สรุปผลการดำเนินมาตรการส่งเสริมการชำระเงินเพื่อซื้อสินค้าและบริการ และการนำส่งข้อมูลภาษีมูลค่าเพิ่มผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (กระทรวงการคลัง)
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Sunday, 01 September 2019 17:57
- Hits: 4752
สรุปผลการดำเนินมาตรการส่งเสริมการชำระเงินเพื่อซื้อสินค้าและบริการ และการนำส่งข้อมูลภาษีมูลค่าเพิ่มผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (กระทรวงการคลัง)
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบสรุปผลการดำเนินมาตรการส่งเสริมการชำระเงินเพื่อซื้อสินค้าและบริการ และการนำส่งข้อมูลภาษีมูลค่าเพิ่มผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ โดยมีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
1. สรุปผลการดำเนินมาตรการฯ
ประเด็น / ผลการดำเนินการที่สำคัญ
การลงทะเบียนเข้าร่วมมาตรการฯ ของประชาชนที่สนใจ
- ประชาชนที่สนใจเข้าร่วมมาตรการฯ ได้ลงทะเบียนเข้าร่วมมาตรการฯ ตั้งแต่วันที่ 7-15 กุมภาพันธ์ 2562 ผ่านทางเว็บไซต์ www.epayment.go.th โดยระบุเลขที่บัญชีธนาคารที่จะนำมาใช้ชำระเงินเพื่อซื้อสินค้าและบริการได้สูงสุดไม่เกิน 10 เลขบัญชีธนาคาร จากผลการลงทะเบียนฯ พบว่ามีผู้ลงทะเบียนจำนวนทั้งสิ้น 34,865 ราย และมีเลขบัญชีธนาคารที่จะนำมาใช้ชำระเงินจำนวน 40,074 เลขที่บัญชี
การรับสมัครร้านค้าที่สนใจเข้าร่วมมาตรการฯ
- ร้านค้าที่สนใจสามารถดาวน์โหลดแบบฟอร์มการสมัครได้ที่ www.cgd.go.th ตั้งแต่วันที่ 25 ธันวาคม 2561 จนถึง 31 มกราคม 2562 ซึ่งมีผู้ประกอบการสมัครเข้าร่วมมาตรการฯ จำนวนทั้งสิ้น 213 ราย และมีจำนวนสาขา 19,551 สาขาทั่วประเทศ
ข้อมูลการชำระเงินเพื่อซื้อสินค้าและบริการภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) และจำนวนเงินชดเชย (ข้อมูล ณ วันที่ 11 มีนาคม 2562)
วิธีการชำระเงิน - บัตรเดบิต
จำนวนรายการ (รายการ) 10,608
มูลค่าสินค้าและบริการ รวม VAT (บาท) 14,049,254
ภาษีมูลค่าเพิ่ม (บาท) 789,413
เงินชดเชยที่ผู้เข้าร่วมมาตรการฯ จะได้รับคืน (บาท) 563,866
วิธีการชำระเงิน - คิวอาร์โค้ด
จำนวนรายการ (รายการ) 2,132
มูลค่าสินค้าและบริการ รวม VAT (บาท) 2,188,920
ภาษีมูลค่าเพิ่ม (บาท) 126,448
เงินชดเชยที่ผู้เข้าร่วมมาตรการฯ จะได้รับคืน (บาท) 90,320
รวม
จำนวนรายการ (รายการ) 12,740
มูลค่าสินค้าและบริการ รวม VAT (บาท) 16,238,174
ภาษีมูลค่าเพิ่ม (บาท) 915,861
เงินชดเชยที่ผู้เข้าร่วมมาตรการฯ จะได้รับคืน (บาท) 654,186
การวิเคราะห์ผลการดำเนินมาตรการฯ
- ผู้ลงทะเบียนเข้าร่วมมาตรการฯ ที่ซื้อสินค้าและบริการ (คิดเป็นร้อยละ 18.55 ของผู้ลงทะเบียนฯ) ยังมีจำนวนจำกัดเนื่องจากการชำระเงินเพื่อซื้อสินค้าและบริการผ่านบัตรเดบิต และคิวอาร์โค้ดอาจไม่สอดคล้องกับพฤติกรรมการชำระเงินของคนไทยที่ชำระเงินผ่านบัตรเครดิตเป็นส่วนใหญ่ และบัตรเครดิตมีแรงจูงใจมากกว่าในแง่ส่วนลด การสะสมคะแนน และการผ่อนชำระการซื้อสินค้าและบริการ
- ผลการสำรวจของ กค. พบว่า ประชาชนมีความกังวลในเรื่องการเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล และข้อมูลธุรกรรมทางการเงิน ซึ่ง กค. จะเร่งสร้างความเข้าใจและสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนในโอกาสต่อไป
- มาตรการฯ มีส่วนช่วยกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการชำระเงินของผู้บริโภค และการรับชำระเงินของผู้ประกอบการจากระบบเงินสดไปสู่ระบบอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเป็นการผลักดันการดำเนินการตามแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์ (National e-Payment Master Plan) เพื่อให้ระบบการชำระเงินของประเทศไทยเข้าสู่ระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Payment) ต่อไป
2. ความเห็น กค. ต่อมาตรการฯ
2.1 การดำเนินมาตรการฯ อย่างต่อเนื่อง จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บภาษีอากรแก่ภาครัฐ เนื่องจากจะจูงใจให้ผู้ประกอบการ ธนาคารพาณิชย์ และผู้ให้บริการการชำระเงินอื่น ลงทุนและพัฒนาระบบการส่งข้อมูลการทำธุรกรรมและจำนวนภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่ภาครัฐ และจูงใจให้ผู้ประกอบการเข้าสู่ระบบภาษีมูลค่าเพิ่มอันจะเป็นการขยายฐานภาษี ลดต้นทุนในการปฏิบัติตามกฎหมายภาษีของผู้เสียภาษี (Compliance Costs) และต้นทุนการบริหารจัดเก็บภาษีของภาครัฐ (Administrative Costs)
2.2 การจ่ายเงินชดเชยเพื่อดำเนินการตามมาตรการฯ โดยคำนวนจากจำนวนภาษีมูลค่าเพิ่มที่ผู้ซื้อสินค้าและบริการได้ชำระ อาจพิจารณานำมาใช้พร้อมกับการยกเลิกการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการประกอบกิจการประเภทต่าง ๆ ในปัจจุบัน ซึ่งจะทำให้ระบบภาษีมีความเป็นธรรมมากยิ่งขึ้น (เนื่องจากเป็นการเก็บภาษีจากผู้เสียภาษีทุกคนเท่ากัน) และเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้จ่ายและการกำหนดนโยบายของภาครัฐ (เนื่องจากนำภาษีมาจ่ายเงินคืนให้กับผู้ที่สมควรจะได้รับประโยชน์หรือกลุ่มเป้าหมายที่รัฐบาลกำหนด รวมถึงสามารถพัฒนาระบบให้สามารถแยกประเภทสินค้าที่รัฐบาลต้องการจะส่งเสริมในแต่ละช่วงเวลาได้อีกด้วย)
2.3 กค. เห็นว่าควรดำเนินมาตรการฯ หรือมาตรการอื่นใดที่สนับสนุนและส่งเสริมการซื้อสินค้าและบริการอีกในระยะต่อไปอย่างต่อเนื่อง เพื่อผลักดันให้เกิดการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์ และระบบภาษีอิเล็กทรอนิกส์อย่างเป็นรูปธรรมสูงสุด โดย กค. จะมุ่งสู่การกำหนดเงื่อนไขของมาตรการฯ เช่น จะต้องจ่ายค่าซื้อสินค้าและบริการผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์ (รวมถึงบัตรเครดิตด้วย) ซื้อสินค้าและบริการกับผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ผู้ประกอบการจะต้องมีระบบบันทึกการเก็บเงิน (Point of Sale : POS) ช่วยเก็บบันทึกการขาย ยอดขาย จำนวนภาษีมูลค่าเพิ่มที่แยกออกจากราคาสินค้าและบริการ รายละเอียดสินค้า พิมพ์ใบกำกับภาษี และต้องรับและส่งข้อมูลจำนวนภาษีมูลค่าเพิ่มในแต่ละรายการที่รับชำระค่าสินค้าและบริการได้แบบทันที (Real-time) รวมถึงต้องพัฒนาระบบให้สามารถแยกประเภทสินค้าที่รัฐบาลต้องการจะส่งเสริมในแต่ละช่วงเวลาได้ เป็นต้น
เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บภาษีอากรและประสิทธิภาพในการใช้จ่ายของภาครัฐต่อไป ซึ่งสอดคล้องกับร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ตามมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนระบบภาษีอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาฯ แล้ว เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2562 เพื่อให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล หรือผู้ให้บริการการชำระเงินตามกฎหมายว่าด้วยระบบการชำระเงิน สามารถหักรายจ่ายลงทุนได้เป็นจำนวน 2 เท่า สำหรับรายจ่ายลงทุนใน POS การพัฒนาระบบการนำส่งภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายอิเล็กทรอนิกส์ (e – Withholding Tax) รวมทั้งการพัฒนาระบบการจัดทำใบกำกับภาษีและใบรับอิเล็กทรอนิกส์ (e – Tax Invoice/e-Receipt)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 4 มิถุนายน 2562
Click Donate Support Web