WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

ภาวะสังคมไทยไตรมาสหนึ่งปี 2562

GOV1 copyภาวะสังคมไทยไตรมาสหนึ่งปี 2562

 

            คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบภาวะสังคมไทยไตรมาสหนึ่งปี 2562 ตามที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเสนอ ดังนี้

1. ความเคลื่อนไหวทางสังคมไตรมาสหนึ่งปี 2562

1.1 การจ้างงานนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้น อัตราการว่างงานลดลง รายได้และผลิตภาพแรงงานเพิ่มขึ้น

ไตรมาสหนึ่งปี 2562 การจ้างงานเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.9 โดยเป็นการเพิ่มขึ้นนอกภาคเกษตรร้อยละ 3.2 ในสาขาการก่อสร้างร้อยละ 10.5 ตามการขยายตัวของพื้นที่ก่อสร้างและการลงทุนขนาดใหญ่ของภาครัฐ สาขาอุตสาหกรรมจ้างงานเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.0 ชะลอตัวลงตามการผลิตที่เชื่อมโยงกับการส่งออก ขณะที่สาขาโรงแรมและภัตตาคารมีการจ้างงานลดลงเล็กน้อยจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ร้อยละ 0.2 ส่วนหนึ่งเป็นผลจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ชะลอลง และผู้มีงานทำภาคเกษตรลดลงร้อยละ 4.2 อัตราการว่างงานเท่ากับร้อยละ 0.9 โดยเป็นการลดลงทั้งผู้ที่เคยทำงานและไม่เคยทำงานมาก่อนร้อยละ 32.2 และ 18.7 ตามลำดับ ค่าจ้างแรงงานที่แท้จริงภาคเอกชนเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.5

ขณะที่ผลิตภาพแรงงานโดยรวมยังคงเพิ่มขึ้นที่ร้อยละ 1.8 ตลาดแรงงานตึงตัวมากขึ้น โดยจำนวนสัดส่วนผู้สมัครงานใกล้เคียงกับจำนวนตำแหน่งงานว่าง เป็น 0.98 เท่า ลดลงจาก 1.35 เท่าในช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว เมื่อพิจารณาตามระดับการศึกษา พบว่ามีความต้องการแรงงานในระดับประถมศึกษา และสายอาชีพสูงกว่าจำนวนผู้สมัครงาน ถึง 2 เท่า สะท้อนความขาดแคลนแรงงานทั้งจำนวนแรงงานและทักษะที่ไม่ตรงกับความต้องการ

 

ประเด็นที่ต้องติดตามด้านแรงงาน

(1) สถานการณ์ภัยแล้งที่จะส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางการเกษตรและรายได้เกษตรกร

จากรายงานสถานภาพน้ำในเขื่อนของกรมชลประทาน พบว่าปริมาณน้ำในเขื่อนทั่วประเทศอยู่ที่ร้อยละ 53 ของปริมาณความจุที่ระดับน้ำทะเลปานกลาง โดยมีปริมาณน้ำที่ใช้ได้จริงอยู่ที่ร้อยละ 20 (ณ วันที่ 31 พฤษภาคม 2562) ซึ่งอยู่ในเกณฑ์น้ำน้อยขั้นวิกฤติ โดยเฉพาะจากเขื่อนในบริเวณภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เกษตรกรควรเตรียมรับมือกับวิกฤติภัยแล้งโดยอาจเปลี่ยนจากการปลูกพืชต้องการน้ำมากมาเป็นพืชหมุนเวียนที่ใช้น้ำน้อยแทน

(2) ผลกระทบจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน ซึ่งอาจกระทบไทยผ่านการส่งออกและการท่องเที่ยว โดยในด้านการส่งออก สินค้าที่คาดว่าจะได้ผลกระทบส่วนใหญ่เป็นสินค้าด้านอิเล็กทรอนิกส์ เช่น อินเทอร์เน็ตโมเดม แผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ แผงวงจรพิมพ์ อุปกรณ์ส่งข้อมูลต่างๆ ชิ้นส่วนยานยนต์ และวัสดุก่อสร้าง อย่างไรก็ตาม อาจไม่ส่งผลกระทบต่อการจ้างงานภาคการผลิตมากนัก เนื่องจากสาขาอุตสาหกรรมดังกล่าวเป็นอุตสาหกรรมที่ใช้เครื่องจักรเข้มข้น (Capital intensive) แต่ต้องเฝ้าระวังการจ้างงานในสาขาบริการท่องเที่ยว เนื่องจากลักษณะของการจ้างงานส่วนหนึ่งเป็นการจ้างงานชั่วคราว ตามปริมาณการเข้าพักของนักท่องเที่ยว โดยนักท่องเที่ยวจีนและสหรัฐอเมริการวมคิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 30 ของนักท่องเที่ยวรวม

(3) การปรับตัวของตลาดแรงงานภายใต้แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี

               ปัจจุบันมีการนำนวัตกรรมมาใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตมากขึ้น รวมถึงการบริหารจัดการที่จำเป็นต้องมีความยืดหยุ่นและต้องใช้ทักษะที่หลากหลาย ดังนั้น การพัฒนากำลังแรงงานให้มีทักษะเป็นที่ต้องการของตลาดจึงเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องเร่งดำเนินการทั้ง 1) การเพิ่มทักษะแรงงาน (up-skill) ให้มีทักษะใหม่ๆ เช่น การพัฒนาทักษะแรงงานให้มีความยืดหยุ่นเพื่อสามารถรับมือกับงานที่เร่งด่วนหรือมีภาวะกดดันได้ (flexible workforce for critical tasks) การพัฒนาทักษะด้านการใช้เทคโนโลยีรูปแบบใหม่ เป็นต้น และ 2) การปรับเปลี่ยนทักษะแรงงาน (re-skill) เช่น การเสริมสร้างทักษะด้านอื่นๆ ที่แตกต่างไปจากเดิม ภายใต้แนวคิดการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong learning) โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในวัยทำงานให้สามารถพัฒนาตนเองเพื่อรองรับในกรณีที่จำเป็นต้องมีการเปลี่ยนงานหรือเปลี่ยนอาชีพในอนาคต

 

1.2 หนี้สินครัวเรือนเพิ่มขึ้นเล็กน้อย

               ไตรมาสสี่ปี 2561 หนี้สินครัวเรือนเท่ากับ 12.8 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.0 และคิดเป็นสัดส่วนต่อ GDP เท่ากับร้อยละ 78.6 เพิ่มขึ้นเป็นไตรมาสที่สองติดต่อกัน และเมื่อเทียบกับต่างประเทศ พบว่า ประเทศไทยมีสัดส่วนหนี้สินครัวเรือนต่อ GDP อยู่ในอันดับที่ 10 จาก 89 ประเทศทั่วโลก และเป็นอันดับที่ 3 จาก 29 ประเทศในเอเชีย สำหรับไตรมาสหนึ่งปี 2562 หนี้สินครัวเรือนยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยพิจารณาจากยอดคงค้างสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคส่วนบุคคลของธนาคารพาณิชย์ขยายตัวร้อยละ 10.1 สูงสุดในรอบ 5 ปี นับตั้งแต่ไตรมาสสองปี 2557 เป็นต้นมา ซึ่งเป็นผลจาก (1) การเร่งก่อหนี้ก่อนการบังคับใช้มาตรการกำกับดูแลสินเชื่อที่อยู่อาศัยใหม่ (LTV) เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2562 ที่ผ่านมา (2) ความต้องการรถยนต์ที่เพิ่มสูงขึ้นจากคุณสมบัติของรถรุ่นใหม่ และมาตรการส่งเสริมการขายรถยนต์จากงานมหกรรมยานยนต์ (Motor Show 2019) และ (3) การส่งเสริมการขาย การโฆษณาประชาสัมพันธ์ และเงื่อนไขการผ่อนชำระที่จูงใจ ขณะที่คุณภาพสินเชื่อโดยรวมยังคงทรงตัว แต่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด โดยใน

               ไตรมาสหนึ่งปี 2562 หนี้เพื่อการอุปโภคบริโภคที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ขยายตัวร้อยละ 9.0 เทียบกับร้อยละ 9.1 ใน ไตรมาสก่อน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 2.75 ต่อสินเชื่อรวม และสัดส่วนร้อยละ 27.8 ต่อ NPLs รวม ซึ่งสูงสุดในรอบ 13 ไตรมาส นับตั้งแต่ไตรมาสหนึ่งปี 2559 เป็นต้นมา และส่งผลให้มีสัดส่วนสูงสุดเมื่อเทียบกับสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ในประเภทธุรกิจอื่นๆ ด้านสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้กำกับยังคงมีมูลค่ารวมอยู่ในระดับสูง ขณะที่ยอดสินเชื่อผิดนัดชำระหนี้เกิน 3 เดือนขึ้นไปของสินเชื่อบัตรเครดิตปรับตัวลดลงร้อยละ 3.6 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 0.3 ใน ไตรมาสที่ผ่านมา

หนี้สินครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นตั้งแต่กลางปี 2561 และภาวะเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มชะลอตัวลงจากปีที่แล้ว อาจส่งผลกระทบต่อความสามารถในการจับจ่ายใช้สอยและความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือน ทำให้มีประเด็นสำคัญที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด ได้แก่ (1) การก่อหนี้เพื่อที่อยู่อาศัยของครัวเรือนภายหลังการบังคับใช้มาตรการกำกับดูแลสินเชื่อใหม่ โดยคาดว่าจะมีแนวโน้มชะลอตัวลง และทำให้หนี้สินครัวเรือนเพิ่มขึ้นในอัตราชะลอตัว เนื่องจากสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 49.9 ของสินเชื่อเพื่ออุปโภคบริโภคส่วนบุคคล

และ (2) การขยายตัวของสินเชื่อเพื่อการบริโภคส่วนบุคคลอื่นๆ รวมถึงบัตรเครดิตอาจมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น นอกจากนี้ ภาครัฐยังควรให้ความสำคัญกับ การกำหนดมาตรการต่างๆ เพื่อกำกับดูแลและควบคุมการปล่อยสินเชื่อให้รัดกุมและมีความเหมาะสมยิ่งขึ้น อาทิ (1) การออกแบบมาตรการกำกับดูแลการปล่อยสินเชื่อเพื่อลดความเสี่ยงจากการปล่อยกู้ให้กับกลุ่มที่มีภาระหนี้สูง โดยเฉพาะมาตรการเกี่ยวกับสัดส่วนภาระหนี้ต่อรายได้ (DSR) (2) การออกมาตรการกำกับดูแลการปล่อยสินเชื่อรถยนต์เนื่องจากคุณภาพของสินเชื่อรถยนต์ที่มีแนวโน้มลดลง (3) การติดตามมาตรการกำกับดูแลธุรกิจสินเชื่อที่มีรถยนต์เป็นหลักประกันให้ประชาชนสามารถเข้าถึงได้อย่างเป็นธรรมและมีอัตราดอกเบี้ยที่เหมาะสม (4) การเร่งประชาสัมพันธ์โครงการคลินิกแก้หนี้ ระยะที่ 2 และ (5) การกำกับดูแลการปล่อยสินเชื่อให้แก่ลูกหนี้รายเดิมและรายใหม่ให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงของรูปแบบการก่อหนี้ครัวเรือนมากยิ่งขึ้น

1.3 การเจ็บป่วยยังต้องเฝ้าระวังไข้หวัดใหญ่และโรคไข้เลือดออกเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

               ไตรมาสหนึ่งปี 2562 จำนวนผู้ป่วยด้วยโรคเฝ้าระวังโดยรวมเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปี 2561 ร้อยละ 72.7 โดยผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 126.7 พบผู้ป่วยสูงสุดในภาคใต้ เนื่องจากพื้นที่ในบริเวณภาคใต้ยังมีฝนตกอยู่ และผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่เพิ่มขึ้นร้อยละ 223.9 เนื่องจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงการเดินทาง และการรวมตัวของกลุ่มคนหนาแน่น เช่น เรือนจำ โรงเรียน ค่ายทหาร ทำให้โรคเกิดการระบาดได้ง่าย และการเปลี่ยนแปลงของสายพันธุ์ไวรัส อีกทั้งยังต้องเฝ้าระวังการระบาดของโรคติดต่อทางอาหารและน้ำ และการเจ็บป่วยและเสียชีวิตจากโรคลมแดดในช่วงอากาศร้อนจัดเดือนมีนาคม-เมษายนของทุกปี รวมทั้งต้องเฝ้าระวังสถานการณ์เด็กจมน้ำช่วงปิดเทอมซึ่งเป็นช่วงที่มีเด็กจมน้ำเสียชีวิตสูงสุดเฉลี่ยปีละ 312 คน สำหรับในปี 2562 จากข้อมูลของกรมควบคุมโรคในช่วงปิดภาคเรียนมีเด็กจมน้ำเสียชีวิต 64 คน ทั้งหมดเป็นเด็กช่วงอายุ 5-14 ปี

 

1.4 การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่เพิ่มขึ้น

               ไตรมาสหนึ่งปี 2562 การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่ขยายตัวร้อยละ 2.3 ชะลอลงเมื่อเทียบกับการขยายตัวร้อยละ 4.5 ในไตรมาสก่อน โดยปริมาณการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ขยายตัวร้อยละ 2.9 ขณะที่การบริโภคบุหรี่ขยายตัวร้อยละ 1.5 ทั้งนี้ พฤติกรรมการบริโภคเครื่องดื่มแอลกฮอล์และบุหรี่กลับมาเพิ่มขึ้นเป็นไตรมาสที่สองติดต่อกัน ภายหลังจากการหดตัวอย่างต่อเนื่องในช่วงไตรมาส 4 ปี 2560 จนถึงช่วงไตรมาส 3 ปี 2561 โดยส่วนหนึ่งเป็นผลจากฐานการขยายตัวในระดับต่ำของไตรมาส 4 ปี 2560 และไตรมาส 1 ปี 2561 ตามลำดับ

              นอกจากนี้ ยังคงต้องเฝ้าระวังปัจจัยที่มีผลกระตุ้นพฤติกรรมการดื่มแอลฮอล์และสูบบุหรี่ อาทิ สื่อโฆษณา ปัญหาความเครียด และพฤติกรรมการเลียนแบบ แม้ว่าอัตราการสูบบุหรี่และดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จะมีแนวโน้มที่ลดลง แต่การเจ็บป่วยและเสียชีวิตก่อนวัยอันควรจากโรคที่เกิดจากบุหรี่และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ยังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยแต่ละปีมีผู้เสียชีวิตจากการสูบบุหรี่ประมาณ 55,000 คน และจากการดื่มแอลกฮอล์ประมาณ 22,000 คน หรือคิดเป็นประมาณร้อยละ 11 และ 4.5 ของการเสียชีวิตทั้งหมด ตามลำดับ ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องจะต้องดำเนินมาตรการในการป้องกันและควบคุมอย่างต่อเนื่องและเข้มข้นเพื่อช่วยลดความสูญเสียที่จะเกิดขึ้น

 

1.5 คดีอาญารวมเพิ่มจากคดียาเสพติดที่เพิ่มขึ้น

               ไตรมาสหนึ่งปี 2562 คดีอาญารวมเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.1 จากไตรมาสเดียวกันของปี 2561 เป็นการรับแจ้งคดียาเสพติดเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.4 ขณะที่คดีชีวิตร่างกายและเพศ คดีประทุษร้ายต่อทรัพย์ รับแจ้งลดลงร้อยละ 1.6 และร้อยละ 7.1 ตามลำดับ รัฐได้ให้ความสำคัญกับมาตรการด้านการปราบปรามยาเสพติดอย่างเข้มงวด และได้นำมาตรการทางเลือกแนวทางลดทอนความเป็นอาชญากรรมมาใช้กับผู้เสพและผู้ติดยาเสพติดให้กลับเข้าสู่กระบวนการบำบัดรักษา ส่วนผู้กระทำผิดที่เป็นนักค้า/เครือข่ายรายใหญ่นำเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมทางอาญา นอกจากนั้น ได้ดำเนินได้จัดให้มีการเฝ้าระวังผู้ป่วยยาเสพติดที่มีอาการทางจิตและมีแนวโน้มก่อความรุนแรง รวมทั้งการประเมินเพื่อการกลับสู่สังคมอย่างปลอดภัยเพื่อลดความรุนแรงในสังคม

1.6 การเกิดอุบัติเหตุและจำนวนผู้เสียชีวิตลดลงทั้งในช่วงปกติและช่วงเทศกาล

               ไตรมาสหนึ่งปี 2562 สถานการณ์การเกิดอุบัติเหตุจราจรทางบกลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปี 2561 ร้อยละ 5 มีผู้เสียชีวิตและมูลค่าความเสียหายลดลงร้อยละ 4.8 และ 4.3 ตามลำดับ สาเหตุการเกิดอุบัติเหตุสูงสุดเป็นการขับรถเร็วเกินกว่ากฎหมายกำหนด รถที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุดยังคงเป็นรถจักรยานยนต์มีสัดส่วนร้อยละ 19.8 ของประเภทรถที่เกิดอุบัติเหตุทั้งหมด ขณะที่ช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2562 มีการวิเคราะห์และถอดบทเรียนหาสาเหตุเพื่อกำหนดมาตรการและแนวทางที่เหมาะสม ทำให้การเกิดอุบัติเหตุในช่วงเทศกาลสงกรานต์ลดลงจากปีที่แล้ว ร้อยละ 10.4 มีผู้บาดเจ็บและผู้เสียชีวิต ลดลงร้อยละ 11.7 และ 7.7 ตามลำดับ การดื่มแล้วขับเป็นสาเหตุอันดับแรกของการเกิดอุบัติเหตุ จึงควรมีการเพิ่มบทลงโทษให้ครอบคลุมกับความผิดในทุกกรณี รวมทั้งควรดำเนินการจัดทำเครื่องหมายจราจรให้ชัดเจนมีมาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศเพื่อสะดวกในการบังคับใช้กฎหมายและอำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้รถใช้ถนน

 

2. สถานการณ์ทางสังคมที่สำคัญ

2.1 เยาวชนมีความเสี่ยงต่อการเป็นภาวะซึมเศร้า และฆ่าตัวตายมากขึ้น ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือปัองกันแก้ไขอย่างจริงจัง

โรคซึมเศร้านับเป็นปัญหาสำคัญทางสุขภาพที่จำนวนผู้ป่วยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และหากไม่ได้รับการรักษาอาจรุนแรงจนนำไปสู่การฆ่าตัวตายได้ กลุ่มเยาวชนนับเป็นกลุ่มเสี่ยงที่ต้องให้ความสำคัญและเร่งแก้ไขแม้จะมีสัดส่วนของผู้ป่วยโรคซึมเศร้าเพียงร้อยละ 11.5 น้อยกว่ากลุ่มวัยทำงานและวัยผู้สูงอายุ แต่เนื่องจากเยาวชนเป็นทรัพยากรที่มีค่าในการพัฒนาประเทศในอนาคต และพบว่ามีแนวโน้มฆ่าตัวตายมากขึ้น ภาวะซึมเศร้าในกลุ่มเยาวชนเกิดได้จากหลายปัจจัย

อาทิ ภาวะของการเสียศูนย์จากการถูกประเมิน ภาวะการเงิน ความรัก ความรู้สึกผิดกับคนที่มีความสำคัญ ความสูญเสียอย่างฉับพลัน ความกดดันจากสภาพแวดล้อมและค่านิยมทางสังคม รวมทั้งความรักของพ่อแม่ที่คอยประคบประหงมตามใจ ทำให้เด็กขาดทักษะการสร้างความเข้มแข็งให้กับตนเอง ไม่สามารถจัดการปัญหาเมื่อเกิดความผิดหวังในชีวิต ทำให้ทุกปัญหาสามารถกลายเป็นสาเหตุให้เกิดความกังวล ความเครียด จนพัฒนาไปสู่ภาวะซึมเศร้าและคิดทำร้ายตัวเองหรือฆ่าตัวตายได้ โดยในปี 2561 พบว่าเยาวชนอายุ 20-24 ปี มีอัตราการฆ่าตัวตายเท่ากับ 5.33 ต่อประชากรแสนคนเพิ่มขึ้นจากอัตรา 4.94 ต่อประชากรแสนคนในปี 2560

ขณะที่กลุ่มเยาวชนอายุ 15-19 ปีมีอัตราการฆ่าตัวตายอยู่ที่ 2.59 ต่อประชากรแสนคน และกลุ่มเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี มีอัตราการฆ่าตัวตายอยู่ที่ 0.5 ต่อประชากรแสนคน ทั้งนี้ การป้องกันสามารถทำได้โดยความร่วมมือของทุกภาคส่วนทั้งครอบครัวและคนใกล้ชิดต้องเอาใจใส่ต่อบุตรหลาน สถานศึกษาต้องเฝ้าระวังและสังเกตพฤติกรรม พร้อมทั้งให้คำปรึกษาแนะนำ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรให้ความสำคัญกับการส่งเสริมทักษะชีวิตในกลุ่มเยาวชนมากขึ้น

2.2 กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ความท้าทายในการสร้างโอกาสการเข้าถึงการศึกษาอย่างทั่วถึง

กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ถูกจัดตั้งขึ้นภายใต้พระราชบัญญัติกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา พ.ศ. 2561 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 14 พฤษภาคม 2561 มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์หรือผู้ด้อยโอกาสให้ได้รับการศึกษา และเสริมสร้างและพัฒนาคุณภาพและประสิทธิภาพครู ซึ่งกองทุนดังกล่าวเป็นเครื่องมือสำคัญในการลดความเหลื่อมล้ำและเพิ่มโอกาสทางการศึกษา

โดยมีหลักการของการดำเนินงานที่เน้นใน 4 เรื่อง (1) ความคุ้มค่า ที่เกิดขึ้น (2) การจัดลำดับความสำคัญในการดำเนินการ (3) การดำเนินการอย่างโปร่งใส มีการกำกับดูแลที่รอบคอบ และ (4) การสร้างความร่วมมือกับภาคีทุกภาคส่วนอย่างบูรณาการ ทำให้กองทุนมีลักษณะการดำเนินงานที่โดดเด่น คือ การวิจัยและพัฒนาตัวแบบปฏิรูปหรือนวัตกรรมที่มีประสิทธิภาพสูง ร่วมกับพันธมิตรหน่วยจัดการศึกษา และสถาบันวิชาการ แล้วส่งผ่านตัวแบบปฏิรูปไปยังหน่วยงานหลักสำหรับขยายผลในระยะยาว รวมทั้งการเสนอแนะมาตรการหรือจัดการศึกษาอย่างมีส่วนร่วมเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบาย

ทั้งนี้ ในปีการศึกษา 2561 กสศ. ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จัดสรรเงินอุดหนุนนักเรียนยากจนพิเศษแบบมีเงื่อนไขให้กับนักเรียน 510,040 คน ใน 26,557 โรงเรียนสังกัด สพฐ. และมีการจัดกิจกรรมพัฒนาทักษะอาชีพและทักษะชีวิตจากเงินอุดหนุนของ กสศ. จนกลายเป็นตัวอย่างต้นแบบเพื่อใช้ขยายผลต่อไป

3. บทความเรื่อง’อีสปอร์ต: สถานการณ์ ผลกระทบ และแนวทางการดูแล’

สถานการณ์อีสปอร์ตในประเทศไทย อีสปอร์ตได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา จะเห็นได้จากตลาดเกมและอีสปอร์ตในประเทศไทยมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2560 มีผู้เล่นเกมประมาณ 18.3 ล้านคน คิดเป็น 1 ใน 4 ของประชากร ขณะที่มูลค่าการใช้จ่ายในตลาดเกมมีสูงถึงประมาณ 22,000 ล้านบาท ในปี 2561 ซึ่งอยู่ในอันดับที่ 19 ของโลก สำหรับผู้ชมการแข่งขันอีสปอร์ต พบว่า เมื่อปี 2561 มีผู้ชม อีสปอร์ตประมาณ 2.6 ล้านคน และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นอีกประมาณร้อยละ 30 ในช่วงปี 2560-2564 เมื่อปี 2560 การกีฬาแห่งประเทศไทยได้อนุมัติรับรองให้อีสปอร์ตเป็นประเภทกีฬาที่สามารถจดทะเบียนจัดตั้งสมาคมกีฬาได้ตามพระราชบัญญัติการกีฬาแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2558

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติร่วมกับบริษัทศูนย์วิจัยเพื่อการพัฒนาสังคมและธุรกิจจำกัด ได้ทำการสำรวจข้อมูลเกี่ยวกับอีสปอร์ตในประเทศไทยในกลุ่มเด็กและเยาวชนวัย 13-24 ปี จำนวน 2,155 ตัวอย่าง ผู้ปกครองของผู้ที่มีบุตรหลานอายุ 13-24 ปี อยู่ในความดูแล จำนวน 1,051 ตัวอย่าง ครอบคลุมพื้นที่ 7 จังหวัด คือ กรุงเทพฯ นนทบุรี สมุทรปราการ เชียงใหม่ ชลบุรี ขอนแก่น และสงขลา และกลุ่มนักกีฬาอีสปอร์ตจำนวน 404 ตัวอย่าง โดยมีข้อค้นพบสำคัญ ดังนี้

(1) คุณลักษณะของนักกีฬาอีสปอร์ต นักกีฬาอีสปอร์ตส่วนใหญ่เป็นเพศชายร้อยละ 97.5 มีอายุระหว่าง 19-24 ปี และกำลังศึกษาร้อยละ 78.5 นักกีฬาใช้เวลาเล่นเกมเฉลี่ย 3 ชั่วโมง 20 นาที ในวันธรรมดา และ 4 ชั่วโมง 15 นาที ในวันหยุด นักกีฬาส่วนใหญ่เป็นตัวแทนชมรมสถานศึกษาร้อยละ 58.9 ทั้งนี้ หากจำแนกเป็นนักกีฬาสมัครเล่นหรือกึ่งอาชีพ (คือกลุ่มอิสระหรือตัวแทนสถาบันแต่ไม่มีสังกัด) กับกลุ่มนักกีฬาอาชีพที่มีสังกัด พบว่า นักกีฬาสมัครเล่นร้อยละ 98.4 เป็นนักกีฬาหน้าใหม่ มีระยะเวลาไม่เกิน 2 ปี ขณะที่นักกีฬาอาชีพมีระยะเป็นนักกีฬาเฉลี่ย 2 ปี 5 เดือน สำหรับเหตุผลของการเป็นนักกีฬาของทั้ง 2 กลุ่ม เป็นไปในทิศทางเดียวกัน คือ ชอบเล่นเกม และมีรายได้/รางวัล

(2) มุมมองของเด็กและเยาวชน นักกีฬา และผู้ปกครองต่ออีสปอร์ต ในเรื่องการเป็นช่องทางอาชีพ เด็กและเยาวชนกับผู้ปกครองมากกว่าครึ่งเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า เป็นเพียงกิจกรรมเพื่อความเพลิดเพลิน ขณะที่กลุ่มนักกีฬาร้อยละ 56.4 เห็นเป็นช่องทางหารายได้เสริม ในเรื่องการจัดการแข่งขันอีสปอร์ต เด็กและเยาวชนที่รับรู้ข่าวสารการแข่งขันเห็นว่า สามารถกระตุ้นความรู้สึกในการอยากเล่นเกม อยากหารายได้จากการแข่งขัน และสนใจเป็นอาชีพได้ในระดับน้อย และกระตุ้นในระดับปานกลางในกลุ่มนักกีฬา ทั้งนี้ จุดเริ่มต้นของการเข้าสู่เส้นทางนักกีฬาอีสปอร์ต คือ ความชื่นชอบในการเล่นเกม เป็นช่องทางสร้างรายได้และชื่อเสียง แล้วจึงผันตัวเองเข้าไปเป็นนักกีฬา โดยบางคนทำเป็นอาชีพแบบคู่ขนานกับงานประจำด้วย ขณะที่ช่องทางเข้าสู่การเป็นนักกีฬาจะมีหลายรูปแบบ

อาทิ ประกาศคัดตัวเข้าสังกัด ระบบแมวมอง และเลือกนักกีฬาจากยอดการติดตาม (follow)

ผลกระทบจากการมีอีสปอร์ต สามารถแบ่งได้เป็น 2 ส่วน คือ ผลกระทบเชิงบวก ได้แก่ (1) การเกิดอาชีพใหม่รวมไปถึงอาชีพอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น นักแคสเกม หรือรีวิวเกมในขณะที่กำลังเล่นไปด้วย นักพากย์เกม กรรมการ ผู้จัดการแข่งขัน (2) การสร้างโอกาสและแรงจูงใจให้เด็กและเยาวชนที่ชื่นชอบการเล่นเกมได้มีการเล่นเกมอย่างสร้างสรรค์ มีโอกาสได้รับความสำเร็จ ความภาคภูมิใจในตนเอง และการเป็นที่ยอมรับ (3) การเติบโตของธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับอีสปอร์ต ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจโดยรวม และ ผลกระทบเชิงลบ เช่น อีสปอร์ตอาจส่งผลในทางกระตุ้นเด็กอยากเล่นเกมมากขึ้น

รวมไปถึงผลกระทบต่อสุขภาพ อารมณ์ และพฤติกรรม เช่น รู้สึกปวดหลัง/ปวดเมื่อยร่างกาย มีปัญหาเกี่ยวกับสายตา และเล่นเพลินจนนอนดึกหรือนอนน้อย การขาดเรียนหรือไปสาย รู้สึกไม่ค่อยอยากทำอะไรนอกจากเล่นเกม และมีพฤติกรรมเล่นพนันทายผลการแข่งขันอีสปอร์ต การเป็นนักกีฬาอีสปอร์ตอาชีพมีระยะเวลาสั้น ไม่มั่นคง รวมทั้งการเติบโตของตลาดเกมอาจส่งผลต่อการเสียดุลการค้าเพราะเงินจะไหลไปประเทศต้นทางที่เป็นผู้พัฒนาเกมหรือเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์

มาตรการดูแลอีสปอร์ต ในกรณีต่างประเทศ มีการกำหนดมาตรการที่น่าสนใจ เช่น การกำหนดประเภทของเกม (Rating Game) การควบคุมการโฆษณาและประชาสัมพันธ์ การกำกับดูแลนักกีฬา อีสปอร์ตและการจัดการแข่งขัน สำหรับประเทศไทย ยังไม่มีกฎหมายเฉพาะเกี่ยวกับอีสปอร์ต มีเพียงกฎกระทรวงว่าด้วยการอนุญาตและการประกอบกิจการร้านวีดิทัศน์ ภายใต้พระราชบัญญัติภาพยนตร์และ วีดิทัศน์ พ.ศ. 2551 ที่ควบคุมการประกอบกิจการร้านเกม ร้านวีดิทัศน์ โดยกำหนดระยะเวลาในการเล่นเกม และ การใช้บริการร้านเกมของเด็ก นอกจากนี้ ด้านเนื้อหาสาระของเกม ก็ยังไม่มีการจัดเรทติ้งเกมอย่างที่ดำเนินการกับภาพยนตร์

ข้อเสนอแนะแนวทางการดูแลอีสปอร์ต มีแนวทางดังนี้ (1) การป้องกันและลดผลกระทบจากการเล่นเกม โดยการกำหนดเรทติ้งเกม การควบคุมอายุผู้เล่น การส่งเสริมให้เกิดการผลิตและแข่งขันเกมที่สร้างสรรค์ ที่พัฒนาความคิด วิเคราะห์ ทำงานเป็นทีม ปราศจากความรุนแรง ตลอดจนให้สื่อสารกับสังคมให้มีความเข้าใจที่ถูกต้องระหว่างการเล่นเกมเพื่อความสนุกกับเล่นเกมในรูปแบบของนักกีฬา รวมทั้งควรดำเนินมาตรการแก้ไขปัญหาเด็กติดเกมควบคู่ไปด้วย โดยโรงเรียน ครู และผู้ปกครอง ควรมีการประสานงานร่วมกันในการช่วยสอดส่องดูแลพฤติกรรมของเด็กในความรับผิดชอบ

และเร่งแก้ไขหากพบเด็กมีความเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ส่งผลกระทบต่อการเรียน สุขภาพ การดำรงชีวิตประจำวัน (2) การดูแลการจัดการแข่งขันอีสปอร์ต โดยการกำหนดระเบียบปฏิบัติและหน่วยงานกำกับดูแลการจัดการแข่งขันที่ชัดเจน มีระบบอนุญาตและแจงรายละเอียดเกี่ยวกับเกมที่ใช้แข่งขัน ผู้มีสิทธิสมัครเข้าร่วม ตลอดจนมีระบบการขึ้นทะเบียนผู้เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ ต้องให้ความสำคัญกับการคุ้มครองดูแลนักกีฬา โดยมีการตกลงหรือออกระเบียบปฏิบัติเพื่อกำหนดแนวทางความรับผิดชอบของต้นสังกัดในการดูแลนักกีฬาให้อยู่ในมาตรฐานที่เหมาะสม และ (3) การเตรียมพร้อมระบบนิเวศวงการอีสปอร์ต โดยสนับสนุนการสร้างบุคลากรที่เกี่ยวข้อง ศึกษาหาแนวทางส่งเสริมให้พัฒนาไปสู่การเป็นผู้ผลิตเกมและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งมาตรการรองรับการขยายตัวของธุรกิจที่เกี่ยวข้อง การจัดเก็บภาษี ตลอดจนการเฝ้าระวังปัญหาอาชญากรรมและผลกระทบต่าง ๆ

     ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 11 มิถุนายน 2562

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!