มาตรการแก้ไขปัญหาอ้อยไฟไหม้
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Sunday, 01 September 2019 19:29
- Hits: 3861
มาตรการแก้ไขปัญหาอ้อยไฟไหม้
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบและเห็นชอบตามที่กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) เสนอ ดังนี้
1. รับทราบมาตรการแก้ไขปัญหาอ้อยไฟไหม้ ประกอบด้วย
1.1 มาตรการทางกฎหมาย โดยจะมีการออกระเบียบให้ทันในฤดูการผลิตปี 2562/2563 กำหนดให้โรงงานน้ำตาลจะรับอ้อยไฟไหม้เข้าหีบได้ไม่เกินร้อยละ 30 ต่อวัน สำหรับในฤดูการผลิต ปี 2563 /2564 โรงงานน้ำตาลจะรับอ้อยไฟไหม้เข้าหีบได้ไม่เกินร้อยละ 20 ต่อวัน และในฤดูการผลิตปี 2564/2565 จะลดปริมาณอ้อยไฟไหม้เข้าหีบเพียงร้อยละ 0-5 ต่อวัน ซึ่งจะทำให้อ้อยไฟไหม้หมดไปภายในภายใน 3 ปี
1.2 มาตรการสนับสนุนจากภาครัฐในการสนับสนุนเครื่องจักรกลการเกษตร ซึ่งจะขยายโครงการส่งเสริมสินเชื่อเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตอ้อยอย่างครบวงจรปี 2562 - 2564 รวมทั้งจะนำเสนอมาตรการสนับสนุนผู้ประกอบการผลิตรถตัดอ้อยไทยด้วยการเพิ่มศักยภาพการผลิตและจำหน่ายให้เพียงพอกับความต้องการและส่งเสริมการแปลงสินทรัพย์เป็นทุน โดยการใช้รถตัดอ้อย และเครื่องจักรกลการเกษตรอื่น ๆ นำไปจดทะเบียนเครื่องจักรตามกฎหมายกับกรมโรงงานอุตสาหกรรม เพื่อนำไปเป็นสินทรัพย์ค้ำประกันกับแหล่งเงินกู้ได้อีกด้วย
1.3 มาตรการขอความร่วมมือด้านการบริหารจัดการเพื่อเป็นต้นแบบการเก็บเกี่ยวและการขนส่งอ้อยให้โรงงาน โดยความร่วมมือจากโรงงานน้ำตาลและชาวไร่อ้อยในฤดูการผลิต ปี 2562/2563 เพื่อกำหนดพื้นที่ปลอดการเผาอ้อย เป็นจังหวัดต้นแบบปลอดการเผาอ้อย ตัดอ้อยสด ร้อยละ 100 ในแต่ละภาค รวม 5 จังหวัดได้แก่ จังหวัดกาญจนบุรี จังหวัดราชบุรี จังหวัดชัยภูมิ จังหวัดเลย และจังหวัดอุตรดิตถ์ การจัดการพื้นที่ลดการเผาอ้อยรอบชุมชนในรัศมี 5 กิโลเมตร และรอบโรงงานน้ำตาลในรัศมี 10 กิโลเมตร และการบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการกำหนดคิวรับอ้อยสดและอ้อยไฟไหม้
2. เห็นชอบขยายโครงการส่งเสริมสินเชื่อเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตอ้อยอย่างครบวงจร ปี 2562 - 2564
สำหรับ รายละเอียดของโครงการส่งเสริมสินเชื่อฯ ให้เป็นไปตามความเห็นของสำนักงบประมาณที่สนับสนุนสินเชื่อแก่เกษตรกร กลุ่มเกษตรกร สหกรณ์การเกษตร สถาบันชาวไร่อ้อย กลุ่มบุคคลและวิสาหกิจชุมชน วงเงินกู้ปีละ 2,000 ล้านบาท ระยะเวลา 3 ปี รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 6,000 ล้านบาท (งบประมาณปี พ.ศ. 2562-2564) จากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) โดยใช้จากวงเงิน 10,000 ล้านบาท ของเงินกู้ยืมสินเชื่อเพื่อส่งเสริมการปลูกอ้อย (เงินเกี๊ยว) ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2549 และเห็นควรให้ ธ.ก.ส. เสนอขอรับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปี ตามผลการดำเนินการจริงตามขั้นตอนต่อไป ภายในกรอบวงเงินงบประมาณชดเชยดอกเบี้ยประมาณ 599.43 ล้านบาท โดยให้โรงงานน้ำตาลเป็นผู้ค้ำประกันและให้รัฐบาลช่วยรับภาระชดเชยดอกเบี้ยส่วนเกิน ดังนี้
1) กำหนดระยะเวลาการชำระคืนเงินกู้เสร็จสิ้นตามโครงการเช่นเดียวกับโครงการเดิมโดยแยกตามวัตถุประสงค์การกู้เงิน หากเป็นเงินกู้เพื่อพัฒนาแหล่งน้ำและการบริหารจัดการน้ำในไร่อ้อยและปรับพื้นที่ปลูกอ้อย กำหนดชำระคืนเงินกู้เสร็จสิ้นไม่เกิน 4 ปี และหากเป็นเงินกู้เพื่อซื้อเครื่องจักรกลการเกษตรกำหนดชำระคืนเงินกู้เสร็จสิ้นไม่เกิน 6 ปี
2) สำหรับอัตราดอกเบี้ย เห็นควรยึดตามหลักการของโครงการเดิมที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติไว้ เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2559 เนื่องจากการดำเนินโครงการตามนโยบายรัฐบาลในการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรที่ผ่านมาในลักษณะที่คล้ายคลึงกันได้ชดเชยดอกเบี้ยในอัตราไม่เกินร้อยละ 3 ต่อปี ประกอบกับเป็นอัตราดอกเบี้ยที่ผ่านการพิจารณาของ ธ.ก.ส. แล้ว ประกอบด้วย
2.1) สำหรับเกษตรกรรายบุคคล คิดดอกเบี้ยในอัตรา MRR (ปัจจุบัน MRR เท่ากับร้อยละ 7 ต่อปี) โดยเรียกเก็บจากผู้กู้ในอัตรา MRR - 5 (หรือปัจจุบันเท่ากับร้อยละ 2 ต่อปี) รัฐบาลชดเชยดอกเบี้ยให้ ธ.ก.ส. แทนผู้กู้ในอัตราร้อยละ 3 ต่อปี และ ธ.ก.ส. รับภาระในอัตราร้อยละ 2 ต่อปี
2.2) สำหรับกลุ่มเกษตรกร สหกรณ์การเกษตร สถาบันชาวไร่อ้อย กลุ่มบุคคลและวิสาหกิจชุมชน คิดดอกเบี้ยในอัตรา MLR (ปัจจุบัน MLR เท่ากับร้อยละ 5 ต่อปี) โดยเรียกเก็บจากผู้กู้ในอัตรา MLR - 3 (หรือปัจจุบันเท่ากับร้อยละ 2 ต่อปี) รัฐบาลชดเชยดอกเบี้ยให้ ธ.ก.ส. แทนผู้กู้ในอัตราร้อยละ 2 ต่อปี และ ธ.ก.ส. รับภาระในอัตราร้อยละ 1 ต่อปี
2.3) กรณีการกู้เงินเพื่อจัดซื้อเครื่องจักรกลการเกษตร ประเภทรถแทรกเตอร์หรือรถบรรทุกคิดดอกเบี้ยในอัตรา MLR - 1 (หรือปัจจุบันเท่ากับร้อยละ 4 ต่อปี) จากประเภทผู้กู้ (เกษตรกรรายบุคคล กลุ่มเกษตรกร สหกรณ์การเกษตร สถาบันชาวไร่อ้อย กลุ่มบุคคล และวิสาหกิจชุมชน) รัฐบาลไม่ต้องชดเชยดอกเบี้ยในส่วนนี้ และ ธ.ก.ส. รับภาระในอัตราร้อยละ 1 ต่อปี
โดยให้กระทรวงอุตสาหกรรมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการให้ถูกต้องตามขั้นตอนของกฎหมาย มติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องและพันธกรณีระหว่างประเทศ รวมทั้งให้รับความเห็นของกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงมหาดไทย สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีไปพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป
สาระสำคัญของเรื่อง
โครงการส่งเสริมสินเชื่อเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตอ้อยอย่างครบวงจร ปี 2562 – 2564 สรุปสาระสำคัญ ดังนี้
ประเด็น / รายละเอียด
1. วัตถุประสงค์ สนับสนุนสินเชื่อแก่เกษตรกร กลุ่มเกษตรกร สหกรณ์การเกษตร สถาบันชาวไร่อ้อย กลุ่มบุคคล และวิสาหกิจชุมชนเพื่อเข้าถึงแหล่งเงินทุนอัตราดอกเบี้ยต่ำ ลดการพึ่งพาแหล่งเงินทุนนอกระบบในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตอ้อย การจัดหาแหล่งน้ำสำรองในการบรรเทาความเดือดร้อนเมื่อเกิดภัยแล้ง การนำเครื่องจักรกลทางการเกษตรมาใช้ในการผลิตอ้อยเพื่อลดการสูญเสีย ลดต้นทุนในระยะยาว ส่งผลให้มีผลผลิตเพิ่มขึ้น ลดปัญหาอ้อยไฟไหม้ที่ก่อให้เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานในไร่อ้อย และสอดคล้องกับเป้าหมายในการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายทั้งระบบในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตอ้อยอย่างครบวงจร
2. วงเงินสินเชื่อ ปีละ 2,000 ล้านบาท ระยะเวลา 3 ปี รวมทั้งสิ้น 6,000 ล้านบาท โดยใช้เงินทุนของ ธ.ก.ส. ทั้งนี้ วงเงินกู้แต่ละรายเมื่อรวมทุกวัตถุประสงค์แล้ว ต้องไม่เกิน 29 ล้านบาท
3. วัตถุประสงค์การกู้เงินและวงเงินกู้
3.1 เพื่อพัฒนาแหล่งน้ำและการบริหารจัดการน้ำในไร่อ้อย ผู้ขอกู้แต่ละรายสามารถกู้เงินรวมทุกวัตถุประสงค์แล้ว วงเงินกู้ไม่เกิน 500,000 บาท กรณีกู้เงินเกินวงเงินที่กำหนดจะต้องได้รับอนุมัติจากคณะทำงานส่งเสริมสินเชื่อเพื่อการปลูกอ้อยโดยมีรูปแบบการดำเนินงาน ดังนี้
3.1.1 การขุดบ่อสระกักเก็บน้ำ
3.1.2 การเจาะบ่อบาดาล
3.1.3 การจัดทำระบบน้ำหยด
3.1.4 การจัดซื้อเครื่องสูบน้ำหรืออุปกรณ์ให้น้ำในไร่อ้อย
3.1.5 รวมกลุ่มสร้างระบบส่งน้ำ โดยการรวมกลุ่มชาวไร่อ้อยและโรงงานน้ำตาลเป็นผู้เสนอในรูปแบบของโครงการ
3.2 เพื่อปรับพื้นที่ปลูกอ้อย ผู้ขอกู้แต่ละรายสามารถกู้เงินเพื่อปรับพื้นที่ปลูกอ้อยเป็นแปลงใหญ่ให้เหมาะสมกับเครื่องจักรกลการเกษตร วงเงินกู้ไม่เกิน 500,000 บาท
3.3 เพื่อจัดซื้อเครื่องจักรกลการเกษตร ผู้ขอกู้แต่ละรายสามารถจัดซื้อเครื่องจักรกลการเกษตรได้ ดังนี้
3.3.1 รถตัดอ้อยหรืออุปกรณ์ส่วนควบ รวมวงเงินกู้แต่ละรายไม่เกิน 15 ล้านบาท และต้องซื้อรถตัดอ้อยตามที่กำหนด ดังนี้
ประเภทรถตัดอ้อย วงเงินสินเชื่อ
รถตัดอ้อยใหม่ ขนาดใหญ่ วงเงินไม่เกิน 15 ล้านบาท
รถตัดอ้อยเก่า ขนาดใหญ่ วงเงินไม่เกิน 10 ล้านบาท
รถตัดอ้อยใหม่ ขนาดกลาง วงเงินไม่เกิน 10 ล้านบาท
รถตัดอ้อยเก่า ขนาดกลาง วงเงินไม่เกิน 8 ล้านบาท
สำหรับการจัดซื้อรถตัดอ้อยเก่าต้องเป็นรถที่นำเข้าจากต่างประเทศเท่านั้นและต้องนำเข้ามาภายในประเทศไม่เกิน 2 ปี
3.3.2 รถคีบอ้อย1 หรืออุปกรณ์ส่วนควบ กู้ได้รายละไม่เกิน 2 ล้านบาท
3.3.3 เครื่องตัดอ้อยแร๊พเตอร์2 กู้ได้รายละไม่เกิน 5 แสนบาท
3.3.4 เครื่องสางใบอ้อย3 กู้ได้รายละไม่เกิน 5 แสนบาท
3.3.5 เครื่องอัดใบอ้อย4 กู้ได้รายละไม่เกิน 5 แสนบาท
3.3.6 รถแทรกเตอร์หรืออุปกรณ์ส่วนควบ กู้ได้รายละไม่เกิน 4.5 ล้านบาท
3.3.7 รถบรรทุกหรือพ่วงบรรทุก กู้ได้รายละไม่เกิน 5 ล้านบาท
ทั้งนี้ การจัดซื้อเครื่องจักรกลการเกษตรทุกวัตถุประสงค์ กรณีมีความจำเป็นต้องใช้สินเชื่อกับสถาบันการเงินอยู่ก่อนแล้ว ให้สามารถกู้เงินตามโครงการนำไปชำระหนี้สินเดิมได้ (Refinance) แต่ต้องไม่เคยเป็นหนี้ค้างชำระและผ่อนชำระมาแล้วไม่เกิน 2 ปี
หมายเหตุ : 1. รถคีบ การตัดอ้อยโดยแรงงานคนหรือใช้แร๊พเตอร์ในการตัดอ้อยมีความจำเป็นต้องใช้รถคีบอ้อยใส่รถบรรทุกเพื่อส่งต่อเข้าโรงงานน้ำตาล
2. เครื่องตัดอ้อยแร๊พเตอร์ รถตัดอ้อยส่วนใหญ่จะเป็นการนำเข้าจากต่างประเทศและมีราคาสูงชาวไร่อ้อยขนาดเล็กไม่สามารถจัดซื้อและตัดอ้อยให้คุ้มทุนได้ ปัจจุบันการคิดค้นแร๊พเตอร์เพื่อใช้ตัดอ้อยจึงมีความ จำเป็นและเหมาะสมกับชาวไร่อ้อยรายเล็กที่พอจะหาซื้อได้
3. เครื่องสางใบอ้อย เป็นภูมิปัญญาไทยในการคิดค้นเพื่อใช้ในการสางใบอ้อยก่อนการตัดลดสิ่งสกปรก ทำให้ได้อ้อยสดที่สะอาดก่อนการใช้รถตัดอ้อยแร๊พเตอร์หรือแรงงานคนตัด โดยไม่ต้องจุดไฟเผา
4. เครื่องอัดใบอ้อย เพื่อใช้ในการเก็บกวาดใบอ้อยจากไร่อ้อยหลังการตัดอ้อยเพื่อให้สะดวกต่อการบำรุงรักษาอ้อยในฤดูการต่อไป และง่ายต่อการขนส่งออกจากไร่อ้อย
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 11 มิถุนายน 2562
Click Donate Support Web