติ ครม. เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2562 อนุมัติให้ดำเนินโครงการป้องกันและกำจัดโรคใบด่าง  มันสำปะหลัง วงเงินทั้งสิ้น 248,448,330 บาท โดยให้ชดเชยให้กับเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังในพื้นที่ที่มีเอกสารสิทธิ์ถูกต้องตามกฎหมายตามความเห็นของสำนักงบประมาณ

           3.1 ความคืบหน้าและปัญหาในการดำเนินงาน โรคไวรัสใบด่างมันสำปะหลังเริ่มค้นพบ

ครั้งแรกในประเทศไทยตั้งแต่เดือนตุลาคม 2561 ณ อำเภอศรีมหาโพธิ จังหวัดปราจีนบุรี พื้นที่ 1,000 ไร่ ปัจจุบันพบว่ามีการระบาดแล้ว 17 จังหวัด พื้นที่ 69,976.25 ไร่ มีการทำลายไปแล้วรวม 13,968.81 ไร่ คงเหลือรอการพิสูจน์และการทำลายจำนวน 56,007.44 ไร่

         3.2 การแก้ไข  การจำกัดพื้นที่การระบาดและการป้องกันโรคฯ ไม่สามารถบรรลุผลสำเร็จตามเป้าหมายเนื่องจาก

         (1) การจำกัดการชดเชยความเสียหายให้เฉพาะเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังในพื้นที่ที่มีเอกสารสิทธิ์ตามความเห็นของสำนักงบประมาณ  ทำให้การทำลายมันสำปะหลังที่ติดโรคไม่สามารถทำได้อย่างทั่วถึง พื้นที่ที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ยังคงเป็นแหล่งระบาดของโรคฯ อยู่ต่อไป

        (2) การใช้กลไกในการแก้ปัญหาการระบาดของโรคฯ ตาม พ.ร.บ.กักพืช พ.ศ. 2507 และที่แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2551 มีขั้นตอนและใช้เวลาในการบริหารจัดการ  ตั้งแต่การบ่งชี้ว่ามีการเกิด  โรคฯ การเก็บตัวอย่าง  การวินิจฉัยพิสูจน์ และการทำลาย  ทำให้ไม่สามารถดำเนินการได้อย่างรวดเร็ว  ทันกับการแพร่เชื้อของแมลงหวี่ขาว อีกทั้งการกระจายต้นพันธุ์จากแหล่งที่มีการระบาดของโรคฯ ไปยังพื้นที่อื่นยังขาดการควบคุมที่เข้มงวดและรัดกุม เป็นเหตุหนึ่งทำให้การกระจายของโรคฯ เป็นไปอย่างรวดเร็วทั้งระดับจังหวัดและระดับภาค

        จากข้อ 3.2 (1) และ (2) ส่งผลให้ปริมาณและคุณภาพของมันสำปะหลังลดลง กระทบต่อการส่งออกและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง

      3.3 ข้อเสนอ เพื่อให้การแก้ไขปัญหาเป็นไปอย่างกระชับ รวดเร็ว และบรรลุผลตามเป้าหมาย ควรนำมาตรการพิเศษที่รองรับภาวะฉุกเฉินมาใช้ โดย

       (1) ให้ทำลายมันสำปะหลังที่พบว่ามีสภาพที่สงสัยหรือส่อว่าจะมีการติดเชื้อและจะเป็นต้นตอของการระบาดทุกแปลง  ไม่จำกัดว่ามีเอกสารสิทธิ์หรือไม่  และไม่จำกัดช่วงเวลาการปลูก

       (2) เพื่อปฏิบัติให้เป็นไปตามข้อ (1) ให้คณะกรรมการ นบมส. ตั้งคณะอนุกรรมการฯ ขึ้นมาในส่วนกลาง  เพื่อทำหน้าที่ในการกำหนดหลักเกณฑ์  วิธีการ  เงื่อนไข  พื้นที่เป้าหมายวิธีการทำลาย  การใช้เงิน  วิธีการจ่ายเงินชดเชย  ตลอดจนการตรวจสอบว่ามีการทำลายจริง โดยให้ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธาน มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นคณะอนุกรรมการ แล้วนำเสนอประธานคณะกรรมการนบมส. ภายใน 1 สัปดาห์ และในส่วนภูมิภาคให้ตั้งคณะอนุกรรมการฯ ระดับจังหวัด เพื่อปฏิบัติตามที่คณะอนุกรรมการฯ ส่วนกลางมอบหมาย โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นประธาน

        (3) งบประมาณและอัตราการจ่ายชดเชย ในเบื้องต้นให้ปรับใช้ตามที่ได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 24 กันยายน 2562 ทั้งนี้ การบริหารจัดการให้ครอบคลุมถึงผู้ที่ถูกราชการสั่งให้ทำลายโดยยังไม่ได้รับการช่วยเหลือในความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการทำลายก่อนหน้านี้  วิธีการทำลายให้เปิดกว้าง โดยเกษตรกรเจ้าของไร่หรือบุคคลอื่นที่มีความพร้อมสามารถรับจ้างเป็นผู้ทำลายได้  ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามระเบียบของทางราชการ

ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีชุด พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 12 พฤศจิกายน 2562 

สำนักโฆษก   สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396

******************************************

โลโก้เส้นพูดเบาและรวดเร็วไลค์ 1 แชร์ 3ถูกใจ 1 คนแชร์ 1กด  L Ike - แบ่งปัน  เพจเวลา Corehoon-Powerเพื่อติดตามเคล็ดลับข่าวสารเทรนด์และ บทวิเคราะห์ดีๆอัพเดตทุกวันคัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ  

 คลิกบริจาคเว็บสนับสนุน

ais 790x90GC 790x90

sme 720x90banpu 720x90 new1 1

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!