ร่างแถลงการณ์ร่วมการประชุมระดับผู้นำ ครั้งที่ 12 แผนงานการพัฒนาเศรษฐกิจ สามฝ่าย อินโดนีเซีย-มาเลเซีย-ไทย (IMT-GT)
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Sunday, 25 August 2019 20:26
- Hits: 3243
ร่างแถลงการณ์ร่วมการประชุมระดับผู้นำ ครั้งที่ 12 แผนงานการพัฒนาเศรษฐกิจ สามฝ่าย อินโดนีเซีย-มาเลเซีย-ไทย (IMT-GT)
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบต่อร่างแถลงการณ์ร่วมการประชุมระดับผู้นำ ครั้งที่ 12 แผนงานการพัฒนาเศรษฐกิจสามฝ่าย อินโดนีเซีย-มาเลเซีย-ไทย (Indonesia-Malaysia-Thailand Growth Triangle : IMT-GT) และเห็นชอบให้นายกรัฐมนตรีได้ร่วมกับผู้นำประเทศแผนงาน IMT-GTให้การรับรองร่างแถลงการณ์ร่วมการประชุมระดับผู้นำ ครั้งที่ 12 แผนงาน IMT-GT ในวันที่ 23 มิถุนายน 2562 ตามที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เสนอ
ทั้งนี้ ในกรณีที่มีความจำเป็นต้องแก้ปรับปรุงร่างแถลงการณ์ร่วมฯ เพิ่มเติมจากที่คณะรัฐมนตรีได้มี มติอนุมัติหรือให้ความเห็นชอบไปแล้ว หากการปรับเปลี่ยนดังกล่าวไม่ขัดกับหลักการที่คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติหรือให้ความเห็นชอบไว้ ให้สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติสามารถดำเนินการได้ โดยให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีทราบภายหลัง พร้อมทั้งชี้แจงเหตุผลและประโยชน์ที่ไทยได้รับจากการปรับเปลี่ยนดังกล่าวด้วย
สาระสำคัญของเรื่อง
ร่างแถลงการณ์ร่วมการประชุมระดับผู้นำ ครั้งที่ 12 แผนงานการพัฒนาเศรษฐกิจสามฝ่าย อินโดนีเซีย-มาเลเซีย-ไทย (IMT-GT)ซึ่งจะมีการรับรองเอกสารดังกล่าวระหว่างการประชุมระดับผู้นำ ครั้งที่ 12 แผนงาน IMT-GT ที่สาธารณรัฐอินโดนีเซียจะเป็นเจ้าภาพจัดขึ้นในวันที่ 23 มิถุนายน 2562 ณ กรุงเทพมหานคร โดยนายกรัฐมนตรีของไทยจะปฏิบัติหน้าที่หัวหน้าคณะผู้แทนไทยและให้การรับรองร่างแถลงการณ์ร่วมดังกล่าว ซึ่งร่างแถลงการณ์ร่วมฯ มีสาระสำคัญเป็นการรับทราบความสำเร็จที่ผ่านมาของความร่วมมือภายใต้แผนงาน IMT-GT เช่น อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ การเพิ่มขึ้นของรายได้ต่อหัวของประชากร อัตราการว่างงานที่ลดลงของประเทศ IMT-GT
นอกจากนี้ ในร่างแถลงการณ์ร่วมฯ ได้ระบุถึงกรอบทิศทางการขับเคลื่อนแผนงานระหว่างประเทศสมาชิกที่สนับสนุนซึ่งกันและกันในเรื่องต่าง ๆ ในระยะต่อไป เช่น การพัฒนาความเชื่อมโยงด้านโครงสร้างพื้นฐาน การพัฒนาตามแนวระเบียงเศรษฐกิจที่หก (เชื่อมโยงจังหวัดปัตตานี จังหวัดยะลา และจังหวัดนราธิวาสเข้ากับ รัฐเประและรัฐกลันตัน และตอนใต้ของเกาะสุมาตรา) การใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อยกระดับอุตสาหกรรมในสาขาต่าง ๆ การส่งเสริมสินค้าฮาลาลสู่สากล การเชื่อมโยงแหล่งท่องเที่ยว การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และทักษะแรงงาน การพัฒนาเมืองสีเขียว เป็นต้น
ทั้งนี้ ประเทศไทยได้จัดเตรียมประเด็นหารือและข้อเสนอแนะต่อการดำเนินการภายใต้แผนงาน IMT-GT ต่อที่ประชุม โดยเสนอแนวทางในการเร่งรัดการขับเคลื่อนโครงการด้านโครงสร้างพื้นฐานและโครงการอื่น ๆ ที่มีความเชื่อมโยงและเป็นประโยชน์อย่างกว้างขวางในอนุภูมิภาค เช่น การก่อสร้างถนน การพัฒนาระบบราง การก่อสร้างสะพานระหว่างประเทศ ท่าเรือ ท่าอากาศยาน การใช้ประโยชน์จากความตกลงด้านการบินใน IMT-GT ศูนย์โลจิสติกส์และการกระจายสินค้า การปรับปรุงและขยายด่านศุลกากร การตรวจคนเข้าเมือง และด่านกักกันพืชและสัตว์ เร่งรัดกรอบความร่วมมือในด้านพิธีการผ่านแดนที่เกี่ยวข้อง การพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษที่มีความเชื่อมโยงห่วงโซ่คุณค่าระหว่างกันในพื้นที่ MIT-GT การพัฒนา 4.0 ในด้านที่มีศักยภาพ (การเกษตร อุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป ผลิตภัณฑ์ฮาลาล และการท่องเที่ยว) เสริมสร้างความเข้มแข็งของสภาธุรกิจ IMT-GT เป็นต้น
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 28 พฤษภาคม 2562
Click Donate Support Web