รายชื่อประเทศคู่เจรจาของไทยเพื่อการเจรจาจัดทำหรือแก้ไขอนุสัญญาหรือความตกลงเพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนระหว่างไทยกับต่างประเทศ
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 14 August 2019 15:25
- Hits: 1570
รายชื่อประเทศคู่เจรจาของไทยเพื่อการเจรจาจัดทำหรือแก้ไขอนุสัญญาหรือความตกลงเพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนระหว่างไทยกับต่างประเทศ
เรื่อง รายชื่อประเทศคู่เจรจาของไทยเพื่อการเจรจาจัดทำหรือแก้ไขอนุสัญญาหรือความตกลงเพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนระหว่างไทยกับต่างประเทศ องค์ประกอบคณะผู้แทนรัฐบาลไทยและการเจรจาจัดทำหรือแก้ไขอนุสัญญาหรือความตกลงเพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนผ่านช่องทางการทูต
คณะรัฐมนตรีมีติเห็นชอบรายชื่อประเทศคู่เจรจาของไทยเพื่อการเจรจาจัดทำหรือแก้ไขอนุสัญญาหรือความตกลงเพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนระหว่างไทยกับต่างประเทศ และรับทราบองค์ประกอบคณะผู้แทนรัฐบาลไทยและการเจรจาจัดทำหรือแก้ไขอนุสัญญาหรือความตกลงเพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนกับต่างประเทศผ่านช่องทางการทูต ตามที่กระทรวงการต่างประเทศเสนอ
สาระสำคัญของเรื่อง
อนุสัญญาหรือความตกลงเพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมสนับสนุนการค้าการลงทุนของนักลงทุนไทยที่มีศักยภาพสำหรับการลงทุนในต่างประเทศส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศในการป้องกันการหลีกเลี่ยนการเสียภาษีระหว่างประเทศทั้งสอง ตลอดจนมีการจัดสรรรายได้ภาษีระหว่างประเทศด้วยการกำหนดสิทธิการเก็บภาษีสำหรับเงินได้ประเทศต่าง ๆ ประเทศไทยได้ดำเนินการเจรจาจัดทำอนุสัญญาหรือความตกลงเพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนกับต่างประเทศ และขณะนี้มีผลบังคับใช้แล้ว จำนวน 16 ฉบับ
โดยรายชื่อประเทศคู่เจรจาของไทยเพื่อการเจรจาจัดทำหรือแก้ไขอนุสัญญาหรือความตกลงเพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนระหว่างไทยกับต่างประเทศ รวม 8 ประเทศ โดยจำแนกออกเป็น 3 กลุ่ม ประกอบด้วย
(1) ประเทศที่ขอเปิดการเจรจาใหม่ ซึ่งยังไม่เคยเปิดการเจรจามาก่อน ได้แก่ ราชอาณาจักรภูฏาน สาธารณรัฐแทนซาเนีย และมัลดีฟส์
(2) กลุ่มประเทศที่อนุสัญญาหรือความตกลงเพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนมีผลใช้บังคับแล้ว แต่ต้องการเจรจาแก้ไขเพื่อปรับปรุงอนุสัญญาหรือความตกลงเพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนทั้งฉบับหรือบางส่วนให้เป็นปัจจุบันและสอดคล้องกับแนวปฏิบัติตามมาตรฐานสากล ได้แก่ สาธารณรัฐเซเชลส์ สหพันธรัฐรัสเซีย และโรมาเนีย และ
(3) กลุ่มประเทศที่มีการเจรจาอนุสัญญาหรือความตกลงเพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนเสร็จสิ้นแล้ว แต่ร่างอนุสัญญาหรือความตกลงฯ ยังไม่มีผลใช้บังคับ จึงทำให้ต้องมีการปรับปรุงร่างอนุสัญญาหรือความตกลงฯ ที่ได้ลงนามย่อกำกับไว้แล้ว ได้แก่ สาธารณรัฐลิทัวเนียและมองโกเลีย
ในส่วนของประเทศที่ขอเปิดการเจรจาใหม่แม้ว่าจะเป็นประเทศที่มีขนาดเล็กแต่ก็ล้วนเป็นประเทศที่มีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน สำหรับกลุ่มประเทศที่ได้เจรจาอนุสัญญาหรือความตกลงเพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนไปแล้วทั้งที่มีผลใช้บังคับแล้วและยังไม่มีผลใช้บังคับ แต่ต้องการเจรจาเพื่อแก้ไขปรับปรุงอนุสัญญาหรือความตกลงฯ ใหม่นั้น ส่วนใหญ่มีสาเหตุจากที่ทั้งสองฝ่ายต้องการปรับปรุงอนุสัญญาหรือความตกลงฯ ให้สอดคล้องกับแนวปฏิบัติใหม่ที่เป็นมาตรฐานสากลขององค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (Organization for Economic Cooperation and Development : OECD) ซึ่งมีผลผูกพันกับประเทศสมาชิก
สำหรับ องค์ประกอบคณะผู้แทนรัฐบาลไทยและการแต่งตั้งคณะผู้แทนฯ สำหรับการเจรจาจัดทำอนุสัญญาหรือความตกลงเพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนระหว่างไทยกับต่างประเทศ (เนื่องจากการปรับเปลี่ยนชื่อหน่วยงานจากนักเป็นกอง ตามกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการ กรมสรรพากร กระทรวงการคลัง พ.ศ. 2560 ลงวันที่ 17 มีนาคม 2560 ) มีองค์ประกอบ ดังนี้
องค์ประกอบ - ตำแหน่ง / จำนวน (การเจรจาภายในประเทศ/การเจรจาภายนอกต่างประเทศ)
อธิบดีหรือรองอธิบดีกรมสรรพากร หรือที่ปรึกษาฯ กรมสรรพากร (หัวหน้าคณะ / หัวหน้าคณะ)
ผู้อำนวยการกองวิชาการแผนภาษี กรมสรรพากร หรือผู้แทน (จำนวน 1 คน / จำนวน 1 คน)
ผู้อำนวยการกองกฎหมาย กรมสรรพากร หรือผู้แทน (จำนวน 1 คน / จำนวน 1 คน)
เจ้าหน้าที่กองวิชาการแผนภาษี กรมสรรพากร (จำนวนไม่เกิน 4 คน / จำนวนไม่เกิน 2 คน)
ผู้แทนสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กค.(จำนวน 1 คน / จำนวน 1 คน)
ผู้แทนกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) (จำนวน 1 คน / -)
ผู้แทนกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กต. (จำนวน 1 คน / -)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 24 เมษายน 2562
Click Donate Support Web