แนวทางการบริหารจัดการการทำงานของแรงงานต่างด้าว ปี 2562-2563
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Saturday, 07 September 2019 12:10
- Hits: 3248
แนวทางการบริหารจัดการการทำงานของแรงงานต่างด้าว ปี 2562-2563
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ ดังนี้
1. เห็นชอบแนวทางการบริหารจัดการการทำงานของแรงงานต่างด้าวปี 2562-2563 ตามที่กระทรวงแรงงาน (รง.) เสนอ ดังนี้
1.1 ให้กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) โดยสถานพยาบาลที่ สธ. กำหนด หรือสถานพยาบาล ที่ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบกิจการสถานพยาบาลดำเนินการ
1.1.1 ตรวจสุขภาพแรงงานต่างด้าวและผู้ติดตามที่อายุไม่เกิน 18 ปี
1.1.2 ประกันสุขภาพในกรณีที่แรงงานต่างด้าวทำงานในกิจการที่เข้าระบบประกันสังคมแต่สิทธิประกันสังคมยังไม่มีผล หรือกรณีแรงงานต่างด้าวทำงานในกิจการที่ไม่เข้าระบบประกันสังคม
1.1.3 ประกันสุขภาพผู้ติดตามที่อายุไม่เกิน 18 ปี
ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง การตรวจสุขภาพและประกันสุขภาพแรงงานต่างด้าว พ.ศ 2562 และประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขว่าด้วยใบรับรองแพทย์ของคนประจำเรือเพื่อแสดงว่ามีความพร้อมด้านสุขภาพในการทำงานบนเรือและเฝ้าระวัง โรคป้องกันการแพร่กระจายของโรคติดต่อที่รุนแรงและก่อให้เกิดโรคระบาดผิดปกติ ตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ 2558
1.2 ให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตช.) โดยสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองดำเนินการตรวจอนุญาตให้แรงงานต่างด้าวและผู้ติดตามที่อายุไม่เกิน 18 ปีบริบูรณ์อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวต่อไปได้ครั้งละไม่เกิน 1 ปี เมื่อครบกำหนดระยะเวลาอนุญาตแล้วให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองตรวจอนุญาตให้แรงงาน ต่างด้าวอยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวต่อไปได้อีกไม่เกิน 1 ปี และผู้ติดตามจะได้รับอนุญาตตามระยะเวลาที่บิดาหรือมารดาได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักร
กรณีเอกสารประจำตัวของแรงงานต่างด้าวมีอายุเหลือน้อยกว่า 1 ปี ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองตรวจอนุญาตให้แรงงานต่างด้าวอยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวต่อไปเท่ากับอายุเอกสารประจำตัว หากแรงงานต่างด้าวประสงค์จะอยู่ในราชอาณาจักรและทำงานต่อไป ต้องไปดำเนินการขอมีเอกสารประจำตัวฉบับใหม่กับหน่วยงานของประเทศต้นทาง เมื่อแรงงานต่างด้าวได้รับเอกสารประจำตัวฉบับใหม่ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองย้ายรอยตราประทับอนุญาตไปยังเอกสารประจำตัวฉบับใหม่ และขยายระยะเวลา การอนุญาตให้ตามสิทธิ
1.3 ให้ รง. โดยกรมการจัดหางานดำเนินการ
1.3.1 ออกใบอนุญาตทำงานตามมาตรา 59 แห่งพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 ให้กับแรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ (กัมพูชา ลาว เมียนมา) มีระยะเวลาอนุญาตไม่เกิน 2 ปี โดยใบอนุญาตทำงานจะอยู่ด้านหนึ่งของบัตรประจำตัวคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย
1.3.2 ออกประกาศกระทรวงแรงงาน โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 14 แห่ง พระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ดังนี้
(1) ร่างประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่อง การอนุญาตให้คนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว และเมียนมา เข้ามาทำงานในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษ
(2) ร่างประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่อง การอนุญาตให้คนต่างด้าวที่นำเข้ามาทำงานกับนายจ้างในประเทศตามบันทึกความตกลงหรือบันทึกความเข้าใจที่รัฐบาลไทยทำไว้กับรัฐบาลต่างประเทศได้รับยกเว้นไม่จำต้องปฏิบัติตามพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560
1.4 ให้กระทรวงมหาดไทย (มท.) โดยกรมการปกครองและกรุงเทพมหานคร (กทม.) ดำเนินการจัดทำหรือปรับปรุงทะเบียนประวัติ และออกบัตรประจำตัวคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย
1.5 ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 19 สิงหาคม 2562 ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2563 หรือภายใน 15 วัน นับแต่วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบการดำเนินการจนถึงวันที่ 31 มีนาคม 2563 โดยสถานที่ดำเนินการมี 2 รูปแบบ คือ
1.5.1 ที่ตั้งสำนักงานของแต่ละหน่วยงาน
1.5.2 ศูนย์บริการเบ็ดเสร็จ (One Stop Service) แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ (1) กทม. ให้เป็นไปตามอธิบดีกรมการจัดหางานกำหนด (2) จังหวัด ให้เป็นไปตามที่ผู้ว่าราชการจังหวัดกำหนด ทั้งนี้ สถานที่ดำเนินการในลักษณะศูนย์บริการเบ็ดเสร็จ (One Stop Service) จะพิจารณาในกรอบระยะเวลาระหว่างวันที่ 16 ธันวาคม 2562 ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2563
1.6 ให้ รง. โดยกรมการจัดหางานเป็นหน่วยงานหลัก และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องประชาสัมพันธ์ สร้างการรับรู้ แนวทางการบริหารจัดการดังกล่าวให้นายจ้างผู้ประกอบการแรงงานต่างด้าว และผู้เกี่ยวข้องได้รับทราบข้อมูลอย่างถูกต้องและทั่วถึง
1.7 เมื่อสิ้นสุดระยะเวลาดำเนินการให้หน่วยงานด้านความมั่นคงดำเนินการตรวจสอบปราบปราม จับกุมดำเนินคดี นายจ้าง แรงงานผิดกฎหมายที่ลักลอบทำงานและผู้ที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด
2. เห็นชอบในหลักการร่างประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่อง การอนุญาตให้คนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว และเมียนมาเข้ามาทำงานในราชอาณาจักร เป็นกรณีพิเศษ และร่างประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่อง การอนุญาตให้คนต่างด้าวที่นำเข้ามาทำงานกับนายจ้างในประเทศตามบันทึกความตกลงหรือบันทึกความเข้าใจที่รัฐบาลไทยทำไว้กับรัฐบาลต่างประเทศได้รับยกเว้นไม่จำต้องปฏิบัติตามพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 และที่แก้ไขเพิ่มเติม รวม 2 ฉบับ ตามที่กระทรวงแรงงานเสนอและให้ส่งคณะกรรมการตรวจสอบร่างกฎหมายและร่างอนุบัญญัติที่เสนอคณะรัฐมนตรีตรวจพิจารณาเป็นเรื่องเร่งด่วน แล้วดำเนินการต่อไปได้
สาระสำคัญของเรื่อง
1. แนวทางการบริหารจัดการการทำงานของแรงงานต่างด้าว ปี 2562 – 2563 เป็นการกำหนด ดังนี้
1.1 กลุ่มเป้าหมาย : แรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ (กัมพูชา ลาว เมียนมา) โดยมีเงื่อนไข คือ (1) ใบอนุญาตทำงานและการอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรยังไม่หมดอายุ (2) ถือเอกสารประจำตัว ได้แก่ หนังสือเดินทาง (Passport : PP) เอกสารเดินทาง (Travel Document : TD) เอกสารรับรองบุคคล (Certificate of Identity : CI) หนังสือเดินทางชั่วคราว (Temporary Passport : TP) หรือเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทางที่ยังมีอายุเหลืออยู่ในวันที่ไปยื่นขออนุญาตเพื่ออยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวต่อไป
1.2 ลักษณะการดำเนินการ : เป็นการดำเนินการในลักษณะเข้ามาทำงานอย่างถูกต้องตามกฎหมาย โดยไม่ต้องเดินทางออกไปนอกราชอาณาจักร ทั้งนี้ แรงงานต่างด้าวที่ประสงค์จะดำเนินการตามแนวทางนี้ ต้องยื่นคำขอรับใบอนุญาตทำงานก่อนที่ระยะเวลาการอนุญาตทำงานเดิมจะสิ้นอายุ และกระบวนการดำเนินการให้คำนึงถึงความสะดวก ลดการใช้เอกสาร รวมทั้งมีการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างกัน
1.3 การอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักร : ไม่เกิน 2 ปี โดยประทับตราอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรต่อไป (ขออยู่ต่อ) ครั้งละไม่เกิน 1 ปี
1.4 การอนุญาตทำงาน : ไม่เกิน 2 ปี โดยแยกเป็น 2 ห้วงเวลา ดังนี้ (1) ใบอนุญาตทำงานหมดอายุก่อนวันที่ 31 มีนาคม 2563 ให้อนุญาตทำงานได้ถึงวันที่ 30 กันยายน 2564 เท่ากันทุกคน (2) ใบอนุญาตทำงานหมดอายุตั้งแต่วันที่ 31 มีนาคม 2563 ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2563 ให้อนุญาตทำงานได้ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2565 เท่ากันทุกคน
1.5 ภายหลังวันที่ 30 กันยายน 2564 หรือวันที่ 31 มีนาคม 2565 ซึ่งเป็นวันสิ้นสุด การอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรและอนุญาตทำงานแรงงานต่างด้าวดังกล่าวที่ดำเนินการตามแนวทางนี้ หากประสงค์จะทำงานในประเทศไทยต่อไป ต้องดำเนินการตามกระบวนการนำเข้ามาทำงานในประเทศตามบันทึกความตกลงหรือบันทึกความเข้าใจที่รัฐบาลไทยทำไว้กับรัฐบาลต่างประเทศ (MoU)
1.6 ระยะเวลาดำเนินการ : วันที่ 19 สิงหาคม 2562 ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2563 หรือภายใน 15 วัน นับแต่วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบการดำเนินการจนถึงวันที่ 31 มีนาคม 2563 ซึ่งแรงงานต่างด้าวจะต้องมายื่นคำขอรับใบอนุญาตทำงานภายในวันที่ 31 มีนาคม 2563 และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามแนวทางดังกล่าวให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 30 มิถุนายน 2563 ทั้งนี้ แรงงานต่างด้าวสามารถยื่นคำขออยู่ต่อในราชอาณาจักรกับพนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองได้ภายใน 90 วันทำการ ก่อนระยะเวลาการอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรจะสิ้นสุด
1.7 วิธีดำเนินการ : ให้นำกระบวนการ แนวทาง วิธีการเข้ามาทำงานในประเทศตามบันทึกความตกลงหรือบันทึกความเข้าใจที่รัฐบาลไทยทำไว้กับรัฐบาลต่างประเทศ (MoU) มาปรับใช้เพื่อความเหมาะสม ตามแนวทาง ขั้นตอนและวิธีการที่กระทรวงแรงงานกำหนด
1.8 นายจ้างหรือผู้รับอนุญาตให้นำคนต่างด้าวเข้ามาทำงานในประเทศ ยื่นเอกสาร เพื่อแสดงถึงการได้รับอนุญาตทำงานและการได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรยังไม่สิ้นสุด ได้แก่ บัญชีรายชื่อแรงงานต่างด้าว (Name List) สัญญาจ้าง สำเนาหนังสือเดินทางหรือเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทาง สำเนาใบอนุญาตทำงานหรือหลักฐานการได้รับอนุญาตทำงานกับหน่วยงานของกรมการจัดหางาน
1.9 ร่างประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่อง การอนุญาตให้คนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว และเมียนมาเข้ามาทำงานในราชอาณาจักร เป็นกรณีพิเศษ กำหนดให้คนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว และเมียนมา ซึ่งได้รับการตรวจลงตราประเภทคนอยู่ชั่วคราวที่เข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อการทำงาน ให้ถือว่าเป็นคนต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตให้เข้ามาทำงานในราชอาณาจักรตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองภายใต้บันทึกความตกลงหรือบันทึกความเข้าใจที่รัฐบาลไทยทำไว้กับรัฐบาลต่างประเทศ เป็นกรณีพิเศษ
1.10 ร่างประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่อง การอนุญาตให้คนต่างด้าวที่นำเข้ามาทำงานกับนายจ้างในประเทศตามบันทึกความตกลงหรือบันทึกความเข้าใจที่รัฐบาลไทยทำไว้กับรัฐบาลต่างประเทศได้รับยกเว้นไม่จำต้องปฏิบัติตามพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (1) กำหนดให้คนต่างด้าวที่ถือเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทางหรือหนังสือรับรองสถานะบุคคลที่กระทรวงการต่างประเทศให้การรับรองและได้รับอนุญาตให้เข้ามาทำงานในราชอาณาจักรตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองภายใต้บันทึกความตกลงหรือบันทึกความเข้าใจที่รัฐบาลไทยทำไว้กับรัฐบาลต่างประเทศ เป็นคนต่างประเทศ ซึ่งผู้รับอนุญาตให้นำคนต่างด้าวมาทำงานจะนำมาทำงานกับนายจ้างในประเทศหรือนายจ้างจะนำมาทำงานกับตนในประเทศ โดยได้รับยกเว้นให้ใช้เอกสารดังกล่าวแทนหนังสือเดินทางเพื่อขออนุญาตทำงานได้ (2) กำหนดให้ผู้รับอนุญาตให้นำคนต่างด้าวมาทำงานหรือนายจ้าง แล้วแต่กรณี แจ้งเลขที่เอกสารใช้แทนหนังสือเดินทางหรือเลขที่หนังสือรับรองสถานะบุคคลของคนต่างด้าว
ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 20 สิงหาคม 2562
Click Donate Support Web