การให้สัตยาบันพิธีสารอนุวัติข้อผูกพันการเปิดเสรีการค้าบริการด้านการเงิน ฉบับ 8 ภายใต้กรอบความตกลงว่าด้วยการค้าบริการของอาเซียน
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Sunday, 08 December 2019 15:01
- Hits: 1230
การให้สัตยาบันพิธีสารอนุวัติข้อผูกพันการเปิดเสรีการค้าบริการด้านการเงิน ฉบับ 8 ภายใต้กรอบความตกลงว่าด้วยการค้าบริการของอาเซียน
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบพิธีสารอนุวัติข้อผูกพันการเปิดเสรีการค้าบริการด้านการเงิน ฉบับ 8 ภายใต้กรอบความตกลงว่าด้วยการค้าบริการของอาเซียน (ASEAN Framework Agreement on Services: AFAS) ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังลงนามแล้ว และตารางข้อผูกพันการเปิดเสรีการค้าบริการด้านการเงินซึ่งเป็นภาคผนวกแนบท้ายพิธีสารฯ ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ และให้ส่งคณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎรพิจารณา แล้วเสนอรัฐสภาพิจารณาให้ความเห็นชอบ ก่อนแสดงเจตนาให้มีผลผูกพันต่อไป รวมทั้งให้กระทรวงการต่างประเทศจัดทำและมอบสัตยาบันสารหรือสารของพิธีสารอนุวัติข้อผูกพันการเปิดเสรีการค้าบริการด้านการเงิน ฉบับที่ 8 ภายใต้กรอบความตกลงว่าด้วยการค้าบริการของอาเซียน และตารางข้อผูกพันการเปิดเสรีการค้าบริการด้านการเงิน ซึ่งเป็นภาคผนวกแนบท้ายพิธีสารฯ ให้แก่เลขาธิการอาเซียน เมื่อรัฐสภาให้ความเห็นชอบพิธีสารและตารางข้อผู้พันดังกล่าวแล้ว
สาระสำคัญของเรื่อง
- ร่างพิธีสารฯ ฉบับที่ 8 มีสาระสำคัญเช่นเดียวกับพิธีสารฯ ฉบับที่ 7 ที่ประเทศไทยได้ลงนามไปแล้ว กล่าวคือเป็นการขยายความร่วมมือด้านการค้าบริการระหว่างประเทศสมาชิก โดยลดหรือยกเลิกข้อจำกัดที่เป็นอุปสรรคต่อการค้าบริการภายใต้กรอบอาเซียนให้มากกว่าที่เปิดเสรีตามกรอบองค์การการค้าโลกและประเทศสมาชิกจะให้สิทธิประโยชน์ตามตารางข้อผูกพันฯ แก่ประเทศสมาชิกอื่น ตามหลักการให้การประติบัติเยี่ยงชาติที่ได้รับความอนุเคราะห์ยิ่ง (Most-Favored Nation Treatment: MFN) รวมถึงการดำเนินการภายใต้กรอบการรวมตัวภาคการธนาคารของอาเซียน (ASEAN Banking Integration Framework: ABIF) ที่ระบุให้ประเทศสมาชิกตั้งแต่สองประเทศหรือมากกว่านั้นอาจดำเนินการเจรจาและตกลงเปิดเสรีสาขาการธนาคารของประเทศตน โดยแต่ละประเทศสมาชิกที่เข้าร่วมการเจรจาอาจสรุปผลการเจรจา ณ เวลาใดก็ได้
- ตารางข้อผูกพันฯ ฉบับที่ 8 ของไทยที่แนบท้ายร่างพิธีสารฯ เป็นการปรับปรุงตารางข้อผูกพันฯ ดังนี้
2.1 แก้ไขตารางข้อผูกพันฯ ใน 2 สาขา ได้แก่ สาขาหลักทรัพย์และสาขาย่อยบริการจัดการลงทุน (Asset Management) เพื่อยกระดับข้อผูกพันให้เทียบเท่ากฎหมายและแนวปฏิบัติที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน กล่าวคือ จะอนุญาตให้สัดส่วนการถือหุ้นของต่างชาติในบริษัทจัดการลงทุน (Asset Management Company) ได้ถึงร้อยละ 100 ของทุนที่ชำระแล้วโดยยกเลิกเงื่อนไขเดิมที่กำหนดให้ต้องมีสถาบันการเงินที่จัดตั้งภายใต้กฎหมายไทยร่วมถือหุ้นอยู่ด้วยไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของทุนที่ชำระแล้ว ในระยะ 5 ปีแรก หลักจากที่ได้รับใบอนุญาตซึ่งเท่ากับกฎหมายปัจจุบัน
2.2 ได้ระบุให้มีการเจรจาทวิภาคีเพื่อตั้งตั้ง Qualified ASEAN Banks (QABs) ระหว่างประเทศไทยและสหพันธรัฐมาเลเซีย ซึ่งข้อผูกพันดังกล่าวเปิดโอกาสให้ธนาคารพาณิชย์ระหว่างประเทศไทยและสหพันธรัฐมาเลเซียเข้าสู่ตลาดระหว่างกันได้ บนหลักการต่างตอบแทน และให้มีความยืดหยุ่นในการประกอบธุรกิจมากยิ่งขึ้น
ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีชุด พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 6 พฤศจิกายน 2562
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
******************************************
กด L Ike - แบ่งปัน เพจเวลา Corehoon-Powerเพื่อติดตามเคล็ดลับข่าวสารเทรนด์และ บทวิเคราะห์ดีๆอัพเดตทุกวันคัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ
คลิกบริจาคเว็บสนับสนุน