มติคณะรัฐมนตรี แต่งตั้ง 30 กรกฎาคม 2562
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Friday, 06 September 2019 23:00
- Hits: 5632
มติคณะรัฐมนตรี แต่งตั้ง 30 กรกฎาคม 2562
1. เรื่อง การแต่งตั้งคณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎร (ปสส.)
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีเสนอแต่งตั้งคณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎร (ปสส.) โดยมอบให้สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีเป็นผู้พิจารณาและประสานงานในการเลือกสรรผู้สมควรดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการ ตลอดจนองค์ประกอบ หน้าที่ และอำนาจของคณะกรรมการ และนำเสนอนายกรัฐมนตรีพิจารณาแต่งตั้ง แล้วเสนอคณะรัฐมนตรีทราบต่อไป
2. เรื่อง คณะกรรมการต่าง ๆ ที่แต่งตั้งโดยมติคณะรัฐมนตรี
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) เสนอเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการต่าง ๆ ที่แต่งตั้งโดยมติคณะรัฐมนตรีของคณะรัฐมนตรีชุดเดิม โดยให้คณะกรรมการต่าง ๆ ที่คณะรัฐมนตรีแต่งตั้งยังคงปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนถึงวันที่ 30 กันยายน 2562 และภายหลังจากนั้นให้คณะกรรมการที่คณะรัฐมนตรีแต่งตั้งทุกคณะเป็นอันสิ้นสุดลง และหากส่วนราชการใดพิจารณาเห็นว่าคณะกรรมการที่คณะรัฐมนตรีแต่งตั้งคณะใด ยังมีภารกิจสำคัญและจำเป็นที่จะต้องคงอยู่ต่อไปเพื่อให้สามารถดำเนินการภารกิจได้อย่างต่อเนื่อง ให้เสนอแต่งตั้งคณะกรรมการคณะนั้น ๆ ขึ้นใหม่ โดยให้ตรวจสอบและปรับปรุงองค์ประกอบและอำนาจหน้าที่ให้ถูกต้องและเป็นปัจจุบัน แล้วส่งไปยัง สลค. โดยด่วน ภายในวันที่ 30 กันยายน 2562 ทั้งนี้ ให้ส่วนราชการพิจารณาการคงอยู่ของคณะกรรมการดังกล่าว โดยยึดหลักเกณฑ์ คือ มีการบูรณาการการทำงานร่วมกันกับส่วนราชการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง มีนายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรีเป็นประธานกรรมการ มีอำนาจหน้าที่ในการดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาล และในรอบ 3 ปีที่ผ่านมา (พ.ศ. 2559 – 2562) มีการจัดประชุมคณะกรรมการอย่างสม่ำเสมอ และหากสามารถกำหนดระยะเวลาการดำเนินงานและภารกิจสิ้นสุดที่ชัดเจนได้ให้ระบุวันสิ้นสุดของคณะกรรมการนั้น ๆ ไว้ด้วย
3. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการการเมือง (สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี)
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีเสนอการแต่งตั้งบุคคลดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมือง จำนวน 3 ราย ดังนี้
1. นายประทีป กีรติเรขา ดำรงตำแหน่งรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง
2. นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ดำรงตำแหน่งรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง (รองนายกรัฐมนตรี นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์)
3. ศาสตราจารย์นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ ดำรงตำแหน่งโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 30 กรกฎาคม 2562 เป็นต้นไป
4. เรื่อง การแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดการเทียบตำแหน่ง
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่สำนักงาน ก.พ. เสนอแต่งตั้งนายสีมา สีมานันท์ นายมนุชญ์ วัฒนโกเมร และนางพงษ์สวาท กายอรุณสุทธิ์ เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดการเทียบตำแหน่ง ตามพระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การเทียบตำแหน่งหัวหน้าส่วนราชการที่เทียบเท่าอธิบดี พ.ศ. 2562
5. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการการเมือง (กระทรวงสาธารณสุข)
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอแต่งตั้งข้าราชการเมือง จำนวน 2 ราย ดังนี้
1. นางสาวเรวดี รัศมีทัต ดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข
2. นายวัชรพงศ์ คูวิจิตรสุวรรณ ดำรงตำแหน่ง เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข
6. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการเมือง (กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม)
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอแต่งตั้งบุคคลเป็นข้าราชการการเมือง ดังนี้
1. นายยุทธพล อังกินันทน์ ให้ดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
2. นายธเนศพล ธนบุณยวัฒน์ ให้ดำรงตำแหน่ง เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 30 กรกฎาคม 2562 เป็นต้นไป
7. เรื่อง คำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 165/2562 เรื่อง มอบหมายและมอบอำนาจให้รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรี
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 165/2562 เรื่อง มอบหมายและมอบอำนาจให้รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรี อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 10 และมาตรา 15 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2545 มาตรา 11 (2) และมาตรา 12 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 มาตรา 38 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2550 และมาตรา 90 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 ประกอบกับพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการมอบอำนาจ พ.ศ. 2550 นายกรัฐมนตรีจึงมีคำสั่งมอบหมายและ มอบอำนาจให้รองนายกรัฐมนตรีกำกับการบริหารราชการแทนนายกรัฐมนตรี และให้รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สั่งและปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรี และกำกับดูแลแทนนายกรัฐมนตรี สำหรับส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน และหน่วยงานของรัฐ ตามลำดับ ดังต่อไปนี้
ส่วนที่ 1 นิยาม
ในคำสั่งนี้
'กำกับการบริหารราชการ' หมายความว่า กำกับโดยทั่วไปซึ่งการบริหารราชการแผ่นดินของส่วนราชการเพื่อให้เป็นไปตามกฎหมายและนโยบายของคณะรัฐมนตรีหรือนายกรัฐมนตรีมีอำนาจสั่งให้ส่วนราชการชี้แจงแสดงความคิดเห็นหรือรายงานเกี่ยวกับการปฏิบัติราชการหรือการปฏิบัติงาน สั่งสอบสวนข้อเท็จจริง ตลอดจนอนุมัติให้นำเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรี และอนุมัติตามมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2520 เกี่ยวกับการมอบอำนาจให้รองนายกรัฐมนตรีที่ปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรีอนุญาตหรืออนุมัติเรื่องต่าง ๆ ของส่วนราชการในกำกับการบริหารราชการไปก่อนได้ แล้วเสนอคณะรัฐมนตรีทราบ
'สั่งและปฏิบัติราชการ'หมายความว่า สั่ง อนุญาต หรืออนุมัติให้ส่วนราชการหรือข้าราชการหรือผู้ปฏิบัติงานในส่วนราชการ ปฏิบัติราชการหรือดำเนินการใด ๆ ได้ตามกฎหมาย กฎ ระเบียบ ประกาศ คำสั่ง หรือมติคณะรัฐมนตรี ในฐานะผู้บังคับบัญชา รัฐมนตรีเจ้าสังกัดหรือรัฐมนตรีเจ้ากระทรวง
'กำกับดูแล' หมายความว่า กำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน หรือหน่วยงานของรัฐให้เป็นไปตามกฎหมาย และให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งรัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชนหรือหน่วยงานของรัฐ นโยบายของรัฐบาล และมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนการสั่งให้รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชนหรือหน่วยงานของรัฐชี้แจง แสดงความคิดเห็น ทำรายงาน หรือยับยั้งการกระทำของรัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชนหรือหน่วยงานของรัฐที่ขัดต่อวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งรัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน หรือหน่วยงานของรัฐ นโยบายของรัฐบาลหรือมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง และสั่งสอบสวนข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการดำเนินการ
ส่วนที่ 2
1. รองนายกรัฐมนตรี (พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ)
1.1 การมอบหมายและมอบอำนาจให้กำกับการบริหารราชการแทนนายกรัฐมนตรี ดังนี้
1.1.1 กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
1.1.2 กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
1.1.3 กระทรวงมหาดไทย
1.1.4 กระทรวงแรงงาน
1.2 การมอบหมายและมอบอำนาจให้กำกับการบริหารราชการและสั่งและปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรี ดังนี้
- สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ
1.3 การมอบหมายและมอบอำนาจให้สั่งและปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรี ดังนี้
1.3.1 สำนักข่าวกรองแห่งชาติ
1.3.2 สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ
1.3.3 ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้
1.4 การมอบหมายให้กำกับดูแลองค์การมหาชน ดังนี้
- สถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน (องค์การมหาชน)
1.5 ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการและลงนามในประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องกับการมีพระบรมราชโองการในเรื่องตามข้อ 1.1 – ข้อ 1.4 ยกเว้น
1.5.1 เรื่องที่เกี่ยวกับกฎหมาย
1.5.2 การสถาปนาพระอิสริยยศ อิสริยศักดิ์ สมณศักดิ์
1.5.3 การแต่งตั้ง ในกรณีการแต่งตั้งประธานศาลฎีกา ประธานศาลปกครองสูงสุด ข้าราชการตำแหน่งหัวหน้าส่วนราชการระดับกระทรวงและกรม เอกอัครราชทูตประจำต่างประเทศ กงสุล และกรรมการที่มีตำแหน่งหน้าที่สำคัญ
1.5.4 การพระราชทานยศทหาร ตำรวจ ชั้นนายพล
1.5.5 การพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์แก่พระบรมวงศานุวงศ์ และการพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ประจำปี
1.5.6 การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตหรือความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และการประกาศใช้ความตกลงระหว่างประเทศ
1.5.7 เรื่องสำคัญที่เคยมีประเพณีปฏิบัติให้เสนอนายกรัฐมนตรีลงนาม
ส่วนที่ 3
2. รองนายกรัฐมนตรี (นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์)
2.1 การมอบหมายและมอบอำนาจให้กำกับการบริหารราชการแทนนายกรัฐมนตรี ดังนี้
2.1.1 กระทรวงการคลัง
2.1.2 กระทรวงการต่างประเทศ
2.1.3 กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
2.1.4 กระทรวงพลังงาน
2.1.5 กระทรวงอุตสาหกรรม
2.2 การมอบหมายและมอบอำนาจให้กำกับการบริหารราชการและสั่งและปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรี ดังนี้
2.2.1 สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
2.2.2 สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน
2.3 การมอบหมายให้กำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ ดังนี้
- บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน)
2.4 การมอบหมายให้กำกับดูแลองค์การมหาชนและหน่วยงานของรัฐ ดังนี้
2.4.1 สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม
2.4.2 สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน)
2.4.3 สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน)
2.4.4 สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน)
2.4.5 สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
2.4.6 สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน)
2.4.7 กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ
2.5 ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการและลงนามในประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องกับการมีพระบรมราชโองการในเรื่องตามข้อ 2.1 – ข้อ 2.4 ยกเว้นการดำเนินการตามกรณีในข้อ 1.5.1 - ข้อ 1.5.7
ส่วนที่ 4
3. รองนายกรัฐมนตรี (นายวิษณุ เครืองาม)
3.1 การมอบหมายและมอบอำนาจให้กำกับการบริหารราชการแทนนายกรัฐมนตรี ดังนี้
3.1.1 กระทรวงยุติธรรม (ยกเว้น กรมสอบสวนคดีพิเศษ)
3.1.2 กระทรวงวัฒนธรรม
3.1.3 กระทรวงศึกษาธิการ
3.1.4 กรมประชาสัมพันธ์
3.1.5 สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค
3.1.6 สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ
3.1.7 สำนักงานราชบัณฑิตยสภา
3.2 การมอบหมายและมอบอำนาจให้กำกับการบริหารราชการและสั่งและปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรี ดังนี้
3.2.1 สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี
3.2.2 สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี
3.2.3 สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา
3.2.4 สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน
3.2.5 สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ
3.2.6 สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน
3.2.7 สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ
3.3 การดำเนินคดีปกครอง รวมทั้งลงนามมอบอำนาจให้พนักงานอัยการดำเนินคดีปกครองกรณีที่มีการฟ้องนายกรัฐมนตรี
3.4 ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการและลงนามในประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องกับการมีพระบรมราชโองการในเรื่องตามข้อ 3.1 - ข้อ 3.2 ยกเว้นการดำเนินการตามกรณีในข้อ 1.5.1 - ข้อ 1.5.7
ส่วนที่ 5
4. รองนายกรัฐมนตรี (นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์)
4.1 การมอบหมายและมอบอำนาจให้กำกับการบริหารราชการแทนนายกรัฐมนตรี ดังนี้
4.1.1 กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
4.1.2 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
4.1.3 กระทรวงพาณิชย์
4.2 ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการและลงนามในประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องกับการมีพระบรมราชโองการในเรื่องตามข้อ 4.1 ยกเว้นการดำเนินการตามกรณีในข้อ 1.5.1 - ข้อ 1.5.7
ส่วนที่ 6
5. รองนายกรัฐมนตรี (นายอนุทิน ชาญวีรกูล)
5.1 การมอบหมายและมอบอำนาจให้กำกับการบริหารราชการแทนนายกรัฐมนตรี ดังนี้
5.1.1 กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา
5.1.2 กระทรวงคมนาคม
5.1.3 กระทรวงสาธารณสุข
5.2 การมอบหมายให้กำกับดูแลองค์การมหาชนและหน่วยงานของรัฐ ดังนี้
5.2.1 สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ
5.2.2 สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน)
5.3 ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการและลงนามในประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องกับการมีพระบรมราชโองการในเรื่องตามข้อ 5.1 - ข้อ 5.2 ยกเว้นการดำเนินการตามกรณีในข้อ 1.5.1 - ข้อ 1.5.7
ส่วนที่ 7
6. รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นายเทวัญ ลิปตพัลลภ)
6.1 การมอบหมายและมอบอำนาจให้สั่งและปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรี ดังนี้
6.1.1 กรมประชาสัมพันธ์
6.1.2 สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค
6.1.3 สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ
6.1.4 สำนักงานราชบัณฑิตยสภา
6.2 การมอบหมายให้กำกับดูแลองค์การมหาชนและหน่วยงานของรัฐ ดังนี้
- สำนักงานพัฒนาพิงคนคร (องค์การมหาชน)
ส่วนที่ 8
7. รองนายกรัฐมนตรีที่กำกับการบริหารราชการส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน หรือหน่วยงานของรัฐแทนนายกรัฐมนตรี ให้มีอำนาจให้ความเห็นชอบและลงนามในประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี หรือประกาศเกี่ยวกับเรื่องของหน่วยงานนั้น ๆ ดังนี้
7.1 การแต่งตั้งบุคคลหรือกรรมการในหน่วยงานของรัฐหรือรัฐวิสาหกิจนั้น
7.2 การขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์แก่ชาวต่างประเทศ ยกเว้น เป็นเรื่องระดับผู้นำรัฐบาลหรือประมุขของรัฐต่างประเทศ
7.3 การให้ความเห็นชอบในการรับเครื่องราชอิสริยาภรณ์หรือเหรียญตรา จากต่างประเทศ
7.4 การประกาศภาพเครื่องหมายราชการ
8. รองนายกรัฐมนตรีที่สั่งและปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรี ให้มีอำนาจปฏิบัติแทนนายกรัฐมนตรีในการดำเนินการทางวินัยของข้าราชการในหน่วยงานที่สั่งและปฏิบัติราชการ
9. ให้รองนายกรัฐมนตรีที่สั่งและปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรีในส่วนราชการใด เป็นประธาน อ.ก.พ. ทำหน้าที่ อ.ก.พ. กระทรวงของส่วนราชการนั้นด้วย ยกเว้น อ.ก.พ. สำนักนายกรัฐมนตรีให้รองนายกรัฐมนตรี (นายวิษณุ เครืองาม) เป็นประธาน
10. ราชการที่รองนายกรัฐมนตรีได้รับมอบหมายและมอบอำนาจตามคำสั่งนี้ หากรองนายกรัฐมนตรีพิจารณาเห็นว่าเป็นเรื่องสำคัญ และอาจมีผลกระทบต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชนเป็นส่วนรวม หรือต้องสั่งการแก่หลายส่วนราชการหรือหลายรัฐวิสาหกิจแต่บางส่วนมิได้อยู่ในอำนาจหน้าที่กำกับการบริหารราชการของรองนายกรัฐมนตรีผู้หนึ่งผู้ใดโดยตรง ให้นำเสนอนายกรัฐมนตรีเพื่อวินิจฉัยสั่งการ
11. เมื่อรองนายกรัฐมนตรีได้ดำเนินการตามที่ได้รับมอบหมายและมอบอำนาจแล้วให้รายงานนายกรัฐมนตรีทราบเป็นระยะตามความเหมาะสม
12. ในการปฏิบัติหน้าที่รองนายกรัฐมนตรีตามที่ได้รับมอบหมายและมอบอำนาจตามคำสั่งนี้ ให้รองนายกรัฐมนตรีบริหารราชการโดยมุ่งมั่นจะสร้างความสามัคคี ปรองดองให้เกิดขึ้นในสังคมไทย ซึ่งจะนำไปสู่ความร่วมมือกันในการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองการปกครองของประเทศให้ก้าวหน้าเพื่อประโยชน์สุขของประชาชนชาวไทยทุกคน
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 30 กรกฎาคม 2562 เป็นต้นไป
8. เรื่อง เสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยสำนักงานบริหารนโยบายของนายกรัฐมนตรี พ.ศ. .... และการแต่งตั้งคณะกรรมการรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยสำนักงานบริหารนโยบายของนายกรัฐมนตรี พ.ศ. .... ตามที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีเสนอ และให้ดำเนินการต่อไปได้ และ รับทราบคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 164/2562 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ ดังนี้โดยที่การพัฒนาเศรษฐกิจ การขับเคลื่อนเศรษฐกิจยุคใหม่ การเพิ่มขีดความสามารถ
ในการแข่งขันของประเทศไทย และการแก้ปัญหาเศรษฐกิจของภาคส่วนต่าง ๆ เป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาลตามที่แถลงต่อรัฐสภา ซึ่งการดำเนินการตามนโยบายดังกล่าวควรได้รับการพิจารณากลั่นกรองโดยละเอียดรอบคอบในทุกมิติจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในรูปแบบของคณะกรรมการ อีกทั้งในการดำเนินการตามโครงการพัฒนาอื่น ๆ ที่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ของประชาชนก็ควรได้รับการพิจารณากลั่นกรองในลักษณะเดียวกันอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 11 (6) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 ประกอบกับมาตรา 5 แห่งพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการเสนอเรื่องและการประชุมคณะรัฐมนตรี พ.ศ. 2548 นายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี จึงมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ โดยมีองค์ประกอบและหน้าที่และอำนาจ ดังต่อไปนี้
1. องค์ประกอบ
1.1 นายกรัฐมนตรี ประธานกรรมการ
1.2 รองนายกรัฐมนตรี รองประธานกรรมการคนที่ 1(นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์)
1.3 รองนายกรัฐมนตรี รองประธานกรรมการคนที่ 2 และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์)
1.4 รองนายกรัฐมนตรี รองประธานกรรมการคนที่ 3 และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (นายอนุทิน ชาญวีรกูล)
1.5 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กรรมการ
1.6 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กรรมการ
1.7 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา กรรมการวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
1.8 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรรมการ
1.9 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กรรมการ
1.10 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัล กรรมการเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
1.11 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ กรรมการและสิ่งแวดล้อม
1.12 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กรรมการ
1.13 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กรรมการ
1.14 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กรรมการ
1.15 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กรรมการ
1.16 นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล กรรมการและเลขานุการ
1.17 เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจ กรรมการและผู้ช่วยเลขานุการและสังคมแห่งชาติ
2. อำนาจและหน้าที่
2.1 พิจารณากลั่นกรองเรื่องสำคัญในปัญหาที่เกี่ยวพันหรือมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจในภาพรวม รวมทั้งประเด็นด้านการเงิน การคลัง การภาษีอากร การค้าการลงทุน เกษตรกรรม การคมนาคมและโลจิสติกส์ การท่องเที่ยว การพลังงาน วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิจัย นวัตกรรมและดิจิทัลเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจ และอุตสาหกรรม ตามที่คณะรัฐมนตรีหรือนายกรัฐมนตรีมอบหมายก่อนที่จะนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณา
2.2 ประเมิน วิเคราะห์ และเสนอแนะมาตรการหรือแนวทางตัดสินใจเชิงรุกในประเด็นหรือนโยบายตามข้อ 2.1 เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณา
2.3 พิจารณาเรื่องอื่น ๆ ตามที่คณะรัฐมนตรีหรือนายกรัฐมนตรีมอบหมาย
2.4 เชิญรัฐมนตรี หน่วยงาน เจ้าหน้าที่ และคณะกรรมการอื่นมาชี้แจง ให้ข้อมูล และแสดงความคิดเห็นตามที่นายกรัฐมนตรีหรือคณะกรรมการเห็นสมควร
3. ในการประชุมคณะกรรมการรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ ให้บุคคลดังต่อไปนี้เข้าร่วมประชุม
3.1 ในกรณีที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงใดไม่อาจเข้าประชุมได้ ไม่ว่าด้วยเหตุใด ให้รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงนั้นเข้าประชุมแทนตามลำดับการรักษาราชการแทน
3.2 ในกรณีที่กระทรวงใดไม่มีรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงหรือมีแต่ไม่อาจเข้าประชุมได้ไม่ว่าด้วยเหตุใด ให้ปลัดกระทรวงนั้นเข้าร่วมประชุมแต่ไม่ถือว่าเป็นกรรมการ
3.3 ให้เลขาธิการนายกรัฐมนตรี เลขาธิการคณะรัฐมนตรี ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ผู้แทนธนาคารแห่งประเทศไทย ผู้แทนการค้าไทย (ถ้ามี) โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี หรือผู้รักษาราชการแทน ผู้มีตำแหน่งข้างต้นเข้าร่วมประชุมในฐานะผู้ให้ข้อมูลประกอบการพิจารณา เว้นแต่เป็นวาระที่เป็นการประชุมลับ
3.4 นายกรัฐมนตรีอาจอนุญาตให้บุคคลอื่นทั้งในภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมในฐานะเจ้าหน้าที่ ผู้ให้ข้อมูล หรือผู้ชี้แจงได้ตามความจำเป็น
4. ให้สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีและสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติอำนวยความสะดวกในการปฏิบัติงานของคณะกรรมการและปฏิบัติหน้าที่ตามที่เลขานุการคณะกรรมการรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจมอบหมาย
5. ในกรณีที่มีปัญหาเกี่ยวกับการปฏิบัติตามคำสั่งนี้ ให้นายกรัฐมนตรีวินิจฉัยหรือสั่งการได้ตามที่เห็นสมควร
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2562 เป็นต้นไป
9. เรื่อง ขอความเห็นชอบให้ถือปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2551 (เรื่อง แนวทางการเสนอเรื่องการแต่งตั้งข้าราชการการเมือง) ต่อไป
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบและรับทราบตามที่สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) เสนอ ดังนี้
1. เห็นชอบให้คงถือปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2551 (เรื่อง แนวทางการเสนอเรื่องการแต่งตั้งข้าราชการการเมือง) ต่อไป
2. รับทราบความเห็นคณะกรรมการกฤษฎีกา (ที่ประชุมร่วมคณะที่ 1 และคณะที่ 2) (เรื่องเสร็จที่ 882/2562) ที่เห็นว่า กรณีการแต่งตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรให้ดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมืองซึ่งมิใช่รัฐมนตรีในขณะเดียวกัน ย่อมถือได้ว่าเป็นการกระทำอันต้องห้ามตามมาตรา 184 (1) อันเป็นผลให้สมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลงตามมาตรา 101 (7) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 30 กรกฎาคม 2562