WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

แจกเงินชาวนาฟรีๆ ไร่ละพัน รบ.ทุ่ม 3.6 แสนล. ผุด 5 มาตรการ! แผนกระตุ้นศก. 20 ตค.จ่ายถึงมือ คืนสุขช่วงปีใหม่ ให้หยุดยาว 5 วัน

02 ตุลาคม พ.ศ. 2557 ปีที่ 24 ฉบับที่ 8709 ข่าวสดรายวัน


แจกเงินชาวนาฟรีๆ ไร่ละพัน รบ.ทุ่ม 3.6 แสนล. 
ผุด 5 มาตรการ! แผนกระตุ้นศก. 20 ตค.จ่ายถึงมือ คืนสุขช่วงปีใหม่ ให้หยุดยาว 5 วัน

         รัฐบาลทุ่มงบฯ 3.6 แสนล้านบาท ผุด 5 มาตร การกระตุ้นเศรษฐกิจ แจกเงินชาวนาไร่ละ 1,000 บาท คนละไม่เกิน 15 ไร่ หรือ 15,000 บาท ใช้งบฯ 40,000 ล้าน จาก "ธ.ก.ส." คาดเงินถึงมือชาวนา 20 ต.ค.นี้ พร้อมทั้งยังใช้วิธีจ้างเกษตรกร 300 บาทต่อวัน ขุดลอกคูคลองช่วงหน้าแล้ง "หม่อมอุ๋ย" ยันไม่ใช่ "ประชานิยม" แต่ดีกว่าจำนำข้าว ช่วยชาวนาได้ 3.4 ล้านครอบครัว ชี้แจงยิบเน้นสร้างงาน ซ่อมแซม ก่อสร้างขนาดเล็ก ดึงงบไทยเข้มแข็งอีก 15,000 ล้านอัดฉีด ตั้งคณะกรรมการติดตามการใช้จ่ายให้โปร่งใส นายกฯ บิ๊กตู่ ก็มั่นใจเศรษฐกิจจะกระเตื้องขึ้น มีเม็ดเงินหมุนเวียน

       เมื่อวันที่ 1 ต.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมครม. ถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจว่า ครม.อนุมัติแผนทั้งหมดที่นำเสนอ ส่วนใหญ่เป็นการใช้จ่ายงบฯที่มี และงบฯที่ค้างอยู่ รวมทั้งงบฯเพิ่มเติมที่เป็นปัญหาเร่งด่วน และส่วนหนึ่งเป็นการซ่อมแซม เราไม่เน้นการสร้าง โดยการสร้างจะมาดูอีกครั้งในภายหลังว่าคุ้มค่าและจำเป็นหรือไม่ เป็นการใช้จ่ายทั้งการสร้างอาชีพ สร้างรายได้ จ้างงาน เพื่อให้เศรษฐกิจกระเตื้องขึ้น มีเม็ดเงินหมุนเวียน 

     พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ส่วนสำคัญคือการดูแลเกษตรกรที่มีรายได้น้อย โดยเฉพาะชาวนา ขณะนี้มีความเดือดร้อนอยู่ในทุกกลุ่ม ต้องทยอยแก้ปัญหา ไม่สามารถแก้ได้ในเวลาจำกัด แต่รัฐบาลพยายามแก้ให้เป็นระบบให้ได้ จึงจำเป็นต้องมีมาตรการเร่งด่วนออกมา จะทำให้เม็ดเงินที่มีอยู่ลงถึงประชาชน และเกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจ โดยครม.อนุมัติเห็นชอบในหลักการทั้งหมดในวงเงินแสนกว่าล้านบาท มีทั้งแผนเก่าและแผนใหม่

       นายกฯกล่าวต่อว่า มาตรการดังกล่าวเป็นวิธีแก้ปัญหาตามหลักการ ต้องตัดสินใจและครม.พิจารณาร่วมกัน โดยจะเร่งพิจารณางบฯ ปี 2558 และงบฯ ปี 2557 ที่ค้างอยู่ รวมทั้งที่มอบให้กระทรวงการคลังไปตามเก็บมา เพื่อเพิ่มจำนวนงบฯ เข้าไปอีก รัฐบาลพยายามทำทุกวิถีทางทั้งด้านงบประมาณ การใช้จ่ายภาครัฐ และมาตรการทางภาษี ทั้งโลกก็แก้ไขในมาตรการแบบเดียวกัน แต่ของไทยนั้น ผู้ที่มีผลกระทบเป็นผู้มีรายได้น้อยจำนวนมาก จึงต้องแก้ไขไปตามลำดับและขั้นตอน ยืนยันว่าจะดูแลทุกคน

     ผู้สื่อข่าวถามว่าถ้าเศรษฐกิจในปีนี้ไม่โตตามที่คาดการณ์ไว้ ถือเป็นความรับผิดชอบของรัฐบาลหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ถอนหายใจพร้อมกล่าวว่าตอบยาก เราเข้ามาเพื่อแก้ปัญหาขณะนี้ และแก้ปัญหาที่ไม่มีใครเคยแก้มาก่อน แก้อย่างเป็นระบบไม่เคยมีรัฐบาลไหนทำ แล้วถ้ามันจะเป็นความผิดของเราก็ขึ้นอยู่กับสังคมพิจารณาแล้วกัน อยากให้กลับไปเป็นแบบเดิมก็เอา อย่าเอาผลที่ว่าไม่สำเร็จ ไม่เรียบร้อยแล้วมาโทษ มากล่าวหาว่าเป็นเพราะเรา ซึ่งมันก็ใช่ 

       "ผมเองก็พร้อมรับผิดชอบ เพราะผมเป็นหัวหน้ารัฐบาล แต่ประเด็นสำคัญคือปัญหาเหล่านี้สะสมมานาน ต้องกลับไปดูว่าในอดีตมีปัญหาอะไรเกิดขึ้นบ้าง วันนี้รัฐบาลเข้ามาแก้ปัญหาอีกแนวทางหนึ่งเพื่อให้เกิดความยั่งยืน แต่ต้องใช้เวลา ถ้าเราทำได้เร็ว ทุกอย่างก็จบ แต่ถ้าทำไม่ได้เร็วก็ต้องว่ากันต่อไป" นายกฯกล่าว

     ต่อข้อถามว่า มาตรการที่ออกมาจะส่งผลให้การขยายตัวทางเศรษฐกิจ หรือจีดีพีเติบโตขึ้นหรือไม่ นายกฯกล่าวว่ายังคาดการณ์ไม่ได้ขนาดนั้น เพราะเงินยังไม่ได้ลงไปเลย จะลงตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. ถือว่ารัฐบาลทำเร็วที่สุดแล้ว พ.ร.บ.งบประมาณปี 2558 เพิ่งลงมาเมื่อวันที่ 30 ก.ย. รัฐบาลจะเริ่มการใช้จ่ายงบฯ อีกทั้งการใช้จ่ายงบฯ เราไม่มีเงินก้อนแต่จะผ่านมาเป็นเอกสาร ต้องผ่านขั้นตอนการเบิกจ่ายของกระทรวงการคลัง ตั้งโครงการจัดซื้อจัดจ้าง ส่วนเรื่องการทุจริตนั้น สั่งการให้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมา มอบให้รองนายกฯ ดูแลเป็นพื้นที่แยกเป็นจังหวัด ตั้งกรรมการขึ้นตรวจสอบ โดยสุ่มตรวจโครงการการลงทุนว่าทุจริตตรงไหนหรือไม่ 

      ผู้สื่อข่าวถามว่าโจทย์ยากที่สุดคือวันนี้ประเทศติดลบในรอบ 30 ปี และบังเอิญติดลบในช่วงที่รัฐบาลชุดนี้เข้ามา ดังนั้นจะแก้ปัญหาอย่างไร นายกฯกล่าวว่าทุกหน่วยงานพยายามทำอยู่ และพูดคุยกันมาตลอด เมื่อถามถึงทะเบียนรถยนต์ส่วนตัว หมายเลข 1881 นั้น พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่าไม่ได้เลือก กองทะเบียนให้มา เป็นรถส่วนตัว ใช้เงินส่วนตัวซื้อ มีในรายการแจ้งบัญชีทรัพย์สินหนี้สิน ขณะนี้ยังไม่ใช้รถประจำตำหน่ง นายกฯ ที่เตรียมไว้ให้ และยังไม่ทราบว่าเตรียมอะไรไว้ให้บ้าง แต่รถที่ใช้ปัจจุบันไม่ใช่รถกันกระสุน กันกระสุนออกมากกว่า 

      ด้านม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี ด้านเศรษฐกิจ กล่าวถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจว่า เน้นมาตรการที่สร้างการเติบโตจากเศรษฐกิจภายในประเทศ โดยเน้นการสร้างงานและช่วยเหลือเกษตรกรผู้มีรายได้น้อย ประกอบด้วย 5 มาตรการย่อย วงเงินรวม 363,900 ล้านบาท ได้แก่ 1.มาตรการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบลงทุนปี 2557 ของทุกหน่วยราชการที่ยังไม่ได้เบิกจ่าย จำนวน 147,000 ล้านบาท โดยรัฐบาลขยายระยะเวลาทำสัญญาจัดซื้อ จัดจ้างโครงการ จากเดิมจะสิ้นสุดในวันที่ 30 ก.ย. ไปเป็นสิ้นสุดวันที่ 31 ธ.ค.2557 โดยตั้งเป้าหมายว่าจะเบิกจ่ายงบฯ ส่วนนี้ใน 3 เดือนข้างหน้าไม่ต่ำกว่า 20 เปอร์เซ็นต์

      2.มาตรการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบลงทุนปี 2558 ใน 3 เดือนแรกของปีงบประมาณ ซึ่งสำนักงบประมาณและหน่วยราชการรายงานว่าจากงบลงทุนปี 2558 วงเงินรวม 419,500 ล้านบาท จะเร่งรัดเบิกจ่ายในช่วง 3 เดือนแรกของปีงบประมาณให้ได้ 129,000 ล้านบาท คาดว่าในส่วนนี้จะเร่งรัดทำสัญญาและเบิกจ่ายได้ไม่ต่ำกว่า 30-40 เปอร์เซ็นต์ 

       3.มาตรการเร่งรัดการเบิกจ่าย งบฯ ที่คงค้างจากงบไทยเข้มแข็ง 15,000 ล้านบาท และงบกลางรายการสำรองจ่ายกรณีฉุกเฉินและจำเป็นจากปีงบประมาณ 2555-2557 ที่คงเหลืออีก 8,000 ล้านบาท รวม 23,000 ล้านบาท โดยหารือกับสำนักงบฯ และหน่วยงานต่างๆ ที่ได้เสนอของบฯ ก่อสร้าง ซ่อมแซมอาคาร หรือซื้อคุรุภัณฑ์ใหม่ และไม่สามารถขอใช้งบฯ ปี 2558 ได้ ให้นำงบฯส่วนนี้ไปใช้ เช่น อนุมัติงบฯ ให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ปรับปรุงซ่อมแซมอาคารเรียนและจัดหาคุรุภัณฑ์ 6,850 โรงเรียน สร้างอาคารเรียนใหม่ 1,084 หลัง และห้องสุขา 1,000 หลังทั่วประเทศ วงเงิน 8,844 ล้านบาท และการบำรุงรักษาทางและบูรณะทางสายหลัก วงเงิน 3,898 ล้านบาท เป็นต้น โดยโครงการเหล่านี้ให้รัฐมนตรีและหัวหน้าส่วนราชการไปเร่งเซ็นสัญญาจัดซื้อจัดจ้างให้แล้วเสร็จภายในเดือนพ.ย. เพื่อให้เพิ่มการจ้างงานทั่วประเทศ โดยจะให้สำนักงบฯ ติดตามการใช้จ่ายงบฯ ทุกเดือน 

      4.ให้หน่วยงานราชการเร่งทบทวนโครงการที่มีกันงบฯ ไว้เบิกจ่ายเหลือปีงบประมาณตั้งแต่ปี 2548-2555 วงเงินรวมประมาณ 24,900 ล้านบาท โดยให้ทุกหน่วยงานไปดูว่ามีโครงการใดที่มีความจำเป็นเร่งด่วน และให้เร่งนำเสนอเข้ามา เพื่อให้ลงนามในสัญญาจัดซื้อจัดจ้างภายใต้โครงการต่างๆ ในเดือนธ.ค.นี้ เพื่อให้มีผลกระตุ้นเศรษฐกิจใน 3 เดือนต่อไป 

       5.มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้มีรายได้น้อย โดยอนุมัติเงินช่วยเหลือชาวนาวงเงินรวม 40,000 ล้านบาท โดยจ่ายเงินให้ชาวนาไร่ละ 1,000 บาท จำกัดคนละไม่เกิน 15 ไร่ หรือรายละไม่เกิน 15,000 บาท เนื่องจากรัฐบาลพิจารณาแล้วเห็นว่าราคาข้าวในปีนี้ตกต่ำ โดยปัจจุบันราคาข้าวเฉลี่ยอยู่ที่ 8,000 บาทต่อตัน แต่ต้นทุนอยู่ที่ 9,000 บาทต่อตัน เมื่อข้าวนาปีออกสู่ตลาดใน 1-2 เดือนนี้เป็นต้นไป ราคาข้าวจะตกต่ำลงอีก มาตรการนี้เป็นการช่วยเหลือชาวนาอย่างเร่งด่วน โดยเฉลี่ยแล้วจะช่วยเหลือชาวนาได้ทั้ง 3,400,000 ครอบครัว จะช่วยเพิ่มราคาข้าวเฉลี่ย 100 บาทต่อตัน เป็นมาตรการที่ดีกว่ามาตรการรับจำนำข้าวที่ใช้เงินจำนวนมากถึงปีละ 250,000 ล้านบาท

      ม.ร.ว.ปรีดิยาธรกล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม มาตรการนี้จะช่วยเหลือชาวนาเพียงฤดูกาลผลิตเดียวเท่านั้น ไม่ใช่มาตรการระยะยาว โดยวงเงิน 40,000 ล้านบาทนั้น รัฐบาลจะให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ใช้สภาพคล่องสำรองจ่ายในโครงการ ไปก่อน และรัฐบาลจะตั้งวงเงินงบฯ ใช้คืนในปีงบฯ ต่อไป คาดว่าจะเริ่มจ่ายเงินให้ชาวนาได้ในวันที่ 20 ต.ค.นี้ ส่วนการแก้ปัญหาราคาข้าวตกต่ำในระยะยาว จะเป็นแนวทางการแก้ปัญหาของคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว(นบข.)

     รองนายกฯกล่าวต่อว่า เชื่อว่าการจ่ายเงินในโครงการนี้จะไม่มีปัญหา เพราะเป็นการจ่ายให้แก่เกษตรกรที่มาขึ้นทะเบียนไว้กับกรมส่งเสริมเกษตรกร ซึ่งปัจจุบันเกือบทั้งหมดมีบัญชีอยู่กับธ.ก.ส.อยู่แล้ว และเชื่อว่าธ.ก.ส.จะจ่ายเงินเข้าบัญชีให้ชาวนาได้ทันทีไม่เกินวันที่ 20 ต.ค.นี้ หลังจากนั้นรัฐบาลจะตั้งงบฯคืนให้แก่ธ.ก.ส.ในปีหน้า และงบฯที่ใช้นี้จะไม่กระทบต่อสภาพคล่องของธ.ก.ส. ยืนยันว่าโครงการนี้ไม่ใช่นโยบาย ประชานิยม เพราะถ้าเป็นประชานิยมจะต้องการคะแนนเสียง แต่รัฐบาลไม่ได้ต้องการ แต่สิ่งที่ต้องการคือกระตุ้นเศรษฐกิจ 

       "มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งหมด เป็นมาตรการที่เราทำอย่างจริงจัง ไม่ได้ตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ ในส่วนมาตรการจ้างงานที่เร่งการทำสัญญา โดยเฉพาะโครงการขนาดเล็ก กดปุ่มทำได้พร้อมกันทั่วประเทศ ธุรกิจก่อสร้าง วัสดุอุปกรณ์ก่อสร้างจะตื่นขึ้น เศรษฐกิจจะขับเคลื่อนได้จริง เป็นการเคลื่อนของเศรษฐกิจจากชนบทเข้าสู่เมือง มาตรการที่ทำนี้สำคัญ เพราะช่วยสร้างงาน ตอนนี้การส่งออกพึ่งได้ยาก เพราะเศรษฐกิจโลกหงอยหมด เศรษฐกิจของผู้ซื้อขนาดใหญ่ก็ไม่ฟื้น เราต้องกระตุ้นเศรษฐกิจภายใน เมื่อกระตุ้นแล้วมันจะสร้างไฮพาวเวอร์มันนี่ ช่วยคนที่น่าสงสารที่สุด ไม่เข้าตำราประชานิยม" รองนายกฯด้านเศรษฐกิจกล่าว

      ขณะที่นายสุพัฒน์ เอี้ยวฉาย ผู้ช่วยผู้จัดการธ.ก.ส. กล่าวว่าครม.อนุมัติวงเงิน 40,000 ล้านบาท เป็นเงินจากสภาพคล่องของธ.ก.ส. ที่มีอยู่เกือบ 200,000 ล้านบาท จะให้เฉพาะชาวนาผู้ปลูกข้าวฤดูกาลผลิตนาปี 2557/58 ที่ลงทะเบียนและได้ใบรับรองจากกรมส่งเสริมการเกษตร จากนั้นให้ชาวนานำใบรับรอง พร้อมเอกสารต่างๆ เช่น บัตรประจำตัวประชาชน เลขบัญชีสมุดเงินฝาก หากชาวนาผ่านการตรวจสอบและตรงตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด ธ.ก.ส.จะโอนเงินผ่านบัญชีของชาวนาทันที 

     ส่วนนายชวลิต ชูขจร ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังประชุมแก้ไขปัญหาภัยแล้งว่า ภายในเดือนต.ค.นี้จะประกาศมาตรการช่วยเหลือภัยแล้งแก่ชาวนาลุ่มน้ำเจ้าพระยา โดยวันที่ 3 ต.ค. กระทรวงเกษตรฯจะหารือร่วมกับกระทรวงมหาดไทย และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อหาข้อสรุปในมาตรการงดทำนาปรัง และการทำประมงโดยสิ้นเชิง ยกเว้นประมงกระชังที่เลี้ยงอยู่เดิม ครอบคลุมเขตชลประทานลุ่มเจ้าพระยา 22 จังหวัด และลุ่มน้ำแม่กลอง โดยพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาจะปลูกพืชผักได้เพียง 820,000 ไร่เท่านั้น 

     นายชวลิต กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ กระทรวง เกษตรฯ จะใช้วิธีการจ้างงานเกษตรกรในพื้นที่ที่ขุดลอกคูคลอง วันละ 300 บาท มีงบฯปกติและงบฯไทยเข้มแข็งอยู่แล้วขณะนี้ 1,100 ล้านบาท แต่คาดว่าจะไม่เพียงพอ เนื่องจากการจ้างงานต้องใช้เวลานาน 4 เดือน จากเกษตรกรรวม 260,000 ครัวเรือน ครอบคลุมพื้นที่ 750,000 ไร่ โดยรวมแล้วเกษตรกรจะได้รับรายได้จากโครงการนี้ประมาณครัวเรือนละ 24,000 บาทต่อ 4 เดือน รวมทั้งต้องสนับสนุนให้ทำอาชีพเสริม ทั้งหมดนี้กรมส่งเสริมการเกษตรจะต้องปรับฐานการคำนวณใหม่ คาดว่าจะใช้งบฯ 2,000 ล้านบาท ถือเป็นมาตรการเร่งด่วน และแผนในลุ่มน้ำเจ้าพระยา จะนำไปใช้ในลุ่มน้ำแม่กลองด้วย 

      ขณะเดียวกัน นายนิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่านโยบายจ้างงานชาวนา 300 บาทต่อวัน เพื่อขุดลอกคูคลอง หรือซ่อมแซมคลองชลประทานกรณีประสบภัยแล้ง ไม่มีน้ำทำนา ถือว่าเป็นการช่วยเหลือชาวนาได้ดีไม่น้อย เป็นมาตรการที่กระตุ้นเศรษฐกิจได้เร็วและตรงจุด แต่สิ่งที่ต้องระวัง คือการทุจริต เพราะในการซ่อมบำรุงเป็นงานที่ทุจริตได้ง่าย 

      นักวิชาการทีดีอาร์ไอกล่าวว่า หากจะจ้างชาวนาทำ ต้องมีมาตรการตรวจสอบที่เข้มงวด เพื่อไม่ให้จ้างบริษัทรับเหมาก่อสร้างมาทำงานแทน แล้วจ่ายหัวคิวให้ชาวนาแทน โดยไม่ต้องทำงาน เพราะที่สุดชาวนาก็ไม่มีงานทำอยู่ดี ที่ผ่านมานักการเมือง หรือกลุ่มทุจริตหากินกับงบฯ ซ่อมสร้างเป็นจำนวนมาก สังเกตในเรื่องซ่อมบำรุงจะราคาสูงกว่าปกติ แถมคุณภาพยังตรวจสอบไม่ได้ หรือการตรวจสอบไม่มีมาตรการ รัฐบาลจะเสียเงินเปล่า

    ด้าน ร.อ.นพ.ยงยุทธ มัยลาภ โฆษกประจำนักนายกฯ แถลงผลการประชุมครม.ว่า ที่ประชุมครม.เห็นชอบประกาศให้วันที่ 2 ม.ค.2558 เป็นวันหยุดราชการ ดังนั้น ช่วงเทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่จะมีวันหยุดยาว 5 วัน ตั้งแต่วันที่ 31 ธ.ค.2557 ถึงวันที่ 4 ม.ค.2558

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!