WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

ผลการประชุมคณะกรรมการรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ ครั้งที่ 1/2562

GOV4ผลการประชุมคณะกรรมการรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ ครั้งที่ 1/2562

            คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบผลการประชุมคณะกรรมการรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ ครั้งที่ 1/2562

            ตามที่คณะกรรมการรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเสนอ ดังนี้

               ตามที่คณะกรรมการรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจได้มีการประชุม ครั้งที่ 1/2562 เมื่อวันศุกร์ที่ 16 สิงหาคม 2562 เวลา 9.30 น. ณ ห้องประชุมภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล โดยมีนายกรัฐมนตรี (พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา) เป็นประธานนั้น สรุปสาระสำคัญและมติที่ประชุม ดังนี้

               1. ที่ประชุมรับทราบเรื่องสำคัญดังต่อไปนี้

               1.1 การแต่งตั้งคณะกรรมการรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ

               1.1.1 คณะกรรมการรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจได้รับการแต่งตั้งตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 164/2562 ลงวันที่ 30 กรกฎาคม 2562 ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานกรรมการ รองประธานกรรมการ ประกอบด้วย รองนายกรัฐมนตรี (นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์) รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์) รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (นายอนุทิน ชาญวีรกูล) และกรรมการ ประกอบด้วย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม โดยมี นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล เป็นกรรมการและเลขานุการ และเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเป็นกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ

               1.1.2 คณะกรรมการรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจมีอำนาจหน้าที่ในการพิจารณากลั่นกรองเรื่องสำคัญในปัญหาเกี่ยวพันหรือมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจในภาพรวม ตลอดจนประเมิน วิเคราะห์ และเสนอแนะมาตรการหรือแนวทางตัดสินใจเชิงรุกในประเด็นหรือนโยบาย ก่อนนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณา

               1.2 วิธีปฏิบัติและแนวทางการดำเนินงานเกี่ยวกับการประชุมคณะกรรมการรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ

               1.2.1 หลักเกณฑ์ในการพิจารณาเรื่องที่จะเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ มีดังนี้

               1.2.1.1 เรื่องที่ส่วนราชการเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ซึ่งมีความสำคัญในปัญหาที่เกี่ยวพันหรือมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจในภาพรวม สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) จะเป็นผู้กลั่นกรองวาระ โดยใช้หลักเกณฑ์ตามที่ระบุในคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ ได้แก่ เรื่องที่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจในภาพรวม รวมทั้งประเด็นด้านการเงิน การคลัง การภาษีอากร การค้าการลงทุน เกษตรกรรม การคมนาคมและโลจิสติกส์ การท่องเที่ยว การพลังงาน วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิจัย นวัตกรรมและดิจิทัลเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจ และอุตสาหกรรม รวมทั้งหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการเสนอเรื่องและการประชุมคณะรัฐมนตรี พ.ศ. 2548 และจะพิจารณาร่วมกับฝ่ายเลขานุการฯ เพื่อเสนอนายกรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบในการนำเรื่องเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ

               1.2.1.2 เรื่องที่เป็นข้อเสนอแนะมาตรการเชิงรุกในประเด็นหรือนโยบายตามข้อ 1.2.1.1 ฝ่ายเลขานุการฯ เป็นผู้เสนอเรื่อง และนำกราบเรียนนายกรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบในการนำเรื่องเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ

               1.2.1.3 เรื่องที่คณะรัฐมนตรีหรือนายกรัฐมนตรีมอบหมาย โดยมีรายละเอียดของลำดับขั้นตอนการเสนอเรื่องเช่นเดียวกับข้อ 1.2.1.2

               1.2.2 แนวทางปฏิบัติในการจัดการประชุม

               1.2.2.1 การถามความเห็นของส่วนราชการ ในกรณีข้อ 1.2.1.1 สลค. จะเป็นผู้ออกหนังสือถามความเห็นส่วนราชการ ซึ่งส่วนราชการจะมีหนังสือเพื่อให้ความเห็นหรือเสนอความเห็นในที่ประชุม ในกรณีข้อ 1.2.1.2 ฝ่ายเลขานุการฯ จะเป็นผู้ถามความเห็นจากส่วนราชการซึ่งส่วนราชการอาจจะมีหนังสือตอบความเห็นหรือให้ความเห็นในที่ประชุมคณะกรรมการรัฐมนตรีเศรษฐกิจ

               1.2.2.2 การนำเสนอต่อที่ประชุม ได้แก่ ผู้แทนส่วนราชการที่เสนอเรื่อง (ในกรณีข้อ 1.2.1.1) และฝ่ายเลขานุการฯ (ในกรณีข้อ 1.2.1.2) โดยมีผู้แทนส่วนราชการที่เกี่ยวข้องและ/หรือส่วนราชการที่ให้ความเห็น เป็นผู้ชี้แจง/ผู้ให้ข้อมูลเพิ่มเติม

               1.2.2.3 สรุปผลการประชุม ฝ่ายเลขานุการฯ เป็นผู้สรุปประเด็นอภิปรายและมติที่ประชุมเพื่อนำกราบเรียนนายกรัฐมนตรีในฐานะประธานกรรมการ พิจารณาให้ความเห็นชอบก่อนที่จะเสนอไปยัง สลค. เพื่อบรรจุในวาระการประชุมคณะรัฐมนตรีต่อไป

               1.2.2.4 สถานที่จัดประชุม เห็นควรให้จัดการประชุมที่ห้องภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล

               1.2.2.5 กำหนดเวลาการประชุม เห็นควรให้มีการจัดประชุมในวันจันทร์ ช่วงเช้า หรือตามที่ประธานกรรมการกำหนด โดยให้พิจารณาจากความจำเป็นของเรื่องที่เสนอเป็นสำคัญ

               1.2.2.6 เบี้ยประชุม เห็นควรให้เบิกจ่ายจากงบประมาณของสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี

1.3 มติคณะกรรมการรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ

               1.3.1 รับทราบคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ

               1.3.2 รับทราบวิธีปฏิบัติและแนวทางการดำเนินงานเกี่ยวกับการประชุมคณะกรรมการรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ

               1.3.3 เพื่อให้การปฏิบัติงานของฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้ปรับปรุงองค์ประกอบของคณะกรรมการรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ โดยมีการแต่งตั้งกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการเพิ่มเติม ดังนี้ (1) รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีที่เลขาธิการนายกรัฐมนตรีมอบหมาย เป็นกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ (2) รองเลขาธิการคณะรัฐมนตรีที่เลขาธิการคณะรัฐมนตรีมอบหมาย เป็นกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ และ (3) ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารนโยบายของนายกรัฐมนตรี เป็นกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ

2. เรื่องเพื่อพิจารณา

               2.1 สถานการณ์ภาพรวมเศรษฐกิจไทย สถานะทางงบประมาณของรัฐบาล และกรอบการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ปี 2562 – 2563

               2.1.1 ข้อเสนอเพื่อพิจารณาฝ่ายเลขานุการฯ และสำนักงบประมาณ นำเสนอภาพรวมเศรษฐกิจไทยไตรมาสที่สองของ ปี 2562 และกรอบการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ปี 2562 – 2563 และสถานะทางงบประมาณของรัฐบาล โดยมีสาระสำคัญสรุปได้ดังนี้

1) ภาพรวมเศรษฐกิจไทยไตรมาสที่สองของปี 2562

               เครื่องชี้เศรษฐกิจสำคัญ ๆ ในไตรมาสที่สองของปี 2562 แสดงให้เห็นว่า GDP ในไตรมาสที่สองของปี 2562 มีแนวโน้มที่จะขยายตัวต่ำกว่าการขยายตัวร้อยละ 2.8 ในไตรมาสแรก

               ด้านการใช้จ่าย การส่งออกสินค้าและดัชนีการลงทุนภาคเอกชนปรับตัวลดลงติดต่อกันเป็นไตรมาสที่สอง ในขณะที่ดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนชะลอตัวลง การเบิกจ่ายรายจ่ายประจำปรับตัวลดลง ในขณะที่การเบิกจ่ายรายจ่ายลงทุนขยายตัวเล็กน้อย ด้านการผลิต ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรและดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมลดลง ขณะที่จำนวนและรายรับจากนักท่องเที่ยวต่างประเทศขยายตัวในเกณฑ์ต่ำอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ นับจากครึ่งหลังของปี 2561 การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและการเพิ่มขึ้นของมาตรการกีดกันทางการค้าอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในไตรมาสที่สามและสี่ของปี 2561 ชะลอตัวลงเป็นร้อยละ 3.2 และร้อยละ 3.6 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 5.0 และร้อยละ 4.7 ในไตรมาสแรกและไตรมาสที่สอง ตามลำดับ

               เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่สองของปี 2562 คาดว่าจะขยายตัวต่ำกว่าในไตรมาสแรกของปี โดยพิจารณาจากเครื่องชี้เศรษฐกิจที่สำคัญ ซึ่งขยายตัวในอัตราที่ชะลอลง ทั้งการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน การใช้จ่ายภาครัฐ รวมทั้งการท่องเที่ยว ขณะที่มูลค่าการส่งออก ผลผลิตภาคเกษตรและการผลิตภาคอุตสาหกรรมปรับตัวลดลง สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจไทย ในปี 2562 คาดว่าจะขยายตัว 2.7 – 3.2 (ค่ากลาง 3.0)

               2) กรอบการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ปี 2562 – 2563 เพื่อให้เศรษฐกิจไทยสามารถขยายตัวได้ตามเป้าหมาย ประกอบด้วย

               2.1) การช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยและสร้างความเข้มแข็งให้เศรษฐกิจฐานราก โดยการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน ผู้มีรายได้น้อย และเกษตรกร ผ่านกลไกการดำเนินงานของรัฐ หรือกลุ่มองค์กรชุมชน

               2.2) การช่วยเหลือกลุ่มผู้ประกอบการ โดยการเพิ่มสภาพคล่องแก่กลุ่มผู้ประกอบการและลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก และการสนับสนุนผู้ประกอบการที่มีศักยภาพในการขยายตลาดเพื่อรองรับส่วนแบ่งตลาดที่ได้รับผลกระทบจากสงครามการค้า

               2.3) การยกระดับราคาสินค้าเกษตรและรายได้สุทธิของเกษตรกร โดยการพัฒนาด้านตลาดและลดต้นทุนการผลิตเพื่อยกระดับรายได้สุทธิของเกษตรกร

               2.4) การขับเคลื่อนการส่งออก ให้ขยายตัวได้ร้อยละ 3.0 ในช่วงครึ่งหลังของปี 2562 และร้อยละ 3.5 ในปี 2563 โดยการเร่งหาโอกาสจากการส่งออกและการปรับเปลี่ยนทิศทางการค้าจากความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน

               2.5) การเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐ ให้มีการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2562 ร้อยละ 90.7 จำแนกเป็น รายจ่ายประจำร้อยละ 99.0 และรายจ่ายลงทุนร้อยละ 60.0 การเบิกจ่ายงบประมาณกันไว้เหลื่อมปีร้อยละ 70.0 และการเบิกจ่ายงบลงทุนรัฐวิสาหกิจร้อยละ 75.0 และการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563 ร้อยละ 92.3 จำแนกเป็น รายจ่ายประจำร้อยละ 98.0 รายจ่ายลงทุนร้อยละ 70.0 การเบิกจ่ายงบประมาณกันไว้เหลื่อมปีร้อยละ 73.0 และการเบิกจ่ายงบลงทุนรัฐวิสาหกิจร้อยละ 80.0 รวมถึงการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณและเงินสะสมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และกองทุนต่าง ๆ

               2.6) การขับเคลื่อนภาคการท่องเที่ยว โดยกำหนดเป้าหมายให้มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในช่วงครึ่งหลังของปี 2562 ไม่ต่ำกว่า 20.0 ล้านคน และมีรายได้รวมจาก การท่องเที่ยวไม่ต่ำกว่า 1.05 ล้านล้านบาท และทั้งปี 2562 ให้มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศไม่ต่ำกว่า 39.8 ล้านคน และรายได้รวมไม่ต่ำกว่า 2.04 ล้านล้านบาท และในปี 2563 มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศจำนวน 41.8 ล้านคน รายได้รวม 2.22 ล้านล้านบาท โดยให้ความสำคัญกับมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวจีน และอินเดีย เช่น มาตรการ visa on arrival และจัดกิจกรรมใหญ่ ๆ เป็นต้น

               2.7) การสนับสนุนการลงทุนภาคเอกชน ให้มูลค่าการลงทุนในช่วงครึ่งหลังของปี 2562 อยู่ที่ 1,421 พันล้านบาท (เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.9) และมูลค่าการลงทุนรวมปี 2562 อยู่ที่ 2,871.7 พันล้านบาท (เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.9) และมูลค่าการลงทุนในปี 2563 อยู่ที่ 3,012.4 พันล้านบาท (เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.9) โดยการเร่งรัดให้เกิดการลงทุนจริงโดยเร็วสำหรับโครงการส่งเสริมการลงทุนที่ได้รับอนุมัติแล้ว

               นอกจากนี้ เสนอให้มีการดำเนินมาตรการปฏิรูปในเชิงโครงสร้างที่สำคัญ (Big Reform) ซึ่งเป็นกรอบการบริหารระยะยาวควบคู่กันไป โดย (1) การปรับโครงสร้างภาครัฐเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของบุคลากรควบคู่กับการใช้เทคโนโลยีซึ่งคาดว่าจะทำให้รายจ่ายของรัฐบาลในส่วนที่เป็นรายจ่ายประจำลดลง และมีสัดส่วนรายจ่ายลงทุนเพิ่มขึ้น และ (2) การปรับโครงสร้างการผลิตของประเทศ ประกอบด้วย การปรับเปลี่ยนระบบการผลิตภาคเกษตร การใช้เทคโนโลยีเพื่อลดต้นทุนและเพิ่มผลิตภาพการผลิต การสนับสนุนให้ผลิตสินค้าภาคอุตสาหกรรมที่มีความจำเป็นและมีความต้องการสูงในตลาด โดยเฉพาะในกลุ่มอาหาร และการหาตลาดใหม่ ๆ เพื่อสร้างความมั่นคง และการปรับเปลี่ยนให้ผู้ประกอบการภาคบริการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ในการดำเนินธุรกิจ โดยเฉพาะช่องทางอิเล็กทรอนิกส์เพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขัน

3) สถานะทางงบประมาณของรัฐบาล

               สำนักงบประมาณรายงานผลการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปี ปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 ข้อมูล ณ วันที่ 2 สิงหาคม 2562 หน่วยงานภาครัฐเบิกจ่ายงบประมาณรวมการก่อหนี้ผูกพัน (PO) อยู่ที่ประมาณร้อยละ 80 แบ่งเป็น รายจ่ายประจำร้อยละ 81 และรายจ่ายลงทุนร้อยละ 75 โดยมีวงเงินที่ยังไม่มีการก่อหนี้ผูกพันอยู่ประมาณ 50,000 ล้านบาท ซึ่งในช่วงที่เหลือของปี (เดือนสิงหาคม – กันยายน 2562) สำนักงบประมาณ โดยความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี จะขอให้ส่วนราชการปรับแผนการใช้จ่ายงบประมาณในส่วนที่ยังไม่ก่อหนี้ผูกพันไปดำเนินโครงการเพื่อแก้ไขปัญหาภัยแล้งและดำเนินโครงการตามนโยบายของรัฐบาล สำหรับงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 วงเงิน 3,200,000 ล้านบาท เมื่อหักรายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงคลัง รายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้ เงินเดือน ค่าจ้าง ค่ารักษาพยาบาล และเงินชดเชยแล้ว รัฐบาลจะมีวงเงินงบประมาณสำหรับใช้ดำเนินโครงการใหม่ตามนโยบายของรัฐบาลอยู่ที่ประมาณ 80,000 ล้านบาท

2.1.2 ประเด็นอภิปราย

               1) การแก้ไขปัญหาการย้ายฐานการผลิต รัฐบาลควรมีมาตรการและแนวทางการทำงานเชิงรุก รวมทั้งแนวทางการดำเนินการของประเทศอื่น ๆ เช่น เวียดนาม เป็นต้น เพื่อดึงดูดให้นักลงทุนที่อยู่ระหว่างการตัดสินใจให้หันมาลงทุนในประเทศไทยเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ จากผลสำรวจขององค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (JETRO) พบว่า นักลงทุนจากประเทศญี่ปุ่นสนใจลงทุนในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC) ค่อนข้างน้อย เนื่องจากมีความกังวลเกี่ยวกับปัญหาด้านการจัดการผังเมืองและสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ ผลสำรวจของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (สกท.) พบว่า ผลจากการดำเนินมาตรการกีดกันทางการค้าระหว่างจีน – สหรัฐอเมริกา ทำให้นักลงทุนญี่ปุ่นประมาณร้อยละ 40 ของจำนวนบริษัทที่สำรวจ (40 บริษัทจากการสำรวจบริษัททั้งหมด 100 บริษัท) มีความสนใจที่จะเลือกไทยเป็นฐานการผลิต

               2) การสนับสนุนด้านการส่งออก กระทรวงพาณิชย์ได้แต่งตั้งคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนด้านการพาณิชย์ (กรอ.พาณิชย์) โดยมุ่งเน้นให้มีการศึกษาสถานการณ์การส่งออกเป็นรายตลาดและรายสินค้า โดยเฉพาะกลุ่มประเทศ CLMV อาเซียน (5) จีน อินเดีย และตะวันออกกลาง เป็นต้น นอกจากนี้ ควรเร่งส่งเสริมการค้าชายแดนเพื่อสนับสนุนการส่งออกควบคู่กับการพัฒนาเส้นทางคมนาคมบริเวณด่านการค้าชายแดน เพื่อให้สามารถเดินทางได้โดยสะดวก โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณด่านสะเดาและด่านแม่สอด

               3) การแก้ไขปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ ควรให้ความสำคัญกับการแปรรูปเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม โดยเฉพาะพืชพลังงาน เช่น อ้อย ปาล์มน้ำมัน และมันสำปะหลัง เป็นต้น ควบคู่กับการสร้างความร่วมมือเพื่อการพัฒนาตลอดห่วงโซ่การผลิต (ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ) และการจำกัดพื้นที่เพาะปลูก

               4) การแก้ไขปัญหาราคายางพารา ควรขอความร่วมมือให้ส่วนราชการ โดยเฉพาะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนำนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการส่งเสริมการใช้ยางพาราในโครงการก่อสร้างถนนดินซีเมนต์ปรับปรุงคุณภาพด้วยยางธรรมชาติ (พาราซอยล์ซีเมนต์) ซึ่งจะช่วยลดอุปทานยางพาราในตลาด ประหยัดงบประมาณของภาครัฐ และกระตุ้นเศรษฐกิจในระดับฐานราก นอกจากนี้ คณะกรรมการพิจารณารับรองมาตรฐานวัสดุน้ำยางพาราผสมสารผสมเพิ่มและสารผสมเพิ่ม ควรหาแนวทางให้ผู้ประกอบการที่ยังไม่ได้รับใบรับรองมาตรฐานคุณภาพ ตรวจสอบคุณภาพ และการควบคุมคุณภาพน้ำยางผสมสารผสมเพิ่มและสารผสมเพิ่ม สำหรับงานก่อสร้างถนนดินซีเมนต์ฯจากปัจจุบันที่มีอยู่ 3 ราย และให้กระทรวงการคลังโดยกรมบัญชีกลางชี้แจงแนวทางการดำเนินงานตามระเบียบกระทรวงการคลัง ว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 ให้ส่วนราชการสามารถดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างโครงการก่อสร้างถนนที่มีส่วนผสมของยางพาราได้ถูกต้องและรวดเร็วยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ในการดำเนินโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ควรให้มีการใช้วัสดุภายในประเทศมากขึ้น

               5) การเร่งรัดเบิกจ่ายงบประมาณและเงินสะสมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) โดยให้กระทรวงมหาดไทยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหารือเรื่องหลักเกณฑ์การใช้จ่ายเงินสะสมของ อปท. รวมถึงแนวทางปฏิบัติในการใช้จ่ายเงินสะสมของ อปท. ตามมาตรการสนับสนุนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน สังคมและเศรษฐกิจภายในท้องถิ่น (Matching Fund) ให้เป็นรูปธรรมเพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจภายในท้องถิ่น

               6) เพื่อส่งเสริมศักยภาพของผู้ประกอบการ SMEs ให้สามารถแข่งขันได้ในระยะยาว ควรส่งเสริมการนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์มากกว่าการแข่งขันด้านราคา

2.1.3 ข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี

               1) มอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะในประเด็นผลกระทบจากความขัดแย้งทางการค้าของสหรัฐฯ – จีน และญี่ปุ่น - เกาหลีใต้ และสถานการณ์ค่าเงินบาท

               2) มอบหมายกระทรวงการคลัง โดยกรมบัญชีกลางดำเนินการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณให้เป็นไปอย่างรัดกุมและรวดเร็วยิ่งขึ้น รวมทั้งมอบหมายให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องดำเนินการติดตามการใช้จ่ายงบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้เป็นไปอย่างถูกต้องและรวดเร็ว

               3) มอบหมายกระทรวงพาณิชย์และกระทรวงอุตสาหกรรม รวบรวมและวิเคราะห์ห่วงโซ่การผลิตยางพาราและร่วมกันกำหนดแนวทางการเพิ่มการใช้ยางพาราในโครงการก่อสร้างภาครัฐ

2.1.4 มติคณะกรรมการรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ

               1) รับทราบสถานการณ์ภาพรวมเศรษฐกิจไทยไตรมาสที่สองของปี 2562 และสถานะทางงบประมาณของรัฐบาล และเห็นชอบกรอบการบริหารเศรษฐกิจปี 2562 – 2563 ตามเป้าหมายระยะสั้น 7 แนวทาง และดำเนินมาตรการปฏิรูปในเชิงโครงสร้างที่สำคัญ ในส่วนของภาครัฐและภาคการผลิตตามที่ฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจนำเสนอ

               2) มอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำเสนอมาตรการขับเคลื่อนเศรษฐกิจภายใต้กรอบการบริหารเศรษฐกิจในปี 2562 – 2563 ต่อที่ประชุมคณะกรรมการรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจในครั้งต่อไป ดังนี้

               2.1) มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนนำเสนอ นโยบายการส่งเสริมการลงทุนของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนและมาตรการอื่นๆ ในการดำเนินการเพื่อรองรับการย้ายฐานการผลิตของนักลงทุนต่างชาติมายังประเทศไทย

               2.2) มอบหมายกระทรวงพาณิชย์นำเสนอ นโยบาย แนวทาง และมาตรการในการส่งเสริมการส่งออกของประเทศไทย

               3) เห็นชอบในหลักการให้แต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนมาตรการบริหารเศรษฐกิจปี 2562 – 2563 เพื่อเร่งรัด ติดตามการดำเนินมาตรการของหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อให้สามารถบรรลุเป้าหมาย และมอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการนำเสนอองค์ประกอบและอำนาจหน้าที่เพื่อให้ประธานกรรมการรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจพิจารณาต่อไป

               4) มอบหมายส่วนราชการที่เกี่ยวข้องรับข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรีและประเด็นอภิปรายของที่ประชุมไปพิจารณาดำเนินการต่อไป หรือทำความตกลงกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ได้ข้อยุติก่อนดำเนินการต่อไป

2.2 มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของกระทรวงการคลัง

               2.2.1 ข้อเสนอเพื่อพิจารณากระทรวงการคลังขอให้คณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจพิจารณาให้ความเห็นชอบมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ปี 2562 โดยมีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้

               1) มาตรการเพื่อบรรเทาค่าครองชีพสำหรับเกษตรกรที่ประสบภัยแล้ง (13 จังหวัด) และช่วยเหลือเกษตรกรรายย่อย ซึ่งจะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนจากภาระหนี้สิน ประกอบด้วย 3 โครงการ ได้แก่ (1) โครงการลดดอกเบี้ยเงินกู้ (2) โครงการขยายเวลาชำระหนี้เงินกู้ และ (3) โครงการสนับสนุนต้นทุนการผลิตให้เกษตรผู้ปลูกข้าวนาปี ปีการผลิต 2562/63

               2) มาตรการเพื่อกระตุ้นการบริโภคและการลงทุนภายในประเทศ ซึ่งจะช่วยสนับสนุนภาคการท่องเที่ยว การลงทุนของภาคธุรกิจ และการเข้าถึงแหล่งทุนของธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) และประชาชนที่ต้องการมีที่อยู่อาศัย ประกอบด้วย 6 มาตรการย่อย ได้แก่ (1) มาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศ “ชิมช้อปใช้ (2) การยกเว้นการตรวจลงตรา (Visa) เพื่อการท่องเที่ยวสำหรับนักท่องเที่ยวจีนและอินเดีย (3) โครงการสนับสนุน SMEs รายย่อยผ่านกองทุนส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (4) โครงการค้ำประกันสินเชื่อ Portfolio Guarantee Scheme ระยะที่ 8 (PGS8) (5) มาตรการภาษีเพื่อกระตุ้นการลงทุนเอกชน และ (6) มาตรการสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย

               3) มาตรการบรรเทาค่าครองชีพผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและกองทุนหมู่บ้าน ซึ่งจะช่วยบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายให้แก่ผู้มีรายได้น้อย รักษากำลังซื้อ และเพิ่มสภาพคล่องทางด้านการเงินให้แก่เศรษฐกิจฐานราก ประกอบ 4 มาตรการย่อย ได้แก่ มาตรการพยุงการบริโภคของผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ มาตรการมอบเงินช่วยเหลือสำหรับผู้สูงอายุที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ มาตรการช่วยเหลือการเลี้ยงดูบุตรแก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่ได้รับสิทธิภายใต้โครงการเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิดของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และ (4) มาตรการพักชำระหนี้เงินต้นของกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองที่คงค้างกับสถาบันการเงิน

               4) การแต่งตั้งคณะกรรมการติดตามเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพื่อติดตามเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณและงบลงทุนของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมทั้งเร่งรัดติดตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจให้เป็นไปตามเป้าหมาย โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นประธานกรรมการ และส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเป็นกรรมการ โดยมีที่ปรึกษาหรือรองอธิบดีที่อธิบดีกรมบัญชีกลางมอบหมาย และที่ปรึกษาหรือรองผู้อำนวยการที่ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจมอบหมาย เป็นกรรมการและเลขานุการร่วม

2.2.2 ประเด็นอภิปราย

               1) งบประมาณงบกลาง รายการสำรองจ่ายกรณีฉุกเฉินและจำเป็นของงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2562 ค่อนข้างมีอยู่อย่างจำกัด ขณะที่ส่วนราชการต่าง ๆ มีแนวโน้มที่จะเสนอขอรับการสนับสนุนงบประมาณเพื่อดำเนินมาตรการบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน และสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจมาอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น เพื่อให้เกิดการบูรณาการในการทำงาน ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องควรนำมาตรการที่กระทรวงการคลังเสนอในครั้งนี้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของดำเนินการของส่วนราชการ ขณะที่มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่คาดว่าจะใช้จ่ายจากงบกลาง รายการสำรองจ่ายกรณีฉุกเฉินและจำเป็นของงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ขอให้ส่วนราชการดำเนินการจัดทำคำของบประมาณตามกระบวนการในขั้นตอนปกติ แทนการขอรับจัดสรรจากงบกลาง เพื่อจะได้มีเงินสำรองที่เพียงพอสำหรับกรณีฉุกเฉินในช่วงที่เหลือของปีงบประมาณ 2563

               2) การดำเนินมาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยผ่านโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ กระทรวงการคลังควรเร่งรัดให้มีการติดตามและตรวจสอบคุณสมบัติของผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของโครงการ

               3) การดำเนินมาตรการยกเว้นการตรวจลงตรา (VISA) ควรพิจารณาประเทศอื่นเพิ่มเติมนอกเหนือจากประเทศจีนและอินเดีย โดยเบื้องต้นขอให้ขยายการดำเนินมาตรการให้กับนักท่องเที่ยวใน 19 ประเทศ รวมทั้งควรพิจารณาหาแนวทางหรือมาตรการจูงใจให้กับกลุ่มประเทศที่มีศักยภาพ เช่น นักท่องเที่ยวจากกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง เป็นต้น

               4) การดำเนินมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการลงทุนภาคเอกชน โดยหักรายจ่ายเพื่อการลงทุนได้ 1.5 เท่า เป็นระยะเวลา 5 ปี สำหรับการลงทุนในเครื่องจักร จำเป็นต้องตราพระราชกฤษฎีกา ซึ่งต้องผ่านการพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ดังนั้น เพื่อให้การดำเนินการเป็นไปอย่างรวดเร็ว ควรนำร่างพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวเข้าเป็นส่วนหนึ่งของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของกระทรวงการคลังด้วย นอกจากนี้ การกำหนดหลักเกณฑ์ให้กิจการที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุนไม่สามารถใช้สิทธิประโยชน์ตามมาตรการนี้ได้ เห็นควรให้มีการหารือระหว่างกระทรวงการคลังและสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน เนื่องจากแนวทางการส่งเสริมการลงทุนของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนจะมีการพิจารณาเป็นรายโครงการ ซึ่งไม่สอดคล้องกับข้อยกเว้นของมาตรการภาษีเพื่อกระตุ้นการลงทุนภาคเอกชนที่พิจารณาเป็นรายกิจการ

               5) สำหรับโครงการลดดอกเบี้ยเงินกู้ของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ที่มีการแบ่งสัดส่วนการรับภาระดอกเบี้ยแทนเกษตรกร โดย ธ.ก.ส. รับภาระร้อยละ 0.5 และรัฐบาลจ่ายเงินชดเชยให้แก่ ธ.ก.ส. ร้อยละ 6.4 นั้น ควรพิจารณาให้ ธ.ก.ส. รับภาระเพิ่มเติม

               6) การดำเนินโครงการสนับสนุนต้นทุนการผลิตให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปี ปีการผลิต 2562/63 เพื่อให้เป็นไปตามขั้นตอนจำเป็นต้องเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าวเพื่อพิจารณาก่อนเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณา

2.2.3 ข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี

               1) มอบหมายกระทรวงการคลังติดตามและตรวจสอบการดำเนินโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐฯ ให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ โดยเฉพาะคุณสมบัติของผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ

               2) มอบหมายกระทรวงการคลังหารือกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อเสนอโครงการลดต้นทุนการผลิตและการเพิ่มรายได้ของเกษตรกรผู้ปลูกข้าวต่อคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าวเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป และมอบหมายให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์และกระทรวงพาณิชย์หารือเรื่องการลดต้นทุนการผลิตของเกษตรกร โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาราคาปุ๋ยเคมี

               2.2.4 มติคณะกรรมการรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ

               1) เห็นชอบในหลักการของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจปี 2562 ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ และให้กระทรวงการคลังดำเนินการให้เป็นไปตามกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องให้ครบถ้วนก่อนนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป

               2) เห็นชอบให้กระทรวงการคลังนำร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... เพื่อลดหย่อนภาษีภายใต้มาตรการภาษีเพื่อกระตุ้นการลงทุนภาคเอกชน เสนอเข้าเป็นส่วนหนึ่งของมาตรการด้วย เพื่อให้คณะรัฐมนตรีได้พิจารณาในคราวเดียวกัน

               3) มอบหมายส่วนราชการที่เกี่ยวข้องรับข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรีและประเด็นอภิปรายของที่ประชุมไปพิจารณาดำเนินการต่อไป หรือทำความตกลงกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ได้ข้อยุติก่อนดำเนินการต่อไป

     ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 20 สิงหาคม 2562

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!