WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

อนุมัติงบฯกว่าแสนล้านกระตุ้นศก. ย้ำดูแลปัญหาเกษตรรายได้น้อย

อนุมัติงบฯกว่าแสนล้านกระตุ้นศก. ย้ำดูแลปัญหาเกษตรรายได้น้อย

     แนวหน้า : ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) ถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจว่า มาตรการภาพรวมส่วนใหญ่เป็นเรื่องการใช้จ่ายงบประมาณที่มีอยู่ และที่ค้างอยู่ ซึ่งเราดึงออกมาเพื่อปฏิบัติงานเร่งด่วน โดยแยกประเภทคือ 1.เรื่องการซ่อมแซมทุกกระทรวง ทบวงกรม เราเน้นการสร้าง เพราะต้องสำรวจอีกครั้งว่าจะคุ้มค่า มีความจำเป็นหรือไม่ ทุกอย่างจะเร่งซ่อม และนำไปสู่การสร้างอาชีพ สร้างรายได้ จ้างงาน เพื่อให้เศรษฐกิจกระเตื้องขึ้น มีเม็ดเงินหมุนเวียนขึ้น 2.เรื่องการดูแลเกษตรกรที่มีรายได้น้อย เพื่อเตรียมรับสถานการณ์ที่จะมีต่อไปในอนาคต เช่น กลุ่มชาวนา รวมถึงอีกหลายกลุ่มที่มีความเดือดร้อนจะทยอยแก้ทีละกลุ่ม เพราะเป็นปัญหาที่ต่อเนื่องมายาวนานแล้ว ไม่สามารถแก้ได้ในเวลาอันจำกัดทั้งระบบ แต่เราพยายามจะทำให้เป็นระบบให้ได้ เพราะฉะนั้นจะต้องมีมาตรการเร่งด่วนมาแก้ไข ซึ่งเม็ดเงินเหล่านี้จะลงไปสู่ประชาชน ทำให้เกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจ ซึ่งได้อนุมัติในหลักการไปหมดแล้ว ในวงเงิน แสนกว่าล้านบาท

     เมื่อถามว่า แผนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจนี้จะส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวมหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า คาดหวังอย่างนั้น และเป็นวิธีการแก้ปัญหาตามหลักการอย่างนั้นอยู่แล้ว แต่อยู่ที่วิธีการตัดสินใจ ซึ่งครม.และทุกกระทรวง ทบวง กรม เห็นชอบร่วมกัน โดยการขับเคลื่อนแบ่งออกเป็น2อย่างคือ 1. งบประมาณปี 58 หรืองบปี 57 ที่ค้างอยู่ยังไม่ดำเนินการและ 2.ที่เราให้กระทรวงการคลังไปตามเก็บมาเพิ่มอีก เพราะฉะนั้นจะเห็นว่าเราพยายามทำทุกวิถีทางแล้ว ทั้งงบประมาณใช้จ่ายภาครัฐ มาตรการทางภาษี ทั้งหมดเป็นการแก้ปัญหาตามหลักการแก้ปัญหาเศรษฐกิจโลกที่เขาทำกัน แต่ของเราคนที่มีผลกระทบ รายได้น้อยมีจำนวนมากเราต้องแก้ไปตามลำดับ ดูแลทุกคน

    เมื่อถามว่า ตอนนี้ตัวเลขส่งออกติดลบ จะแก้ปัญหาอย่างไร พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ต้องไปดูว่าติดลบเพราะอะไร คงไม่ใช่เป็นความบกพร่องของเราแต่ฝ่ายเดียว การส่งออกติดลบไม่ใช่ส่งของไม่ได้ แต่เป็นเพราะเขาไม่ซื้อ เพราะกำลังการซื้อน้อยลง เศรษฐกิจโลกกำลังจะลง นั่นคือสิ่งที่เราต้องเตรียมการในวันข้างหน้า ที่เราเข้ามาวันนี้เราได้เตรียมการแก้ไขปัญหาเหล่านี้ไว้ แต่จะเกิดผลได้ทันทีคงยาก ต้องใช้เวลา เราจะแก้วันนี้ให้ได้ก่อน จะต้องขยายตลาดเพิ่มอย่างไร และดูมาตรการต่างๆ

    เมื่อถามว่าถ้าเศรษฐกิจในปีนี้ไม่โตตามที่คาดไว้ จะถือว่าเป็นความผิดเพราะการบริหารของรัฐบาลหรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า ตอบยาก เรามาแก้ปัญหาขณะนี้ และเราแก้ปัญหาแบบที่ใครเขาไม่เคยที่จะกล้าแก้มาก่อน เรามาแก้ปัญหาเป็นระบบ ไม่เคยมีรัฐบาลไหนทำ เราแก้ให้เป็นระบบมากขึ้น

     “ถ้าจะเป็นความผิดของเราก็แล้วแต่สังคม ถ้าอยากจะเป็นแบบเดิมก็เอา ผมคิดว่าอย่าเอามาเป็นสิ่งที่ว่าไม่เรียบร้อย ไม่ดีแล้วเอามาโทษ มาหาว่าเราไม่ดี ใช่ผมรับผิดชอบ เพราะผมเป็นหัวหน้ารัฐบาล แต่ประเด็นสำคัญปัญหาเหล่านี้สะสมมานานแค่ไหน ลองไปทบทวนดูว่าเกิดอะไรขึ้นมาบ้าง และในอดีตแก้ปัญหามาอย่างไร วันนี้มาแก้ปัญหาอีกวิธีการหนึ่ง ซึ่งจะทำให้เกิดความยั่งยืนแต่ต้องใช้เวลา ฉะนั้นคำว่าใช้เวลาต้องพิจารณาดู เวลาที่ว่าควรจะยังไง ถ้าเราทำได้เร็วก็จบ ถ้าทำไม่ได้เร็วก็ว่ากันต่อไปผมไม่รู้” พล.อประยุทธ์ กล่าว

    เมื่อถามว่า มาตรการเศรษฐกิจที่อนุมัติไป คาดว่าจะทำให้ค่าจีดีพีสูงขึ้นหรือไม่  พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า เราคาดการณ์ไม่ได้ขนาดนั้น เพราะเม็ดเงินจะลงยังไม่ลงไปเลย เราทำเร็วที่สุดแล้วและเต็มที่แล้ว แต่ต้องเข้าใจว่าผ่านขั้นตอนเยอะ ทั้งนี้การใช้จ่ายงบประมาณได้มาเป็นก้อน แต่มาเป็นเอกสาร และเวลานี้อยู่ที่กระทรวงการคลัง ซึ่งจะต้องเบิกเม็ดเงินมาตั้งโครงการจัดซื้อจัดจ้างต่างๆ

    “ส่วนเรื่องการทุจริต ผมได้สั่งให้ตั้งคณะกรรมมอบให้รองนายกฯรับผิดชอบเป็นเขต เป็นจังหวัด โดยจะมีคณะกรรมการไปตรวจสอบและสุ่มตรวจ โครงการที่ลงทุนว่ามีทุจริตตรงไหน จะลงโทษทันทีนี่ถือเป็นมาตรการเร่งด่วน”นายกฯ กล่าว

     พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ต้องรอดูการแก้ปัญหาต้องเวลา ใช้การประเมินต้องรอดุว่าจีดีพีจะขึ้นหรือไม่ เพราะการที่จีดีพีจะขึ้นมีปัจจัยหลายอย่าง ทั้งส่งออก หรือพูดได้ว่าสัดส่วนรายได้ต้องสูงขึ้น ขอถามว่าจีดีพีจะสูงขึ้นได้ยังไงเมื่อเศรษฐกิจการส่งออกทำไม่ได้ หรือทำได้น้อย เพราะฉะนั้นจีดีพีตกแน่นอน  เราจะทำอย่างไรให้การส่งออกดีขึ้น นั่นคือต้องไปพัฒนาระบบเทคโนโลยี สิ่งของ การประกอบการ หาตลาด การใช้จ่ายในประเทศ รายได้ของคนในประเทศ ทั้งหมดคือตัวหารเฉลี่ยทั้งหมด ฉะนั้นต้องเกิดในหลายมิติด้วยกัน ไม่ใช่สั่งวันนี้พรุ่งนี้เกิด พรุ่งนี้จะดีไม่ได้ แต่เป็นการประเมินว่าน่าจะดีขึ้น เพราะที่ผ่านมาไม่เคยได้ทำกัน

   เมื่อถามว่า โจทย์ที่ยากที่สุดคือเรื่องเศรษฐกิจติดลบในรอบ 30 กว่าเดือน ซึ่งเป็นช่วงที่ นายกฯเข้ามาบริหารประเทศพอดี ในที่ประชุมครม.กระทรวงที่เกี่ยวข้องได้รายงานสถานการณ์อย่างไร พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ทราบ เขาทำอยู่ และรายงานมาโดยตลอด อย่างไรก็ตาม สถานการณ์การประท้วงที่ฮ่องกงนั้น จะไม่ส่งผลกระทบกับเรา เพราะคนละประเทศ

รัฐบาล ไฟเขียวแผนกระตุ้น ศก.'ประยุทธ์'ลั่น เน้นสร้างงาน-ช่วยเกษตรกร'หม่อมอุ๋ย'ระบุจะใช้เงินรวม 3.24 แสนลบ. มั่นใจ หนุน GDP ปีหน้าโต 4-5%

   รัฐบาล ไฟเขียวแผนกระตุ้นศก.'ประยุทธ์'ลั่น เน้นสร้างงาน-ช่วยเกษตรกร ด้าน'หม่อมอุ๋ย' ระบุจะใช้เงินรวม 3.24 แสนลบ.มั่นใจช่วยกระตุ้นศก. ตั้งแต่ Q1 ปีงบ 58 (ต.ค.-ธ.ค.57) คาดช่วยหนุน GDP ปีหน้าโต 4-5%

     พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบ แห่งชาติ(คสช.) เผยว่า วันนี้ คณะรัฐมนตรี(ครม.) เห็นชอบแผนกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยจะเน้นมาตรการช่วยสร้างงานให้กับประชาชนทั้งประเทศ และช่วยเกษตรกร ซึ่งเชื่อว่า แผนดังกล่าวจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจให้ขยายตัวได้

    ด้าน ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลจะใช้งบ กระตุ้นเศรษฐกิจ วงเงินรวม 3.24 แสนล้านบาท เพื่อสร้างงานและสร้างรายได้ ให้กับประชาชน รวมถึง ช่วยเหลือเกษตรกร  ซึ่งจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ ตั้งแต่ ไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 58 (ต.ค.-ธ.ค.57)

    "ในภาพรวม มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งหมด  จะใช้วงเงินทั้งสิ้น 324,500 ล้านบาท จากมาตรการดังกล่าว จะช่วยสร้างงานสร้างรายได้ และ ซ่อมแซมโรงเรียน โรงพยาบาล ระบบชลประทาน" ม.ร.ว.ปรีดิยาธร กล่าว

    ม.ร.ว.ปรีดิยาธร กล่าวอีกว่า แผนดังกล่าว จะเป็น high power money เพิ่ม รายได้ให้กับคนที่น่าสงสารที่สุด และรายได้น้อยที่สุด ตรงนี้ไม่เข้าตำราประชานิยม แน่นอน

    ทั้งนี้ งบกระตุ้นเศรษฐกิจดังกล่าว จะมาจาก งบประมาณปี 57 ที่ค้างอยู่ 1.47 แสนล้านบาท, งบประมาณปี 58 จำนวน 1.29 แสนล้านบาท, งบในโครงการไทยเข้มแข็ง 2.3 หมื่นล้านบาท อีกส่วน เป็น งบเหลื่อมปี ระหว่างปีงบประมาณ 48-56 อีกราว 2.4 หมื่นล้านบาท

    โดยในส่วนของงบเหลื่อมปี จะนำมาใช้กระตุ้นเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 2 ของปีงบประมาณ 58(ม.ค.-มี.ค.58)

    ม.ร.ว.ปรีดิยาธร กล่าวอีกว่า วันนี้ ครม. ได้อนุมัติงบประมาณอีก 4 หมื่นล้านบาท เพื่อช่วยเหลือเกษตรกร ในปีงบประมาณ 58 โดยจะให้การ ช่วยเหลือครอบครัวละไม่เกิน 15 ไร่ ไร่ละ 1,000 บาท ซึ่งในเบื้องต้นจะให้ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) จ่ายเงินให้เกษตรกร ที่ลงทะเบียนไว้ไปก่อน และรัฐบาลจะตั้งงบประมาณมาชดเชยให้ภายหลัง 

   ทั้งนี้ คาดว่า มาตรการดังกล่าวจะหนุนเศรษฐกิจไทยปีหน้าขยายตัวได้ในระดับ 4-5% โดยเน้นการลงทุนใน 3 ด้าน คือ ด้านสาธารณูปโภค, ด้านโรงพยาบาลและโรงเรียนและด้านระบบขนส่ง

สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย

ครม.อัดฉีดกว่า 3 แสนลบ.ผ่าน 5 มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ 3 เดือนแรกปีงบ 58

    ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)มีมติอนุม้ติมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วง 2-3 เดือนแรกของปีงบประมาณ 58 โดยเน้นการสร้างงาน และเพิ่มรายได้ให้กับชาวนาที่มีรายได้น้อย ด้วยการเร่งอัดฉีดงบประมาณกว่า 3 แสนล้านบาท

   "เชื่อว่าทุกอย่างหงอยหมด แต่เราพยายามจะเร่งข้างใน สร้างงานให้คนเรามีงานทำ โดยยังไม่ขอประเมินว่า มาตรการที่ออกมาจะกระตุ้นเศรษฐกิจในไตรมาสสุดท้าย แต่เชื่อว่า จะเกิดการหมุนเวียน การจ้างงาน จับจ่ายใช้สอย เศรษฐกิจก็จะซ่อมไปเอง"ม.ร.ว.ปรีดิยาธร กล่าว

   ทั้งนี้ ครม.อนุมัติมาตรการส่วนแรกเป็นมาตรการเพื่อการสร้างงาน ประกอบด้วย 5 แนวทาง คือ 1.ทบทวนเงินกันไว้เบิกจ่ายเหลื่อมปี 2548-2556 จำนวน 24,892.40 ล้านบาท โดยให้ทบทวนและเร่งรัดลงนามในสัญญาภายในเดือน ธ.ค.57 และรายงานผลใช้จ่ายงบประมาณทุกเดือน

   2.เร่งรัดทำสัญญาจ้างรายจ่ายลงทุนปี 58 ที่ยังเหลืออยู่ วงเงิน 147,050.80 ล้านบาท ซึ่งทบทวนแล้วแลยืนยัน 132,160.90 ล้านบาท คงเหลือ 14,889.90 ล้านบาทที่ต้องปรับแผนใช้จ่ายให้ทันเดือน ธ.ค.57

   3.เร่งรัดทำสัญญาจ้ารายจ่ายลงทุนปี 58 วงเงิน 129,522.20 ล้านบาท

    4.งบกลางที่กันไว้เบิกจ่ายเหลื่อมปี 55-57 และงบไทยเข้มแข็งปี 52 ที่เหลือ จำนวนรวม 23,000 ล้านบาทสำหรับปรับปรุงซ่อมแซมอาคารเรียน และจัดหาครุภัณฑ์โรงเรียน 6,850 โรง สร้างอาคารเรียนใหม่โรงเรียนชั้นประถมและมัธยม 1,084 หลัง และห้องสุขาโรงเรียน 1,000 หลัง วงเงิน 8,844.90 ล้านบาท, ปรับปรุงซ่อมแซมอาคารเรียนและสาธารณูปโภคสถานศึกษาอาชีวะ 421 แห่ง วงเงิน 2,256 ล้านบาท, ปรับปรุงอาคารและจัดหาครุภัณฑ์มหาวิทยาลัยของรัฐ วงเงิน 1,827.20 ล้านบาท,

  ปรับปรุงซ่อมแซมอาคารสำนักงาน บ้านพัก ระบบชลประทานและขุดลอกด้วยแรงงานคน วงเงิน 2,442 ล้านบาท, ปรับปรุงซ่อมแซมและก่อสร้างอาคารบ้านพักของกระทรวงกลาโหม วงเงิน 736.60 ล้านบาท, ก่อสร้างอาคารบ้านพักแพทย์ พยายาม และจัดหาครุภัณฑ์การแพทย์ วงเงิน 2,724.70 ล้านบาท, บำรุงรักษาทางและบูรณะทางสายหลัก วงเงิน 3,898.60 ล้านบาท

   และ  5.เร่งรัดอนุมัติส่งเสริมการลงทุน(BOI)ตามคำขอ 380 ราย วงเงินลงทุนรวมประมาณ 429,208 ล้านบาท

   ด้านมาตรการเพิ่มรายได้ให้แก่ผู้มีรายได้น้อย ช่วยเหลือต้นทุนการผลิตให้ชาวนา 3.4 ล้านครอบครัว วงเงิน 40,000 ล้านบาท แบ่งเป็น ชาวนาที่มีที่ดิน 15 ไร่ขึ้นไป จะได้รับเงินช่วยค่าต้นทุนการผลิตครอบครัวละ 15,000 บาท ซึ่งมีจำนวน 1.6 ล้านครอบครัว และ ชาวนาที่มีที่ดินไม่เกิน 15 ไร่ จะได้รับเงินช่วยค่าต้นทุนการผลิต 1,000 บาทต่อไร่ ซึ่งมีจำนวน 1.8 ล้านครอบครัว

   ม.ร.ว.ปรีดิยาธร กล่าวว่า มาตรการการสร้างงานจะเน้นการเร่งใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐทั้งของเก่าและใหม่ โดยสั่งการให้ทุกกระทรวงทบทวนโครงการที่พร้อมจะลงทุนและให้มีการเร่งทำสัญญาให้แล้วเสร็จภายใน ธ.ค.57 โดยหวังว่าถ้าสามารถสร้างงานเพิ่มขึ้น เชื่อมั่นว่าจะทำให้เศรษฐกิจกระเด้งขึ้น จากการสั่งซื้อสินค้า การก่อสร้าง และเพิ่มการจ้างงาน

  ทั้งนี้ ในส่วนของงบลงทุนไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 58 ให้แต่ละกระทรวงไปเซ็นสัญญาจ้างงานและให้เกิดการประมูลงานให้ถูกต้อง โดยหวังว่าหากเบิกจ่ายได้ 30-40% ก็น่าจะทำให้เศรษฐกิจที่ชะลอไปนานฟื้นตัวแรงขึ้นมาทันที

   ส่วนงบไทยเข้มแข็งและงบกลางเหลื่อมปีจะเน้นโครงการซ่อมแซมต่างๆ การสร้างโรงเรียน บ้านพักข้าราชการ ที่พักสาธารณสุข รวมถึงการขุดลอกคูคลอง โดยเชื่อว่าจะเซ็นสัญญาได้ในเดือนพ.ย.นี้ ขณะที่การทบทวนเงินกันไว้เบิกจ่ายเหลื่อมปี 48-56 ให้แต่ละกระทรวงไปคิดแผนงานว่าจะนำงบเหล่านี้ไปใช้ในด้านใดบ้าง

   ม.ร.ว.ปรีดิยาธร กล่าวถึงมาตรการเพิ่มรายได้ให้แก่ชาวนาที่มีมีรายได้น้อยว่า ขณะนี้ราคาข้าวต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ หรืออยู่ที่ประมาณ 8 พันบาท/เกวียน ขณะที่ต้นทุนบวกกับกำไรที่เหมาะสมน่าจะอยู่ที่ 9 พันบาท/เกวียน ทำให้ชาวนาได้รับความเดือดร้อน จึงต้องมีมาตรการช่วยเหลือเพื่อให้สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้  โดยจะให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จ่ายเงินให้ชาวนาที่ลงทะเบียนไว้ ซึ่งน่าจะจ่ายได้ก่อน 20 ต.ค.นี้ ซึ่งจะเป็นเพียงมาตรการระยะสั้น เฉพาะฤดูกาลนี้ฤดูกาลเดียว"

    "ไม่ใช่ประชานิยม เพราะเราไม่ต้องการคะแนนเสียง แต่ต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเฉพาะคนที่มีปัญหาหรือมีภาระจริงๆ"ม.ร.ว.ปรีดิยาธร ตอบคำถามผู้สื่อข่าว

อินโฟเควสท์

นายกฯ มาตรการกระตุ้นศก.เร่งใช้จ่ายงบที่ค้างอยู่กว่าแสนลบ.เน้นงานซ่อมแซม

    พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวว่า วันนี้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเน้นการใช้จ่ายงบประมาณปี 57 ที่ยังค้างอยู่ และงบประมาณปี 58 โดยเฉพาะงานเร่งด่วน เน้นการซ่อมแซมไม่เน้นการสร้างใหม่ เพื่อสร้างอาชีพ สร้างงาน และให้มีเม็ดเงินหมุนเวียนเพิ่มขึ้น รวมไปถึงดูแลเกษตรกรผู้มีรายได้น้อย

    นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลพยายามทำทุกวิถีทางเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ทั้งการเร่งใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ และมาตรการช่วยเหลือผู้ที่มีรายได้น้อย ขณะที่ตัวเลขส่งออกติดลบเพราะต่างชาติกำลังซื้อน้อยลง บวกกับมีการสู้รบในบางประเทศ หรือมีการแซงชั่นทางการค้า ทำให้ต้องมีการขยายตลาดหรือหาตลาดเพิ่ม

   อย่างไรก็ตาม มาตรการที่ออกมายังไม่สามารถประเมินผลที่จะมีต่อการเติบโตของเศรษฐกิจได้ เพราะคงต้องรอให้เริ่มใช้จ่ายงบประมาณก่อน แต่เน้นย้ำว่าต้องไม่มีการทุจริตเกิดขึ้น โดยสั่งให้แต่งตั้งคณะกรรมการที่มีมีรองนายกรัฐมนตรี เป็นผู้รับผิดชอบดูแล และแบ่งจังหวัดเพื่อสุ่มตรวจสอบโครงการต่าง ๆ หากพบว่า มีการทุจริตเกิดขึ้นก็จะลงโทษทันที

  สำหรับ ตัวเลขอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ(GDP)ของไทยนั้น มีปัจจัยประกอบจากหลายด้าน ทั้งการส่งออก และการใช้จ่าย ซึ่งยอมรับว่าหากส่งออกน้อยลง GDP ก็ย่อมจะปรับลดลงแน่นอน จึงจำเป็นจะต้องมีการพัฒนาในเรื่องสินค้า เทคโนโลยี และการหาตลาดส่งออกใหม่ๆ นอกเหนือจากนั้นต้องเพิ่มการใช้จ่ายในประเทศ แต่จากที่ประเมินเศรษฐกิจโดยรวมน่าจะดีขึ้น เพราะมีหลายมาตรการที่ไม่เคยทำในช่วงที่ผ่านมา

   ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรี ตอบข้อซักถามกรณีที่หากเศรษฐกิจไม่ได้โตตามที่คาดหมายจะเป็นผลจากการทำงานของรัฐบาลที่ไม่ประสบความสำเร็จหรือไม่ว่า เรื่องนี้เป็นเรื่อที่ตอบยาก เพราะการแก้ไขปัญหาของประเทศในขณะนี้ยังไม่เคยมีใครกล้าทำมาก่อน และเป็นการแก้ทั้งระบบ

   "การแก้ไขปัญหาเป็นระบบนั้น ยังไม่มีรัฐบาลไหนทำ เรามาแก้ให้เป็นระบบมากขึ้น แล้วจะมาโทษว่าเป็นควาผมิดของเรา สังคมก็ว่าก็แล้วกัน จะเป็นแบบเดิมก็เอา ผมคิดว่าอย่าเอาเรื่องความไม่เรียบร้อยแล้วมาโทษกัน ผมรับผิดชอบในฐานะที่เป็นหัวหน้ารัฐบาล อยากให้มองว่าปัญหาแบบนี้สะสมมานานแค่ไหน แล้วเกิดอะไรขึ้นบ้างในอดีต วันนี้เราแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนต้องใช้เวลา"นายกรัฐมนตรี กล่าว

    ส่วนปัญหาเรื่อการควบคุมราคาการขายสลากกินแบ่งรัฐบาลนั้น ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการพิจารณา ซึ่งตนเองให้ความสำคัญคนขายเป็นหลักที่จะต้องเกิดความเป็นธรรมร เบื้องต้นสิ่งที่กำลังพิจารณาจะดูตามสัญญา

  "ถ้าหมดสัญญาสามารถดูได้ คุมได้ แต่ถ้าวันข้างหน้าพิจารณารายได้เข้ารัฐส่งได้น้อยลงหรือไม่ หรือขายออกจากสลากราคาเท่าไหร่ หรือเก็งรายได้เข้ารัฐน้อยลงหรือไม่ แต่ต้องมีมาตรการเยียวยาสำหรับผู้ซื้อรายใหญ่ เพราะรายย่อยไม่สามารถซื้อเองได้ เพราะรายใหญ่ซื้อไปบางเลขขายไม่ออก ถ้าขายโดยเครื่องก็เป็นอีกเรื่อง แต่เราก็ไปไม่ถึงตรงนั้นสักที ผมก็โดนทั้ง 2 ข้างอีก"พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

    และยังยืนยันว่าไม่มีหวยล็อค "ไม่มี แน่นอน รถผมก็ไม่มี รถรางาช้าง อย่าไปทุ่มเทมากนัก"

                        อินโฟเควสท์

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!