รายงานความคืบหน้าผลการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 3 และ 10 กันยายน 2562
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Sunday, 24 November 2019 23:17
- Hits: 952
รายงานความคืบหน้าผลการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 3 และ 10 กันยายน 2562
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบและเห็นชอบตามที่สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ เสนอ ดังนี้
- ความก้าวหน้าผลการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 3 และ10 กันยายน 2562
- การคาดการณ์พื้นที่เสี่ยงภัยแล้งและอุทกภัยภาคใต้
- เห็นชอบต่อมาตรการพื้นที่เสี่ยงภัยแล้งปี 2562/63 และพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยภาคใต้ปี 2562 โดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปดำเนินการเพื่อลดผลกระทบความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้น
สาระสำคัญ
สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ได้บูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จึงขอรายงานผลความคืบหน้าการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี พร้อมการคาดการณ์พื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำเพื่ออุปโภคบริโภค และการเกษตรในปี 2562/2563 ซึ่งพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศ (ยกเว้นภาคใต้) ฤดูแล้งปี 2562/63จะเริ่มต้นตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2562 และมาตรการรองรับ และในช่วงนี้เป็นฤดูฝนของภาคใต้จึงได้มีการคาดการณ์พื้นที่เสี่ยงอุทกภัยภาคใต้ปลายเดือนตุลาคมถึงเดือนพฤศจิกายน 2562 และมาตรการรองรับ เพื่อกำหนดแนวทางให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการไปในทิศทางเดียวกันเพื่อป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้น กับชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน สรุปได้ดังนี้
- ความคืบหน้าการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี
ในช่วงปลายเดือนสิงหาคมถึงเดือนกันยายน 2562 เกิดพายุโพดุลและคาจิกิ ส่งผลให้มีการกักเก็บน้ำเพื่อลดผลกระทบจากปัญหาน้ำท่วมและเก็บน้ำไว้ใช้ประโยชน์ในฤดูแล้ง ในแหล่งน้ำขนาดใหญ่ ขนาดกลาง ขนาดเล็ก และแหล่งน้ำธรรมชาติทั้งประเทศเพิ่มขึ้น 7,785 ล้านลูกบาศก์เมตร (จากเดิม 44,583 ล้านลูกบาศก์เมตร เป็น 52,368 ล้านลูกบาศก์เมตร) แบ่งออกเป็น ภาคเหนือ 2,254 ล้านลูกบาศก์เมตร ภาคกลาง 392 ล้านลูกบาศก์เมตร ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 2,784 ล้านลูกบาศก์เมตร ภาคตะวันออก 275 ล้านลูกบาศก์เมตร ภาคตะวันตก 1,933 ล้านลูกบาศก์เมตร และภาคใต้ 147 ล้านลูกบาศก์เมตร และแหล่งน้ำขนาดใหญ่และกลางทั้งประเทศที่เคยมีปริมาณน้ำน้อยกว่าร้อยละ 30 ของความจุ จากเดิมที่มีจำนวน 146 แห่ง ลดลงจำนวน 75 แห่ง ส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ลุ่มน้ำชี และลุ่มน้ำมูล จำนวน 46 แห่ง
สำหรับ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือซึ่งได้รับอิทธิพลพายุทั้ง 2 ลูก และส่งผลกระทบโดยตรงบริเวณลุ่มน้ำชี และลุ่มน้ำมูล ทำให้สามารถเก็บกักน้ำได้เพิ่มขึ้น 2,485 ล้านลูกบาศก์เมตร (จากเดิม 4,089 ล้านลูกบาศก์เมตร เป็น 6,574 ล้านลูกบาศก์เมตร) นอกจากนี้ ยังได้มีการเก็บน้ำในลำน้ำสายหลัก และลำน้ำสาขา โดยการใช้เขื่อนระบายน้ำ ประตูระบายน้ำ ฝาย เพื่อสำรองน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้ง
อย่างไรก็ตาม สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติได้เสนอมาตรการรองรับให้คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติเห็นชอบแล้ว เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2562 และจะรายงานผลการดำเนินการให้คณะรัฐมนตรีทราบเป็นระยะต่อไป
- การคาดการณ์พื้นที่เสี่ยงภัยแล้ง ปี 2562/63 และมาตรการรองรับ
สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติร่วมบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อวิเคราะห์ติดตามสถานการณ์น้ำ โดยได้สรุปการคาดการณ์พื้นที่เสี่ยงภัยแล้งปี 2562/63 (เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2562) พร้อมมาตรการรองรับสถานการณ์ สรุปได้ดังนี้
1) ด้านการอุปโภคบริโภค มีการคาดการณ์พื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคจากพื้นที่สาขาให้บริการของการประปาส่วนภูมิภาค ต้องเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำ จำนวน 42 สาขา 22 จังหวัด 56 อำเภอ จำนวนผู้ใช้น้ำ 717,765 ราย ทั้งนี้ การประปาส่วนภูมิภาค และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้จัดทำแผนและมาตรการรองรับไว้แล้ว นอกจากนี้ ยังมีพื้นที่บริเวณภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่มีปริมาณฝนสะสมน้อย ไม่อยู่ในเขตพื้นที่ชลประทาน และไม่มีแหล่งเก็บน้ำสำรอง อาจประสบปัญหาขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค ในแต่ละท้องถิ่น จำนวน 38 จังหวัด แบ่งเป็น ภาคเหนือ 16 จังหวัด ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 7 จังหวัด ภาคกลาง 10 จังหวัด ภาคตะวันออก 3 จังหวัด และภาคตะวันตก 2 จังหวัด จึงต้องมีการจัดทำแผนและมาตรการสำรองน้ำล่วงหน้า
2) ด้านการเกษตร มีการคาดการณ์มีพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำในเขตชลประทาน ที่ใช้น้ำจากอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ แบ่งออกเป็น (1) พื้นที่ที่ไม่มีปริมาณน้ำเพียงพอที่จะสนับสนุนการเพาะปลูก จำนวน 5 แห่ง (8 จังหวัด) (2) พื้นที่ที่มีปริมาณน้ำเพียงพอเพื่อการเกษตรต่อเนื่อง (พืชไร่ พืชผัก ไม้ผล ไม้ยืน) จำนวน 9 แห่ง (28 จังหวัด) (3) พื้นที่ที่มีปริมาณน้ำเพียงพอเพื่อการเกษตรนาข้าวรอบที่ 2 บางพื้นที่ จำนวน 11 แห่ง (13 จังหวัด) และอ่างเก็บน้ำขนาดกลางมีปริมาณน้ำน้อยกว่าร้อยละ 30 ของความจุ ที่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่การเกษตร จำนวน 50 แห่ง ส่วนพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำนอกเขตชลประทาน 20 จังหวัด 54 อำเภอ 109 ตำบล ได้แก่ ภาคเหนือ จำนวน 9 จังหวัด ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 8 จังหวัด และภาคกลาง จำนวน 3 จังหวัด ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้รับทราบข้อมูลปริมาณน้ำที่สามารถจัดสรรได้ เพื่อนำไปประกอบการพิจารณาวางแผนการเพาะปลูกพืช ฤดูแล้งปี 2562/63 ให้เหมาะสมต่อไปด้วยแล้ว
3) มาตรการรองรับสถานการณ์ภัยแล้ง เห็นสมควรมอบหมายให้หน่วยงานต่างๆพิจารณาดำเนินการ ดังนี้
(1) ด้านน้ำต้นทุน (Supply)
- กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงมหาดไทย จัดทำแผนสำรองน้ำ /แหล่งน้ำสำรอง/ขุดเจาะบ่อน้ำบาดาลในพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำดิบ รวมถึงดึงน้ำจากแหล่งน้ำใกล้เคียง
- กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กำหนดปริมาณน้ำจัดสรรในฤดูแล้งให้ชัดเจนและแจ้งให้รับทราบแผน
- กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จัดทำทะเบียนผู้ใช้น้ำจากแหล่งน้ำ เพื่อตรวจสอบข้อมูลแหล่งน้ำและเป็นข้อมูลในการแก้ไขปัญหาภัยแล้ง
(2) ด้านความต้องการใช้น้ำ (Demand)
เพื่อการอุปโภคบริโภค
- กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ควบคุมการใช้น้ำของพื้นที่ตอนบน ให้เป็นไปตามแผน เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบการขาดแคลนน้ำด้านอุปโภคบริโภคของพื้นที่ตอนล่าง
- กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ควบคุมการผันน้ำจากลุ่มน้ำแม่กลองสู่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่างให้เป็นไปตามแผน เพื่อสนับสนุนการใช้น้ำด้านอุปโภคบริโภค
เพื่อรักษาระบบนิเวศ
- กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ควบคุมการปล่อยน้ำเสีย
จากภาคอุตสาหกรรม และชุมชน ลงสู่แหล่งน้ำ เพื่อลดปริมาณการใช้น้ำดีไล่น้ำเสีย
- กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ติดตามเฝ้าระวังคุณภาพน้ำที่สถานีสูบน้ำดิบสำแลของการประปานครหลวงอย่างใกล้ชิด
- กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ควบคุมและขึ้นทะเบียนการเลี้ยงปลากระชัง ในแหล่งน้ำและลำน้ำ
- กระทรวงคมนาคม สำรวจ ตรวจสอบ ถนนที่เชื่อมต่อกับทางน้ำในพื้นที่
อ่อนไหวต่อการทรุดตัวของคันคลองเนื่องจากระดับน้ำลดต่ำกว่าปกติ
เพื่อการเกษตร
- กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ วางแผนการเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง จัดทำทะเบียนผู้ปลูกพืช โดยระบุพื้นที่เพาะปลูก และแหล่งน้ำที่นำมาใช้ให้ชัดเจน เพื่อให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำต้นทุน
(3) การติดตามประเมินผล
- กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ติดตาม ควบคุมการจัดสรรน้ำให้เป็นไปตามแผน
- กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ติดตาม วิเคราะห์ ประเมินสถานการณ์ และกิจกรรมการใช้น้ำอย่างใกล้ชิด
- กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ติดตาม เฝ้าระวัง และรายงานเป็นระยะอย่างต่อเนื่อง ในพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำ
(4) การเตรียมการและสร้างการรับรู้ โดยประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ให้หน่วยงาน คณะกรรมการลุ่มน้ำ และประชาชนทราบ
- คาดการณ์พื้นที่เสี่ยงอุทกภัยภาคใต้และมาตรการรองรับ
สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติร่วมบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้มีการประเมินพื้นที่เสี่ยงอุทกภัย น้ำล้นตลิ่ง และน้ำป่าไหลหลาก ในช่วงเดือนตุลาคมและเดือนพฤศจิกายนปี 2562 พร้อมมาตรการรองรับสถานการณ์ สรุปได้ดังนี้
1) พื้นที่เสี่ยงอุทกภัยภาคใต้ ประกอบด้วย
(1) เดือนตุลาคม 2562 มีพื้นที่เสี่ยง 9 จังหวัด 61 อำเภอ 3๐ ลำน้ำ
(2) เดือนพฤศจิกายน – ธันวาคม 2562 มีพื้นที่เสี่ยง 7 จังหวัด 37 อำเภอ 13 ลำน้ำ
(1) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
ตรวจสอบสภาพอาคารบังคับน้ำ ระบบการระบายน้ำ สถานีโทรมาตร ให้มีความพร้อมใช้งาน
(2) กระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงคมนาคม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตรวจสอบสิ่งกีดขวางทางน้ำ พร้อมจัดทำแผนการบริหารจัดการ น้ำหลากโดยใช้เกณฑ์ปฏิบัติการ (Rule Curve) ที่ได้ปรับปรุงใหม่ เพื่อช่วยป้องกันและลดผลกระทบน้ำท่วม
(3) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพลังงาน กระทรวงมหาดไทย สำรวจ แหล่งน้ำที่มีปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์วิกฤติ พร้อมทั้งจัดทำแผนการบริหาร จัดการน้ำหลาก สำหรับเตรียมการบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูฝนและแผนการป้องกัน รับมือ และเผชิญเหตุอุทกภัย
(4) กระทรวงมหาดไทย เตรียมความพร้อม วางแผน เครื่องจักร เครื่องมือในการให้ความช่วยเหลือ พร้อมจัดทำแผนการเคลื่อนย้ายเครื่องจักร เครื่องมือ บริเวณพื้นที่ใกล้เคียง มาสนับสนุนในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัย
(5) สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ให้กับประชาชน
ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีชุด พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 29 ตุลาคม 2562
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
******************************************
กด L Ike - แบ่งปัน เพจเวลา Corehoon-Powerเพื่อติดตามเคล็ดลับข่าวสารเทรนด์และ บทวิเคราะห์ดีๆอัพเดตทุกวันคัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ
คลิกบริจาคเว็บสนับสนุน