การขยายระยะเวลาแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกรตามโครงการปรับโครงสร้างและระบบการผลิตการเกษตร (คปร.) และโครงการแผนฟื้นฟูการเกษตร (ผกก.)
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Monday, 14 October 2019 14:42
- Hits: 1604
การขยายระยะเวลาแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกรตามโครงการปรับโครงสร้างและระบบการผลิตการเกษตร (คปร.) และโครงการแผนฟื้นฟูการเกษตร (ผกก.)
คณะรัฐมนตรีพิจารณาเรื่อง การขยายระยะเวลาแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกรตามโครงการปรับโครงสร้างและระบบการผลิตการเกษตร (คปร.) และโครงการแผนฟื้นฟูการเกษตร (ผกก.) ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) เสนอ แล้วมีมติดังนี้
- เห็นชอบการขยายระยะเวลาแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกรตามโครงการปรับโครงสร้างและระบบการผลิตการเกษตร (คปร.) และโครงการแผนฟื้นฟูการเกษตร (ผกก.) ออกไปอีก 5 ปี จากเดิมที่สิ้นสุดโครงการ ณ วันที่ 30 กันยายน 2562 เป็น วันที่ 30 กันยายน 2567
- ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณามาตรการเพื่อช่วยให้เกษตรกรที่ยังคงเป็นหนี้มีความสามารถชำระหนี้ทั้งหมดได้ ภายในระยะเวลา 5 ปีตามที่ขอขยายระยะเวลาข้างต้น
- ให้กระทรวงการคลัง (กรมบัญชีกลาง ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินมาตรการปลดเปลื้องหนี้สินโดยการตัดจำหน่ายหนี้สูญของเกษตรกรที่อยู่ในข่ายดังกล่าว เพื่อให้การบริหารจัดการหนี้สินเป็นไปอย่างถูกต้อง สะท้อนความเป็นจริง และลดภาะงบประมาณของรัฐบาล
สาระสำคัญของเรื่อง
- โครงการแผนฟื้นฟูการเกษตร และโครงการปรับโครงสร้างและระบบการผลิตการเกษตร ได้เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2535 และ 2537 ตามลำดับ เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาหนี้สินให้แก่เกษตรกรจนถึงปี 2547 โดยข้อมูล ณ วันที่ 30 กันยายน 2547 มีเกษตรกรเป็นหนี้ 180,996 ราย ต้นเงินกู้ 8,119.77 ล้านบาท ซึ่งคณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2548 เห็นชอบในหลักการและวิธีการแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกร ตามโครงการปรับโครงสร้างและระบบการผลิตการเกษตร และโครงการแผนฟื้นฟูการเกษตรโดยการปรับโครงสร้างหนี้ ซึ่งเกษตรกรที่มีแผนฟื้นฟูอาชีพจะได้รับ
(1) การลดต้นเงินกู้ให้กึ่งหนึ่งและไม่ต้องชำระดอกเบี้ยค้างชำระ และ (2) ต้นเงินกู้อีกกึ่งหนึ่ง ให้ขยายระยะเวลาชำระหนี้คืนตามศักยภาพออกไปไม่เกิน 15 ปี (30 กันยายน 2562) พร้อมงดคิดดอกเบี้ยที่จะเกิดขึ้นในอนาคต โดยให้เกษตรกรมาขึ้นทะเบียนขอรับความช่วยเหลือภายใน 3 เดือนหลังมีมติ ต่อมาคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2559 เห็นชอบให้เกษตรกรจำนวน 478 ราย ที่ไม่ได้มาขอขึ้นทะเบียนในช่วงเวลาดังกล่าว ให้ได้รับความช่วยเหลือโดยใช้กรอบแนวทางการแก้ปัญหาหนี้สินเกษตรกรฯ ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2548 ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอด้วย
- ณ วันที่ 31 กรกฎาคม 2562 พบว่า ยังคงมีเกษตรกรเป็นหนี้อยู่ 34,561 ราย ต้น เงินกู้ค้างชำระ 793.32 ล้านบาท [จำแนกเป็นต้นเงินกู้ที่ยังไม่ถึงกำหนดชำระ 81.11 ล้านบาท ต้นเงินกู้ค้างชำระ 705.41 ล้านบาท และต้นเงินกู้ดำเนินคดี (ค้างชำระเกิน 60 วัน) 6.80 ล้านบาท] แต่โดยที่การขยายระยะเวลาโครงการฯ ตามมติข้างต้น จะสิ้นสุดลงในวันที่ 31 กันยายน 2562 ที่ประชุมคณะอนุกรรมการประสานงานเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรตามโครงการปรับโครงสร้างและระบบการผลิตการเกษตร และโครงการแผนฟื้นฟูการเกษตร ครั้งที่ 2/2562 เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2562
- จึงได้มีมติเห็นชอบให้ขอขยายระยะเวลาการแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกรตามโครงการฯ ออกไปอีก 5 ปี จนถึง 30 กันยายน 2567 เนื่องจากยังมีเกษตรกรบางส่วนที่มีความสามารถในการชำระหนี้ตามศักยภาพได้อย่างต่อเนื่องจะได้มีเวลาในการชำระหนี้เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์แจ้งว่า ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จะงดคิดค่าบริหารสินเชื่อในอัตราร้อยละ 3 ต่อปีของต้นเงินกู้คงเหลือทั้งหมดที่จะขยายระยะเวลาชำระหนี้ออกไป (ซึ่งรัฐบาลเป็นผู้ชดเชยให้แก่ ธ.ก.ส. มาโดยตลอด) จึงจะไม่ก่อให้เกิดภาระค่าใช้จ่ายแก่รัฐบาลแต่อย่างใด
ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 24 กันยายน 2562
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ
Click Donate Support Web