รายงานผลการดำเนินงานของระบบประกันภัยและพัฒนาการที่สำคัญ รอบ 12 เดือน ปี 2561
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Thursday, 05 September 2019 17:11
- Hits: 3365
รายงานผลการดำเนินงานของระบบประกันภัยและพัฒนาการที่สำคัญ รอบ 12 เดือน ปี 2561
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) รายงานผลการดำเนินงานของระบบประกันภัยและพัฒนาการที่สำคัญ รอบ 12 เดือน ปี 2561 ของสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (สำนักงาน คปภ.) โดยมีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
1. รายงานภาพรวมธุรกิจประกันภัยของไทย รอบ 12 เดือน ปี 2561 ประกอบด้วยธุรกิจประกันภัยของไทยในช่วงเดือนมกราคม – ธันวาคม ปี 2561 และแนวโน้มของธุรกิจประกันภัย ปี 2562 โดยมีรายละเอียด ดังนี้
รายการ
เบี้ยประกันชีวิต
ปี 2560 (ล้านบาท) 600,256
ปี 2561 (ล้านบาท) 627,560
ขยายตัว (ร้อยละ) 4.55
แนวโน้มปี 2562 (ล้านบาท 659,408
ขยายตัว (ร้อยละ) 5.1 – 6.1
เบี้ยประกันวินาศภัย
ปี 2560 (ล้านบาท) 218,434
ปี 2561 (ล้านบาท) 231,990
ขยายตัว (ร้อยละ) 6.21
แนวโน้มปี 2562 (ล้านบาท 249,513
ขยายตัว (ร้อยละ) 7.1 – 8.1
รวม
ปี 2560 (ล้านบาท) 818,690
ปี 2561 (ล้านบาท) 859,550
ขยายตัว (ร้อยละ) 4.99
แนวโน้มปี 2562 (ล้านบาท 907,920
ขยายตัว (ร้อยละ) 5.6 – 6.6
2. รายงานผลการดำเนินงานที่สำคัญตามนโยบายรัฐบาลของสำนักงาน คปภ. และนโยบายที่กำหนดโดย คปภ. ภายใต้แผนพัฒนาการประกันภัย ฉบับที่ 3 (พ.ศ. 2559 - 2563) ใน 4 ยุทธศาสตร์หลัก ได้แก่
ยุทธศาสตร์
ยุทธศาสตร์ที่ 1 การเพิ่มศักยภาพอุตสาหกรรมประกันภัย
กลยุทธ์
1. เสริมสร้างศักยภาพผู้ประกอบการ
2. ยกระดับมาตรฐานการดำเนินธุรกิจประกันภัย
3. คุ้มครองสิทธิประโยชน์ของผู้เอาประกันภัย และยกระดับพฤติกรรมทางตลาดของระบบประกันภัย
ปัญหา/อุปสรรค
การขาดบุคลากรที่มีความรู้และความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและด้านการบริหารจัดการความเสี่ยงของบริษัทประกันภัยและการออกกฎเกณฑ์การกำกับดูแลธุรกิจประกันภัยต้องดำเนินการอย่างค่อยเป็นค่อยไป เพื่อให้บริษัทขนาดเล็กมีระยะเวลาในการปรับตัว
ยุทธศาสตร์ที่ 2 การเสริมสร้างความรู้และการเข้าถึงการประกันภัย
กลยุทธ์
1. เสริมสร้างความรู้ความเข้าใจด้านการประกันภัย
2. ส่งเสริมการพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยให้สอดคล้องกับความต้องการและความเสี่ยง เช่น การทำประกันภัยสำหรับผู้มีรายได้น้อย
3. ส่งเสริมการเข้าถึงประกันภัยเพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุ
4. ขยายช่องทางการเข้าถึงการประกันภัยของประชาชน
ปัญหา/อุปสรรค
ความกังวลเกี่ยวกับความปลอดภัยของข้อมูลส่วนตัวในการเข้าถึงช่องทางการขายประกันภัยผ่านระบบออนไลน์และสภาวะเศรษฐกิจที่ผันผวน ส่งผลกระทบต่อรายได้ของครัวเรือนและการตัดสินใจซื้อประกันภัยของผู้มีรายได้น้อย รวมทั้งผลิตภัณฑ์ประกันภัยแบบควบการลงทุนมีความซับซ้อนทำให้เป็นข้อจำกัดหนึ่งในการสร้างความเข้าใจให้กับประชาชน
ยุทธศาสตร์ที่ 3 การสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการแข่งขัน
กลยุทธ์
1. เสริมสร้างการแข่งขันผ่านการผ่อนคลายการกำกับผลิตภัณฑ์ประกันภัย
2. พัฒนาการกำกับและกระบวนการให้ความเห็นชอบ/อนุมัติผลิตภัณฑ์ประกันภัย
3. ส่งเสริมการเชื่อมโยงตลาดประกันภัยในภูมิภาคอาเซียน
ปัญหา/อุปสรรค
ธุรกิจประกันภัยมีความแตกต่างของขนาดค่อนข้างมาก จึงต้องมีการผ่อนคลายการกำกับผลิตภัณฑ์อย่างค่อยเป็นค่อยไปรวมทั้งกฎหมายแต่ละประเทศในภูมิภาคอาเซียนมีความแตกต่างกัน จึงต้องพิจารณาประเด็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อไม่ให้เป็นข้อจำกัดการเข้าถึงตลาดประกันภัยในประเทอื่น
ยุทธศาสตร์ที่ 4 การเสริมสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านการประกันภัย
กลยุทธ์
1. พัฒนาและยกระดับบุคลากรประกันภัยให้เป็นมืออาชีพ
2. ส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาระบบประกันภัย
3. เสริมสร้างศักยภาพระบบเทคโนโลยีสารสนเทศด้านการประกันภัย
4. ผลักดันให้การประกันภัยเป็นเครื่องมือบริหารความเสี่ยง
5. เสริมสร้างศักยภาพของหน่วยงานกำกับ
ปัญหา/อุปสรรค
ข้อมูลด้านประกันภัยมีความซับซ้อน ประกอบกับระบบเทคโนโลยีสารสนเทศของแต่ละบริษัทมีความแตกต่างกัน จึงต้องใช้เวลาในการทำความเข้าใจและระดมความเห็นในการจัดทำโครงสร้างฐานข้อมูลและต้องอาศัยประสบการณ์และความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง เพื่อให้ระบบมีข้อบกพร่องน้อยที่สุด
3. รายงานผลการดำเนินงานตามตัวชี้วัดสำนักงาน คปภ. รอบ 12 เดือน ปี 2561 ประกอบด้วย 10 ตัวชี้วัด มีค่าคะแนนถ่วงน้ำหนักรวมอยู่ที่ 3.90 จากคะแนนเต็ม 5 คะแนน โดยมีตัวชี้วัดบางประการที่ได้รับคะแนนในระดับที่ต่ำกว่าตัวชี้วัดอื่น ๆ มาก ได้แก่ ระดับความสำเร็จของการดำเนินงานตามแผนยุทธศาสตร์ด้านทรัพยากรบุคคลระยะ 3 ปี (2 คะแนน จากคะแนนเต็ม 5 คะแนน) และระดับความสำเร็จของการดำเนินงานตามแผนพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ ฉบับที่ 2 (2 คะแนน จากคะแนนเต็ม 5 คะแนน) ซึ่งตัวชี้วัดประเภทเดียวกันในรายงานฯ ปี 2560 ก็มีคะแนนในระดับต่ำเช่นเดียวกัน
4. รายงานผลการสำรวจความพึงพอใจของผู้ใช้บริการกับสำนักงาน คปภ. รอบ 12 เดือน ปี 2561 ได้มีการสำรวจกลุ่มตัวอย่างจำนวน 2,000 ราย ประเมินผลความพึงพอใจ 3 ด้านคือ ความเป็นธรรม คุณภาพการให้บริการ และการเข้าถึงการบริการ ผลการประเมินภาพรวมอยู่ที่ 4.69 คะแนน จากคะแนนเต็ม 5 คะแนน หรือที่ระดับความพึงพอใจมาก (เพิ่มขึ้นจากปี 2560 ที่ 4.60 คะแนน)
5. สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีพิจารณาแล้วเห็นว่า ควรให้ กค. กำกับสำนักงาน คปภ. ให้เร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาตามข้อ 3 อย่างเป็นรูปธรรมและนำผลการดำเนินการแก้ไขปัญหาดังกล่าวนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีในรายงานฯ ปี 2562 ต่อไป
ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 2 กรกฎาคม 2562
Click Donate Support Web