WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

ขออนุมัติแผนหลักการฟื้นฟูบึงราชนก จังหวัดพิษณุโลก และแผนหลักการพัฒนาและ ฟื้นฟูบึงบอระเพ็ด จังหวัดนครสวรรค์

GOV 9ขออนุมัติแผนหลักการฟื้นฟูบึงราชนก จังหวัดพิษณุโลก และแผนหลักการพัฒนาและ ฟื้นฟูบึงบอระเพ็ด จังหวัดนครสวรรค์

 

      คณะรัฐมนตรีพิจารณาเรื่อง ขออนุมัติแผนหลักการฟื้นฟูบึงราชนก จังหวัดพิษณุโลก และ แผนหลักการพัฒนาและฟื้นฟูบึงบอระเพ็ด จังหวัดนครสวรรค์ ตามที่สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เสนอ แล้วมีมติดังนี้

 

1. เห็นชอบในหลักการตามที่ สนทช. เสนอ ดังนี้

       1.1 เห็นชอบแผนหลักการฟื้นฟูบึงราชนก จังหวัดพิษณุโลก รวม 4 ด้าน ระยะเวลาดำเนินการ 7 ปี (พ.ศ. 2563 – 2569) วงเงินงบประมาณรวมทั้งสิ้น 1,456.98 ล้านบาท โดยให้เร่งดำเนินการแผนงานเร่งด่วนที่มีความพร้อม จำนวน 11 โครงการในระหว่างปี พ.ศ. 2563 - 2565 วงเงินงบประมาณ 754.56 ล้านบาท

      1.2 เห็นชอบแผนหลักการพัฒนาและฟื้นฟูบึงบอระเพ็ด จังหวัดนครสวรรค์ รวม 6 ด้านระยะเวลาดำเนินการ 10 ปี (พ.ศ. 2563 – 2572) วงเงินงบประมาณรวมทั้งสิ้น 5,701.5 ล้านบาท โดยให้ เร่งดำเนินการแผนงานเร่งด่วนที่มีความพร้อม จำนวน 9 โครงการ ในระหว่างปี พ.ศ. 2563 - 2565 วงเงินงบประมาณ 1,513.5 ล้านบาท

      1.3 มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินโครงการที่มีความพร้อมสามารถดำเนินการได้ทันทีในปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 โดยพิจารณาปรับแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณของหน่วยงานมาดำเนินการเป็นลำดับแรก หากไม่เพียงพอให้เสนอขอรับการสนับสนุนงบประมาณตามความจำเป็นเหมาะสมต่อไป

       1.4 มอบหมายให้ สทนช. อำนวยการและกำกับดูแลการดำเนินงานให้เป็นไปตามแผนหลักที่วางไว้ทั้ง 2 แผง รวมทั้งให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามมติคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ครั้งที่ 1/2562 เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2562 อย่างเคร่งครัดและให้สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับความเห็นของกระทรวงคมนาคม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงมหาดไทย และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติไปพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป สำหรับค่าใช้จ่ายและภาระงบประมาณที่จะเกิดขึ้น ให้เป็นไปตามความเห็นของสำนักงบประมาณ ที่เห็นควรให้ สนทช. ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดลำดับความสำคัญ ความจำเป็นเร่งด่วน ความคุ้มค่าประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับ และผลสัมฤทธิ์ที่จะเกิดขึ้นจากการดำเนินโครงการ ตามนัยพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 รวมทั้งจัดเตรียมความพร้อมและจัดทำแผนปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณเพื่อเสนอขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีตามความจำเป็นและเหมาะสมตามขั้นตอนต่อไป

      ทั้งนี้ ให้ดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมาย ระเบียบ และมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2552 (เรื่อง การทบทวนมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 1 สิงหาคม 2543 เรื่อง ทะเบียนรายนามพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระดับนานาชาติและระดับชาติของประเทศไทย และมาตรการอนุรักษ์พื้นที่ชุ่มน้ำ) และวันที่ 12 พฤษภาคม 2558 (เรื่อง ขอทบทวนมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2552 เรื่อง การทบทวนมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 1 สิงหาคม 2543 เรื่องทะเบียนรายนามพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระดับนานาชาติ และระดับชาติของประเทศไทย และมาตรการอนุรักษ์พื้นที่ชุ่มน้ำ ข้อ 10) อย่างเคร่งครัด รวมทั้งไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อนด้านภาระงบประมาณแผ่นดินด้วย

      2. ให้สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องชี้แจงและทำความเข้าใจกับประชาชนที่จะได้รับผลกระทบจากการดำเนินการตามแผนหลักการฟื้นฟูบึงราชนก จังหวัดพิษณุโลก และ แผนหลักการพัฒนาและฟื้นฟูบึงบอระเพ็ดจังหวัดนครสวรรค์ให้ถูกต้อง โดยคำนึงถึงประโยชน์ที่ได้รับของส่วนรวม พร้อมทั้งวางแผนเยียวยาในเรื่องการจัดหาที่อยู่ที่ทำให้ประชาชนที่ได้รับผลกระทบต่อไป

 

สาระสำคัญของเรื่อง

      1. บึงราชนก จังหวัดพิษณุโลก และบึงบอระเพ็ด จังหวัดนครสวรรค์ เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำและแหล่งน้ำธรรมชาติขนาดใหญ่ของประเทศ ปัจจุบันบึงทั้ง 2 แห่งมีสภาพเสื่อมโทรมและตื้นเขิน (เกิดจากตะกอนดินสะสม) ทำให้มีการเข้าครอบครองทำประโยชน์หรือบุกรุกพื้นที่บึงเพิ่มขึ้น ส่งผลให้การใช้ประโยชน์และเป็นพื้นที่รับน้ำได้ไม่เต็มศักยภาพ นอกจากนี้ การกำหนดนโยบายและแนวทางการพัฒนาต่าง ๆ ยังไม่เป็นรูปธรรมชัดเจนและไม่มีการบูรณาการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินได้เคยมีข้อเสนอแนะเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวด้วยแล้ว

     2. สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการศึกษาจัดทำแผนหลักการฟื้นฟูบึงราชนก จังหวัดพิษณุโลก และแผนหลักการพัฒนาและฟื้นฟูบึงบอระเพ็ด จังหวัดนครสวรรค์ โดยได้พิจารณาแผนงานโครงการให้สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ยุทธศาสตร์ที่ 5 การเติบโตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน และร่างแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี โดยมีเป้าหมายสำคัญ คือ (1) จัดระเบียบการเข้าใช้ประโยชน์ที่ดินของหน่วยงานราชการและประชาชนให้คงเหลือเท่าที่จำเป็นและเหมาะสมเท่านั้น (2) เป็นแก้มลิงธรรมชาติโดยคืนพื้นที่กักเก็บน้ำให้มากขึ้นและเพิ่มประสิทธิภาพทางรับน้ำเข้าและทางระบายน้ำออก และ (3) เป็นแหล่งอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ แหล่งสันทนาการของชุมชน และแหล่งท่องเที่ยวระดับประเทศ ซึ่งในการประชุมคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2562 เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2562 ได้มีมติเห็นชอบในหลักการแผนฯ และให้เสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบและดำเนินการตามระเบียบงบประมาณต่อไป ดังนี้

 

ประเด็น

1. แผนหลักการฟื้นฟูบึงราชนก จังหวัดพิษณุโลก

4 ด้าน 11 แผนงาน 23 โครงการ

               1.1 แผนด้านการบริหารจัดการ ประกอบด้วย 5 แผนงาน 10 โครงการ งบประมาณ 66.2 ล้านบาท เช่น แผนงานการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดเพื่อการจัดระเบียบการใช้ประโยชน์ที่ดินและการใช้ทรัพยากรอย่างเหมาะสมในพื้นที่บึงราชนก

               1.2 แผนด้านการจัดการน้ำท่วมและอุทกภัยประกอบด้วย 2 แผนงาน 6 โครงการงบประมาณ 1,273.82 ล้านบาท เช่น แผนงานการขุดลอกพื้นที่บึงราชนกอย่างเป็นระบบเพื่อฟื้นฟูเป็นแหล่งกักเก็บน้ำขนาดใหญ่

               1.3 แผนด้านการสร้างความมั่นคงของน้ำภาคการผลิต (เกษตรและอุตสาหกรรม) ประกอบด้วย 1 แผนงาน 3 โครงการงบประมาณ 63.36 ล้านบาท ได้แก่ แผนงานการพัฒนาพื้นที่การเกษตรบริเวณด้านท้ายน้ำและพื้นที่โดยรอบของพื้นที่บึงราชนก

               1.4 แผนด้านการจัดการคุณภาพน้ำ และอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำ ประกอบด้วย 3 แผนงาน 4 โครงการ งบประมาณ 53.6 ล้านบาท เช่น แผนงานการฟื้นฟูและปรับปรุงคุณภาพน้ำและระบบนิเวศวิทยาทางน้ำในพื้นที่บึงราชนก

 

แผนหลักการพัฒนาและฟื้นฟูบึงบอระเพ็ด จังหวัดนครสวรรค์

6 ด้าน 56 โครงการ

               1.1 แผนการบริหารจัดการและการเข้าใช้ประโยชน์ที่ดิน ประกอบด้วย 17 โครงการ งบประมาณ 175 ล้านบาท เช่น ตรวจสอบการเข้าใช้ประโยชน์ที่ดินของประชาชนในเขตพื้นที่ของรัฐ กำหนดเขตการใช้ประโยชน์ที่ดิน

               1.2 แผนด้านการแก้ปัญหาภัยแล้งและสร้างความมั่นคงของน้ำประกอบด้วย 22 โครงการงบประมาณ 2,923.5 ล้านบาท เช่น ปรับปรุงประตูระบายน้ำ ขุดลอกคลอง ขุดลอกตะกอนดิน บึงบอระเพ็ด

               1.3 แผนด้านคุณภาพน้ำ ตะกอนและรักษาระบบนิเวศ ประกอบด้วย 7 โครงการ งบประมาณ 1,768 ล้านบาท เช่น ขุดคลองดักตะกอนตามแนวของบึงบอระเพ็ด กำจัดวัชพืชและขุดลอกตะกอนวัชพืช การรักษาระบบนิเวศของบึง

               1.4 แผนด้านการจัดการน้ำท่วมและบรรเทาอุทกภัย ประกอบด้วย 6 โครงการ งบประมาณ 770 ล้านบาท เช่น แก้มลิง ปรับปรุงประตูระบายน้ำ

               1.5 แผนด้านการอนุรักษ์ฟื้นฟูพื้นที่ต้นน้ำ ประกอบด้วย 3 โครงการงบประมาณ 62 ล้านบาท ได้แก่ ฟื้นฟูเพื่อการอนุรักษ์พื้นที่ป่าต้นน้ำ ฟื้นฟูคุณภาพดินและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ตอนบนของลุ่มน้ำบึงบอระเพ็ด

               1.6 แผนด้านการจัดการน้ำอุปโภคบริโภค จำนวน 1 โครงการงบประมาณ 3 ล้านบาท คือ ก่อสร้างสระเก็บน้ำในตำบลพนมเศษ อำเภอท่าตะโก

 

2. ระยะเวลาดำเนินการ

แผนหลักการฟื้นฟูบึงราชนก จังหวัดพิษณุโลก

7 ปี (พ.ศ. 2563 – 2569)

แผนหลักการพัฒนาและฟื้นฟู บึงบอระเพ็ด จังหวัดนครสวรรค์

10 ปี (พ.ศ. 2563 – 2572)

 

3. งบประมาณรวม

แผนหลักการฟื้นฟูบึงราชนก จังหวัดพิษณุโลก

1,456.98 ล้านบาท

แผนหลักการพัฒนาและฟื้นฟู บึงบอระเพ็ด จังหวัดนครสวรรค์

5,701.5 ล้านบาท

 

4. หน่วยงานรับผิดชอบ

แผนหลักการฟื้นฟูบึงราชนก จังหวัดพิษณุโลก

     กระทรวงกลาโหม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงคมนาคม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมกระทรวงมหาดไทย และมหาวิทยาลัยนเรศวร

 

แผนหลักการพัฒนาและฟื้นฟู บึงบอระเพ็ด จังหวัดนครสวรรค์

    กระทรวงกลาโหม กระทรวงการคลัง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงมหาดไทยและคณะกรรมการฟื้นฟู อนุรักษ์และพัฒนาบึงบอระเพ็ด

 

จังหวัดนครสวรรค์

5. ประโยชน์ที่ได้รับ

แผนหลักการฟื้นฟูบึงราชนก จังหวัดพิษณุโลก

5.1 มีการจัดระเบียบการใช้ประโยชน์ที่ดิน และการใช้ทรัพยากรในพื้นที่บึงราชนกอย่างเหมาะสม

5.2 มีพื้นที่แหล่งน้ำ 3,714-0-92 ไร่ (จากเดิม 858.18 ไร่) และมีปริมาณน้ำเก็บกัก/ชะลอได้ 28.850 ล้านลูกบาศก์เมตร

5.3 บรรเทาพื้นที่อุทกภัยในพื้นที่อำเภอวังทอง 10,575 ไร่

5.4 ประชาชนรับประโยชน์ไม่น้อยกว่า 22,370 ครัวเรือน พื้นที่รับประโยชน์ 3,960 ไร่ และประชาชนใช้บริการในพื้นที่ไม่น้อยกว่า 300 คนต่อวัน

 

แผนหลักการพัฒนาและฟื้นฟู บึงบอระเพ็ด จังหวัดนครสวรรค์

      5.1 ปริมาณน้ำต้นทุนเพิ่มขึ้น ประมาณ 67 ล้านลูกบาศก์เมตร และเพิ่มพื้นที่รับประโยชน์ ประมาณ 85,000 ไร่

      5.2 ช่วยบรรเทาอุทกภัยในพื้นที่ประมาณ 21,000 ไร่ พร้อมทั้งเก็บน้ำเพื่อการอุปโภค – บริโภค และประชาชนได้รับประโยชน์ 500 ครัวเรือน

      5.3 วัชพืชถูกกำจัดปีละ 100,000 ตัน และจัดการขยะได้อย่างน้อย 14 ตันต่อวัน มีการใช้ทรัพยากรโดยมีส่วนร่วมระหว่างภาครัฐและภาคประชาชน ป่าต้นน้ำในพื้นที่ได้รับการอนุรักษ์

      3. จากแผนหลักการข้างต้น สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติได้พิจารณาโครงการที่สำคัญต่อ การพัฒนาบึงราชนก จังหวัดพิษณุโลก และบึงบอระเพ็ด จังหวัดนครสวรรค์ และสามารถดำเนินการได้ทันที โดยเสนอเป็นแผนปฏิบัติการเร่งด่วน ดำเนินการในปี พ.ศ. 2563 - 2565 อันจะเป็นการแก้ไขปัญหาบุกรุกและการใช้ประโยชน์ในพื้นที่ได้ในเบื้องต้น ซึ่งทันต่อความต้องการของประชาชนในพื้นที่ แบ่งเป็น ในส่วนของบึงราชนก จังหวัดพิษณุโลก จำนวน 11 โครงการ วงเงิน 754.56 ล้านบาท เช่น โครงการแก้ไขปัญหาบุกรุกเข้าครอบครองและทำประโยชน์ในพื้นที่บึงราชนก โครงการขุดลอกพื้นที่บึงราชนก (บางส่วน) และในส่วนของบึงบอระเพ็ด จังหวัดนครสวรรค์ จำนวน 9 โครงการ วงเงิน 1,513.5 ล้านบาท เช่น โครงการตรวจสอบการเข้าใช้ประโยชน์ที่ดินของประชาชนในเขตพื้นที่บึงบอระเพ็ด ในพื้นที่ “ให้ หวง ห้าม” การขุดลอกคลอง/ตะกอนดิน

    ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 4 มิถุนายน 2562

Click Donate Support Web

ais 790x90

GC 950x120

sme 720x90

banpu 720x90 new1 1

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!