สรุปผลการประชุมคณะกรรมการรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ ครั้งที่ 4/2562
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Sunday, 24 November 2019 21:11
- Hits: 1994
สรุปผลการประชุมคณะกรรมการรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ ครั้งที่ 4/2562
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบสรุปผลการประชุมคณะกรรมการรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ (รศก.) ครั้งที่ 4/2562 เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2562 โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ตามที่ รศก. เสนอ
สาระสำคัญของเรื่อง
รศก. รายงานว่า รศก. ได้ประชุมครั้งที่ 4/2562 เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2562 โดยสรุปสาระสำคัญและมีมติที่ประชุมสรุปได้ ดังนี้
- เรื่องเพื่อพิจารณา : มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจการท่องเที่ยวในระยะสั้น และระยะกลาง – ยาว เพื่อสนับสนุนและขับเคลื่อนภาคการท่องเที่ยวของไทยในปี 2562 โดยกำหนดเป้าหมายให้มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในปี 2562 ไม่ต่ำกว่า 39.8 ล้านคน และมีรายได้รวมจากการท่องเที่ยวไม่ต่ำกว่า 2.04 ล้านล้านบาท และในปี 2563 มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจำนวน 41.8 ล้านคน รายได้รวม 2.22 ล้านล้านบาท ซึ่งภายใต้แต่ละมาตรการประกอบด้วยกลุ่มมาตรการ กิจกรรม ระยะเวลาดำเนินการ และหน่วยงานรับผิดชอบ ดังนี้
มาตรการ แนวทาง/กิจกรรม/ระยะเวลาดำเนินการ
หน่วยงานรับผิดชอบ
มาตรการระยะสั้น (ภายในปี 2562) แบ่งเป็น 3 กลุ่มมาตรการ 12 กิจกรรม
- มาตรการด้านการเงิน การคลัง และกฎหมาย 1.1 คืนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT Refund) ของนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยเพิ่มร้านค้าที่สามารถทำรายการคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม เพิ่มจุดให้บริการในพื้นที่เมืองและคืนภาษีในรูปแบบเงินสด ณ จุดขาย (3 เดือน)
กระทรวงการคลัง (กค.) (กรมสรรพากร)
1.2 ทบทวนข้อกฎหมาย ระเบียบ มาตรการที่เกี่ยวข้องเพื่อส่งสริมให้เกิดการเดินทางท่องเที่ยวของคนต่างชาติที่อาศัยอยู่ในไทย ได้แก่ มาตรา 37 แห่งพระราชบัญญัติตรวจคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 (3 เดือน) สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ตม.)
1.3 การหักรายจ่าย 2 เท่าของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลสำหรับค่าใช้จ่ายในการจัดอบรม สัมมนาภายในประเทศ (3 เดือน) กค. (กรมสรรพากร) / สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (สสปน.)
1.4 ปรับปรุงระเบียบการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุในต่างประเทศ พ.ศ. .... เพื่อสนับสนุนการจัดซื้อจัดจ้างการบริหารพัสดุและกรณีมีกิจกรรมที่ต้องปฏิบัติในต่างประเทศ สำหรับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ให้สามารถดำเนินกิจกรรมได้ตามพันธกิจขององค์กรในการส่งเสริมการท่องเที่ยวของประเทศไทย (3 เดือน) กค. (กรมบัญชีกลาง) / ททท.
- มาตรการอำนวยความสะดวกและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน
2.1 อำนวยความสะดวกให้นักท่องเที่ยวโดยเร่งดำเนินมาตรการด้านการตรวจลงตรา (วีซ่า) ที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบในหลักการแล้วเมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2561 (เรื่อง มาตรการกระตุ้นตลาดท่องเที่ยวไทยในช่วงต้นฤดูกาลท่องเที่ยว) ได้แก่ (1) การอนุญาตให้นักท่องเที่ยวเดินทางเข้าประเทศไทยได้ 2 ครั้ง ภายในระยะเวลา 6 เดือน (Double Entries Visa) (2) การอนุญาตให้นักท่องเที่ยวที่ได้รับอนุญาตให้พำนักในประเทศไทยที่มีความประสงค์จะออกไปต่างประเทศชั่วคราวและระยะเวลาในการได้รับอนุญาตเดิมยังเหลืออยู่ สามารถกลับเข้ามาในประเทศไทยได้โดยไม่ต้องขอวีซ่าอีก (Re – Entry Permit) และ (3) การอนุญาตให้นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางผ่านด่านทางบกได้ไม่จำกัดจำนวนครั้ง (3 เดือน)
กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา (กก.) / ตม. / กระทรวงมหาดไทย (มท.) / กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) / สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.)
2.2 ขยายระยะเวลาการเปิดด่านชายแดนจาก 08.30 – 16.30 น. เป็น 24 ชั่วโมง ในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์หรือวันหยุดยาว จำนวน 2 ด่าน ได้แก่ ด่านชายแดนไทย – มาเลเซีย และด่านชายแดนไทย – ลาว เป็นระยะเวลา 3 เดือนและติดตามประเมินผล (3 เดือน)
ตม. / มท. / กต. / ททท.
2.3 ขอความร่วมมือ กต. ในการเร่งรัดการใช้ระบบตรวจตราคนต่างด้าวที่ต้องการเดินทางเข้าประเทศไทยทางอิเล็กทรอนิกส์ (e - Visa) ให้ครอบคลุมกับนักท่องเที่ยวชาวจีนทั่วประเทศ
กต. / มท. / ตม.
2.4 เร่งประชาสัมพันธ์ระบบคัดกรองและตรวจสอบเอกสารล่วงหน้าทางอิเล็กทรอนิกส์สำหรับผู้ประสงค์จะยื่นขอรับการตรวจลงตรา ณ ช่องทางอนุญาตของด่านตรวจคนเข้าเมือง (e - Visa On Arrival : e - VOA) ให้นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติได้รับทราบและเข้าถึงข้อมูลมากขึ้น (3 เดือน)
ตม. / ททท.
2.5 ทบทวนบทบัญญัติของกฎและระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานของ ตม. ให้สอดคล้องกับพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่นิยมถือบัตรเครดิตหรือการใช้กระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Wallet) (มาตรา 14 แห่งพระราชบัญญัติตรวจคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 และประกาศของกระทรวงมหาดไทย เรื่องกำหนดจำนวนเงินให้คนต่างด้าวต้องมีติดตัวในขณะเดินทางเข้าราชอาณาจักร ที่กำหนดให้นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติต้องสำแดงเงินสด 20,000 บาท) (3 เดือน)
ตม. / มท. / สมาคมธนาคารไทย
- มาตรการกระตุ้นตลาดและเพิ่มค่าใช้จ่าย
3.1 โครงการ Amazing Thailand Grand Sale ‘Passport Privileges’ โดยการเพิ่มสิทธิการได้รับส่วนลด/สิทธิประโยชน์เพิ่มเติมจากร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการให้กับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่แสดงหนังสือเดินทาง และเพิ่มส่วนลดอีกร้อยละ 5 สำหรับนักท่องเที่ยวอาเซียนและนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มาจากประเทศคู่ร่วมเจรจาที่จะเข้าร่วมการประชุมอาเซียน รวมทั้งลดหย่อนค่าบริการในการส่งสินค้าผ่านบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด กลับประเทศอาเซียน (3 เดือน โดยจะดำเนินการตั้งแต่ 1 พฤศจิการยน 2562 – 31 มกราคม 2563) กก. / ททท. / กต. / กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) / กค. / บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) / บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด / สมาคมผู้ค้าปลีกไทย / สมาคมศูนย์การค้าไทย
3.2 โครงการประชุมเมืองไทยภูมิใจช่วยชาติ โดยการให้ Voucher 20,000 บาทต่องานหรือกลุ่ม เพื่อกระตุ้นให้บริษัท (Corporate) จัดประชุมองค์กรและการเดินทางเพื่อเป็นรางวัลในประเทศไทย ทั้งนี้ จะต้องจัดประชุมข้ามจังหวัดของพื้นที่ที่องค์กรนั้น ๆ จัดตั้ง โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมไม่ต่ำกว่า 40 คน และมีการพักค้างคืนอย่างน้อย 1 คืน (3 – 6 เดือน)
สสปน. /สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย / สำนักงบประมาณ (สงป.)
3.3 ส่งเสริมการจัดประชุมภาครัฐ (Government Meeting) โดยขอความร่วมมือให้จัดประชุมสัมมนานอกสถานที่ (สถานที่ประชุมของเอกชน) ในช่วง 3 เดือนแรกของปีงบประมาณ (3 เดือน)
สสปน.
มาตรการระยะกลาง – ยาว (ปี 2563 เป็นต้นไป) แบ่งเป็น 3 กลุ่มมาตรการ 5 กิจกรรม
- มาตรการด้านการเงิน การคลัง และกฎหมาย
1.1 ส่งเสริมการขึ้นทะเบียนสถานพักแรม และให้สินเชื่อพิเศษสำหรับผู้ประกอบการสถานพักแรมในการปรับปรุงสถานประกอบการและบริการให้มีมาตรฐาน (6 เดือน) บริษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) / มท. (กรมการปกครอง) / กก. (กรมการท่องเที่ยว)
- มาตรการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน
2.1 เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยในด้านความปลอดภัยและลดจำนวนการสูญเสียชีวิตและการบาดเจ็บของนักท่องเที่ยว (1 ปี)กระทรวงคมนาคม (คค.) / มท. (กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย)/ ศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล (ศรชล.) / กก.
2.2 เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยด้านวัฒนธรรม โดยเพิ่มจำนวนแหล่งท่องเที่ยวที่เป็นมรดกโลกทั้งในส่วนที่เป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมและ/หรือมรดกโลกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ (สิ่งที่เป็นความรู้ ประเพณี พิธีกรรม การแสดง ดนตรี งานช่าง ฯลฯ เช่น การแสดงโขน เป็นต้น) (1 ปี) กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) / กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.)
- มาตรการกระตุ้นตลาดและเพิ่มค่าใช้จ่าย
3.1 จัดกิจกรรมมหกรรมระดับโลกหรือกิจกรรมขนาดใหญ่ (World Event / Mega Event) เช่น การจัดงานวิ่ง (Trail/Ultra Trail, Amazing Thailand Marathon Series) การแข่งขันจักรยาน (Tour de France) มหกรรมด้านความงาม สุขภาพและสาธารณสุข (World Cannabis Expo, World Health & Wellness Expo) เป็นต้น (6 เดือน – 1 ปี)กก. / ททท. / การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) / สสปน. / กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) / คค. / สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตช.) / สงป.
3.2 การดึงงานประชุมองค์กรจากต่างประเทศมาจัดในประเทศไทยโดยมุ่งเน้นการจัดงานขนาดใหญ่หรืองานที่มีผลกระทบสูง รวมถึงกระจายพื้นที่จัดงานสู่ภูมิภาค (6 เดือน – 1 ปี) สสปน. / สงป.มติ รศก.
1) เห็นชอบในหลักการของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจการท่องเที่ยวระยะสั้นและระยะกลาง – ยาว รวม 17 กิจกรรม ตามที่ กก. เสนอ โดยมอบหมาย กก. ประสานหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อเร่งรัดการดำเนินมาตรการกระตุ้นและส่งเสริมภาคการท่องเที่ยวให้เป็นไปตามเป้าหมายภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้
2) สำหรับมาตรการที่ขอรับการสนับสนุนงบประมาณ หรือมาตรการที่ก่อให้เกิดการสูญเสียรายได้ของหน่วยงานรัฐ ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาดำเนินการตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 รวมทั้งกฎหมาย และระเบียบที่เกี่ยวข้องให้ครบถ้วนก่อนเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาต่อไป
- เรื่องเพื่อทราบที่สำคัญ ดังนี้
เรื่อง มติที่ประชุม
2.1 คณะรัฐมนตรีมีมติ (7 ตุลาคม 2562) รับทราบสรุปผลการประชุม รศก. ครั้งที่ 3/2562 เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2562 และมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามสรุปผลการประชุมดังกล่าวให้เกิดผลเป็นรูปธรรมโดยเร็วต่อไป รับทราบ
2.2 สถานการณ์เศรษฐกิจล่าสุด
1) สถานการณ์เศรษฐกิจโลกในเดือนสิงหาคม 2562
- • เศรษฐกิจของหลายประเทศยังชะลอตัวลงตามการชะลอตัวของการผลิตภาคอุตสาหกรรมและการลดลงของการส่งออกเป็นสำคัญ และสอดคล้องกับการปรับลดประมาณการขององค์การการค้าโลก (World Trade Organization : WTO) โดยล่าสุด ณ เดือนตุลาคม 2562 WTO ได้ปรับลดประมาณการอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกและปริมาณการค้าโลกในปี 2562 เป็นร้อยละ 2.3 และร้อยละ 1.2 ลดลงจากร้อยละ 2.6 และร้อยละ 2.6 ตามลำดับ จากประมาณการเดิมในเดือนเมษายน 2562
- • สถานการณ์ความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจโลกที่สำคัญๆ ที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด ได้แก่ (1) มาตรการกีดกันทางการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีนที่ยังคงยืดเยื้อและทวีความรุนแรงมากขึ้น (2) มาตรการกีดกันทางการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรปภายหลังจาก WTO ได้ให้ความเห็นชอบต่อข้อเรียกร้องของสหรัฐอเมริกาในการเรียกเก็บภาษีต่อสินค้านำเข้าจากสหภาพยุโรป ซึ่งจะส่งผลให้ในวันที่ 18 ตุลาคม 2562 สหรัฐอเมริกาเตรียมเรียกเก็บภาษีนำเข้าจากสหภาพยุโรป มูลค่ารวมประมาณ 20,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และ (3) การออกจากสหภาพยุโรปของสหราชอาณาจักร (Brexit) ยังคงไม่แน่นอน และมีความเป็นไปได้ที่สหราชอาณาจักรจะออกจากสหภาพยุโรปแบบไร้ข้อตกลง (No – deal Brexit) ในวันที่ 31 ตุลาคม 2562
- • อัตราเงินเฟ้อในหลายประเทศยังอยู่ในระดับต่ำและส่วนใหญ่ยังต่ำกว่าค่ากลางของเป้าหมายเงินเฟ้อ ส่งผลให้ธนาคารกลางของประเทศต่าง ๆ ยังคงดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายอย่างต่อเนื่อง
(1) มอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามและเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐในช่วงที่เหลือของปี 2562 และปี 2563 รวมถึงการเบิกจ่ายงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจด้วย
(2) มอบหมาย กก. เร่งดำเนินมาตรการกระตุ้นและส่งเสริมภาคการท่องเที่ยวให้ขยายตัวได้ตามเป้าหมาย
2) ภาพรวมสถานการณ์เศรษฐกิจประเทศไทยในเดือนสิงหาคม 2562
- • องค์ประกอบที่ขยายตัวได้ดีขึ้น ได้แก่ การผลิตภาคเกษตร รายได้ภาคเกษตร จำนวนและรายรับจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ และรายจ่ายลงทุนของรัฐบาล ในขณะที่องค์ประกอบที่ชะลอตัว ได้แก่ การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน ส่วนองค์ประกอบที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ มูลค่าการส่งออกและการผลิตภาคอุตสาหกรรม
- • เสถียรภาพทางเศรษฐกิจยังอยู่ในเกณฑ์ดี โดยอัตราเงินเฟ้อและอัตราการว่างงานอยู่ในระดับต่ำ ในขณะที่ดุลบัญชีเดินสะพัดยังคงเกินดุล
2.3 สถานการณ์เศรษฐกิจไทยในมุมมองของภาคเอกชนและข้อเสนอแนะ โดยคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประกอบด้วย สภาหอการค้า แห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2562 จะขยายตัวร้อยละ 2.7 – 3.0 ลดลงจากคาดการณ์เดิมที่ร้อยละ 2.9 – 3.3 เนื่องจากเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 3 ของปี 2562 โดยเฉพาะภาคการส่งออกยังอยู่ในสภาวะอ่อนแรง ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวขยายตัวอย่างจำกัด ทั้งนี้ มีข้อเสนอแนะจากภาคเอกชนสรุปได้ ดังนี้
1) กกร. เสนอให้ภาครัฐออกมาตรการช่วยเหลือเศรษฐกิจเพิ่มเติมสำหรับผู้ประกอบการ เช่น การให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ การงดเว้นจัดเก็บภาษีบำรุงท้องถิ่นแก่กลุ่มวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ในพื้นที่ประสบอุทกภัย
การสนับสนุนเงินทุนหมุนเวียนเพื่อซ่อมแซมเครื่องจักรและฟื้นฟูสถานประกอบการ เป็นต้น
2) สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สมาคมโรงแรมไทย สมาคมธุรกิจท่องเที่ยวภายในประเทศไทย และสภาธุรกิจตลาดทุนไทย เสนอให้มอบหมายหน่วยงานที่รับผิดชอบประเมินผลมาตรการ ‘ชิม ช้อป ใช้’ โดยการสำรวจความพึงพอใจของประชาชนผู้ใช้สิทธิ์และผู้ประกอบการร้านค้าที่เข้าร่วมมาตรการ ตลอดจนข้อเสนอแนะต่าง ๆ เพื่อนำข้อมูลมาปรับปรุงระบบการให้บริการในระยะต่อไป และเห็นควรให้มีการดำเนินมาตรการ “ชิม ช้อป ใช้” ในระยะที่สอง โดยพิจารณาปรับมาตรการจูงใจให้ประชาชนสามารถใช้จ่ายในร้านค้าขนาดเล็กหรือสินค้าในชุมชนได้มากขึ้น รวมทั้งปรับปรุงระบบการยืนยันตัวตนและระบบการชำระเงินให้สามารถใช้งานได้สะดวกและมีเสถียรภาพมากขึ้น
3) ผู้ประกอบการด้านเทคโนโลยีดิจิทัลเสนอให้รัฐบาลขับเคลื่อนนโยบายดิจิทัลอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการให้บริการรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (e - Government) ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด และสามารถวัดผลได้อย่างเป็นรูปธรรม รวมทั้งผลักดันโครงการดิจิทัลอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น การสร้างระบบข้อมูลกลาง เพื่อเป็นฐานข้อมูลสำหรับการวางแผนด้านการลงทุนและด้านสาธารณูปโภคของหน่วยงานภาครัฐ เป็นต้น
ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีชุด พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 22 ตุลาคม 2562
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
******************************************
กด L Ike - แบ่งปัน เพจเวลา Corehoon-Powerเพื่อติดตามเคล็ดลับข่าวสารเทรนด์และ บทวิเคราะห์ดีๆอัพเดตทุกวันคัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ
คลิกบริจาคเว็บสนับสนุน