สรุปสถานการณ์ภัยแล้งในช่วงฤดูฝนและมาตรการแก้ไข
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Friday, 06 September 2019 22:52
- Hits: 3516
สรุปสถานการณ์ภัยแล้งในช่วงฤดูฝนและมาตรการแก้ไข
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบและเห็นชอบตามที่สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติเสนอ ดังนี้
1. รับทราบสถานการณ์น้ำในปัจจุบัน และการเปิดศูนย์อำนวยการน้ำเฉพาะกิจ
2. เห็นชอบมาตรการแก้ไขปัญหาพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำ เพื่อให้หน่วยงานนำไปดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง
สาระสำคัญ
สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ขอรายงานสรุปสถานการณ์ภัยแล้งในช่วงฤดูฝนและมาตรการแก้ไข ดังนี้
1. สรุปการคาดการณ์สภาพอากาศและปริมาณน้ำ
1.1 สภาพอากาศและน้ำฝน : กรมอุตุนิยมวิทยาและสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) คาดการณ์ปริมาณฝนในช่วงครึ่งแรกของฤดูฝน (พฤษภาคม-กรกฎาคม) น้อยกว่าค่าปกติ 5 - 10% และส่วนครึ่งหลังของฤดูฝน (สิงหาคม-ตุลาคม) จะมีปริมาณฝนตกใกล้เคียงกับค่าปกติและคาดว่าจะมีพายุพัดผ่านประเทศไทย จำนวน 1 - 2 ลูกในช่วงเดือนสิงหาคม 2562
ข้อเท็จจริงสถิติฝนที่ตกจริงในช่วงเดือนมิถุนายน - กลางกรกฎาคม มีปริมาณฝนตกน้อยกว่าค่าปกติ 30 - 40% ในภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แต่มีปริมาณฝนมากกว่าปี 2558 ซึ่งเป็นปีที่แล้งสุด 12% เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและเอลนีโญกำลังอ่อน ส่วนภาคอื่น ๆ เป็นไปตามคาดการณ์
1.2 ปริมาณน้ำทุกแหล่งน้ำ ณ วันที่ 21 กรกฎาคม 2562 มีปริมาณน้ำรวม 38,665 ล้านลูกบาศก์เมตร (47%) แบ่งเป็น ภาคเหนือ 9,183 ล้านลูกบาศก์เมตร (34%) ภาคกลาง 508 ล้านลูกบาศก์เมตร (20%) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 4,246 ล้านลูกบาศก์เมตร (33%) ภาคตะวันตก 18,284 ล้านลูกบาศก์เมตร (68%) ภาคตะวันออก 1,120 ล้านลูกบาศก์เมตร (36%) ภาคใต้ 5,323 ล้านลูกบาศก์เมตร (58%) และศักยภาพน้ำบาดาล 1,228 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อเดือน โดยมีปริมาณน้ำต้นทุนมากกว่าปี 2558 (ปีแล้งสุด) จำนวน 2,293 ล้านลูกบาศก์เมตร (7%) แต่มีปริมาณน้ำน้อยกว่าปี 2561 จำนวน 11,904 ล้านลูกบาศก์เมตร (25%) โดยมีแหล่งน้ำเฝ้าระวังน้ำน้อย (น้อยกว่า 30%) เสี่ยงขาดแคลนน้ำ แยกเป็นขนาดใหญ่ 19 แห่ง (ภาคเหนือ 4 แห่ง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 8 แห่ง ภาคตะวันออก 3 แห่ง ภาคกลาง 4 แห่ง) ขนาดกลาง 150 แห่ง (ภาคเหนือ 19 แห่ง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 104 แห่ง ภาคตะวันออก 11 แห่ง ภาคกลาง 11 แห่ง ภาคตะวันตก 2 แห่ง ภาคใต้ 3 แห่ง)
2. การวางแผนบริหารจัดการน้ำช่วงต้นฤดูฝนที่ผ่านมา ณ วันที่ 1 พฤษภาคม 2562 มีปริมาณน้ำในแหล่งน้ำทั้งหมดช่วงต้นฤดูฝนปี 2562 น้อยกว่า ปี 2561 ประมาณ 4,849 ล้านลูกบาศก์เมตรรัฐบาลโดยคณะอนุกรรมการวิเคราะห์ติดตามสถานการณ์และการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ซึ่งมี พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน (ในขณะนั้น) ได้ประชุมคณะอนุกรรมการฯ อย่างต่อเนื่องเพื่อกำกับดูแลและกำชับให้หน่วยงานมีการวางแผนจัดสรรน้ำอย่างรัดกุม ตลอดจนกำหนดมาตรการรับมือน้ำหลากและน้ำน้อยด้วย
3. การคาดการณ์พื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ได้คาดการณ์ ณ วันที่ 1 กรกฎาคม 2562 พบในเบื้องต้นมีจำนวน 160 อำเภอ 21 จังหวัด และได้แจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงพลังงาน และกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เพื่อเฝ้าระวังเตรียมการวางแผนรับมือ ทบทวน ปรับแผนการจัดสรรน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์ และได้มีการวิเคราะห์คาดการณ์เพิ่มเติม ณ วันที่ 15 กรกฎาคม 2562 พบพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำเป็น 240 อำเภอ 36 จังหวัด แบ่งออกเป็นภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 105 อำเภอ 12 จังหวัด ภาคเหนือ 61 อำเภอ 11 จังหวัด ภาคใต้ 70 อำเภอ 9 จังหวัด ภาคตะวันออก 2 อำเภอ 2 จังหวัด ภาคกลาง 1 อำเภอ 1 จังหวัด และภาคตะวันตก 1 อำเภอ 1 จังหวัด ตามลำดับ ทั้งนี้ คาดการณ์ว่าจะมีพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำในพื้นที่นอกเขตชลประทานขยายวงกว้างและทวีความรุนแรงขึ้นช่วงระยะต่อจากนี้
สำหรับ พื้นที่เฝ้าระวังที่มีความเสี่ยงต่อการขาดแคลนน้ำมากที่สุด คือ ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ซึ่งปัจจุบันพบว่ามีการจัดสรรน้ำมากกว่าแผนในช่วงเวลาเดียวกันและในช่วงเวลาฤดูฝนที่เหลือยังคงมีความต้องการน้ำสุทธิจาก 4 เขื่อนหลัก (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ และเขื่อนแควน้อยบำรุงแดน) รวม 2,066 ล้านลูกบาศก์เมตร และมีความจำเป็นต้องสำรองน้ำไว้ใช้อย่างน้อยเพื่อการอุปโภค – บริโภค และรักษาระบบนิเวศน์ตลอดฤดูแล้งที่จะถึง และช่วงต้นฤดูฝนปีถัดไปอีกไม่น้อยกว่า 5,000 ล้านลูกบาศก์เมตร ทำให้เมื่อประเมินน้ำฝนที่ตกลงมาแล้ว พบว่าจำเป็นต้องปรับลดแผนการระบายน้ำหรือประหยัดการใช้น้ำตลอดฤดูฝนที่เหลือมากกว่า 300 ล้านลูกบาศก์เมตร และต้องวางแผนการปลูกพืชในฤดูแล้งถัดมาให้ชัดเจน
4. จากสถานการณ์ดังกล่าว สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติได้เปิดศูนย์อำนวยการน้ำเฉพาะกิจ เพื่อบูรณาการร่วมกับศูนย์ปฏิบัติการของกระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงกลาโหม เพื่อติดตาม เฝ้าระวัง วิเคราะห์สถานการณ์น้ำ และผลจากการประชุมคณะทำงานฯ ได้กำหนดมาตรการดำเนินการแก้ไขปัญหาพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำให้หน่วยงานดำเนินการ ดังนี้
4.1 มาตรการเร่งด่วน
(1) มอบกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ปฏิบัติการฝนหลวงในพื้นที่เหนือและท้ายอ่างเก็บน้ำ และประสานกับหน่วยงานของกองทัพขอรับการสนับสนุนเครื่องบิน และกำลังพลร่วมดำเนินการ
(2) มอบกระทรวงมหาดไทย กระทรวงกลาโหม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมสำรวจพื้นที่ที่ขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภค - บริโภค และการเกษตร พร้อมสนับสนุนเครื่องจักรเครื่องมือ เช่น รถบรรทุกน้ำ เครื่องสูบน้ำ เพื่อแก้ไขปัญหาในพื้นที่ได้ทันที และสร้างการรับรู้ ร่วมรณรงค์ ประชาสัมพันธ์ให้มีการใช้น้ำอย่างประหยัด
(3) มอบหน่วยงานที่ดูแลการบริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ และกลาง (กรมชลประทาน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน) ปรับแผนการระบายน้ำจากแหล่งน้ำต่างๆ โดยเฉพาะแหล่งน้ำที่มีปริมาณน้ำน้อยกว่าร้อยละ 30 ของความจุ และเพิ่มความเข้มงวดติดตาม กำกับ การจัดสรรน้ำในระดับพื้นที่เพื่อให้ใช้น้ำอย่างประหยัด และมีปริมาณน้ำเพียงพอสำหรับอุปโภค - บริโภค รักษาระบบนิเวศเพียงพอถึงฤดูแล้งปี 2562/63
(4) มอบการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยและกรมชลประทาน ปรับลดแผนการระบายน้ำจาก 4 เขื่อนแบบขั้นบันไดเพื่อประหยัดน้ำ โดยมอบกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และกระทรวงมหาดไทยจัดเตรียมมาตรการรองรับผลกระทบที่จะเกิดขึ้น
(5) มอบการประปานครหลวงวางแผนการใช้น้ำจากลุ่มน้ำแม่กลอง โดยร่วมกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และกรมชลประทาน
(6) มอบหัวหน้าส่วนราชการระดับกรมและจังหวัด สร้างความเข้าใจเกี่ยวกับสถานการณ์น้ำ และแนวทางการแก้ไขให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและประชาชนในพื้นที่รับทราบในภาพรวมด้วย
4.2 มาตรการระยะสั้น
(1) เร่งรัดหน่วยงานที่ได้รับงบประมาณ งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ปี 2562 ของงานก่อสร้างและซ่อมแซมฝายชะลอน้ำบริเวณต้นน้ำให้ทันต่อการรับน้ำในฤดูฝน ปี 2562 และงานขุดลอกเพิ่มความจุแหล่งน้ำธรรมชาติ อ่างเก็บน้ำ และแหล่งน้ำอื่น ๆ
(2) มอบกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ปรับแผนการขุดเจาะบ่อบาดาล และซ่อมแซมบำรุงรักษาล้างบ่อน้ำบาดาล ในพื้นที่ที่มีปริมาณฝนตกน้อยกว่าปกติ
(3) มอบกระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจัดทำแผนงานโครงการเพื่อขอรับสนับสนุนงบประมาณ สนับสนุนการปฏิบัติงานตามลำดับความสำคัญ เน้นน้ำเพื่อการอุปโภค - บริโภคเป็นหลัก ควบคู่กับการเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำอุปโภค - บริโภค โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีปริมาณฝนตกน้อยกว่า 60 มิลลิเมตรต่อเดือน
(4) มอบกระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและกระทรวงการคลัง ร่วมบูรณาการกำหนดนโยบายช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัย เช่น สินเชื่อเงินด่วนหรือฉุกเฉินเพื่อสร้างอาชีพ ฟื้นฟูคุณภาพชีวิตผู้ประสบภัย พักชำระหนี้เงินต้น สนับสนุนเมล็ดพันธุ์เพื่อการเพาะปลูก และการชดเชยเยียวยา รวมถึงการสร้างอาชีพเสริม เป็นต้น
4.3 มาตรการระยะยาว
(1) ให้หน่วยงานที่ได้รับงบประมาณบูรณาการ เร่งรัดการปฏิบัติงานโครงการแก้ไขปัญหาเชิงพื้นที่อย่างเป็นระบบ (Area Based) และโครงการแหล่งน้ำตามแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี ให้เป็นไปตามแผน
(2) มอบสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติบูรณาการจัดทำทะเบียนแหล่งน้ำ ทะเบียนผู้ใช้น้ำ แผนที่แสดงพื้นที่ชลประทาน และพื้นที่รับประโยชน์จากแหล่งน้ำ
(3) มอบกระทรวงเกษตรและสหกรณ์บูรณาการปรับแผนการเพาะปลูกพืช และปฏิทินการเพาะปลูกเป็นการล่วงหน้าโดยเฉพาะในฤดูแล้งปี 2562/63 ให้สอดคล้องกับการคาดการณ์สถานการณ์น้ำ
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 30 กรกฎาคม 2562
Click Donate Support Web