การขอต่อระยะเวลาผลิตปิโตรเลียมของบริษัท พีทีทีอีพี เอสพี ลิมิเต็ด ผู้รับสัมปทานและผู้ดำเนินงานตามสัมปทานปิโตรเลียมเลขที่ 2/2522/17 แปลงสำรวจบนบกหมายเลข E5 เฉพาะในพื้นที่โคราช
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 14 August 2019 16:58
- Hits: 2421
การขอต่อระยะเวลาผลิตปิโตรเลียมของบริษัท พีทีทีอีพี เอสพี ลิมิเต็ด ผู้รับสัมปทานและผู้ดำเนินงานตามสัมปทานปิโตรเลียมเลขที่ 2/2522/17 แปลงสำรวจบนบกหมายเลข E5 เฉพาะในพื้นที่โคราช
เรื่อง การขอต่อระยะเวลาผลิตปิโตรเลียมของบริษัท พีทีทีอีพี เอสพี ลิมิเต็ด ผู้รับสัมปทานและผู้ดำเนินงานตามสัมปทานปิโตรเลียมเลขที่ 2/2522/17 แปลงสำรวจบนบกหมายเลข E5 เฉพาะในพื้นที่โคราช และสัมปทานปิโตรเลียมเลขที่ 1/2524/19 แปลงสำรวจบนบกหมายเลข EU 1
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติให้บริษัท พีทีทีอีพี เอสพี ลิมิเต็ด และคณะ ต่อระยะเวลาผลิตปิโตรเลียมสำหรับ (1) สัมปทานปิโตรเลียมเลขที่ 1/2524/19 แปลงสำรวจบนบกหมายเลข EU1 ออกไปอีก 10 ปี นับตั้งแต่วันที่ 3 มิถุนายน 2562 ถึงวันที่ 2 มิถุนายน 2572 และ (2) สัมปทานปิโตรเลียมเลขที่ 2/2522/17 แปลงสำรวจบนบกหมาย E5 เฉพาะในพื้นที่โคราช ออกไปอีก 10 ปี นับตั้งแต่วันที่ 16 มีนาคม 2564 ถึงวันที่ 15 มีนาคม 2574 โดยอาศัยความตามมาตรา 26 แห่งพระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 และที่แก้ไขเพิ่มเติม และให้ออกเป็นสัมปทานปิโตรเลียมเพิ่มเติม(ฉบับที่ 5) ของสัมปทานปิโตรเลียมเลขที่ 1/2524/19 และสัมปทานปิโตรเลียมเพิ่มเติม (ฉบับที่ 6) ของสัมปทานปิโตรเลียมเลขที่ 2/2522/17 ตามแบบ ชธ/ป3/1 ที่กำหนดในกฎกระทรวงกำหนดแบบสัมปทานปิโตรเลียม พ.ศ. 2555 ตามที่กระทรวงพลังงานเสนอ
สาระสำคัญของเรื่อง
กระทรวงพลังงานเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอนุมัติให้บริษัท พีทีทีอีพี เอสพี ลิมิเต็ด และคณะ (ผู้รับสัมปทาน) ต่อระยะเวลาผลิตปิโตรเลียมสัมปทานโครงการแหล่งก๊าซสินภูฮ่อม ซึ่งประกอบด้วย 2 สัมปทาน คือ (1) สัมปทานปิโตรเลียมเลขที่ 2/2522/17 แปลงสำรวจบนบกหมายเลข E5 เฉพาะในพื้นที่โคราช และสัมปทานปิโตรเลียมเลขที่ 1/2524/19 แปลงสำรวจบนบกหมายเลข EU1 ออกไปอีก 10 ปี โดยมีรายละเอียดสรุปได้ ดังนี้
หัวข้อ - สัมปทานปิโตรเลียมเลขที่ 2/2522/17
แปลงสำรวจช่วงผลิต
แปลงสำรวจบนบกหมายเลข E5
พื้นที่การผลิต
(อยู่ในเขตจังหวัดขอนแก่น และอุดรธานี) พื้นที่ผลิตปิโตรเลียมภูฮ่อม (บริเวณพื้นที่โคราช) จำนวน 39.31 ตารางกิโลเมตร
มูลค่าปิโตรเลียมที่ผลิตได้
17,664 ล้านบาท (เฉพาะบริเวณพื้นที่โคราช) ตั้งแต่ปี 2550 ถึงเดือนธันวาคม 2561
ค่าภาคหลวงที่รัฐได้รับ
2,208 ล้านบาท
ระยะเวลาการผลิต (ปัจจุบัน)
ตั้งแต่วันที่ 16 มีนาคม 2534 ถึงวันที่ 15 มีนาคม 2564 (30 ปี)
ข้อเสนอขอต่อระยะเวลาผลิตปิโตรเลียมออกไปอีก 10 ปี (เสนอคณะรัฐมนตรีในครั้งนี้
ระยะเวลาการผลิต (ใหม่) ตั้งแต่วันที่ 16 มีนาคม 2564 ถึงวันที่ 15 มีนาคม 2574
หัวข้อ - สัมปทานปิโตรเลียมเลขที่ 1/2524/19
แปลงสำรวจช่วงผลิต
แปลงสำรวจบนบกหมายเลข EU1
พื้นที่การผลิต
(อยู่ในเขตจังหวัดขอนแก่น และอุดรธานี) 2 พื้นที่ คือ พื้นที่ผลิตปิโตรเลียมภูฮ่อม 1 จำนวน 1.96 ตารางกิโลเมตร และพื้นที่ผลิตปิโตรเลียมภูฮ่อม จำนวน 190.93 ตารางกิโลเมตร
มูลค่าปิโตรเลียมที่ผลิตได้
70,656 ล้านบาท ตั้งแต่ปี 2550 ถึงเดือนธันวาคม 2561
ค่าภาคหลวงที่รัฐได้รับ
8,832 ล้านบาท
ระยะเวลาการผลิต (ปัจจุบัน)
ตั้งแต่วันที่ 3 มิถุนายน 2532 ถึงวันที่ 2 มิถุนายน 2562 (30 ปี)
ข้อเสนอขอต่อระยะเวลาผลิตปิโตรเลียมออกไปอีก 10 ปี (เสนอคณะรัฐมนตรีในครั้งนี้
ระยะเวลาการผลิต (ใหม่) ตั้งแต่วันที่ 3 มิถุนายน 2562 ถึงวันที่ 2 มิถุนายน 2572
ปริมาณสำรองปิโตรเลียม (ที่พิสูจน์แล้ว ณ สิ้นปี 2560)
ก๊าซธรรมชาติ 114.27 พันล้านลูกบาศก์ฟุต และก๊าซธรรมชาติเหลว 0.38 ล้านบาร์เรล และหากมีการลงทุนเพื่อสำรวจและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง คาดว่าจะมีโอกาสพบทรัพยากรปิโตรเลียมเพิ่มเติม ได้แก่ ก๊าซธรรมชาติประมาณ 527 พันล้านลูกบาศก์ฟุต และก๊าซธรรมชาติเหลวประมาณ 1 ล้านบาร์เรล
ผลตอบแทนที่รัฐจะได้รับ
1. ค่าภาคหลวงประมาณ 284 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และภาษีเงินได้ปิโตรเลียมประมาณ 621 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ภายใต้สัมปทาน Thailand I)
2. เงินผลประโยชน์ซึ่งผู้รับสัมปทานเสนอเพิ่มเติมให้แก่รัฐ (ภายใต้สัมปทาน Thailand III) ประมาณ 74 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งประกอบด้วยเงินให้เปล่าในการลงนามสัมปทานต่อระยะเวลาการผลิต เงินให้เปล่าจากปริมาณการขายก๊าซธรรมชาติสะสมหรือโบนัสการผลิต และค่าตอบแทนการต่อระยะเวลาผลิต (จ่ายเป็นรายปี)
3. ข้อผูกพันการสำรวจที่ผู้รับสัมปทานเสนอว่าจะเจาะหลุมสำรวจหรือหลุมประเมินผลหรือหลุมผลิตจำนวน 2 หลุม ในแปลงสำรวจบนบกหมายเลข EU 1 (โดยมีค่าใช้จ่ายขั้นต่ำ 18 ล้านดอลลาร์สหรัฐ)
4. การฝึกอบรมบุคลากรของกระทรวงพลังงานเพื่อเตรียมการสำรวจการรับช่วงต่อความเป็นผู้ดำเนินงานภายใน 2 ปี ก่อนสิ้นระยะเวลาสัมปทาน
5. การปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการรื้อถอน บริษัทฯ จะปฏิบัติตามกฎกระทรวงว่าด้วยการรื้อถอนและประกาศกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติที่เกี่ยวข้องที่มีอยู่ในปัจจุบันและที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งเรื่องดังกล่าวกระทรวงพลังงานได้พิจารณาและตรวจสอบโดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศเป็นสำคัญแล้วพบว่า การต่อระยะเวลาผลิตสำหรับสัมปทานปิโตรเลียมแปลงนี้อยู่ภายใต้กติกาและเงื่อนไขที่ใช้เป็นการทั่วไปในปัจจุบัน และผู้รับสัมปทานรายนี้ได้ปฏิบัติตามข้อกำหนดของสัมปทานและบทบัญญัติของกฎหมายว่าด้วยปิโตรเลียม รวมทั้งได้ตกลงในเรื่องข้อกำหนด ข้อผูกพัน และเงื่อนไขที่ใช้อยู่ในปัจจุบันอย่างครบถ้วน
โดยผู้รับสัมปทานมีประสบการณ์ในพื้นที่ผลิต และได้เสนอแผนการดำเนินงาน แผนการลงทุน และผลประโยชน์พิเศษให้แก่รัฐอย่างเหมาะสม และสอดคล้องกับศักยภาพของแปลงสำรวจ คณะกรรมการปิโตรเลียมพิจารณาแล้วเห็นควรให้บริษัท พีทีทีอีพี เอสพี ลิมิเต็ด และคณะ ต่อระยะเวลาผลิตปิโตรเลียมสัมปทานโครงการแหล่งก๊าซสินภูฮ่อมทั้ง 2 สัมปทานข้างต้น โดยให้ออกเป็นสัมปทานปิโตรเลียมเพิ่มเติม (ฉบับที่ 5) ของสัมปทานปิโตรเลียมเลขที่1/2524/19 และสัมปทานปิโตรเลียมเพิ่มเติม (ฉบับที่ 6) ของสัมปทานปิโตรเลียมเลขที่ 2/2522/17
ทั้งนี้ แหล่งผลิตปิโตรเลียมแปลงสำรวจบนบกหมายเลข E5 และแปลงสำรวจบนบกหมายเลข EU1 เป็นแหล่งผลิตปิโตรเลียมภายใต้โครงการแหล่งก๊าซสินภูฮ่อมที่มีความสำคัญในการเสริมสร้างความมั่นคงของระบบไฟฟ้าภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นอย่างมาก เนื่องจากก๊าซธรรมชาติที่ผลิตได้จากแหล่งนี้จะถูกนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงหลักสำหรับผลิตไฟฟ้าในโรงไฟฟ้าน้ำพองที่ตั้งอยู่ที่จังหวัดขอนแก่น
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 7 พฤษภาคม 2562
Click Donate Support Web